คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารวินิจฉัยสวน ให้เปิดจำนวนผู้ต้องขัง-ผู้คุมเรือนจำ มทบ.11

คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ มีคำวินิจฉัยให้เรือนจำพิเศษกรุงเทพเปิดเผยข้อมูลจำนวนผู้ต้องขัง ฐานความผิด และจำนวนผู้คุมภายในเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี มทบ.11 หลังจากที่ศูนย์ทนายความฯ ได้ทำหนังสือขอทราบสถิติถึงผบ.เรือนจำแต่ถูกปฏิเสธ โดยอ้างเหตุเป็นข้อมูลส่วนตัวและจะกระทบความมั่นคงของรัฐ

15 ส.ค. 2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา เว็บไซต์ของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการเผยแพร่คำวินิจฉัยเรื่อง “อุทธรณ์คำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร เกี่ยวกับจำนวนผู้ถูกคุมขังและจำนวนผู้คุมขัง” ของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย (หนังสือหมายเลข สข 194/2559) ที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยื่นอุทธรณ์คำสั่งของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร

คณะกรรมการวินิจฉัยฯ มีคำวินิจฉัยว่าอาศัยอำนาจตามมาตรา 35 พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ให้เรือนจำพิเศษกรุงเทพเปิดเผยข้อมูลสถิติผู้ที่ถูกคุมขัง หรือเคยถูกคุมขัง พร้อมฐานความผิด และจำนวนผู้คุมที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารทั้งหมดในเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี กองพันทหารราบมณฑลทหารบกที่ 11 (พัน.ร.มทบ.11) ถนนพระราม 5 ตามที่ศูนย์ทนายความฯ ขอให้มีการเปิดเผย

คณะกรรมการวินิจฉัยได้ให้เหตุผลว่าข้อมูลดังกล่าวไม่ได้เป็นข้อมูลส่วนบุคคลตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ และไม่น่าจะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศตามมาตรา 15(1) การที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯปฏิเสธเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นคณะกรรมการฯ ไม่เห็นพ้องด้วย

ก่อนหน้าที่คณะกรรมการวินิจฉัยฯ จะมีคำวินิจฉัยออกมาในครั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2559 ทางศูนย์ทนายความฯได้เคยยื่นหนังสือถึงเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเรือนจำชั่วคราว มทบ.11 เพื่อขอทราบจำนวนผู้ต้องขังและเคยถูกคุมขังทั้งหมดและฐานความผิด โดยแยกจำนวนพลเรือนและเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงผู้คุมทั้งหมดและทหารที่เป็น “ผู้คุมพิเศษ” ที่อยู่ภายในเรือนจำชั่วคราว มทบ.11 แต่ทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้มีหนังสือตอบกลับมาว่าข้อมูลที่ศูนย์ทนายความฯ ขอให้เปิดเผยนั้นมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและยังเป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากเจ้าของข้อมูล จึงไม่สามารถจัดส่งข้อมูลดังกล่าวให้ได้

ศูนย์ทนายความฯ จึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ถึงคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2559 โดยยื่นคำชี้แจงเพิ่มเติมและชี้แจงด้วยวาจาต่อคณะกรรมการวินิจฉัยฯ สรุปได้ว่าข้อมูลที่ขอให้มีการเปิดเผยนั้นเป็นเพียงสถิติเท่านั้น ไม่ได้ขอทราบรายชื่อผู้ที่ถูกคุมขังหรือชื่อของเจ้าหน้าที่ภายในเรือนจำชั่วคราว มทบ.11จึงไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคล และเรือนจำชั่วคราว มทบ.11 ยังขาดความโปร่งใสการปฏิเสธให้ข้อมูลซึ่งเป็นข้อมูลทั่วไปที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ปกติจะยิ่งทำให้สังคมเกิดความหวาดกลัว การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวเป็นการทำให้สามารถตรวจสอบอำนาจรัฐได้และประกันสวัสดิภาพของผู้ต้องขังว่าจะไม่ถูกคุมขังเป็นการลับ การเปิดเผยข้อมูลย่อมเป็นประโยชน์ต่อสังคมและหน่วยงานรัฐมากกว่าเหตุผลด้านความมั่นคงหรือข้อมูลส่วนบุคคลจึงไม่อาจรับฟังได้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท