‘วิษณุ’ ชี้ข้อเสนอ ‘ไพบูลย์’ ให้ คสช. คุมเลือกตั้ง อาจเกิดข้อครหาได้

รองนายกฯ ปัดตอบข้อเสนอ สปท. ให้ คสช. คุมการเลือกตั้ง ชี้เป็นข้อเสนอที่ต้องพิจารณาว่ามีความเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน

2 ก.ย. 2559 สำนักข่าวไทย และ ผู้จัดการออนไลน์ รายงานตรงกันว่า  วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี กมธ.ปฏิรูปด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้ข้อสรุปในการร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับพรรคการเมืองและการได้มาของ ส.ส.ว่า การจัดทำกฎหมายลูกเป็นอำนาของ กรธ. จะทำอย่างไรแล้วแต่ กรธ. คนอื่นจะผสมโรงช่วยเสนอแนะถือว่าไม่เป็นไร แต่จะบอกว่ามีน้ำหนักแล้วต้องเอาตามคงไม่ได้ ไม่มีทั้งนั้นโมเดลญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ศรีลังกา มีอยู่โมเดลเดียวคือโมเดล กรธ. ท้ายที่สุด กรธ.จะเป็นคนเคาะว่ากฎหมายลูกจะออกมาเป็นอย่างไร ทั้งนี้ คำเสนอแนะย่อมมีได้ แน่นอนวันหนึ่งรัฐบาลอาจมีข้อเสนอแนะไปบ้าง ไม่แปลกอะไร แต่ไม่ได้พูดว่าจะทำ แค่พูดให้ฟัง แล้วหลักการบางเรื่องสมัย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2558 ดูเข้าท่าในส่วนนี้ เพราะดูแล้วไม่มีใครติในตอนนั้น อาจจะนำมาประกอบการพิจารณาได้

ส่วนที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน ผู้ริเริ่มก่อตั้งพรรคประชาประชาชนปฏิรูป เสนอโมเดลการหาเสียงแบบญี่ปุ่น วิษณุ กล่าวว่า อาจเป็นความคิดที่เท่ดี แต่ถ้าใช้หลักพอเพียงถือว่าดีทีสุด ที่ไพบูลย์บอกใช้รถคันเดียวในการหาเสียงไม่พอเพียงแน่ ตนไม่ได้บอกว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นไปไม่ได้ ความเป็นจริงรูปแบบการหาเสียงของญี่ปุ่นไม่ถึงขนาดนั้น ถ้าพูดให้มันตื่นเต้นพูดได้ เรียกว่าเป็นโวหาร ตนคงไม่ไปวิจารณ์ แต่ดีแล้วที่ช่วยกันพูดเรื่องนี้เพื่อให้เกิดความคิดขึ้นมาในสังคม ดีกว่าพูดอะไรที่มันขัดแย้ง

ส่วนที่มีข้อเสนอให้ คสช. ลงพื้นที่ในช่วงเลือกตั้งเพื่อให้เกิดความสุจริตเที่ยงธรรมนั้น วิษณุ กล่าวว่า ต้องให้ คสช.ไปพิจารณาว่ามีความเหมาะสมจะเข้าไปเกี่ยวข้องได้ขนาดไหนเพียงใด เพราะถ้าถึงเวลาแล้ว คสช.ลงไป โดยใช้เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และพลเรือน อาจทำให้เกิดการครหาได้ มีจุดล่อแหลมที่เสี่ยงอยู่เหมือนกันทั้งในแง่กฎหมายและความน่าเชื่อถือ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนมีการเลือกตั้งปี 2560 ระหว่างทางจะมีการผ่อนปรนให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นได้หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เคยมีการพูดกันตรงๆ ถึงกำหนดเวลา แต่เคยมีการนำมาประกอบการพิจารณาว่าจังหวะใดถึงจะเหมาะสม ถ้าเพราะเปิดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นแปลว่าต้องเปิดทางให้หาเสียง จะทำให้เกิดแทรกซ้อนอะไรหรือไม่ เป็นปัจจัยที่ คสช. ต้องเอาไปคิด ลำพังจะเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อไรไม่เป็นไร มันคือมาตรการประชาธิปไตยทั้งนั้น แต่จะเลือกตั้งโดยไม่หาเสียงได้อย่างไร เพราะตอนนี้ไม่ได้เปิดโอกาส ยังห้ามชุมนุมเกิน 5 คนอยู่ จึงต้องคิดหน่อย เลยยังไม่มีคำตอบตรงนี้ แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาและมีข้อมูลทั้งหมดแล้วว่าถ้าเลือกตั้งท้อง ถิ่นเดือนใดจะเกิดผลอะไร

ส่วนที่มีผู้เสนอให้ ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง ปี 2560 ขอให้ คสช. ลงพื้นที่ ตรวจสอบเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างสุจริต เที่ยงธรรมนั้น วิษณุ กล่าวว่า คงไม่สามารถตอบอะไรได้ เพราะเป็นการเจาะจงที่ คสช. จึงต้องให้ คสช. พิจารณาเองถึงความเหมาะสมในการเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ส่วนหนึ่งต้องพิจารณาจากกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง รวมถึงบางฝ่ายก็ไม่ได้ให้การยอมรับ คสช. จึงอาจก่อให้เกิดข้อครหา และสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย และความน่าเชื่อถือ ขณะนี้ยังไม่มีการหารือเกี่ยวกับกำหนดเวลาการจัดการเลือกตั้ง ทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ

“ข้อเสนอที่ให้ คสช.เข้ามาดูแลการเลือกตั้ง นั้นต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม เนื่องจากต้องมีการใช้เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจดูแลการหาเสียง อาจเกิดข้อครหาว่าแทรกแซงการเลือกตั้งได้ คสช. จึงต้องนำไปพิจารณาอย่างละเอียด เพราะขณะนี้ยังติดคำสั่ง คสช. ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ซึ่งหากจะอนุโลม ก็ต้องทำทุกพื้นที่ ไม่สามารถกำหนดเฉพาะบางจุดได้” วิษณุ กล่าว

ไพบูลย์ ถอดบทเรียนประชามติ สู่เลือกตั้งปลายปี 60 ชี้ เลือกตั้งต้องไร้ซื้อเสียง กกต. อย่าตั้งเป้าประมาณเสียงออกมาใช้เสียง แนะดูที่คุณภาพ

 โดยก่อนหน้านี้ โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า วันที่ 31 ส.ค. ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตกลุ่ม 40 สว. และผู้ริเริ่มก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป กล่าวว่า ขอถอดบทเรียนจากการทำประชามติสู่การเลือกตั้งสส.ปลายปี 60 โดยมีข้อสังเกตในการออกเสียงประชามติ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา คือ 1.ประชาชนที่มาออกเสียงประชามติ ไม่ได้มาโดยอามิสสินจ้าง แต่มาจากการใช้ดุลยพินิจ ในฐานะพลเมือง 2.ไม่มีการรณรงค์ปลุกปั่น บิดเบือน หาเสียง มีแต่การแสดงความเห็นผ่านสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์ค โดยกกต. จัดส่งสาระสำคัญให้ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงตามครัวเรือน 3.ผลของประชามติได้รับการยอมรับจากสังคมและระดับสากล 4.จำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง 50ล้านคน มีผู้มาใช้สิทธิรวม 29.74 ล้านคน คิดเป็น 60% ซึ่งถือว่าเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง

ย่างไรก็ตาม ส่วนตัวขอเสนอให้ถอดบทเรียนดังกล่าวไปใช้กับการเลือกตั้งสส.ในปลายปี 60 ตามโรดแมปรัฐบาล โดยเน้นว่าการเลือกตั้งต้องปราศจากอามิสสินจ้าง ให้เป็นการใช้ดุลยประชาชนอย่างแท้จริง ไม่มีการหาเสียงให้วุ่นวาย หรือใช้จ่ายเงินทุนจำนวนมากของผู้สมัคร

ทั้งนี้ โดยให้กกต.ติดประกาศรูปและประวัติ คุณสมบัติของผู้สมัครไปให้ผู้มีสิทธิออกเสียงทุกครัวเรือนเพื่อให้เกิดความ เท่าเทียม และส่งเสริมให้ผู้สมัครเสียค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งน้อยที่สุด ไม่ต้องมีการแห่หรือจัดเวทีปราศรัย หรือใช้หัวคะแนนเคาะตามประตูบ้าน แอบแฝงไปกับการซื้อสิทธิขายเสียง

“เพื่อไม่ให้ตกอยู่ในอิทธิพลของนายทุนธุรกิจการเมือง โดยกกต.ไม่จำเป็นต้องตีปี๊บตั้งเป้า เน้นปริมาณผู้มาใช้สิทธิถึง 80% เพราะจะทำให้มีปัญหาเรื่องคุณภาพในเรื่องการมาใช้สิทธิออกเสียง และอาจเกิดการทุจริตได้ ดังนั้น ควรเน้นให้มีการออกเสียงเชิงคุณภาพ สร้างความตื่นตัวให้ประชาชน เชื่อว่าจะได้มากกว่าการทำประชามติที่ผ่านมาอย่างแน่นอน” ไพบูลย์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท