Skip to main content
sharethis

20 ส.ค. 2559 จากกรณี ราวีนา ชัมดาซานี โฆษกข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อการจำกัดพื้นที่ประชาธิปไตยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย พร้อมเรียกร้องให้กลับสู่หลักการของพลเมืองโดยทันที เมื่อวันที่ 19 ส.ค.59 (อ่านรายละเอฃียดเพิ่มเติม

ต่อมาวันเดียวกัน เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศได้เผยแพร่คำชี้แจงของกระทรวงต่อกรณีดังกล่าว ว่า ประเทศไทยให้ความสาคัญกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักปฏิบัติสากล โดยเชื่อว่าสิทธิดังกล่าวเป็นรากฐานของสังคมประชาธิปไตย อย่างไรก็ดี  รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินมาตรการเพื่อรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยและการป้องกันความแตกแยกในสังคมเฉกเช่นเดียวกับรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะขณะนี้ ประเทศไทยอยู่ในช่วงของการปฏิรูปเพื่อเสริมสร้างความสามัคคีภายในชาติ และนำสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงและยั่งยืน 

เกี่ยวกับการพิจารณาคดีโดยศาลทหาร นั้น กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า ผู้ต้องหาที่ถูกพิจารณาคดีภายใต้ศาลทหารจะได้รับการประกันสิทธิไม่แตกต่างจากการพิจารณาคดีภายใต้ศาลพลเรือน และตามที่ระบุในประมวลวิธีพิจารณาความอาญา เช่น สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาอย่างเที่ยงธรรมและเปิดเผย สิทธิในการได้รับคำปรึกษาด้านกฎหมายและว่าความโดยทนาย สิทธิในการประกันตัว นอกจากนี้ กระบวนการยุติธรรมภายใต้ศาลทหารมีความโปร่งใส ดังจะเห็นได้จากการที่ ญาติผู้ต้องหา ภาคประชาสังคม กลุ่มพิทักษ์สิทธิ และผู้แทนคณะทูตสามารถเข้าฟังการพิจารณาคดีได้
 
กระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงด้วยว่า การออกเสียงประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 เป็นไปอย่างโปร่งใสและบริสุทธิ์ยุติธรรมตามมาตรฐานและแนวปฏิบัติของอารยประเทศ และสอดคล้องกับขั้นตอนทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างครอบคลุมผ่านการรับฟังความคิดเห็นและการจัดสัมมนาและอภิปรายอย่างต่อเนื่อง อาทิ การอภิปรายทางโทรทัศน์ การจัดเสวนาในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ  นอกจากนั้น ในช่วงการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญก่อนการออกเสียงประชามติ ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย ดังเห็นได้จากการที่นักการเมืองที่มีชื่อเสียง นักวิชาการจาก 43 องค์กร และสื่อมวลชนแนวหน้าต่าง ๆ สามารถวิจารณ์และแสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเปิดเผย แต่สำหรับผู้ที่ตั้งใจฝ่าฝืนกฎหมายและก่อความไม่สงบก็จะต้องถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม
 
กระทรวงการต่างประเทศ ยังชี้แจงด้วยว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นว่าการนำพาประเทศกลับสู่การปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีความยั่งยืน โดยยึดมั่นดำเนินการตาม Roadmap ซึ่งจะนำไปสู่การเลือกตั้งในปี 2560 ทั้งนี้  การที่เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในการออกเสียงประชามติ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 สะท้อนถึงการยอมรับ Roadmap ของรัฐบาลด้วย โดยแม้แต่ผู้ที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ยอมรับผลการออกเสียงประชามติในเวลาต่อมา ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงหวังว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเคารพการตัดสินใจของประชาชนชาวไทย เหมือนดังเช่นที่ควรเคารพเสียงของประชาชนในประเทศอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนประเทศไทยในการวางรากฐานของประชาธิปไตยที่ยั่งยืนและความปรองดองสมานฉันท์ในสังคมต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net