'องอาจ' ซัด สนช. อย่าหัวหมอ ปมตีความคำถามพ่วง ให้ ส.ว.เสนอชื่อนายกฯ

21 ส.ค. 2559 องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตีความคำถามพ่วงหรือประเด็นเพิ่มเติมที่ผ่านความเห็นชอบจากการออกเสียงประชามติมาแล้วให้ ส.ว. มีสิทธิ์เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาเห็นชอบว่า เรื่องนี้ไม่มีอะไรต้องตีความ ไม่ว่าจะตีความแบบกว้างหรือแบบแคบเนื้อหาสาระในคำถามพ่วงชัดเจนตั้งแต่ต้นแล้วว่าให้วุฒิสภาร่วมเห็นชอบ หรือ เลือกนายกรัฐมนตรีไม่มีข้อความไหนในคำถามพ่วงที่ระบุว่าให้วุฒิสภาเสนอชื่อผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรี  ถ้า สนช. ต้องการให้วุฒิสภาเสนอชื่อด้วยก็ควรใส่คำว่า  “เสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” ไว้ในคำถามพ่วงตั้งแต่ตอนทำประชามติเลย  ไม่ควรมามีกรอบเสนอให้ตีความแบบกว้างหรือแบบแคบแต่อย่างใด

องอาจ กล่าวว่า นอกจากนี้การอธิบายคำถามพ่วงของ สนช. ระหว่างการทำประชามติก็ไม่ได้ บอกว่าจะให้วุฒิสภาเสนอชื่อนายกฯ รัฐมนตรี จึงหวังว่ากรธ.จะนำคำถามพ่วงไปใส่ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญด้วยความสุขุม รอบคอบ ชอบธรรม และคำนึงถึงหลักการที่ถูกต้องบนพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมเพื่อให้รัฐธรรมนูญสามารถประกาศใช้ประเทศชาติเดินหน้าไปด้วยความราบรื่นตามโรดแม็ป ต่อไป

“สนช. ควรทำเรื่องนี้ตรงไปตรงมาอย่าหัวหมอไม่ควรคิดว่าประชาชนส่วนมากลงประชามติเห็นชอบคำถามพ่วงแล้วจะมาปู้ยี่ปู้ยำทำตามอำเภอใจอย่างไงก็ได้ ดังนั้นเพื่อให้การนำคำถามพ่วงมาใส่ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญอย่างครบถ้วนสมบูรณ์กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ควรพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของคำถามพ่วงที่ประชาชนส่วนมากออกเสียงประชามติเห็นชอบ และดำเนินการตามเนื้อหาสาระที่ระบุไว้ในคำถามพ่วงอย่างเคร่งครัดเป็นหลัก และการนำคำถามพ่วงมาใส่ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญไม่ควรกระทบกับเนื้อหาสาระหลักของร่างรัฐธรรมนูญจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนส่วนมากให้ความเห็นชอบไปแล้วและไม่ควรให้คำถามพ่วงถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่ง” องอาจ กล่าว

รองปธ.สนช. ชี้ ส.ว.ชุดใหม่มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯซึ่งเป็นคนนอกได้

ขณะที่วานนี้ (20 ส.ค.59) พีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. กล่าวกรณีที่เจตนารมณ์ของ สนช.ที่ให้ ส.ว.มีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีตามคำถามพ่วงที่ผ่านการทำประชามติว่า หลังจากคำถามพ่วงประชามติผ่านแล้วก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ต้องแก้ไขเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของคำถามพ่วง ก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยหลักการแล้วการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเป็นหน้าที่ของส.ส.ที่พรรคการเมืองจะเสนอรายชื่อจำนวน 3 คนให้ที่ประชุมรัฐสภาให้ความเห็นชอบ แต่หากเกิดกรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้  ส.ว.ก็น่าจะมีสิทธิ์เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งก็เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคำถามพ่วงที่ผ่านการทำประชามติไปแล้ว เพราะถือเป็นกระบวนการที่แก้ปัญหาจากก็อกแรกที่ไม่สำเร็จ โดยส.ว.ชุดใหม่มีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีใหม่ซึ่งเป็นคนนอกได้ สนช.จึงเสนอไปยังกรธ. โดยไม่ได้มีการทะเลาะหรือขัดแย้งใดๆ ทั้งนี้ กรธ.จะเขียนลงในรัฐธรรมนูญอย่างไร สนช.ก็เคารพ แต่ยืนยันว่า ส.ว.สามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ จากที่กระบวนการปกติเสนอไม่ได้

พีระศักดิ์ ยืนยันว่า เวทีชี้แจงคำถามพ่วงของ สนช. ไม่เคยบอกว่า ส.ว.มีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ในครั้งแรก แต่ยอมรับว่า มีบางเวทีบอกว่าส.ว.สามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ หากครั้งแรกไม่สามารถโหวตนายกรัฐมนตรีได้ เพราะถือว่าเป็นกระบวนการแก้ไขปัญหา แต่ กรธ.จะเห็นด้วยหรือไม่ ก็เป็นดุลยพินิจของกรธ. ซึ่งการชี้แจงในเวทีต่างๆ ไม่ได้เป็นการหลอกลวงประชาชน เพราะไม่มีเวทีไหนที่บอกว่าเสนอชื่อไม่ได้ทั้งนี้ไม่กังวล หากฝ่ายการเมืองจะนำประเด็นดังกล่าวไปฟ้องร้อง เพราะเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย และสนช.ได้ใช้สิทธิอย่างสุจริต

“มันเป็นการตีความกฏหมาย ซึ่งสนช.ก็มีความเห็นแย้งกัน แต่สุดท้ายก็ไปจบที่กรธ. ยืนยันว่า สนช.ไม่ได้เพิ่มอะไรนอกจากคำถามพ่วงที่ผ่านการทำประชามติและสนช.ไม่ได้ทำเกินหลักการที่วางไว้  การให้ส.ว.เสนอชื่อนายกฯไม่ได้ทำขึ้นหลังประชามติ แต่เกิดขึ้นก่อนในช่วงที่กรธ.ได้นำเสนอร่างแรกและให้ทุกฝ่ายร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อนำไปแก้ไข ซึ่งสิ่งที่กรธ.ไม่ได้แก้เราก็เสนอไปในคำถามพ่วง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ได้กำหนดให้สนช.สามารถเสนอคำถามพ่วงได้” พีระศักดิ์ กล่าว

เมื่อถามย้ำว่า การให้ส.ว.ชุดใหม่มีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี เป็นการกรุยทางให้เสนอคนในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)มาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า  เรื่องนายกรัฐมนตรีคนนอก เป็นกระบวนการตามขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติ และขณะนี้อยู่ในกระบวนการที่จะนำไปสู่สาระหลักสำคัญ ส่วนที่จะออกมาแบบไหนนั้น กรธ.ก็ยังไม่ได้ปฏิเสธโดยจะรับไปหารือกัน และการผลักดันส.ว.ชุดใหม่เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ ไม่ได้ต้องการเป็นใบเบิกทางให้สนช.กลับเข้ามาเป็นส.ว.สมัยหน้า

ชี้คำถามพ่วงมีเจตนารมณ์ให้ ส.ว.มีส่วนร่วมเลือกนายกฯตั้งแต่เสนอชื่อ

เจตน์ ศิรธรานนท์ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สนช. กล่าวถึงการพิจารณาคำถามพ่วงประชามติ ที่มีปัญหาเรื่องการให้ส.ว.มีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี ในกรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีตามรายชื่อพรรคการเมืองได้ มีขอบข่ายถึงขั้นเสนอชื่อได้ด้วยหรือไม่ ว่า เมื่อยังมีความเห็นที่ต่างกัน กรรมาธิการฯ ซึ่งมีตัวแทนของกรรมาธิการทุกคณะในสนช.อยู่แล้วจึงจะนัดหารือกันอีกครั้งภายในวันอังคารนี้ เพื่อหาข้อยุติที่ชัดเจนว่าควรตีความอย่างไร ซึ่งก่อนหน้านี้เห็นว่าควรตีความอย่างกว้าง คือเมื่อให้ส.ว.มีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี ก็ควรมีส่วนตั้งแต่กระบวนการแรกคือการเสนอชื่อด้วย ซึ่งประเด็นนี้ได้มีการพูดคุยกันตั้งแต่ตอนตั้งคำถามพ่วงประชามติแล้ว ว่าเจตนารมณ์เป็นแบบนี้ แต่การจะเขียนเป็นคำถามหากระบุลงไปละเอียดเช่นนี้ จะกลายเป็นมากกว่า 1 ประเด็น และเกรงว่าประชาชนจะสับสน

เจตน์ กล่าวว่า ทางกรรมาธิการฯ จะหารือกันและหากจะต้องขอมติที่ประชุมสนช. จะต้องพูดคุยกันในคณะกรรมาธิการสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่าสมควรบรรจุเป็นญัตติเพื่อขอมติหรือไม่ แต่ในเบื้องต้นทางกรรมาธิการฯเห็นว่าไม่ควรเป็นมติ เพราะหากเป็นมติของสนช.จะเป็นการกดดันกรธ. ซึ่งยังมีความเห็นต่างอยู่  ซึ่งทางสนช.อยากให้ความเห็นเป็นไปในแนวทางเดียวกันก่อนที่จะเขียนในบทเฉพาะกาล

นักวิชาการแนะต้องตีความคำถามพ่วงประชามติอย่างเคร่งครัด

ยุทธพร อิสรชัย รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไทยถึงการที่ สนช. เสนอเจตนารมณ์ของคำถามพ่วงประชามติเพื่อให้ กรธ. ปรับแก้ในบทเฉพาะกาลร่างรัฐธรรมนูญ โดยให้ ส.ว. สามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้หากไม่รัฐสภาไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีพรรคการเมืองได้ว่า ตามระบอบประชาธิไตยแบบรัฐสภา เรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรีต้องมีความเชื่อมโยงกับประชาชนผ่าน ส.ส. แต่เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีส่วนคำถามพ่วงที่ให้ ส.ว.สามารถร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้จึงเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงมาตั้งแต่ต้นว่า ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งจะมีบทบาทหรือมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีมากกว่า ส.ส. หรือไม่ เพราะระบบการเลือกตั้งแบบใหม่โอกาสที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่จะได้เสียงข้างมากในสภาจะยากขึ้น ดังนั้นพรรคที่ใหญ่ที่สุดหลังการเลือกตั้งจะเป็น พรรคส.ว.หรือไม่ เพราะมีอำนาจในการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี มีกระบวนการตรวจสอบ ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นต้น ขณะที่ตอนนี้ สนช.พยายามตีความว่าการให้ ส.ว.มาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีควรจะเริ่มตั้งแต่กระบวนการเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งตามความเป็นจริงเรื่องนี้ต้องตีความอย่างเคร่งครัด เพราะในคำถามพ่วงที่ประชาชนได้อ่านมีเพียงข้อความ 3 บรรทัดเท่านั้น หากไม่ตีความตามที่เขียนไว้อาจมองได้ว่านี่เป็นใบผ่านทาง หรือ การตีเช็คเปล่าหรือไม่ และอาจส่งผลกระทบระยะยาวต่อตัวรัฐธรรมนูญ ต่อความน่าเชื่อถือของ สนช. และ กรธ.ชุดนี้ อย่างไรก็ตามในท้ายที่สุดจะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขผิดกับเจตนารมณ์หรือไม่

“ส่วนตัวเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตีความอย่างเคร่งครัด เพราะหากตีความอย่างกว้าง โอกาสที่จะเกิดปัญหาทางการเมืองตามมาก็มีมากและอาจส่งผลไปถึงการเลือกตั้ง อย่างที่เคยมองไว้ตั้งแต่ต้นว่าความขัดแย้งเรื่องการลงประชามติคงไม่มาก แต่ความขัดแย้งอาจมีขึ้นได้หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ เพราะจะเกิดการเดินหน้าหลายส่วน เช่นการมี ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากคำถามพ่วง ซึ่งอาจทำให้เกิดปมความขัดแย้งจากคนที่มีความเห็นไม่ตรงกัน" ยุทธพร กล่าว

เมื่อถามว่าการตีความที่ไม่ตรงไปตามตัวอักษร ที่ใช้ในคำถามพ่วงประชามติจะขัดกับหลักการหรือไม่ ยุทธพร กล่าวว่า ที่จริงแล้ว สนช.ควรเขียนกรอบให้ชัดเจนว่าการเลือกนายกรัฐมนตรี ส.ว.มีหน้าที่ในการร่วมลงมติเลือกเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้เสนอชื่อ แต่ลักษณะของคำถามไม่ชัดเจน ทำให้ตีความเพราะ ส.ส.และส.ว.อาจต้องมาดูเรื่องอำนาจหน้าที่ว่ามีมากแค่ไหน เป็นโอกาสที่เปิดช่องให้ตีความที่หลากหลาย ซึ่งการทำประชามติคือการให้ประชาชนมีส่วนร่วม ดังนั้นการสอบถามประชาชนจำเป็นต้องมีลักษณะที่ตรงไปตรงมา มีความซื่อสัตย์ทางการเมืองเมื่อประชาชนที่เป็นเจ้าของประชาธิปไตย มีความเข้าใจและตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกตามกรอบที่เขียนมา ดังนั้นก็ไม่ควรตีความให้เกินกรอบที่เขียนมา ไม่เช่นนั้นจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและความชอบธรรมทางการเมือง อำหน้าหน้าที่ของ ส.ว.อาจเกินบริบทที่จำเป็น ซึ่งคำถามที่คำคัญคือ เรามี ส.ว.เพื่ออะไร หากสามารถตอบโจทย์ได้ก็จะสามารถวางกรอบการทำงานของ ส.ว.ได้ชัดเจน สำหรับมุมมองของ สนช.ที่กังวลว่าจะเกิดสูญญากาศทางการเมืองหาก ส.ส.ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรี นั้น การตีความว่าจะเกิดสูญญากาศอาจเป็นการตีความแค่มุมเดียว เพราะกระบวนการในรัฐธรรมนูญกำหนดกลไกไว้อย่างชัดเจน และมีลำดับชั้นอยู่แล้ว

สำหรับคำถามพ่วง ในการทำประชามติที่ผ่านมา ระบุว่า

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”
 
 
เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท