ทำความรู้จัก 6 ผู้ต้องหาคดีขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. กรณีจัดเวที #พูดเพื่อเสรีภาพ มข.

เปิดใจ 6 ผู้ต้องหาขัดคำสั่ง คสช. เวทีพูดเพื่อเสรีภาพ ขอนแก่น ทุกคนยืนยัน การแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน รัฐไม่มีสิทธิปิดกั้น

2 กันยายน2559-เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ที่ผ่านมา เวลา 10.30 น. ที่ สภ.เมืองขอนแก่น เจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกให้ผู้ต้องหา 6 คนมารับทราบข้อกล่าวหาและสอบปากคำ ฐานขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 (ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน) จากการจัดกิจกรรม พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน ที่มหาวิทาลัยขอนแก่น (มข.) เมื่อ 31 กรกฎาคม 2559 ซึ่งผู้ถูกออกหมายเรียก ได้แก่ นักศึกษาและนักกิจกรรมที่จัดงานดังกล่าว 3 คน,เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 2 คน และผู้ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาด 1 คน

ภาพ ผู้ต้องหา 6 คน

การถูกเจ้าหน้าที่ออกหมายเรียกตามข้อหาดังกล่าวทำให้ผู้ต้องหาทั้ง 6 คนตั้งคำถามว่าทำไมการพูดเพื่อเสรีภาพของคนอีสานจึงไม่สามารถทำได้ ทั้งๆ ที่มีการจัดเวทีกิจกรรมเช่นเดียวกันในหลายพื้นที่ และการใช้สิทธิในการพูดและการแสดงความคิดเห็นเป็นความผิดอย่างไรในสังคมประชาธิปไตย ในโอกาสนี้ผู้สื่อข่าวประชาไทได้พูดคุยกับผู้ต้องหาทั้ง 6 เพื่อทำความรู้จักและรับรู้ความรู้สึกของพวกเขา

ภาพ จตุภัทร์ หรือ ไผ่ นักศึกษา มข. และ นักกิจกรรมสมาชิกกลุ่มดาวดิน

1.จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ อายุ 25 ปี กำลังศึกษาอยู่คณะนิติศาสตร์ มข. และนักกิจกรรมสมาชิกกลุ่มดาวดิน ผู้ต้องหาคนที่1, คดีจัดเสวนาที่ มข. นี้นับเป็นคดีที่ 4 ของจตุภัทร์ เพราะก่อนหน้านี้จตุภัทร์ถูกคุมขังจากเหตุเรื่องการแจกเอกสารวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวเมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา และเขายังมีคดีเก่าอีก 2 คดี ได้แก่ คดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. กรณีร่วมกับพวกทำกิจกรรมต้านรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ซึ่งตำรวจขอนแก่นได้ขออนุมัติหมายจับจากศาลทหารขอนแก่น

นอกจากนี้ ยังมีคดีซึ่งทำให้จตุภัทร์และเพื่อนในขบวนการประชาธิปไตยใหม่ รวม 14 คนต้องถูกจำคุกมาแล้วหนึ่งผัดคือ คดีทำกิจกรรมหน้า สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558 จากนั้นวันรุ่งขึ้น 25 มิถุนายน 2558 มีการเดินสายและปราศรัยกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจึงถูกแจ้ง 2 ข้อหาคือ ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 ห้ามชุมนุมเกินห้าคน และ มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญาในการปลุกระดมประชาชน โทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 7 ปี

“ผมออกมาจากเรือนจำวันที่ 23 สิงหาคม ถึงได้รู้ว่ามีคดีนี้ รู้จากที่บ้านแต่ไม่รู้ว่าพ่อหรือแม่ที่เป็นคนรับหมายนี้ พอรู้ว่าตกเป็นผู้ต้องหาคดีก็รู้สึกว่าอีกแล้วเหรอ” จตุภัทร์ กล่าว

จตุภัทร  กล่าวว่า เหตุการณ์วันที่ 30-31 กรกฎาคม 2559 ตนได้จัดเวทีพูดเพื่อสิทธิเสรีภาพของคนอีสาน และจัดรูปแบบกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ใครที่อยากพูดอะไรก็ได้เรื่องรัฐธรรมนูญที่จะลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 การจัดเวทีกิจกรรมนี้เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตคนอีสานและประชาชนทุกคน ตนจึงอยากอธิบายว่ารัฐธรรมนูญเกี่ยวกับชีวิตเราอย่างไร มีข้อน่ากังวลในส่วนใดบ้าง และมีใครคิดเห็นอย่างไรต่อร่างฯดังกล่าว

“วันนั้นก็มีทั้งชาวบ้าน นักวิชาการ นักศึกษา อาจารย์ ก็เป็นงานสบายๆ อยากให้บรรยากาศมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องรัฐธรรมนูญก่อนลงประชามติ เพราะว่ามีคนที่ยังไม่เข้าใจเยอะมากก็เลยจัดงาน

“ตอนจัดงานมันก็มีปัญหาเยอะแยะมาก เริ่มตั้งแต่เราขออนุญาตจัดงานที่ มข. ตอนแรกเราได้รับอนุญาตให้จัดและอยู่ดีๆ ก็ไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรม ทั้งที่ให้แล้วก่อนหน้านี้ เมื่อทางคณะเกษตรศาสตร์ มข. ไม่อนุญาตให้จัดพวกเราก็เลยตัดสินใจว่า มันเป็นงานวิชาการ เราควรจัดงานในมหาวิทยาลัย เราก็ดำเนินการต่อไป ซึ่งก็กังวลว่าจะโดนคดีบุกรุก คดี ผิด พ.ร.บ.ประชามติ แต่หลังจากกิจกรรมวันนั้น ผมก็ถูกขังในเรือนจำคดีก่อนหน้านี้ แต่ก็พอรู้มาบ้างว่าจะมีอีกคดีเรื่องงานจัดงานเวทีพูดเพื่อเสรีภาพ ที่ มข. แต่ไม่คิดว่าจะโดนข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.

“วันนั้นผมทำหน้าที่จัดเวที เป็นพิธีกรในการดำเนินงาน เราก็พูดเรื่องสถานการณ์รัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องกับชีวิตเราอย่างไร หน้าที่ประชาชนและพวกเราเกี่ยวข้องอย่างไรกับรัฐธรรมนูญ และพอเราโดนข้อหานี้ เราก็รู้สึกว่าเจ้าหน้าที่เขาอยากจะทำอะไรเขาก็ทำ เขาไม่มีเหตุผล วันนี้ผมยังไม่รู้ด้วยซ้ำเพราะเหตุผลอะไรถึงโดนคำสั่งที่ 3/2558 เราก็จะไปรู้ตอนรับทราบข้อกล่าวหา เราคิดว่ามันไม่ชอบธรรม มันเป็นเรื่องที่เราสามารถทำได้ แต่เขาห้ามเราจัด แล้วก็มีคดีให้เราด้วย เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุผล ซึ่งมันทำให้สังคมนี้ไม่มีพื้นที่สำหรับคนที่เห็นต่างเห็นแย้ง ต้องเห็นด้วยเท่านั้น แต่ถ้าเห็นแย้งก็โดนจับอย่างนี้ตลอด ต่อจากนี้เราก็ต้องต่อสู้เพื่อยืนยันความยุติธรรม ทำเพื่อความถูกต้องแหละครับ”

ภาพ ณรงค์ฤทธิ์ นักศึกษา มข. และนักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่

2.ณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ อายุ 20 ปี กำลังศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขารัฐศาสตร์ มข. และเป็นนักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ ผู้ต้องหาคดีคนที่ 3 กล่าวว่า หลังจากวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา ตนได้ทราบว่าตกเป็นผู้ต้องหาคดีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เนื่องจากมีรายชื่อในจดหมายที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทำหนังสือถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองขอนแก่น ให้ผู้ต้องหาทั้ง 6 คน เลื่อนวันรับทราบข้อกล่าวหาเป็นัวนที่ 31 กันยายน 2559 แต่หมายแจ้งข้อหาไม่ได้ส่งมาที่ตนเอง แต่ก็เคยคาดไว้ว่าตนเองอาจจะโดนแจ้งข้อหาจากเจ้าหน้าที่ เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยทำกิจกรรมปล่อยลูกโป่งรณรงค์ไม่ผิดที่ มข. แต่ก่อนหน้านี้ตนก็ไม่เคยมีตำรวจเข้ามาคุกคามหรือมาแจ้งข้อหาเรื่องกิจกรรมทางการเมืองที่ตนเองร่วม แต่ถ้าอีกกลุ่มที่เข้าไปทำงานทำกิจกรรมร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ เช่น ปัญหาเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ก็จะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาจับตามองกลุ่มเราตลอด

"ถ้าพูดเรื่องข้อหาที่เจ้าหน้าที่แจ้งความเรานั้น จริงๆ คิดว่าเราน่าจะโดนข้อหา พ.ร.บ.ประชามติ เรื่องชุมนุมสาธารณะมากกว่าขัดคำสั่ง คสช. 3/2558 แต่ผมคิดว่าที่เขาไม่เล่น พ.ร.บ.ประชามติ ก็เพราะว่าการลงประชามติมันผ่านไปแล้ว และช่วงวันที่ 30-31 กรกฎาคม 2559 เขาก็ไม่แจ้งข้อกล่าวหาก่อนวันลงประชามติ อาจเพราะกลัวกระแสด้านลบ เลยมาเล่นข้อหานี้แทน"

ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวต่อว่า บทบาทของเราในกิจกรรมพูดเพื่อเสรีภาพฯ 31 กรกฎาคม 2559 กลุ่มของเราคือกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ร่วมกับขบวนการประชาธิปไตยใหม่อีสาน (NDM) วันนั้นเราขึ้นไปพูดบนเวทีเรื่องสิทธิเสรีภาพกับการจัดงาน เสรีภาพในการพูด เราพูดเชิงความรู้สึกถึงเรื่องที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นไม่ให้พวกเราจัดงาน เราแค่ตั้งคำถามว่าทำไมต้องไม่ให้เราจัดกิจกรรมพูดเพื่อเสรีภาพฯ เราพูดบอกบนเวทีว่าให้พวกเขาคำนึงไว้ว่าพวกเขาพยายามจะฝังเรา พวกเขาไม่รู้ว่าเราคือเมล็ดพันธุ์ ยิ่งกดเรา เราก็ยิ่งเติบโตขึ้น พอวันที่ทราบว่าเราโดนแจ้งข้อหานี้ ถ้าจะบอกว่าไม่เครียดเลยก็คงไม่ใช่ แต่เราก็ยังมีเพื่อนๆ พี่ๆ ชาวบ้านที่เขามาให้กำลังใจ มันเหมือนกับว่าพวกเราก็ไม่ได้ทิ้งกัน 

"สำหรับผมการเมืองในประเทศตอนนี้ มันไม่ค่อยดี ทุกคนตอนนี้ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาและบางคนเข้าไปอยู่ในเรือนจำ แม้มีไม่กี่คนที่โดน แต่สภาพคนทุกคนในประเทศก็อยู่เหมือนติดคุก เราถูกปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ แค่เราจะพูดเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคนในประเทศไทยเรายังพูดไม่ได้ เราก็เหมือนอยู่ในกรงขังเพียงแต่อาจไม่รู้ตัวกัน

"ก่อนหน้านี้ เราก็ทำกิจกรรมกับชาวบ้านเรื่องต้านเหมืองโปแตช ที่อุดรธานี เราทำกิจกรรมทำบุญคุ้มข้าวกับชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ จังหวัดอุดรฯ นักศึกษาคอยไปช่วยให้กำลังใจ ช่วยทำงาน ช่วยชาวบ้านหาทุนทำกิจกรรม และช่วยทำสื่อ นักศึกษาเคยร่วมงานเวทีประชาคมว่าจะรับหรือไม่รับเหมืองโปแตช ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารมาเยอะมาก พวกเราก็เข้าไปช่วยกัน ไปสังเกตว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับชาวบ้านหรือเปล่า ชาวบ้านที่เข้าไปร่วมเ ขาคือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียสำหรับพื้นที่นั้น เขาต้องมีสิทธิแสดงความเห็น เพราะว่าเขาจะไปตั้งเหมืองในบ้านเขา เราก็เข้าไปสังเกตการณ์ไปให้กำลังใจ

"ถ้าพูดถึงนักกิจกรรมตอนนี้เหมือนมี 2 สาย คือการเมืองกับสายชาวบ้าน แต่ว่าผมชอบสายชาวบ้านมากกว่าเพราะว่าเราสามารถช่วยชาวบ้าน ได้ให้กำลังใจเขา อีสานเป็นพื้นที่ที่โครงการพัฒนาเข้ามาจำนวนมากและสร้างผลกระทบให้กับคนในพื้นที่ เช่น เหมืองแร่โปแตช เหมืองทอง เขื่อน โครงการพัฒนาของรัฐและเอกชนเยอะมาก ถ้าเราไม่ไปหาชาวบ้านร่วมช่วยเขา แล้วเขาจะสู้ได้อย่างไร ถ้ารัฐบาลมีสภาพเป็นแบบนี้ อย่างน้อยเราอาจช่วยได้ไม่มาก เราเป็นนักศึกษา เราก็เข้าไปช่วยให้กำลังใจอยู่กันเหมือนแม่ๆ ลูกๆ และไปช่วยสื่อสารต่อสังคมให้เขาใจปัญหาของเขา อย่างผมก็เคยทำสื่อให้นักข่าวพลเมืองของช่องไทยพีบีเอส"

ภาพ ฉัตรมงคล นักศึกษา มข. และนักกิจกรรมสมาชิกกลุ่มดาวดิน

3.ฉัตรมงคล เจนเชี่ยวชาญ อายุ 20 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 คณะนิติศาสตร์ มข. และเป็นนักกิจกรรมสมาชิกกลุ่มดาวดิน ผู้ต้องหาคนที่ 2 กล่าวว่า รู้ว่ามีหมายมาถึงวันที่ 17 สิงหาคม 2559 ส่งมาถึงจตุภัทร์และเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่กรุงเทพฯ ตนก็ตรวจสอบรายชื่อก็พบว่ามีชื่ออยู่ด้วย ตอนที่รู้ว่ามีชื่อก็ไม่รู้สึกผิดปกติหรือแปลกใจเพราะเคยทำกิจกรรมทางการเมืองก่อนหน้านี้และคิดว่าสักวันหนึ่งคงต้องโดนเจ้าหน้าที่แจ้งข้อหา ข้อกล่าวหาระบุว่าตนและพวกร่วมกันขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 การกล่าวหาในสถานการณ์ประเทศในปัจจุบันก็คิดว่าไม่ใช่เรื่องแปลก แต่คิดว่าส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารตั้งแต่แรก ในภาวะแบบนี้การออกมาเคลื่อนไหวก็เข้าใจและเตรียมใจไว้ว่าต้องโดนเข้าสักวัน แต่ก็สงสัยว่าทำไมตนถึงตกเป็นผู้ต้องหา

ฉัตรมงคล กล่าวต่อว่า ในวันนั้นกลุ่มกิจกรรมแค่ตั้งใจจะพูดเพื่อเสรีภาพของคนอีสานก่อนลงประชามติ เพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยกันและเราก็มาช่วยเพื่อนที่ทำกิจกรรม ทั้งๆ คือกลุ่มจัดงานคือ NDM และกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ แต่ตนเองที่เป็นสมาชิกกลุ่มดาวดินเข้ามาช่วยเนื่องจากมีเหตุการณ์ไม่ค่อยดีเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2559 ซึ่งมีการกดดันให้ผู้จัดกิจกรรมให้เอาโต๊ะเก้าอี้ที่เตรียมไว้จัดงานไปเก็บที่เดิมไม่ให้จัดงานต่อทั้งๆ ที่อนุญาตก่อนหน้านั้น ตนและเพื่อนๆ จึงเข้าไปขอเจรจากับคณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มข. ซึ่งไปกันเป็นกลุ่มและส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา กลุ่มนักศึกษาที่ทำกิจกรรมก็เลยอยู่เฝ้าพื้นที่ตั้งแต่คืนที่ 30 กรกฎาคม จนถึงช่วงเช้าวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 ช่วงประมาณ 10 เกือบ 11 โมง ตนก็ออกจากงานกลับไปพักผ่อนและตนไม่ได้อยู่จนงานจบ

"ผมคิดว่าที่ออกหมาย มันเหมือนกับการออกหมายตามคนที่เจ้าหน้าที่เล็งไว้แล้ว อย่างพี่บี พี่น้อง พี่ไผ่ อาจไม่ใช่เรื่องที่เกิดในงานที่เขาออกหมายเรียก เพราะว่างานนั้นมันเป็นแค่ข้ออ้างเฉยๆ แต่มันก็มีกิจกรรมอื่นที่เราเคยไปทำมาด้วย จริงๆ มันก็ไม่ชัดตามข้อหาว่าอะไรคือการขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. เราก็รอดูว่าเขาจะแจ้งข้อกล่าวหาอะไรเพิ่มอีก เพราะหมายเรียกเขียนว่าร่วมกันขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. คนในงานก็เยอะมากไม่รู้ว่าขอบเขตการขัดคำสั่งคืออะไร"

"แม้เราจะถูกตั้งข้อหา แต่เราก็จะยืนยันต่อสู้เพราะการพูดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานมากๆ ของประชาชนคนไทย และรัฐไม่ควรมีคำสั่ง ประกาศ หรือกฎหมายที่มาควบคุมสิทธิของประชาชน ไม่ควรมาจำกัดความคิดเห็นของประชาชน มันขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากล"

เมื่อถามถึงการกิจกรรมที่ผ่านมาของฉัตรมงคล เขาเล่าว่า เขาเริ่มทำกิจกรรมทางการเมืองตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัยและศึกษาอยู่ปี 1 เข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มดาวดิน ไปกับพี่น้องชาวบ้านที่บ้านามูล กิจกรรมแรกที่ไปคือเดินทางไปกับชาวบ้านขอให้ศาลปกครองขอนแก่นขอให้มีการหยุดทดสอบก๊าซปิโตรเลียมในพื้นที่และเดินทางไปยื่นหนังสือให้บริษัทหยุดเผาชั่วคราว หลังจากนั้นก็ทำกิจกรรมกับชาวบ้านมาเรื่อยอย่างล่าสุดก็กิจกรรม Walk for Right การที่เคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะตนเองมีความเชื่อว่าคนเราทุกคนมีความสามารถในการเลือกสิ่งที่ตนเองต้องการได้ ไม่ใช่ให้ใครต้องมาบอกให้ทำและเดินแบบที่เขาวางไว้ หมายถึงว่าเรามีสิทธิและเสรีที่จะกำหนดชีวิตตนเองและกำหนดทิศทางการใช้ภาษีในประเทศของเรา

"ก็เคยถามตัวเองอยู่ว่าทำไมไม่เลือกที่จะเรียนหนังสืออย่างเดียว มันเหมือนพอเราไปสัมผัส ไปเห็นปัญหามา พอเราจะเลิกทำกิจกรรมมันก็เลิกไม่ได้ เหมือนการเรียนอยู่เฉยๆ รู้สึกเปล่าๆ เคว้งคว้าง อย่างเวลาเราลงพื้นที่ เราไปเมืองเลย ชาวบ้านต่อสู้เรื่องเหมืองแร่ กระบวนการขอสัมปทานเหมืองรอบใหม่ชาวบ้านก็ถูกตัดออกจากการมีส่วนร่วม สมาชิก อบต. ก็เอาวาระเข้าประชุมไม่บอกชาวบ้าน ทางกลุ่มดาวดินก็มีเครือข่ายกับกลุ่มที่ทำเรื่องกฎหมายด้วยก็มาช่วยกัน อย่างแรกเราก็ให้กำลังใจชาวบ้าน ผลักดันการเคลื่อนไหวของขบวนการชาวบ้าน

"เวลาคนบางกลุ่มมองว่า เราสร้างความวุ่นวายให้สังคม จริงๆ ผมคิดว่ามันเป็นมายาคติ คำว่า ความสงบ คือแบบว่าการไม่มีกลุ่มเคลื่อนไหว การไม่มีใครออกมาเรียกร้อง แต่แอบซุกปัญหาไว้ใต้พรม การเคลื่อนไหวเรียกร้องเป็นเรื่องปกติของสังคมเสรีประชาธิปไตยที่ว่า มีคนออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของตัวเอง"

ภาพ ณัฐพร ผู้ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาด และ เครือข่ายกลุ่มอีสานใหม่

4.ณัฐพร อาจหาญ อายุ 35 ปี ผู้ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาดและทำงานกับเครือข่ายกลุ่มอีสานใหม่ ผู้ต้องหาคนที่ 4 กล่าวว่า รู้ว่าตัวเองถูกแจ้งข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2559 แม่โทรมาจากาฬสินธุ์บอกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไปส่งหมายที่บ้าน แต่พ่อแม่ไม่อยู่บ้านเจ้าหน้าที่ก็เลยไปถามคนข้างบ้าน วันนั้นเขาจึงยังไม่ส่งหมายให้กับมือแม่ แต่แม่ก็โทรมาถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับตน จึงเล่าให้แม่ฟังว่าอาจเป็นกรณีที่เรามาร่วมงานวันพูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสานที่ มข.

“การเข้าร่วมงานวันนั้นหลักๆ เราไปร่วมพูดคุยแต่ไม่ได้มีตำแหน่งหน้าที่อะไรกับการจัดงาน เราเป็นเพียงผู้ร่วมงาน เป็นประชาชนคนหนึ่ง แต่เราก็พกกล้องถ่ายรูปไปด้วยเพราะเราได้ทราบข่าวว่าเมื่อคืนวันที่ 30 กรกฎาคม 2559 ก่อนวันจัดงาน มันมีกระบวนการคุกคามการจัดงาน เราจึงคิดว่าในฐานะประชาชนคนธรรมดาสิ่งที่พอจะทำได้คือการบันทึกเหตุการณ์เพื่อป้องการการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ไม่หวังดี เราก็ถ่ายรูปถ่ายภาพคนที่มาร่วมงานทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารและคนอื่นๆ ทั้งนักวิชาการ ประชาชนทั่วไป”

ณัฐพร กล่าวต่อว่า หลังจากได้ทราบข่าวการแจ้งข้อหาก็รู้สึกคาดไม่ถึงเพราะไม่คาดคิดว่าจะมีหมายมาถึงตน ไม่คิดตนจะโดนข้อหาขัดคำสั่ง คสช. 3/2558 เพียงเพราะประชาชนคนธรรมดาทั่วไปจัดกิจกรรมพูดเรื่องประชามติ เพราะตนคิดว่าเป็นสิทธิโดยชอบธรรม ทุกคนไม่ว่าใคร ไม่ว่าจะเป็นคนจัดหรือประชาชนคนไหนก็ตามควรมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะแสวงหาความรู้ ที่จะรับรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะถูกบังคับใช้กับชีวิตของพวกเราอย่างรอบด้าน การแสวงหาความรู้ หาข้อมูลเหล่านี้เป็นสิทธิอย่างชอบธรรม รัฐไม่ควรออกกฎหมายหรือจำกัดและมากำหนดไม่ให้มารวมตัวกันด้วยเหตุผลที่ว่าชุมนุมเกิน 5 คน หรือชุมนุมทางการเมืองเพียงเท่านั้น

"มันค่อนข้างประหลาดใจตรงที่รัฐบาลบอกว่าประเทศไทยจะเดินหน้า จะมี ROAD MAP จะมีเส้นทางไปสู่ประชาธิปไตยหรือข้อเสนอหลายส่วนที่ไทยเสนอในเวที UPR ต่อนานาชาติเมื่อ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา ว่าจะเปิดให้มีข้อเสนอมีการถกแถลงเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญหรือเปิดให้มีการรับฟังความเห็นเรื่องประชามติ ไทยรับข้อเสนอ แต่ก็กลายเป็นว่าระหว่างนั้นเมื่อมีการรณรงค์ คนแสงหาความรู้ มีการวิพากษ์วิจารณ์ รับฟังความเห็น กลับมีการนำ พ.ร.บ.ประชามติมาคุมขังคน นำคำสั่ง คสช. มาห้ามไม่ให้คนมีความคิดเห็นกับเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ"

ณัฐพร เล่าถึงการทำกิจกรรมของตนที่ผ่านมาว่า ก่อนหน้านี้เราเดินงาน Walk for Right ในภาคอีสานเพื่อพูดถึงสิทธิของคนอีสานและการถูกละเมิดสิทธิของคนอีสาน พูดถึงโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ทำให้วิถีชีวิตคนอีสานได้รับผลกระทบ สื่อสารต่อคนในสังคม ภาวะตอนนี้ชาวบ้านก็ถูกจำกัดด้วยคำสั่งของ คสช. ทำให้เขาไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือมีส่วนร่วมในกระบวนการได้ จึงเดินไปในพื้นที่ประสบปัญหาในจังหวัดต่างๆทางภาคอีสาน ซึ่งเดินร่วมกับชาวบ้านเป็นเวลา 30 กว่าวัน

"แม้เราจะถูกตั้งข้อหา แต่เราก็จะยืนยันต่อสู้เพราะการพูดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานมากๆ ของประชาชนคนไทย และรัฐไม่ควรมีคำสั่ง ประกาศ หรือกฎหมายที่มาควบคุมสิทธิของประชาชน ไม่ควรมาจำกัดความคิดเห็นของประชาชน มันขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากล รัฐควรหยุดทำสิ่งนี้ ไม่ใช่แค่เรา 6 คนที่โดน แต่มีอีกหลายคนที่โดนคดีที่พวกเขาถูกละเมิดสิทธิ จริงๆ มีหลายคนในประเทศนี้ที่ถูกเครื่องมือของรัฐปิดปากไม่ให้แสดงความคิดเห็น จำกัดสิทธิ สุดท้าย วิธีการกลไกนี้ไม่ได้สร้างบรรยากาศให้ประเทศไทยเดินต่อไปข้างหน้าได้"

ภาพ ดวงทิพย์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

5.ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ อายุ 29 ปี เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้ต้องหาคนที่ 5 กล่าวว่า การตกเป็นผู้ต้องหาคดีนี้เพิ่งทราบข่าวว่า มีการแจ้งความและรู้ว่าตัวเองมีหมายหลังจากที่หมายของจตุภัทร์ออก แม่เป็นคนได้รับหมายเพราะมีหมายมาที่บ้านที่จังหวัดกาฬสินธุ์ แต่เราไม่ได้รับหมายกับมือ ตอนนั้นพอทราบว่าโดนข้อหาขัดขืนคำสั่ง คสช. แต่ยังไม่รู้ว่าจะขัดคำสั่งที่เท่าไหร่ ก็รู้สึกว่าตนไปทำอะไร ขัดขืนคำสั่งตรงไหน เพราะว่ากิจกรรมที่จัดเป็นงานเสวนาวิชาการเป็นงานที่ประชาชนสามารถเข้าร่วมได้ เป็นการพูดเพื่อเสรีภาพรัฐธรรมนูญกับคนอีสาน

ดวงทิพย์ กล่าต่อว่า ตนคิดว่ารัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตประชาชนอยู่แล้ว แต่ว่าโดยส่วนตัวเราในวันนั้นเรามีบทบาทหน้าที่สังเกตการณ์กรณีถ้าระหว่างกิจกรรมมีการละเมิดสิทธิก็ต้องบันทึกทำรายงาน ไปในฐานะผู้สังเกตการณ์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยปกตเราก็ไปทำงานแบบนี้อยู่แล้ว ซึ่งตนไม่ใช่คนจัดงานหรือเกี่ยวข้องกับการจัดงานครั้งนี้เลย

“ชีวิตของเราก่อนหน้านี้เราก็เป็นนักกิจกรรมทางสังคมทั่วไป ก็มีเล่นละครเสียดสีการเมืองบ้างในกลุ่มการละครในช่วงนักศึกษา และเริ่มมาทำงานกับศูนย์ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม ปี 2553 และเราก็มาเปิดร้านกาแฟ แต่พอขายไม่ดีก็เลิกขายและไปทำงานขายเสื้อผ้าแบรนด์ ZARA จนได้มาทำงานที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

“เราทำงานกับกลุ่มที่ขับเคลื่อนสังคมมาเกือบตลอดและรู้สึกว่าคนเหล่านี้ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ใช่แค่เรา แต่อีกหลายคนที่ต้องตกเป็นผู้ต้องหาเพราะการพูด การคิด มันเป็นสิทธิเสรีภาพ การแสดงออกทางความคิดการพูดคุยที่เป็นงานวิชาการในเรื่องรัฐธรรมนูญ เราควรจะดีใจด้วยซ้ำว่าประชาชนตื่นตัวทางการเมืองและมีความสนใจ ไม่ใช่ว่าต้องเอากฎหมายมาจับประชาชนที่คิดต่าง เรารู้สึกว่าไม่เป็นธรรมเลย”

ดวงทิพย์ กล่าวต่อว่า ช่วงสถานการณ์ในวันที่ 30-31 กรกฎาคม 2559 ไม่ได้มีเหตุอะไรรุนแรง แต่มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้ามาในงานจำนวนมาก มากกว่าผู้จัดงานด้วยซ้ำ ซึ่งในความเป็นจริงใครจะกล้าก่อความวุ่นวาย และวันนั้นก็ไม่มีอะไร นอกจากมีนักกิจกรรม ประชาชน นักวิชาการขึ้นมาพูดบนเวที มีการแสดงดนตรี ชาวบ้านและประชาชนอื่นๆ ที่มาร่วมงานก็นั่งฟังตามปกติและงานก็จัดด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่มีความรุนแรงใดๆ

“จริงๆ เราก็ต้องสู้ตามกระบวนการเพื่อยืนยันว่าตัวเองไม่ได้ผิด คนที่โดนคดีนี้และคนที่มาร่วมงานก็ไม่ได้ผิดอะไร สิ่งที่ เราเชื่อว่าการสู้ของเราจะทำให้เขาเห็นว่าเราไม่ได้ผิด เราอยากให้คนในสังคมได้รับรู้ว่าเราไม่ได้ผิดอะไร

“ทำไมเราถึงโดน เราคิดว่ามันไม่ใช่แค่เรา ทุกคนสามารถโดนอย่างนี้ได้ทั้งหมด ไม่ใช่แค่เรา 6 คนในวันนี้ แต่เราจะแสดงจุดยืนว่าสิ่งที่พวกเราโดนมันไม่สมควรโดนและเราไม่ได้ผิด นักโทษทางความคิดไม่ผิด เพราะถ้าวันนี้เราไม่ออกมา เราไม่ตระหนักว่ากฎหมายต่างๆ พ.ร.บ.ชุมนุม คำสั่ง 3/58 ของ คสช. ที่ออกมาละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไร คุกคามอย่างไร ต่อไปคนหลายๆ คนอาจจะโดนแบบนี้ สมมติว่าคนที่เขาจับไม่ใช่คนที่ถูกจับตาในสังคมและเรื่องเงียบไป คนที่ถูกตั้งข้อหาเขาอาจะติดคุกทั้งที่ไม่ควรติดก็ได้”

ภาพ นีรนุช เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

6.นีรนุช เนียมทรัพย์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้ต้องหาคนที่ 6 กล่าวว่า บทบาทในวันนั้นคือเข้าไปทำหน้าที่สังเกตการณ์ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ซึ่งเราไปตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม คือวันเตรียมงาน เพราะได้ยินข่าวว่าทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นไม่ให้ใช้สถานที่ในการจัดงาน ตอนนั้นเป็นเวลาค่ำ ซึ่งก็กลัวว่ากลุ่มคนที่มาจัดงานจะถูกคุกคามหรือมีการจับกุมตัว ช่วงที่ตนอยู่ในพื้นที่การจัดงานก็เห็นว่ารองอธิการบดีฯ มข. เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้ามาในพื้นที่เพื่อไม่ให้มีการจัดงาน และบอกให้กลุ่มผู้จัดเลิกจัด

“คนเจรจาคือกลุ่มผู้จัดงาน แต่เราก็อยู่ด้วยในเวลานั้น ขณะนั้นเราก็แขวนบัตรประจำตัวด้วยว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เราแค่อยากแสดงตัวว่าในพื้นที่นี้มีคนส่วนอื่นเข้ามาดูเหตุการณ์เพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิ เราคอยทำหน้าที่สังเกตการณ์และถ่ายรูป ซึ่งเราก็ยืนคุยกับทุกฝ่าย ไม่ว่าผู้จัดกิจกรรม อาจารย์ รองอธิการบดีฯ ที่ไม่ให้ใช้สถานที่ ก็มีการคุยแลกเปลี่ยนเหตุผลที่ไม่ให้จัดกิจกรรมคืออะไร เมื่อดูแล้วเห็นว่าสถานการณ์มันมีแนวโน้มน่ากังวล ตัวคนจัดก็กลัวว่าจะถูกยุติไม่ให้มีการจัดกิจกรรม คนจัดเขาก็นอนเฝ้าเวทีเพราะกลัวจะเกิดเหตุการณ์ เราก็เลยต้องอยู่เฝ้าดูสังเกตการณ์ด้วย

“หลังจากโดนข้อกล่าวหาก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เราคิดอยู่มาตลอดอยู่แล้วว่า เราอาจจะต้องเจอสถานการณ์แบบนี้สักวันหนึ่ง มันไม่มีหลักประกันอะไรเลย เจ้าหน้าที่หรือใครอาจมองว่าเราเป็นคนร่วมกิจกรรมได้ตลอดหรือเพราะเราเข้าไปอยู่ตรงนั้นทำหน้าที่สังเกตการณ์ เพราะบางทีเราก็เข้าไปช่วยเหลือเขาบ้าง เช่น ช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ จัดเก้าอี้ เก็บโต๊ะ เพราะเราก็รู้จักกับผู้จัด มันก็อาจทำให้ถูกเหมารวมว่าเป็นกลุ่มเดียวกัน

นีรนุช กล่าวต่อว่า ในวันที่จัดงานพูดเพื่อเสรีภาพฯ ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ไม่มีใครทราบว่าจะกลายเป็นผู้ต้องหาคดีขัดคำสั่ง คสช. 3/2558 สถานการณ์มีแค่การยุติไม่ให้คนจัดสามารถจัดงานได้และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเฝ้า เจ้าหน้าที่ตำรวจก็บอกว่าวันที่ 30 กรกฎาคม 2559 ทาง มข. โทรไปแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าจะมีนักศึกษาทะเลาะวิวาทกัน ตีกัน เขาก็เลยมาเฝ้าในงาน แต่เจ้าหน้าที่เข้ามาเขาก็ถ่ายภาพเอกสารต่างๆ ที่ติดอยู่ทั้งหมด วันนั้นไม่มีเจ้าหน้าที่ทหารคุม จะมีแค่ตอนกลางวันมาถามคนจัดงานว่าจะจัดกิจกรรมต่อหรือไม่ ได้ข่าวว่าคณะฯ ไม่ให้จัดแล้ว แต่ก็ได้ยินมาว่าทหารบอกว่างานนี้ทหารไม่ได้เกี่ยวกับการไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรม

“หน้าที่ของเราเป็นคนเก็บข้อมูลการละเมิดสิทธิ ก็จะมีข้อมูลของคนที่ถูกเจ้าหน้าที่เรียกรายงานตัวและไม่ถูกเรียกรายงานตัว แต่ถูกคุกคาม พอเรารู้ว่าใครถูกคุกคามเราก็พยายามจะไปสัมภาษณ์เขา บันทึกข้อมูล ช่วยไปรับทราบข้อหาเป็นเพื่อน หรืองานกิจกรรมที่เป็นกิจกรรมทางการเมืองที่มีความน่าจะเป็นว่าจะถูกคุกคาม ถูกห้าม เราก็จะไปเฝ้าสังเกตการณ์ เก็บข้อมูล และถ้ามีโอกาสจะพยายามยับยั้งการละเมิดสิทธิของเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็พยายามเจรจาให้เขาปฏิบัติตามกฎหมาย”

นีรนุช กล่าวต่อว่า จริงๆ แล้วมันไม่มีใครควรถูกตั้งข้อหานี้ เพราะการพูดเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งขณะนี้มีคนจำนวนมากที่ถูกดำเนินคดีเป็นนักโทษทางความคิด ในช่วงหลังจากรัฐประหาร 2557 เกือบ 300 คน

“เท่าที่ฟังจากตำรวจ เขาว่าทหารเป็นคนให้ข้อมูล และทหารคนที่เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการเขาก็รู้ว่าเราเข้าไปในฐานะอะไร เราไปในหน้าที่อะไร จากองค์กรอะไร วันนั้นเขาก็ยังพูดกับเราว่า เขารู้ว่าเรามาจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เขาไม่ทำอะไรหรอก การแจ้งข้อกล่าวแบบนี้คือเขาคงตั้งใจจะเล่นงานองค์กรสิทธิฯ ที่เข้าไปดูการละเมิดสิทธิ เพราะหน้าที่เราคือไปสังเกตและกลับมาเขียนรายงาน ว่ามีการละเมิดอะไรบ้างในการจัดกิจกรรม การออกข้อหาอย่างนี้ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นการอยากให้เรายุติบทบาทหรือไม่”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท