Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



วิธีคิด มุมมอง และค่านิยมในการทำกิจกรรม นศ. ไทย และ นศ. ในประเทศพัฒนาแล้วเช่น อเมริกา มีความแตกต่างกัน

นศ ไทย จะมองว่าการเข้าร่วมกิจกรรม เป็นหน้าที่ ที่ นศ. ปี1 "ต้องเข้าร่วม" และ นศ. ไทย (รวมถึงผู้ใหญ่ในสังคมไทยด้วย)

เรามักจะวัดความสำเร็จของกิจกรรม จากจำนวนคนที่เข้าร่วม ซึ่งส่งผลต่อรูปแบบ พฤติกรรมของ นศ. ที่จะต้องทำให้คนมาเข้ากิจกรรมให้ครบ โดยไม่คำนึงถึงวิธีการ ห้องเชียร์ต้องเต็ม ขาดคนไม่ได้ มาสายไม่ได้ ถ้าห้องเชียร์ไม่ครบ เด็กปี1 ก็จะโดนลงโทษ ถ้าชมรมกีฬา มีคนมาสาย มาไม่ครบ ก็ถูกลงโทษโดยมีข้ออ้างง่ายๆว่าเด็กไม่สามัคคีกัน ไม่รวมกันเป็นรุ่น

ในขณะที่ นศ. ฝรั่งจะมีวิธีคิดที่ตรงกันข้าม เด็กอเมริกา จะซีเรียสเรื่องความสมัครใจ ซีเรียสเรื่องการให้เสรีภาพกับทุกๆคนที่จะมีสิทธิเลือกที่จะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมกิจกรรมใดก็ได้โดยไม่มีการบังคับ กดดัน หรือ ว๊าก ไซโค

รุ่นพี่ที่ดูแลกิจกรรมนั้นๆ เวลามีเด็กๆมาขอเข้าร่วมทำกิจกรรม สิ่งที่เค้ารู้สึกคือ ดีใจที่มีเด็กเห็นความสำคัญ ภูมิใจที่กิจกรรมเค้าได้รับความสนใจ

รุ่นพี่ก็จะพยายามรักษาเด็กเหล่านั้นไว้โดยการเทคแคร์ ดูแลเอาใจใส่ มีข้าว มีขนม มีน้ำหวานให้ตลอด เด็กๆที่มาเข้าร่วมกิจกรรมก็จะแฮปปี้กลับไป พร้อมกับชวนเพื่อนๆ มาอีก ในขณะที่เด็กไทยเข้าร่วมกิจกรรมเพราะความกลัว กลัวโดนว๊าก กลัวการถูกลงโทษ กลัวไม่ได้รับรุ่น

เพราะฉะนั้นในอเมริกา ซึ่งมีเสรีภาพ กิจกรรมไหนที่ไม่น่าสนใจ จัดไม่ดี กิจกรรมนั้นก็จะคนน้อย และหายไปในที่สุด กิจกรรมไหนที่ดี คนก็จะสนใจเยอะ ก็จะดำรงอยู่ได้นาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีทางเกิดขึ้นกับกิจกรรมในมหาวิทยาลัยไทย เพราะทุกกิจกรรม รุ่นพี่บังคับรุ่นน้องให้เข้าร่วมหมด (แม้เราจะบอกว่าทุกคนมีเสรีภาพในการเลือกกิจกรรม แต่ในทางปฏิบัติ ก็เต็มไปด้วยการบังคับและกดดัน) เราจึงไม่มีทางรู้เลยว่ากิจกรรมไหนดีไม่ดี เรามีกิจกรรมที่้ไม่มีคุณภาพเยอะเกินไปรึเปล่า

กิจกรรมของเด็กไทย เวลามีคนเข้าห้องเชียร์เต็ม รุ่นพี่ ผู้นำกิจกรรม มักจะภูมิใจ ทั้งๆที่วิธีการที่ทำให้เด็กเข้าร่วมคือการสร้างความกลัวผิดกับฝรั่งที่มองว่าการบังคับเด็กให้เข้าร่วมเป็นเรื่องน่าอับอาย ในขณะที่ฝรั่ง เค้าไม่แคร์เรื่องตัวเลขหรือจำนวน ว่าจะมีคนมาครบหรือไม่ แต่เค้าแคร์ว่าทุกคนต้องมาด้วยความเต็มใจ สปิริต ของตัวเด็กเอง

เมื่อเด็กไทยมีวิธีคิด ที่วัดความสำเร็จจากจำนวน มองว่ากิจกรรมเป็น "หน้าที่" ที่ทุกคน "ต้องเข้าร่วม" ด้วยข้ออ้าง "ความเป็นรุ่น" "ประเพณี" อะไรก็แล้วแต่ ผลก็คือ ผู้นำกิจกรรมของเด็กไทย มักจะมี คาแรคเตอร์แบบผู้ใช้อำนาจ ด่าเก่ง ใช้อำนาจเก่ง กดดันเก่ง ขมขู่เก่ง บุคลิกก้าวร้าว ทำตัวเก๋า ซึ่งตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับ ผู้นำกิจกรรมของฝรั่ง ซึ่งจะมีคาแรคเตอร์ที่ พูดเก่ง ชักจูงใจคนเก่ง พูดจามีหลักการ มีเหตุมีผล รู้จักใช้คำพูดที่มีพลัง โน้มน้าวคนให้มาเข้าร่วมกิจกรรมได้ง่าย เพราะถ้าเค้าไม่มีทักษะเหล่านี้ ก็จะเป็นการยาก ที่จะจูงใจให้คนมาเข้ากิจกรรมเค้า แล้วลองคิดดูว่า ผู้นำกิจกรรมเหล่านี้ ต่อไปถ้าเค้าไปเป็นผู้นำประเทศ เราจะได้ผู้นำประเทศแบบไหน

จะเห็นว่า ปัญหานี้ ไม่ใช่แค่ปัญหาเชิงพฤติกรรม แต่เป็นปัญหาทางความคิด ค่านิยม ซึ่งน่ากลัวมากๆ

0000

 

เกี่ยวกับผู้เขียน:  ดร.ณพล หงสกุลวสุ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำ ณ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net