Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

มีเรื่องที่ชอบมากเรื่องหนึ่งในตอนนี้ คือวิธีการจัดการในชุมชน

เนื่องมาจากว่า ประเด็นฮอตฮิตติดอันดับ อันหนึ่งที่ยังไม่จากหาย คือการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไข้เลือดออก

เมื่อไม่กี่วันนี้ ในหมู่บ้านก็มีคนป่วยอีก 1 ราย ได้แต่ข่าวว่า อาจจะติดมาจากที่อื่น ก่อนจะกลับมาอยู่หมู่บ้าน

ที่ชอบก็คือ ในชุมชนมีกติการ่วมกันอย่างชัดเจนมาก ดังนี้

1. คณะ อสม. จะออกสำรวจพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ โดยแบ่งเขตกันรับผิดชอบอย่างเป็นทางการ เช่น ทีม A รับผิดชอบเขต 5 มีบ้านในความรับผิดชอบ 33 หลัง เป็นต้น

2. หากพบว่าบ้านไหนมีแหล่งเพาะลูกน้ำยุงลาย จะเป็นในหม้อไหโอ่งอ่าง กระถางแตกบิ่น แอ่งดิน หลุมขยะ ฯลฯ ทีม อสม. จะแจ้งให้เจ้าของบ้านรับทราบ แล้วช่วยกันทำลาย แจกทรายอะเบทให้ เอาไว้ใส่ในภาชนะที่มีน้ำขัง ‎ในการนี้จะนับว่าเป็นการ เตือนครั้งที่ 1‬

3. หลังจากการสำรวจครั้งแรก จะมีการสำรวจในครั้งที่ 2 เพื่อดูว่า บ้านหลังนั้นๆ (และทุกหลังนั่นแหละ) มีการระมัดระวังป้องกันการก่อตัวของลูกน้ำยุงลายอีกหรือไม่ ถ้าพบว่ายังมีอีก จะช่วยกันทำเหมือนครั้งแรก และถือว่าเตือนเป็นครั้งที่ 2

4. ในการสำรวจครั้งที่ 3 หากพบว่าในบ้านหลังเดิมยังมีลูกน้ำยุงลายอี๊ก ‪ ‎จะนับว่าเป็นการเตือนครั้งที่ 3‬ และครบลิมิตของการเตือน

ในชุมชนหลายหมู่บ้าน มีข้อตกลงร่วมกันว่า เมื่อบ้านหลังใดต้องเตือนกันถึง 3 ครั้ง จะเข้าสู่มาตรการ ‎ปรับเป็นเงิน‬ หลังคาละ 100 บาท

แยกย่อยไปอีกว่า ถ้าบ้านหลังนั้น เป็นบ้านของ อสม.เอง เป็นกลุ่มผู้นำชุมชนต่างๆ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน ฯลฯ จะต้องเสียค่าปรับ หลังละ 200 บาท


เงินที่ได้นี้ จะนำเข้ากองกลางหมู่บ้าน เพื่อเอามาทำประโยชน์ในหมู่บ้านกันต่อ

และจากนั้น ก็จะส่งทีมพ่นหมอกควันกำจัดยุงลายเข้าไป และขึ้นบัญชีว่า บ้านหลังนั้นๆ เป็นบ้านที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษ

สำหรับในหมู่บ้านที่อยู่ตอนนี้ มีการประชุมกันล่าสุด ได้มีการปรับกติกาที่แตกต่างจากหมู่บ้านอื่นๆ นิดหน่อย

คือชาวบ้านไม่ยอมรับการปรับเป็นเงิน เพราะมองว่า การที่จะมีลูกน้ำยุงลายเกิดขึ้นนั้น บางทีก็เป็นเหตุสุดวิสัย เช่น บ้านมีที่กว้าง มีแอ่งน้ำขังเกิดขึ้น ฝนตกบ่อย คนในบ้านมีแต่คนแก่และเด็ก หรือบางทีก็ยุ่งกับการงาน เช้าออกบ้าน ค่ำมืดถึงจะกลับมา ไม่มีเวลาสำรวจถ้วนถี่

แต่กรรมการหมู่บ้านก็บอกว่า มันเป็นหน้าที่ที่จะต้องช่วยกัน เพราะหนึ่ง มันเป็นบ้านที่อยู่อาศัยเอง ป่วยมาก็ตัวเองนั่นแหละเดือดร้อนก่อนเพื่อน สอง มันเป็นการอยู่ร่วมกันในชุมชน เกิดแพร่ระบาดขึ้นมา ก็ไม่ใช่จะป่วยอยู่คนเดียว มันซวยกันได้ทั้งหมู่บ้าน

ยังไงก็ต้องช่วยกัน อีกอย่างหนึ่ง อสม.นั้น ไม่มีสิทธิ์จะเข้าไปในบริเวณบ้านใดโดยไม่ได้รับอนุญาต จะเข้าไปได้เฉพาะในวันที่ออกสำรวจ และเจ้าของบ้านต้องรับทราบ (เวลาสำรวจแหล่งลูกน้ำยุงลาย ก็ให้ดูไปด้วยกัน)

จนในที่สุด ในหมู่บ้านก็ลงเอยกันว่า ไม่มีการปรับเงินก็ได้ แต่จะมี ‪#‎มาตรการธงแดง‬ แทนที่


กติกา

1. เมื่อเตือนครบ 3 ครั้งแล้ว บ้านหลังนั้น จะถูกปักธงแดงหน้าบ้าน เพื่อป็นสัญลักษณ์ให้ทุกคนรู้ว่า เป็นจุดเฝ้าระวัง

2. ห้ามมิให้ผู้ใดดึงธงแดงออกเอง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของบ้าน หรือคนอื่นๆ ในหมู่บ้าน ผู้ที่จะดึงธงแดงออกได้นั้น มีเพียงคณะกรรมการหมู่บ้าน หรือ อสม. ที่จะดึงออกได้ เมื่อพิสูจน์แล้วว่าบ้านหลังนั้นได้ปฏิบัติตามกติกาต่างๆ ดีแล้ว (ระวังไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย)

3. ผู้ที่ดึงธงแดงออกโดยไม่ได้รับอนุญาต จะเจอการปรับ ตามข้อตกลงย่อยออกไปอีก

ที่ชอบเรื่องนี้ เพราะคิดว่า มันเข้าท่าดีนะ กับการวางมาตรการต่างๆ เพื่อดูแลกันเองในชุมชน แต่ที่ชอบมากกว่านั้นคือ การที่คนในชุมชนเองสามารถลุกมาถกเถียงกันได้ว่า จะเอาหรือไม่เอามาตรการแบบใด‬ อย่างที่ไม่ยอมให้ปรับเป็นเงิน แต่เปลี่ยนเป็นการปักธงแดงแทนที่ เพราะดูกันที่เป้าหมาย และก็ยืดหยุ่นกันไปตามความเหมาะสมด้วย

ว่าแต่ว่า คนที่ไม่รู้ว่าในหมู่บ้านเขามีข้อตกลงอะไรยังไง สมมุติว่าผ่านมาเห็นธงแดงปักหน้าบ้านกันสลอน ก็อาจจะมโนกันไปได้ว่า แน่ะ พวกซ่องสุมบ่อนทำลายความมั่นคง (มันเกิดได้นะ)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net