Skip to main content
sharethis

30 ส.ค. 2559 นพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และ วัลลภ วิตนากร รองประธานฯ ร่วมกันแถลงข่าว โดยระบุว่าจากตัวเลขการส่งออกเดือน ก.ค. ที่ส่งออกติดลบร้อยละ 4.43 มูลค่าเพียง 17,415 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ เพราะปกติการส่งออกไตรมาส 3 จะเป็นบวกมาโดยตลอด และหากหักเรื่องการส่งออกทองคำที่ 841 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว การส่งออกจะติดลบถึงร้อยละ 8.3 และทั้ง 7 เดือนแรกแม้ตัวเลขกระทรวงพาณิชย์ที่ติดลบแล้วร้อยละ 2 มีมูลค่า 122,553 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยหักเรื่องการส่งออกทองคำและอาวุธซ้อมรบกับญี่ปุ่นแล้วการส่งออกจะติดลบถึงร้อยละ 5.5

ทั้งนี้  การส่งออกที่ติดลบปีนี้เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและค่าเงินบาทที่แข็งค่า โดยปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ปราบเซียน และสภาฯ ประเมินว่าปีนี้การส่งออกจะติดลบเป็นปีที่  4 โดยทั้งปีจะติดลบร้อยละ 2 ซึ่งหากเป็นการติดลบระดับนี้ การส่งออกในช่วง 5 เดือนที่เหลือจะต้องส่งออกเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 17,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากส่งออกต่ำกว่านี้ก็มีโอกาสจะติดลบมากกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ นอกจากนี้ อยากเรียกร้องให้รัฐบาลดูแลเรื่องการระบาดของไวรัสซิก้าให้เข้มงวดขึ้น เพราะไทยอยู่ในบัญชีรายชื่อให้ระวัง ส่งผลให้การส่งออกสินค้าต้องมีการตรวจสอบฆ่าเชื้อตู้คอนเทนเนอร์สินค้า ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นหลายพันบาท

วัลลภ กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์เงินบาทผันผวนตามตลาดโลก โดยเงินบาทไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-26 สิงหาคม  2559 แข็งค่าถึงร้อยละ 4.41 ขณะที่คู่แข่ง เช่น เวียดนาม ค่าเงินอ่อนค่า ร้อยละ 0.04 จีน อ่อนค่าร้อยละ 1.27 ดังนั้น หากไม่มีการดูแลค่าเงินที่เหมาะสมจะกระทบหนัก เพราะเห็นชัดว่าเงินบาทที่แข็งค่ามาจากการเก็งกำไรในตลาดหุ้นเป็นหลัก มาจากการเก็งกระแสว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ยเมื่อใด โดยแนวโน้มกระแสเงินไหลออกจะเกิดขึ้นภายในปีนี้แน่นอน ทำให้ผู้ส่งออกไม่สามารถตั้งราคารับออร์เดอร์ได้ชัดเจน หากเงินบาทแข็งค่าอีก คู่ค้าก็จะไปสั่งจากคู่แข่งแทนกระทบต่อการส่งออกมากขึ้น  สภาฯ จึงขอเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินมาตรการ เพื่อพยุงให้ค่าเงินบาทอยู่ในระดับ 34.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ก.ค.หดตัวร้อยละ 5.1

วีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI)  ภาพรวมของเดือนกรกฎาคม 2559 หดตัวร้อยละ 5.1 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ หดตัว อาทิ รถยนต์ เครื่องยนต์ เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ที่มิใช่ยางรถยนต์ อย่างไรก็ตาม มีอุตสาหกรรมปรับตัวสวนกระแส  โดยมีการผลิตอาหารสำเร็จรูปและเกษตรแปรรูป เช่น  เนื้อไก่แช่แข็ง และการแปรรูปผลไม้ ปรับตัวดีขึ้นทั้งด้านราคาและปริมาณการผลิต ภายหลังภัยแล้งที่เริ่มคลี่คลาย นอกจากนี้ แรงส่งจากการลงทุนภาครัฐ การเดินหน้าโครงการบ้านประชารัฐที่เริ่มขึ้น ธุรกิจที่อยู่อาศัยขยายตัว ส่งผลให้คอนกรีต ซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.27

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมสำคัญที่มีการคาดการณ์ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไตรมาส 3/2559  คือ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.88  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.87 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่ง  เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต ตู้เย็น ตามลำดับ

 

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net