Skip to main content
sharethis
เปิดตัวทีมฟุตบอล บูคู เอฟ ซี ‘ฟุตบอลเพื่อสันติภาพและความเท่าเทียม’ เน้นส่งเสริมให้ผู้หญิงได้ออกกำลังและแสดงออก ทีมประกอบด้วยหญิงมุสลิม ผู้ชาย และผู้มีความหลากหลายทางเพศ

 

ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่คนท้องถิ่นเรียกตามชื่อเดิมว่า ‘ปาตานี’ นอกจากปัญหาความรุนแรงความขัดแย้งที่คร่าชีวิตของผู้คนไปกว่า 6,500 คนในช่วง 12 ปีที่ผ่านมาแล้ว พื้นที่แห่งนี้ก็มักไม่ได้ถูกนึกถึงในแง่มุมอื่นสักเท่าไร งบประมาณจากทั้งภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนต่างทุ่มลงไปเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้เป็นหลัก ผ่านสิ่งที่เรียกว่า กระบวนการสันติภาพ

อย่างไรก็ตาม อันธิฌา แสงชัย และ ดาราณี ทองศิริ เจ้าของร้านหนังสือบูคู ปัตตานี และนักกิจกรรมเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ มองเห็นว่า ปาตานียังมีประเด็นปัญหาที่ควรได้รับการพูดถึงอีก เช่น ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งพวกเธอมองว่า ผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศควรมีสิทธิมีเสียงในกระบวนการสันติภาพ เพื่อได้ร่วมกำหนดชะตากรรมของปาตานีด้วยเช่นกัน

กิจกรรมหนึ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของบูคู เพื่อกระตุ้นความกล้าแสดงออกของผู้หญิง คือการเล่นฟุตบอล โดยอันธิฌาและดาราณีได้ก่อตั้งทีมฟุตบอลที่เปิดกว้างสำหรับทุกเพศ ทุกวัย โดยเน้นที่ผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นพิเศษ ทีมฟุตบอลนี้มีชื่อว่า บูคู เอฟซี (Buku FC) 

สมาชิกทีมบูคูถ่ายรูปร่วมกันเป็นที่ระลึกในวันแรกของการเตะ ภาพโดย ฟาฎีลาห์ หะมิดง

“ฟุตบอลถูกมองว่าเป็นกีฬาของผู้ชายและพื้นที่ของผู้ชาย ผู้หญิงมักไปสนามฟุตบอลโดยมีบทบาทเพียงแค่ไปดู ไปเชียร์ผู้ชายแข่งบอล ทั้งที่จริงๆ แล้ว ลูกบอลกลมๆ ใครก็เตะได้ ไม่ได้เป็นของเพศไหน การที่เราตั้งทีมชวนผู้หญิงมาเตะบอลก็เป็นสิ่งที่เราอยากสื่อไปยังสังคมปาตานีว่า ผู้หญิงก็ทำสิ่งที่ผู้ชายทำได้” อันธิฌากล่าวกับประชาไท “สิ่งที่อยากสื่อลึกๆ ก็คือการบอกผู้หญิงที่มาเตะบอลกับเราว่า การทำบางสิ่งที่เขาเคยคิดว่าเขาทำไม่ได้นั้น จริงๆ เขาทำได้ เช่น การกล้าแสดงออก การเป็นผู้นำ ผู้หญิงก็ทำได้ เราเชื่อว่าการเตะบอลง่ายๆ นี้จะเชื่อมโยงไปยังการเรียนรู้เรื่องอื่นของเขา”

อันธิฌากล่าวว่า แม้ทีมอาจเน้นไปที่ผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ทุกคนสามารถมาเป็นสมาชิกได้ โดยไม่จำกัดเพศ อายุ ศาสนา ความเชื่อ และอุดมการณ์ทางการเมือง แต่ขอให้เป็นคนที่มี ‘Gender Lens’ หรือมีความเข้าใจเรื่องเพศวิถี

“เราตั้งใจให้สนามบอลเป็นแบบจำลองของสังคม ที่ไม่ว่าเพศใดๆ ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม และเคารพในร่างกายและพื้นที่ของกันและกัน ถ้าเราเชื่อมั่นว่าสังคมกว้างๆ ข้างนอกทำได้ พื้นที่สี่เหลี่ยมเล็กๆ ของสนามบอลก็ควรทำได้ เราก็อยากให้เห็นว่า ไม่ว่าผู้ชาย ผู้หญิง คนที่มีความหลากหลายทางเพศ และหลากหลายทักษะ จะสามารถเล่นเกมเดียวกันได้ กติกาเดียวกันได้ คนตัวใหญ่กว่าไม่ไปผลักคนที่เล็กกว่า”

วันที่ 13 สิงหาคม 2559 เป็นนัดเปิดสนามของทีมบูคู เอฟซี ซึ่งมีสโลแกนว่า ทีมฟุตบอลเพื่อสันติภาพและความเท่าเทียม ที่สนามฟุตบอลวิคทรี่ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี โดยมีผู้เข้าร่วม 20 คน เป็นหญิง 17 คน ชาย 3 คน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) ทุกคนดูค่อนข้างตื่นเต้น โดยเฉพาะผู้หญิงส่วนใหญ่ที่เพิ่งเคยเล่นฟุตบอลเป็นครั้งแรก และยังเป็นการเล่นฟุตบอลในสนามหญ้าเทียมที่มีความเป็นกิจลักษณะเช่นนี้

 

ใส่ฮิญาบเล่นฟุตบอล มันไปกันได้

 

“คนมักมองว่าฟุตบอลเป็นกีฬาของผู้ชาย ผู้หญิงก็คิดว่าไม่เหมาะสมที่จะเล่นและไม่กล้าเล่น ในพื้นที่สามจังหวัดเขาก็มองว่าผู้หญิงไม่เหมาะจะเล่นฟุตบอล เพราะเป็นกีฬาที่ใช้ขาเตะ แต่ในปัจจุบันโลกมันเปลี่ยนไป สังคมสามจังหวัดก็ต้องก้าวให้ทัน” แวอัสมีร์ แวมะนอ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี บอกกับประชาไท

แม้แวอัสมีร์จะเล่นกีฬาอยู่บ้าง โดยเธอเป็นนักกีฬาฟุตซอลของ มอ.ปัตตานี แต่เธอก็ยังรู้สึกเกร็งอยู่ที่จะออกมาเล่นกีฬาในพื้นที่นอกมหาวิทยาลัยอย่างสนามฟุตบอลวิคทรี่ ซึ่งสนามข้างๆ เป็นสนามที่ผู้เล่นเป็นชายล้วน “ถ้าไปเล่นนอกมหาวิทยาลัย เราจะถูกมองแปลก ว่า เออ ผู้หญิงมุสลิมมาเตะบอล คนในสามจังหวัดเขาจะมองเรื่องสรีระ เขาจะรู้สึกว่ามันไม่สมควร เพราะว่าเวลาเราวิ่ง สรีระเราก็จะเขย่า” เธอกล่าว

ส่วน ซาวานี มามะ นักศึกษารัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี ชั้นปี 3 กล่าวว่า เธอมีความกังวลในแง่สรีระว่า จะถูกมองว่าไม่เหมาะสมเมื่อต้องวิ่งเตะฟุตบอล แต่เธอก็แก้ปัญหาด้วยการใส่เสื้อหลวมๆ สองชั้นและใส่ฮิญาบปกคลุมหน้าอก “เราก็กังวลบ้าง เวลาเราวิ่ง หน้าอกเรากระเพื่อมอะไรแบบนี้ แต่เราก็ใส่เสื้อหลวม ใส่ฮิญาบ แล้วเตะบอลเราก็ทาปากมาเตะบอล ให้เห็นว่ามันไปด้วยกันได้”

ทั้งสองคนเห็นตรงกันว่า การลุกขึ้นมาเล่นฟุตบอลเป็นสิ่งที่ส่งเสริมการแสดงออกของพวกเธอ และเป็นการบอกกับสังคมว่า ผู้หญิงก็เล่นกีฬาที่ผู้ชายเล่นได้

อัสรี สะมะแอ เจ้าหน้าที่มูลนิธิโอโซนเป็น 1 ใน 3 ชายหนุ่มที่ร่วมทีมบูคูในวันแรก เขาได้รับหน้าที่นำวอร์มอัพในวันนั้นด้วย เขากล่าวว่า ที่มาร่วมทีมบูคูเพราะอยากทำความเข้าใจผู้มีความหลากหลายทางเพศให้มากขึ้น

อันธิฌากล่าวว่า เพื่อให้นักบอลหญิงในทีมมีความสะดวกใจในการเล่น ในตอนเริ่มแรก สมาชิกผู้ชายคงยังไม่ได้ร่วมเล่นกับผู้หญิง แต่ซ้อมร่วมกันได้ ได้ทำหน้าที่นำการซ้อมและวอร์มอัพหรือเป็นผู้รักษาประตู เป็นต้น เมื่อสมาชิกทุกคนเข้าใจกฎกติกาเป็นอย่างดี มีความเคารพซึ่งกันและกัน เข้าใจถึงความแตกต่างของร่างกายและสรีระ ก็อาจเปิดให้เล่นร่วมกันในอนาคต 

 

ผู้หญิงสามจังหวัด ขาดพื้นที่ออกกำลังกายและดูแลสุขภาพ 

 วอร์มร่างกายก่อนเล่น ภาพโดย ฟาฎีลาห์ หะมิดง

อันธิฌา กล่าวว่า ผู้หญิงในสามจังหวัดไม่ค่อยมีโอกาสได้ออกกำลังกาย ส่วนหนึ่งเพราะบทบาททางเพศและภาระหน้าที่ที่ต้องดูแลบ้าน ดูแลสามี และเลี้ยงลูก หรือถ้าเป็นวัยรุ่นผู้หญิงก็ต้องช่วยแม่ทำงานบ้านและไม่ได้รับการยอมรับเท่าวัยรุ่นผู้ชายในการออกกำลังกายในที่สาธารณะ “แม้ผู้หญิงจะทำงานหนัก ใช้แรงเยอะ แต่ก็ไม่ใช่การออกกำลังกาย เพราะเวลาทำงานเราอาจมีความตึงเครียด แต่เมื่อออกกำลังกาย เราได้คลายเครียดด้วย”

นอกจากนี้ การออกกำลังกายที่มักต้องทำในที่สาธารณะทำให้ต้องใส่กางเกง มีการยืดแข้งยืดขา ในพื้นที่ซึ่งใช้ร่วมกับผู้ชายมักทำให้ผู้หญิงไม่กล้าที่จะออกกำลังกาย แต่วัยรุ่นผู้ชายกลับไม่มีข้อจำกัดในเรื่องนี้ อันธิฌากล่าวว่า ตามสวนสาธารณะหรือสนามกีฬา มักถูกยึดโดยผู้ชายเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

เธอเห็นว่าควรมีการสนับสนุนให้มีพื้นที่ออกกำลังกายสำหรับผู้หญิงมากขึ้น เช่น สระว่ายน้ำสำหรับผู้หญิง ก็น่าจะทำให้ผู้หญิงมีความสบายใจที่จะออกกำลังกายมากขึ้น

ทีมบูคูยังเปิดรับสมัครสมาชิกอยู่เรื่อยๆ โดยจะมีการนัดซ้อมทุกวันเสาร์ และในอนาคตจะมีโค้ชที่มีประสบการณ์ทำทีมฟุตบอลหญิงมาก่อนมาฝึกซ้อมให้ และภายในหนึ่งถึงสองปีข้างหน้าก็อาจพาทีมไปแข่ง อันธิฌากล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net