Skip to main content
sharethis

ที่มาภาพ เพจ Greenpeace Thailand

15 ส.ค. 2559 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า วานนี้ (14 ส.ค.59) ระหว่างที่จังหวัดลำปาง ร่วมกับ กฟผ.แม่เมาะ จัดงานเดินวิ่งเฉลิมพระเกียรติ แม่เมาะมินิฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่ 25 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่บริเวณหน้าโรงเรียนแม่เมาะวิทยา อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ช่วงเช้าที่ผ่าน เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2559 และนำรายได้จากการดำเนินงานมอบให้แก่กองทุนสงเคราะห์และพัฒนาจังหวัดลำปาง และอำเภอแม่เมาะ สำหรับเป็นทุนในกิจกรรมสาธารณประโยชน์และส่งเสริมการศึกษา ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายใน อ.แม่เมาะ และ จ.ลำปาง รวมถึงส่งเสริมกิจกรรมเดิน-วิ่ง เพื่อสุขภาพ ให้เป็นที่นิยมแพร่หลายมากขึ้น ตามข่าวที่เสนอไปนั้น
       
ปรากฎว่า ในงานดังกล่าวมีกลุ่ม Greenpeace Thailand นำคนบางส่วนสวมสีดำ แต่งหน้าตา และสกรีนเสื้อด้วยข้อความ RIGHT TO CLEAN AIR ไว้ด้านหน้าของเสื้อ พร้อมชูป้ายข้อความทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษว่า “ขออากาศดีคืนมา” และ RIGHT TO CLEAN AIR ในขณะวิ่งร่วมขบวนนักวิ่งไปตามถนนต่างๆ หลังจากนั้นได้นำมาโพสต์ในเพจของ Greenpeace Thailand โดยตั้งคำถามว่า “รู้สึกแปลกใจที่ งานเดิน-วิ่งเฉลิมพระเกียรติ แม่เมาะฮาล์ฟมาราธอนครั้งที่25 พร้อม#RightToCleanAir #ขออากาศดีคืนมาพวกเขามาทำอะไรที่นี่ #แม่เมาะฮาล์ฟมาราธอนครั้งที่25
       
ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ซึ่งทำให้ผู้ที่ได้เห็นโพสต์ดังกล่าวต่างรู้สึกไม่พอใจและไปสบายใจเป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่ได้แสดงความคิดเห็นทำนองไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว และเห็นว่าองค์กรดังกล่าวไม่รู้กาลเทศะ แยกแยะไม่ออกว่า งานไหนสมควรจะไปประท้วง ทั้งๆ ที่งานนี้เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ทุกภาคส่วนในจังหวัดลำปาง ต่างก็ให้การสนับสนุนเพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา แต่กลุ่มองค์กรดังกล่าวกลับนำมาโยงให้เกิดประเด็นความขัดแย้งขึ้น 

 

ต่อมา Greenpeace Thailand โพสต์และแสดงความคิดเห็นชี้แจงกรณีข้อวิพากษ์วิจารณ์การแต่งกายชุดดำว่า เนื่องจากมีความคิดเห็นเรื่องการแต่งกายของนักกิจกรรมกรีนพีซในงานวิ่งมาราธอน เราขอชี้แจงว่าสีเสื้อและข้อความที่ใช้ เราเพียงแต่ต้องการสื่อถึงฝุ่นละออง ถ่านหิน และมลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เราไม่มีเจตนาอื่นใด นอกจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม โปรดอย่าเชื่อมโยงไปในประเด็นอื่น ขออภัยหากการสื่อสารใดๆสร้างความไม่สบายใจให้หลายๆท่าน เราเคารพในความคิดเห็นที่หลากหลาย และขอขอบคุณสำหรับทุกความคิดเห็น

พร้อมอธิบายด้วยว่า กรีนพีซเป็นองค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม มีความเป็นอิสระทางการเงิน ไม่รับเงินจากพรรคการเมือง บริษัท หรือรัฐบาลใด และหมายรวมถึงเงินในทุกรูปแบบจากบริษัทหรือรัฐบาลประเทศใดก็ตาม
 

กรีนพีซ อธิบายกิจกรรมดังกล่าวด้วยดังนี้ : 

กิจกรรมที่เราเข้าไปร่วมนั้น เราต้องการสื่อสารให้ผู้คนได้ตระหนักถึงผลกระทบจากมลพิษทางอากาศและสุขภาพของคนค่ะ เรากำลังทำงานรณรงค์ผลักดันให้กรมควบคุมมลพิษยกระดับการวัดดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ที่คำนวณจากค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กมาก (PM2.5) เพื่อความแม่นยำของข้อมูลในการที่จะระบุถึงผลกระทบต่อสุขภาพอันเนื่องมาจากมลพิษทางอากาศ

ดัชนีคุณภาพอากาศคือค่าตัวเลขที่ใช้เพื่อรายงานคุณภาพอากาศรายวัน ซึ่งทำให้เรารู้ว่าอากาศสะอาดหรือสกปรกเพียงใดและอาจจะเกิดผลกระทบสุขภาพต่อกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง ดัชนีคุณภาพอากาศจะเน้นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพของเราภายในสองสามชั่วโมงหรือหลายวันหลังจากที่หายใจเอาอากาศที่มีมลพิษเข้าไป ดัชนีคุณภาพอากาศที่ใช้อยู่ในประเทศไทย คำนวณโดยเทียบจากมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไปของสารมลพิษทางอากาศ 5 ประเภท ได้แก่ ก๊าซโอโซน (O3) เฉลี่ย 1 ชั่วโมง ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) เฉลี่ย 1 ชั่วโมง ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) เฉลี่ย 8 ชั่วโมง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง และฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง

ซึ่งฝุ่นละอองขนาดเล็กเหล่านี้เป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดเลือดในสมองโรคหัวใจขาดเลือด โรคมะเร็งปอด และโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจส่วนล่าง สำหรับก๊าซโอโซนเป็นสารระคายเคืองปอด ทำให้ปอดติดเชื้อง่าย จึงเป็นปัจจัยร่วมอันก่อให้เกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

แม้ว่าดัชนีคุณภาพอากาศจะเป็นขั้นตอนสำคัญในการรายงานให้ประชาชนทราบถึงข้อมูลคุณภาพอากาศที่น่าเชื่อถือและทันเวลา มีการตรวจวัดโดยสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศอัตโนมัติของกรมควบคุมมลพิษจำนวน 61 สถานีใน 29 จังหวัดทั่วประเทศและรายงานข้อมูลทุกชั่วโมงผ่านทางเว็บไซต์ Air4thai.pcd.go.th และโมบายแอพพลิเคชั่น Air4Thai ในระบบปฏิบัติการ iOS และ Android ส่วนฝุ่นละออง PM2.5 เพิ่งเริ่มมีการตรวจวัดตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา มีสถานีตรวจวัดอัตโนมัติ จำนวน 12 สถานี ใน 10 จังหวัด

ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยจำเป็นต้องถูกยกระดับโดยผนวกเอา PM2.5 เข้าไปด้วย เราเชื่อว่า อากาศสะอาดคือสิทธิพื้นฐานที่เราทุกคนควรได้รับ‪#‎RightToCleanAir‬ ‪#‎ขออากาศดีคืนมา‬

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net