Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

สิ่งที่เรียกว่า “วิธีการแบบพุทธะ” ที่จะพูดถึงต่อไปนี้คือสิ่งที่ผม “ตีความ” จากการอ่านพระไตรปิฎก ไม่ได้แปลว่าผมค้นพบวิธีการหรือคำสอน “ที่แท้จริง” ของพุทธะ เพราะผมก็ไม่สามารถจะรู้ได้ว่าสิ่งที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกที่ผ่านการสรุปรวบรวมในรูปของการ “สังคายนา” มาแล้วหลายครั้งในเวลาที่ยาวนานนั้น อะไรคือ “ที่แท้จริง” ของพุทธะกันแน่

ผมคิดว่าในพระไตรปิฎก มีสิ่งที่เราเข้าใจได้ 2 ส่วนหลักๆ คือ “เนื้อหาคำสอน” หรือที่เรียกรวมๆ ว่า “ธรรมวินัย” กับ “วิธีการ” ที่พุทธะใช้ในการเสนอคำสอน ซึ่งผมขอเรียกว่า “วิธีการแบบพุทธะ”

ถ้าพูดอย่างเป็นวิชาการหน่อยก็ต้องอ้างอิงว่า อ.สมภาร พรมทา ก็เขียนไว้ในหนังสือ “ชีวิตที่ดี” สรุปความว่า ในประเพณีปรัชญาตะวันตกนั้นเขาเน้น “วิธีการทางปรัชญา” คือวิธีการตั้งคำถาม วิพากษ์ความคิดและข้อโต้แย้งต่างๆ (arguments) ที่มีอยู่ก่อน แล้วเสนอข้อโต้แย้งของตัวเองเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปใหม่ หรือนำไปสู่การเสนอความคิดใหม่ของตัวเองที่เชื่อว่ามีเหตุผลหนักแน่นกว่า (จากนั้นก็จะมีคนอื่นๆ ที่ใช้วิธีแบบเดียวกันมาตั้งคำถามต่อข้อสรุปหรือความคิดใหม่นั้น แล้วก็เกิดข้อสรุปหรือการเสนอความคิดใหม่ๆ มุมองใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ พัฒนาการปรัชญาตะวันตกก็เป็นไปในลักษณะนี้)

อันที่จริงวิธีการเช่นนี้ก็ใช้ในศาสตร์อื่นๆด้วย แต่มันเป็นวิธีที่เชื่อกันว่าเริ่มใช้กันเป็นล่ำเป็นสันจากยุคกำเนิดปรัชญาและใช้กันมาถึงปัจจุบัน ดูเหมือนว่าปรัชญาโบราณ เช่นปรัชญากรีกจะให้ทั้งวิธีการและเนื้อหาด้วย แต่ปรัชญาสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่มักเน้นที่วิธีการ แทบจะไม่เสนอเนื้อหาใหม่ๆ (แต่อาจจะมองว่าพบเนื้อหาได้จากวิธีการที่เขาเสนอก็คงได้) แล้ว อ.สมภารก็บอกว่า ในพุทธปรัชญานั้นพุทธะให้ทั้งวิธีการและเนื้อหาเอาไว้อย่างละเอียด

ขณะที่ อ.เขมานันทะ ก็เคยให้สัมภาษณ์วิจักขณ์ พานิชว่า “ธรรมะไม่ใช่ตัวสัจธรรม แต่เป็นเพียงอุบายวิธี” เพราะตัวสัจธรรมเป็นเรื่องที่แต่ละคนจะพบได้จากประสบการณ์ตรงของตัวเอง หลังจากผ่านการเรียนรู้โดยอุบายวิธีที่เหมาะสม

หากมองจากประวัติศาสตร์พุทธศาสนา จะเห็นว่านิกายมหายาน (รวมเซน วัชรยาน) เน้นวิธีการมากกว่าเนื้อหาคำสอน ฉะนั้นเขาจึงสามารถพัฒนาวิธีการที่หลากหลายในการเรียนรู้ธรรม และปรับให้เข้ากับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องได้ดีกว่า พร้อมกับยังคงรักษาเนื้อหาสำคัญของคำสอนเช่นเรื่อง “โพธิจิต” เอาไว้

ส่วนเถรวาทเน้นการรักษาคำสอน ไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิธีการนัก เราจึงมักพบว่าพระและชาวพุทธเถรวาทพยายามเสนอหลักธรรมหรือคำสอนที่ตัวเองเชื่อว่าเป็น “สัจธรรม” ที่เป็นอกาลิโกสำหรับตอบปัญหาชีวิต สังคม เศรษฐกิจ การเมืองแทบทุกเรื่อง

แต่เมื่ออ่านพระไตรปิฎก เราจะพบว่าวิธีการแบบพุทธะเกิดจาการแลกเปลี่ยน ต่อรองกับความคิด ความเชื่ออื่นๆ ภายในบริบทของสังคมและวัฒนธรรมในสมัยพุทธกาล

จะว่าไปก็เริ่มตั้งแต่การต่อรองระหว่างพ่อกับสิทธัตถะ แต่สุดท้ายสิทธัตถะก็เลือกที่จะเดินตามทางของตัวเองมากกว่าที่จะเดินตามทางที่พ่อขีดเส้นให้เดิน การเลือกเส้นทางของสมณะก็คือเลือกที่จะเดินเข้าสู่การเรียนรู้ร่วมกันกับคนอีกจำนวนมากที่เดินตามวิถีทางในการแสวงหาทางพ้นทุกข์ตามความเชื่อทางศาสนาในเวลานั้น เมื่อเรียนรู้จากอาจารย์แล้วพบว่ายังไม่ถึงจุดหมาย ก็เดินต่อด้วยการทดลองปฏิบัติตามลัทธิความเชื่อต่างๆในเวลานั้น จนสุดท้ายจึงพบทางของตัวเอง

บุคลิกภาพของสิทธัตถะช่วงใช้ชีวิตแสวงหา เป็นบุคลิกภาพที่เปิดกว้างต่อการเรียนรู้ กล้าใช้ชีวิตลองผิดลองถูก มีความเป็นตัวของตัวเอง จนในที่สุดก็เลือกที่จะจุดประทีปทางปัญญาเป็นแสงสว่างนำทาง มากกว่าที่จะเดินตามแสงสว่างของคนอื่น

ที่น่าสนใจคือเมื่อพบคำตอบที่ต้องการแล้ว หรือรู้แจ้งเป็นพุทธะแล้ว แทนที่จะใช้ชีวิตเป็นสมณะประเภทอยู่ป่าต่อไป ก็กลับเข้ามาใช้ชีวิตสนทนากับผู้คนในสังคม พุทธะและสังฆะที่ท่านก่อตั้งขึ้นในเวลาต่อมา จึงไม่ใช่สมณะประเภทที่ตัดขาดจากสังคม ปลีกตัวอยู่ในป่าลึกอย่างสมณะประเภทฤาษีชีไพร อารามของสังฆะหากไม่อยู่ในเมือง ก็อยู่ชายป่าไม่ไกลจากเมืองและละแวกบ้าน

วิธีการแบบพุทธะในการเสนอสิ่งที่ท่านค้นพบแก่สังคมเวลานั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับวิธีการทางปรัชญาคือการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ความคิดความเชื่อที่มีอยู่เดิมแล้วจึงเสนอความคิดใหม่ที่เชื่อว่ามีเหตุผลมากกว่าเดิม เห็นได้ตั้งแต่เทศนาครั้งแรกก็วิพากษ์วิจารณ์ความเชื่อเดิมอย่างถึงราก

ที่น่าสนใจคือในการเสนอ “ธรรม” หรือแนวทางเกี่ยวกับการมีชีวิตที่ดีและการมีสังคมคมการเมืองที่ดี พุทธะใช้วิธีตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ความคิดความเชื่อและอำนาจของชนชั้นนำในเวลานั้น เช่นที่วิพากษ์อภิปรัชญาและระเบียบทางสังคมการเมืองตามระบบวรรณะแบบพราหมณ์ในอัคคัญญสูตร และวิพากษ์การใช้อำนาจเผด็จการตามอำเภอใจของผู้ปกครองในจักกวัตติสูตร เป็นต้น

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในทัศนะแบบพุทธศาสนาไทย ธรรมวินัยดูเหมือนจะเป็น “กฎสัมบูรณ์” แต่เราลืมไปว่ากฎสัมบูรณ์ย่อมมาจาก “อำนาจสัมบูรณ์” ในทางศาสนาอำนาจสัมบูรณ์คืออำนาจของพระเจ้า ฉะนั้นในทัศนะของพราหมณ์ระบบวรรณะจึงเป็นกฎสัมบูรณ์ เพราะเป็นกฎที่ให้มาหรือลิขิตไว้ล่วงหน้าโดยพระเจ้า(พระพรหม) แต่พุทธะไม่มีอำนาจสัมบูรณ์ใดๆเลย อีกทั้งธรรมวินัยก็ไม่ได้ถูกพุทธะกำหนดให้มาล่วงหน้า

ธรรมส่วนที่เป็นความจริงตามกฎธรรมชาติเป็นสิ่งที่พุทธะค้นพบแล้วนำมาบอกแก่คนอื่น ธรรมส่วนที่เป็นแนวทางดำเนินชีวิตที่ดีและการมีสังคมการเมืองที่ดี ส่วนหนึ่งเกิดจากการประยุกต์ความจริงที่พุทธะค้นพบ อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการที่พุทธะ “แบ่งปัน” ความคิด ความเชื่อ แนวปฏิบัติที่ดีต่างๆที่แลกเปลี่ยนกันอยู่ในสังคมเวลานั้น

วิธีการบัญญัติวินัยสงฆ์ของพุทธะนับว่าน่าสนใจ กล่าวคือ ไม่มีวินัยสงฆ์ที่พุทธะบัญญัติเอาไว้ล่วงหน้าตามความต้องการของท่านเอง แต่วินัยสงฆ์ทั้งหมดบัญญัติขึ้นจากการฟัง “เสียง” จากสังคมและจากสังฆะ

เมื่อฟังเสียงวิจารณ์จากสังคมที่รับพฤติกรรมของพระภิกษุไม่ได้ในเรื่องอะไร และเสียงสะท้อนจากสังฆะต้องการอะไร พุทธะได้นำเสียวิจารณ์หรือเสียงสะท้อนนั้นๆ เข้าสู่ที่ประชุมของสังฆะ มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนแล้วจึงบัญญัติวินัยขึ้น เมื่อบัญญัติวินัยสงฆ์ขึ้น พุทธะก็ปล่อยให้เป็นอำนาจของสังฆะในการกำกับดูแลให้เกิดการปฏิบัติตามวินัยบัญญัตินั้นๆตลอดไป โดยพุทธะไม่มีอำนาจไปก้าวก่ายแทรกแซงอำนาจของสังฆะตามธรรมวินัยได้เลย

ฉะนั้น พุทธะจึงไม่ใช่ผู้มีอำนาจเผด็จการ แต่มีชีวิตอยู่ท่ากลาง “การต่อรอง” เมื่อเห็นพระภิกษุรูปหนึ่งถูกทอดทิ้งให้นอนป่วยหนักอยู่เพียงลำพัง เพื่อที่จะแนะนำให้สมาชิกของสังฆะไม่ทอดทิ้งเพื่อน พุทธะได้ลงมือดูแลไข้ของพระรูปนั้นด้วยตัวท่านเอง ในการต่อรองกับกลุ่มคนหรืออำนาจอื่นๆ พุทธะก็ทำสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง เช่นบางครั้งก็เข้าไปเจรจาต่อรองให้ญาติของท่านทั้งสองตระกูลไม่ทำสงครามแย่งน้ำกันทำนาได้สำเร็จ แต่ก็ไม่สามารถต่อรองห้ามทัพที่จะยกไปฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตระกูลของท่านได้ บางครั้งเมื่อพระภิกษุทะเลาะกันแบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่า หรือแยกออกไปตั้งกลุ่มใหม่ พุทธะก็ต่อรองไม่สำเร็จ บางเรื่องก็ปล่อยให้สังคมเข้ามาจัดการกับปัญหาความแตกแยกในวงการสงฆ์

การใช้ชีวิตของพุทธะในชุมชนสังฆะ จึงไม่ใช่การมีชีวิตอยู่ท่ามกลาง “ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี” หากต้องคอยแก้ปัญหามากมาย ทั้งปัญหาความประพฤติของภิกษุรายบุคคล การทะเลาะวิวาท ความขัดแย้งและอื่นๆ 

ตัวอย่างการต่อรองที่น่าสนใจคือ “การต่อรองกรณีบวชภิกษุณี” เริ่มจากนางปชาบดีสร้างความกดดันต่อพุทธะด้วยการแต่งชุดนักบวชพร้อมกับสตรีชาวศากยะจำนวนหนึ่งมาขออนุญาตบวชภิกษุณีกับพุทธะ แต่ท่านไม่อนุญาต จึงต้องอาศัยพระอานนท์ช่วยเจรจา

น่าสนใจว่าพระอานนท์ใช้วิธีเจรจาหว่านล้อมเพื่อให้พุทธะยอมอนุญาต เช่น ถามว่าถ้าสตรีบวชจะบรรลุธรรมได้เหมือนบุรุษหรือไม่ เมื่อพุทธะตอบว่าได้ ก็ยกเรื่องบุญคุณที่นางปชาบดีเคยเลี้ยงดูพุทธะในวัยเด็ก สุดท้ายพุทธะก็ยอมรับเหตุผลของฝ่ายที่เข้ามาต่อรอง จึงอนุญาตให้บวชภิกษุณี แต่เป็นการอนุญาตที่มีลักษณะต่อรองกับบริบทสังคมและวัฒนธรรมสมัยนั้น จึงเป็นการอนุญาตให้บวชภายใต้เงื่อนไข “ครุธรรม” ที่กำหนดให้ภิกษุณีมีสถานะทางสังคมต่ำกว่าพระภิกษุเหมือนที่เพศหญิงมีสถานะด้อยกว่าเพศชายในสังคมสมัยนั้น

มีการตีความกันว่า เหตุผลที่พุทธะอนุญาตการบวชภิกษุณีคือเหตุผลเรื่อง “บุญคุณ” ซึ่งก็จริงส่วนหนึ่ง แต่ผมคิดว่านี่เป็นเหตุผลรอง เหตุผลหลักน่าจะเป็นประเด็นว่า “ถ้าสตรีบวชแล้วบรรลุธรรมได้เหมือนบุรุษ” เพราะการบรรลุธรรมคือเป้าหมายสูงสุดของการบวช ถ้าตรีบวชแล้วไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของการบวชได้ ต่อให้นางปชาบดีมีบุญคุณมากขนาดไหน พุทธะก็คงไม่อนุญาตให้บวชแน่นอน อีกทั้งพุทธะให้ความสำคัญแก่สังฆะมาก จะอนุญาตให้บวชภิกษุณีซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ในเวลานั้นด้วย “เหตุผลส่วนตัว” ได้อย่างไร

เมื่ออ่านพระไตรปิฎก จะเห็น “วิธีการแบบพุทธะ” ชัดเจนว่า พุทธะใช้วิธีตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ความคิดและอำนาจของชนชั้นปกครอง เพื่อเสนอความคิดใหม่ แต่ในการใช้ชีวิตร่วมกับสังฆะและการมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม พุทธะใช้วิธีการรับฟังเสียงจากสังคมและสังฆะ ซึ่งเป็นการรับฟังเสียงบนพื้นฐานของการต่อรองอย่างกัลยาณมิตรที่ใช้ปัญญาและกรุณาต่อกันและกัน มากกว่าจะเป็นการต่อรองระหว่างผู้มีอำนาจกับผู้ด้อยอำนาจ หรือระว่างผู้ที่สูงกว่า ต่ำกว่าในทางชนชั้น

แต่น่าเสียดายที่วิธีการแบบพุทธะไม่มีในพุทธไทย เพราะพุทธไทยไม่ต่างจากระบบราชการภายใต้รัฐราชการไทยที่รวมศูนย์อำนาจ ไม่มีวัฒนธรรมส่งเสริมความคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์ ไม่เปิดกว้างต่อเสรีภาพและไม่สนใจการสร้างพื้นที่ต่อรองที่เท่าเทียม   

0000

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net