ระหว่างบรรทัด-อ่านอย่างไรก็ไม่เจอ: ย้อนรอยคำถามพ่วงประชามติ

ย้อนรอยคำถามพ่วง ตามอ่านระหว่างบรรทัด ค้นอย่างไรก็ไม่เจอการเปิดช่องให้ตีความ มอบอำนาจให้ ส.ว. สามารถเสนอชื่อนายกฯ หลังวันชัยจี้ สนช. ต้องทำตามเจตนารมณ์มติประชาชน หาก ส.ว. เลือกนายกฯ ได้เหมือน ส.ส. ก็ควรเสนอชื่อได้ไม่ว่าจะเป็นคนในหรือคนนอก

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

นั่นคือคำถามพ่วงการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 และไม่ว่าเราจะเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ หรือเลือกที่จะไม่ลงคะแนนเสียง ข้อเสนอจากคำถามพ่วงนี้ได้ผ่านกระบวนการประชามติไปเรียบร้อยแล้ว หลายคนอาจจะไม่ยอมรับผลประชามติที่เกิด หลายคนยอมรับ หรืออีกหลายๆ คนอาจจะยังคงข้องใจกับบรรยากาศในการรณรงค์การทำประชามติ แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้กุมอำนาจรัฐมั่นใจเป็นที่สุดคือ คำถามนี้ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนแล้ว และพวกเขากำลังจะขยายผลให้ข้อเสนอเหล่านั่นเข้าไปอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ

หากแปลภาษาที่เขียนไว้ในบัตรลงประชามติประเด็นที่ 2 คงจะแปลได้อย่างเดียวว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ หากจะกำหนดในบทเฉพาะกาลว่า ในช่วง 5 ปีแรกนับแต่มีรัฐสภาชุดแรก ให้สมาชิกวุฒิสภา 250 คนซึ่งไม่ได้มีที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน มีส่วนในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรเป็นนายกรัฐมนตรี ร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร”

ดูจะเป็นเรื่องง่ายต่อการนำข้อเสนอในคำถามพ่วง เอาเข้าไปเขียนเพิ่มไว้บทเฉพาะกาล หากแต่กลับการกลายเป็นเรื่องยากขึ้นมา เมื่อมีหลายฝ่ายตีความขยายผลคำถามพ่วงออกไปอีก

 

หากไม่นับรวมคำถามพ่วง ตามร่างรัฐธรรมนูญจะมีการเลือกนายกฯ อย่างไร

หากเราดูโครงสร้างการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีตามร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มาตรา 88 ระบุชัดว่า ให้พรรคการเมืองแต่ละพรรคที่จะลงรับการเลือกตั้งสามารถเสนอชื่อบุคคลที่จะให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ได้พรรคละไม่เกิน 3 รายชื่อ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือเลือกที่จะไม่เสนอชื่อเลยก็ได้ ทั้งนี้มาตราดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าบุคคลผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นั่นหมายความว่า ผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี จะเป็นใครก็ได้ตามที่พรรคการเมืองเสนอชื่อ และมีคุณสมบัติตรงตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่ต้องมาจากการเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร

และสำหรับการลงมติเห็นชอบผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ในมาตรา 159 ระบุชัดว่า ให้สภาผู้แทนราษฎรเสนอผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไว้พรรคละไม่เกิน 3 รายชื่อ (เฉพาะพรรคที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) โดยผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีต้องได้คะแนนเสียงจากสภาผู้แทนราษฎรมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

อย่างไรก็ตามในบทเฉพาะกลาล มาตรา 272 ได้เขียนเปิดช่องทางในการให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเอาไว้ว่า ในวาระเริ่มแรก เมื่อได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว หากกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถดำเนินการให้ความเห็นชอบบุคคลที่เหมาะสมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อที่อยู่ในบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอแจ้งไว้ตาม มาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และหากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไว้ กรณีนี้ให้รัฐสภาลงมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (สภาผู้แทนราษฎร+วุฒิสภา) เพื่อที่จะให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการตามมาตรา 159 ต่อไป โดยจะมีการเสนอชื่อผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้

 

เมื่อคำถามพ่วงผ่านการลงเสียงประชามติ ส.ว. เข้ามามีส่วนในการเลือกนายกฯ ได้ในระดับไหน

หากดูจากตัวคำถาม และตีความให้ตรงตามตัวอักษรที่เขียนไว้ในคำถามพ่วง โครงสร้างการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี จะเปลี่ยนไปเพียงแค่ การให้ ส.ว. ที่มาจาการแต่งตั้ง 250 คน เข้ามามีส่วนในการพิจารณาให้ความเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พูดให้ง่ายคือ ส.ว.สามารถลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้

จากความเข้าใจตามตัวอักษร ยากที่จะเข้าใจเป็นอย่างอื่นไปได้ แน่นอนว่าหลังจากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเราได้จะสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นสภาผู้แทนจะทำการเสนอชื่อผู้ที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อตามมาตรา 88 และเข้าสู่กระบวนเลือกนายกรัฐมนตรี โดยการลงคะแนนเสียงโดยเปิดเผย โดยขั้นตอนนี้จะมีการนับรวมคะแนนเสียงทั้งรัฐสภา(ส.ส.+ ส.ว.)

มาตรา 272 ในรัฐธรรมนูญอาจจะกลายเป็นปัญหาต่อคำถามพ่วง จะแก้ให้ชัด หรือขยายอำนาจให้ ส.ว.

เมื่อไล่ดูมาถึงมาตรา 272 ปัญหาเริ่มเกิดขึ้น เมื่อบทบัญญัตินี้ระบุไว้ว่า ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ตามบัญชีรายชื่อตามมาตรา 88 ได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม ให้มีการเสนอให้ประชุมร่วมของรัฐสภาโดยใช่เสียงกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นให้มีการลงมติในรัฐสภาใช้คะแนนเสียง 2 ใน 3 เพื่อเปิดช่องทางให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีรายชื่อได้

แต่หลังจากคำถามพ่วงถูกรับรองแล้ว สภาผู้แทนราษฎรโดยหลักการแม้จะยังเป็นผู้เสนอรายชื่อผู้สมควรแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี แต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบกลับใช้เสียงของทั้งรัฐสภา และหากไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีในบัญชีรายชื่อได้ จะทำอย่างไรต่อไป

แรกเริ่มดูเหมือนคำถามพ่วงจะเป็นอะไรที่ชัดเจน แต่สุดท้ายกลับไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดไว้ เมื่อสมคิด เลิศไพฑูรย์ สมาชิก สนช. ออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2559 ว่าขณะนี้ในส่วนของ สนช. ยังมีความเห็นเรื่องการตีความคำถามพ่วงไปสองทาง

 

สมคิด เลิศไพฑูรย์ ระบุ สนช. เสียงแตก ฝ่ายหนึ่งยึดตามคำในคำถามพ่วง VS ฝ่ายหนึ่งตีความแบบกว้าง

“เท่าที่ผมทราบก็แตกเป็น ความเห็น 2 ฝ่าย ฝ่ายที่เห็นว่าควรแก้น้อย กับฝ่ายที่เห็นว่าควรแก้มาก จริง ๆ คำถามพ่วงเพียงคำถามเดียว ผมคิดว่าอาจจะต้องแก้หลายมาตรา แต่ว่าจะกินความไปถึงเรื่อง ส.ว. มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ ด้วยหรือไม่ ผมว่าต้องไปสอบถามความเห็นของหลายฝ่าย แต่ละฝ่ายมีความเห็นว่าอย่างไร ถ้าพิจารณาจากเฉพาะคำของคำถามพ่วง มันอาจจะไปไม่ถึง แต่ถ้าพิจารณาว่า คำถามพ่วงส่งผลกระทบต่อหลายอย่าง ก็อาจจะไปถึงได้นะครับ ผมยกตัวอย่างเช่น ตอนที่ กรธ. เขียนรัฐธรรมนูญ กรธ. ก็เขียนบนพื้นฐานว่า ให้ ส.ส. เป็นคนเลือกนายกฯ ไม่ได้พูด ส.ว. เป็นคนเลือกนายกฯ เลย แต่ว่าคำถามพ่วงมาโยงว่า ให้ ส.ว. เลือกนายกฯ ด้วย ในการพิจารณา 5 ปีแรก เพราะฉะนั้น ก็จะไปกระทบหลายมาตรา ไม่กระทบมาตราใด มาตราหนึ่งโดยเฉพาะ ดังนั้น การแก้ก็ต้องไปดูว่า แก้ได้กี่มาตรา อย่างไรบ้าง” สมคิดกล่าว

 

วันชัย ชี้ อย่ามั่วเถียงกัน ขอให้ยึดเจตนารมณ์ประชาชน หาก ส.ว. เลือกนายกฯ ได้เหมือน ส.ส. ก็ควรเสนอชื่อได้ไม่ว่าจะเป็นคนในหรือคนนอกบัญชีก็เสนอได้ทั้งนั้น

ด้าน วันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวเมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2559 ว่าคำถามพ่วงมีนัยสองประการ หนึ่งคือเพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ และสองควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญว่าในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ให้ที่ประชุมร่วมกันของ รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีดังนั้นจึงไม่ควรจะมีข้อโต้แย้งถกเถียงต่อมติของมหาประชาชนแต่อย่างใด บทมาตราใดในรัฐธรรมนูญที่ขัดหรือแย้งต่อมติของประชาชนจะต้องปรับแก้ให้สอดรับกับเสียงของความต้องการของประชาชน

“อย่ามามัวโต้แย้งกันว่าบทมาตรานั้นขัดกับมาตรานี้แล้วทำไม่ได้ นั่นเท่ากับว่าขัดต่อประชามติของประชาชน บทมาตราใดที่เป็นอุปสรรคปัญหาต้องตัดออกไปให้หมด เอาให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนที่แท้จริง ไม่เช่นนั้น สปท.และ สนช.จะตั้งคำถามพ่วงขึ้นมาทำไมในเมื่อรัฐธรรมนูญครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว เพราะประชาชนต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ จะปล่อยปละละเลยไม่ได้ ต้องทำให้เสร็จสำเร็จภายใน 5 ปี 2. ในระหว่าง 5 ปีนี้ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ต้องร่วมกันโหวตคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี 3. เมื่อ ส.ส.และ ส.ว. มีสิทธิร่วมกันโหวตก็มีสิทธิร่วมกันเสนอ ส่วนจะเป็นคนในหรือเป็นคนนอกก็เสนอได้ทั้งนั้นในระหว่าง 5 ปีนี้” วันชัยกล่าว

วันชัยยังกล่าวด้วยว่า ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสนอคำถามพ่วงใน สปท. และที่ประชุมก็เห็นด้วยเสียงส่วนใหญ่มีเจตจำนงตรงกันคือ 5 ปีแรกของ ส.ว.มีสิทธิร่วมกับ ส.ส.ในการโหวตเลือกนายกฯ ไม่ว่าจะเป็นคนในหรือคนนอก ดังนั้น กรธ.และ สนช.ต้องร่วมกันเอาเจตนารมณ์ของประชาชนมาเป็นข้อกำหนดในการปรับแก้รัฐ ธรรมนูญให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง อย่าบิดเบี้ยวหรือหาทางตีเจตนารมณ์ของประชาชนเป็นอย่างอื่น มิเช่นนั้นท่านจะกลายเป็นผู้ทรยศต่อประชาชนเสียเอง

ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปว่า ทิศทางการตีความคำถามพ่วงจะออกไปในทางใด หลังจากหารือร่วมกันระหว่าง ตัวแทน สนช­.­ ที่จะเข้าหารือกับกรรม­การร่างรัฐธรรมนูญ (­กรธ­.)­ ในวันพรุ่งนี้­ (­19ส.ค.­) และไม่ว่าทิศทางหลังจากการหารือจะออกมาอย่างไร รัฐธรรมนูญหลังจากมีการปรับแก้ตามคำถามพ่วงจะมีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอยู่ดี

 

ขุดรากคำถามพ่วง อย่าลืมว่า มีที่มาจากการเสนอของ สปท. ด้าน สนช. พิจารณาเห็นชอบด้วย

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2559 ที่รัฐสภา ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาประเด็นคำถามที่จะเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพิ่มเติม โดยรับฟังความเห็นจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มีมติเสนอให้ สนช. พิจารณาคำถามว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่ 5 ปีแรกภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีมาจากความเห็นชอบของรัฐสภา โดยงดเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองแจ้งไว้นั้น

โดยในการพิจารณาครั้งนั้น กล้านรงค์ จันทิก ชี้แจงว่ามี กมธ.คณะต่างๆ ของ สนช. จำนวน 9 คณะส่งคำถาม ไม่ส่งคำถาม 7 คณะ และมีสมาชิก สนช. จำนวน 8 รายส่งคำถาม รวมทั้งคำถามจาก สปท. ด้วย ซึ่ง กมธ.สามัญฯ พิจารณาวิเคราะห์ประเด็นคำถามบนพื้นฐานของหลักการและเหตุผล และประมวลคำถามจาก กมธ.คณะต่าง ๆ สมาชิก สนช. และ สปท. แล้ว มี กมธ. หลายคณะ สมาชิก สนช. และ สปท. มีหลักการและเหตุผลคล้ายคลึงกันคือ คำถามที่ว่าช่วง 4-5 ปี ควรกำหนดให้มีบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ ให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ซึ่งการลงคะแนนในครั้งนั้นแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนแรก สมควรมีประเด็นคำถามให้ กกต. ไปทำการออกเสียงทำประชามติเพิ่มเติมหรือไม่ โดยมี สนช. เห็นชอบ 142 คน ไม่เห็นด้วย 16 คน งดออกเสียง 9 คน จากผู้เข้าประชุม 167 คน

ส่วนที่สอง เห็นด้วยกับคำถามประชามติของ กมธ.สามัญฯ เพื่อให้ กกต. ไปทำการออกเสียงทำประชามติเพิ่มเติมหรือไม่ โดยมี สนช. เห็นชอบ 152 คน ไม่มีคนไม่เห็นด้วย งดออกเสียง 16 จากผู้เข้าประชุม 167 คน

สำหรับ กมธ.ของ สนช. ที่เสนอคำถามให้รัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรี ได้แก่ กมธ.ยุติธรรม กมธ.สาธารณสุข กมธ.ต่างประเทศ กมธ.วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี กมธ.คมนาคม กมธ.การปกครองท้องถิ่น และ กมธ.พลังงาน มี สนช. 6 ราย ได้แก่ ศรีศักดิ์ ว่องส่งสาร พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา (ผบ.ตร.) พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ (อดีต ผบ.ตร. น้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม) ตวง อันทะไชย พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ และสมชาย แสวงการ รวมถึงมติของ สปท.

เรียบเรียงบางส่วนจาก : สำนักข่าวอิศรา , ผู้จัดการออนไลน์ และเว็บข่าวรัฐสภา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท