Skip to main content
sharethis

แรงงานลาวเผชิญปัญหาค่าครองชีพพุ่งแต่ค่าแรงยังเท่าเดิม

Radio Free Asia รายงานว่าค่าครองชีพในประเทศลาวหนึ่งในชาติยากจนที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปีที่ผ่านมาพุ่งสูงขึ้นมาก ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำในประเทศยังคงหยุดนิ่งอยู่ที่ 120 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน ส่งผลให้ลาวส่วนใหญ่เผชิญกับความยากลำบากในการที่จะซื้อหาอาหารและข้าวของเครื่องใช้จำเป็นในการยังชีพได้

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของลาวระบุเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2016 ที่ผ่านมาว่าในกรุงเวียงจันทน์ ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 30  นับจากเดือนตุลาคมปีที่แล้วเป็นต้นมา เช่น ข้าวเหนียว 1 กิโลกรัม ราคาปรับเพิ่มจาก 1.05 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 1.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่าในไทยถึงเท่าตัว ส่วนเนื้อวัวจากกิโลกรัมละ 9.55 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มเป็น 10.80 ดอลลาร์สหรัฐฯ  สูงกว่าเนื้อวัวที่ขายในไทยถึงร้อยละ 40 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นในอำนาจซื้อของค่าเงินกีบของลาวอีกต่อไป และทำให้คนส่วนใหญ่หันมาใช้เงินตราต่างประเทศในการซื้อขายมากขึ้น โดยเฉพาะเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินบาทของไทย

(rfa.org, 24/8/2016)

อินเดียเตรียมนำแรงงาน 10,000 คนกลับประเทศ หลังถูกนายจ้างลอยแพที่ซาอุฯ

รัฐบาลอินเดียเตรียมนำตัวแรงงานชาวอินเดียราว 10,000 คน กลับประเทศ หลังจากที่พวกเขาถูกปลดออกจากงานที่ซาอุดิอาระเบีย แต่ไม่มีเงินเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อเดินทางกลับแรงงานชาวอินเดียเหล่านี้ได้ทำงานในบริษัทก่อสร้างของซาอุดิอาระเบีย และถูกปลดออกจากงาน ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จากสาเหตุราคาน้ำมันที่ทรุดตัวลง

(inquisitr.com, 2/8/2016)

IMF แนะญี่ปุ่นกระตุ้นตลาดแรงงาน-ฟื้นฟูภาคเอกชนผ่านการขึ้นภาษีการบริโภค

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่ารัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ (Shinzō Abe) ควรใช้มาตรการกระตุ้นตลาดแรงงานภายในประเทศ รวมทั้งสนับสนุนภาคธุรกิจให้เพิ่มอัตราค่าแรง และฟื้นฟูบริษัทที่ประสบปัญหาหนี้สิน ผ่านการปรับขึ้นภาษีการบริโภค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของนายอาเบะ หรือ อาเบะโนมิกส์ (Abenomics) โดย IMF เรียกร้องให้ญี่ปุ่นสนับสนุนการปฏิรูปตลาดแรงงาน ด้วยการลดช่องว่างด้านค่าแรงระหว่างพนักงานประจำและพนักงานไม่ประจำ รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้หญิง ผู้สูงวัย และคนงานต่างชาติได้เข้ามามีส่วนรวมในตลาดแรงงาน

(japantimes.co.jp, 2/872016)

ซาอุฯ ปลดพนักงานภาคก่อสร้าง ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติ

รัฐบาลซาอุดิอาระเบียให้คำมั่นสัญญาว่าจะช่วยเหลือแรงงานต่างชาติชาวเอเชียหลายพันคน ที่ถูกบริษัทในอุตสาหกรรมก่อสร้างเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่มีการจ่ายค่าแรง ส่วนใหญ่แล้วแรงงานเหล่านี้มาจากอินเดีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และประเทศอื่น ๆ โดยในขณะนี้พวกเขาต้องพึ่งพิงการแจกอาหารจากสถานทูตและองค์กรการกุศล นอกจากนี้พวกเขายังมีปัญหาด้านสถานะในการอยู่ในซาอุดิอาระเบีย เนื่องจากนายจ้างที่ลอยแพพวกเขา เป็นผู้จัดการเรื่องใบอนุญาตทำงานและการพำนักอาศัยในประเทศ วิกฤตในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างครั้งนี้เกิดหลังจากบริษัทต่าง ๆ ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากราคาน้ำโลกปรับตัวลดลง

รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ที่ส่งแรงงานไปทำยังซาอุดิอาระเบียก็พยายามช่วยเหลือคนของตนเองเช่น อินเดียได้ส่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางไปซาอุดิอาระเบียเพื่อนำแรงงานหลายพันคนกลับประเทศ โดยประมาณการว่ามีแรงงานอินเดียประมาณ 7,700 คน ที่ถูกเลิกจ้างในครั้งนี้ ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในแค้มป์แรงงานกว่า 20 แห่ง ส่วนปากีสถานที่ได้ส่งแรงงานไปยังซาอุดิอาระเบียประมาณ 8,000 คน ได้จัดตั้งศูนย์แจกจ่ายอาหารและการรักษาพยาบาลแก่แรงงานปากีสถาน ตลอดจนรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการค้างจ่ายค่าแรง ณ สถานทูตปากีสถานในกรุงริยาด ส่วนทางการฟิลิปปินส์ระบุว่ามีแรงงานชาวฟิลิปปินส์กว่า 10,000 คนที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าจ้างในซาอุดิอาระเบีย และรัฐบาลกำลังเร่งให้การช่วยเหลือ

(BBC, 3/8/2016)

สหภาพแรงงาน ‘ยูโรสตาร์’ เล็งหยุดงานประท้วง 1 สัปดาห์

สหภาพแรงงานของยูโรสตาร์ (Eurostar) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถไฟข้ามช่องแคบอังกฤษ เตรียมหยุดงานประท้วงเป็นเวลา 7 วัน โดยแบ่งเป็น 4 วันแรก ซึ่งจะเริ่มต้นวันที่ 12 ส.ค.นี้ ขณะที่อีก 3 วันที่เหลือ การประท้วงจะเริ่มในวันที่ 27 ส.ค. ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นวันหยุดยาวของอังกฤษ แผนหยุดงานประท้วงดังกล่าวมีขึ้น เนื่องจากพนักงานยูโรสตาร์ต้องการเรียกร้องให้เกิดสมดุลระหว่างงานและชีวิต โดยยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าการให้บริการรถไฟจะได้รับผลกระทบมากเท่าใดจากการประท้วงที่จะมีขึ้น ทั้งนี้ บริการรถไฟดังกล่าวเชื่อมโยงกรุงลอนดอน-กรุงบรัสเซลส์-กรุงปารีสผ่านทางอุโมงค์ช่องแคบอังกฤษ

(BBC, 10/8/2016)

รัฐบาลพม่าเตรียมผุดโครงการช่วยเหลือปกป้องสิทธิแรงงานแม่บ้านทำงานในต่างประเทศ

รัฐบาลพรรค NLD ของนางอองซาน ซูจี เตรียมดำเนินงานโครงการนำร่องช่วยเหลือปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติพม่า ที่ทำงานเป็นแม่บ้านในประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง และไต้หวัน โดยจะร่วมมือทำงานกับสถานทูตพม่าในประเทศนั้น ๆ นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะรวบรวมรายชื่อแรงงานข้ามชาติจากพม่าที่ทำงานเป็นแม่บ้านที่ไม่มีเอกสารทำงานถูกต้อง หรือเป็นแรงงานผิดกฎหมายใน 5 ประเทศที่กล่าวมาข้างต้น เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกรมแรงงานของพม่า เปิดเผยว่า โครงการช่วยเหลือแรงงานทำงานในบ้านแม้จะเป็นการดำเนินการช่วงแรก ๆ แต่รัฐบาลต้องการที่จะแจ้งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบถึงโครงการ ทั้งสถานทูตพม่าเอง หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในประเทศนั้น ๆ โดยรัฐบาลวางแผนที่จะรวบรวมรายชื่อของแรงงานที่ทำงานเป็นแม่บ้านภายในบ้าน และจะออกบัตรประจำตัวที่ถูกต้องตามกฎหมายให้กับแรงงานเหล่านี้ ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องสิทธิของแรงงาน โดยจะประสานกับประเทศที่แรงงานแม่บ้านเข้าไปทำงาน

(transbordernews.in.th, 11/8/2016)

พนักงานหญิงของซัมซุงวอล์คเอาต์จากตึกพร้อมโยนบัตรพนักงานทิ้งประท้วงค่าแรงที่ไม่เท่าเทียม

พนักงานหญิงของซัมซุงที่เกาหลี 30,000 คน วอล์คเอาต์จากตึกพร้อมโยนบัตรพนักงานทิ้งที่ล็อบบี้ประท้วงค่าแรงที่ไม่เท่าเทียม ทั้งนี้เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีช่องว่างระหว่างค่าจ้างหญิงและชายห่างที่สุดในกลุ่มประเทศ OECD

(medium.com, 9/8/2016)

รัฐบาลเวเนซุเอลาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งที่ 3 ของปี

ประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร (Nicolás Maduro) ของเวเนซุเอลา ประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำร้อยละ 50 ถือเป็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งที่ 3 ของปีนี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. เพื่อแก้ปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่สูงถึงร้อยละ 181 ในปี 2015 และผลกระทบจากราคาน้ำมันถูก ทั้งนี้อัตราค่าแรงขั้นต่ำของเวเนซุเอลาจะปรับตัวขึ้นจาก 15,051 โบลิวาร์ อยู่ที่ 22,576 โบลิวาร์ (ประมาณ 35.11 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ต่อวัน โดยจะมีผลบังคับใช้กับแรงงาน ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ในกองทัพ และผู้รับเงินบำนาญ โดยมาดูโรระบุว่าอาจมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกหากจำเป็น

(venezuelanalysis.com, 13/8/2016)

งานวิจัยระบุ "อินเดีย-จีน" ใช้แรงงานทาส

สถาบันวิจัย Verisk Maplecroft ระบุว่าการส่งออกสินค้าและวัตถุดิบอย่างประเทศจีนและอินเดียพบว่าอาจมีความเสี่ยงที่สุดที่จะข้องเกี่ยวกับปัญหาการใช้แรงงานทาส ด้วยปัจจัยความต้องการสินค้าและวัตถุดิบที่มากขึ้น จำเป็นต้องนำเข้าสินค้ามาจาก 2 ประเทศดังกล่าว ซึ่งกระบวนการเบื้องหลังจะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สำคัญของการเชื่อมโยงการบังคับใช้แรงงาน และจัดอันดับทั้ง 198 ประเทศทั่วโลก เกาหลีเหนือเป็นประเทศที่เลวร้ายที่สุด เนื่องจากสินค้าที่มีการส่งออกในปัจจุบันถูกผลิตโดยแรงงานที่เป็นนักโทษในค่ายกักกัน อินเดียอยู่ที่ 15 และที่จีนอยู่อันดับที่ 23

(money.cnn.com, 11/8/2016)

พนักงานศาลมอลต้าเรียกร้องชุดทำงานที่เหมาะสม

สื่อท้องถิ่นของประเทศมอลต้ารายงานว่า สหภาพแรงงานพนักงานศาลได้ออกมายื่นข้อเรียกร้องให้ศาลและกระทรวงยุติธรรมจัดหาชุดทำงานที่เหมาะสม เพียงพอให้กับพนักงานศาล นอกจากนี้ยังพบว่าสถานที่ทำงานในศาลของพวกเขายังไม่สะอาดและไม่มีความปลอดภัยในการทำงาน

(timesofmalta.com, 12/8/2016)

Cisco ประกาศลดจำพนวนพนักงาน 5,500 คน

บริษัทเทคโนโลยี Cisco ของสหรัฐฯ ประกาศลดจำพนวนพนักงาน 5,500 คน ในแผนปรับยุทธศาสตร์จากการผลิตอุปกรณ์ประเภทสวิทช์และเราท์เตอร์ มาเน้นบริการซอฟแวร์และระบบการคุ้มกันความปลอดภัยทางอินเตอร์เน็ท ซึ่งเป็นธุรกิจที่บริษัทให้ความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันผู้บริหารบริษัทกำลังเร่งแผนซื้อกิจการในช่วงที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นอัตราการเติบโตของ Cisco ด้วย

(VOA, 17/8/2016)

เยอรมนีเผยตัวเลขอนุญาตก่อสร้างพุ่งสูงสุดรอบ 16 ปีช่วงครึ่งปีแรก

สำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนี (Destatis) เปิดเผยในวันนี้ว่าตัวเลขการอนุญาตก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ในเยอรมนีพุ่งขึ้นร้อยละ 30 ในช่วงครึ่งปีแรก โดยได้รับปัจจัยบวกจากอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำ, ตลาดแรงงานที่มีเสถียรภาพ และความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้ลี้ภัย ทั้งนี้ทางการเยอรมันได้ออกใบอนุญาต 182,800 ใบในช่วงครึ่งปีแรก มากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึงร้อยละ 30.4 และเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2000 จากจำนวนใบอนุญาตทั้งหมด จำนวน 156,986 ใบเป็นใบอนุญาตสำหรับการก่อสร้างอาคารใหม่ โดยมากกว่าปีที่แล้วร้อยละ 28.2 ขณะที่จำนวน 25,834 ใบ เป็นใบอนุญาตสำหรับการก่อสร้างอาคารที่มีอยู่เดิมเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.5

(europeonline-magazine.eu, 18/8/2016)

Caterpillar จ่อปลดพนักงาน 155 คน ตามแผนปรับโครงสร้างองค์กร

Caterpillar Inc. ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรหนักที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เปิดเผยแผนปลดพนักงาน 155 คน ตามแผนปรับโครงสร้างองค์กร โดยคาดว่าแผนการปรับลดจำนวนพนักงานในครั้งนี้จะมีผลต่อพนักงานในเมืองฮุสตันและเพนซิลวาเนีย ทั้งนี้ Caterpillar ระบุว่าทางบริษัทฯ อาจยกเลิกธุรกิจผลิตภัณฑ์ขุดเจาะสำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และยังได้วางแผนที่จะยุติการผลิตอุปกรณ์ track drill โดย Caterpillar มีพนักงานกว่า 100,000 คนทั่วโลก

(marketwatch.com, 18/8/2016)

ผลสำรวจ World Economic Forum ชี้เยาวชนโลกยังเชื่อมั่นตลาดแรงงาน

ผลการสำรวจของ World Economic Forum ระบุว่า เยาวชนโลกที่มีวัยระหว่าง 18-35 ปี ประมาณร้อยละ 75 มีความเชื่อมั่นว่าพวกเขามีทักษะที่เหมาะสมต่อตลาดแรงงานขณะที่ร้อยละ 54 มีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการจ้างงาน นอกจากนี้ผู้ถูกสำรวจร้อยละ 70 มองว่าโลกนี้ยังคงเต็มไปด้วยโอกาสและร้อยละ 50 เชื่อว่าพวกเขามีส่วนสนับสนุนกระบวนการตัดสินใจในประเทศของพวกเขา ผลการสำรวจพบว่าผู้ถูกสำรวจร้อยละ 86 เชื่อว่าเทคโนโลยีจะช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวของการจ้างงาน ขณะเดียวกัน ผู้ถูกสำรวจมากกว่าร้อยละ 50 ไม่ปฏิเสธการมีผู้นำเป็นผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นผู้นำในภาคธุรกิจ หรือผู้นำทางการเมือง ขณะที่ร้อยละ 53 สนับสนุนการแต่งงานของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ การสำรวจดังกล่าวครอบคลุม 181 ประเทศ และดินแดนต่าง ๆ โดยมีผู้ถูกสำรวจรวมกว่า 26,000 คน

(rappler.com, 26/8/2016)

ปิดโรงงานเสื้อผ้ากัมพูชาน่าสงสัย หวั่นเชื่อมโยงลดค่าแรงขั้นต่ำ

สมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าในกัมพูชาหรือ The Garment Manufacturers Association in Cambodia (GMAC) เผยตัวเลขจำนวนโรงงาน 70 แห่งที่ได้ปิดตัวลง โดยมีโรงงานเปิดใหม่เพียง 20 แห่ง พร้อมให้เหตุผลเรื่องความไม่แน่นอนทางการเมือง สถานการณ์วุ่นวายเกี่ยวกับแรงงาน รวมทั้งการขาดความสามารถในการแข่งขันเป็นปัจจัยที่กระทบต่ออุตสาหกรรมเสื้อผ้ามูลค่ากว่าหกพันล้านดอลลาร์สหรัฐของประเทศ อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่รัฐหลายคนและกลุ่มสหภาพออกมาแสดงความคลางแคลงใจเกี่ยวกับตัวเลขที่ GMAC เปิดเผย ด้านนาย William Conklin ผู้อำนวยการองค์กร Solidarity Centre เผยว่าตัวเลขที่เปิดเผยมานั้นไม่น่าเชื่อถือ เพราะไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ เนื่องจาก GMAC ไม่มีคำตอบเกี่ยวกับชื่อโรงงานที่ปิดตัวและยังตอบไม่ได้ว่าสูญเสียตำแหน่งงานไปกี่ตำแหน่ง GMAC ควรให้ข้อมูลเชิงลึกมากกว่านี้ เพราะมักประกาศตัวเลขเช่นนี้ก่อนมีการเจรจาเรื่องค่าแรงขั้นต่ำเสมอ

(phnompenhpost.com, 24/8/2016)

ผู้ประกอบการสหรัฐฯ กังวลถึงความพร้อมของนักเรียนมหาวิทยาลัยจบใหม่

เว็บไซต์ Career Builder ติดตามความเคลื่อนไหวของภาคแรงงานสหรัฐฯ และพบว่าสองในสามของนายจ้างอเมริกัน เตรียมเปิดตำแหน่งที่เสนอรายได้อย่างต่ำห้าหมื่นดอลลาร์ต่อปีสำหรับผู้ที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตามในการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการ 2186 ราย นายจ้างจำนวนไม่น้อยแสดงความกังวลว่านักศึกษาจบใหม่จากมหาวิทยาลันอาจขาดความพร้อมในการรับมือกับโลกแห่งการทำงาน

นายจ้างที่กังวลกล่าวว่ามหาวิทยาลัยเน้นการเรียนตามตำรามาเกินไปแต่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งประสบการณ์ที่ว่านี้มักจะได้จากการทำงานเป็นนักศึกษาฝึกงาน ในภาคธุรกิจ งานที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และทักษะทางวิศวกรรมศาสตร์เป็นตำแหน่งที่ได้รับความสำคัญมากที่สุด ส่วน สาขาชีววิทยา สถาปัตยกรรมศาสตร์และการศึกษาอยู่ในอันดับที่ได้รับความสนใจรั้งท้ายจากนายจ้าง

Career Builder ให้คำแนะนำนักศึกษาจบใหม่ว่าให้ติดตามข่าวสารของบริษัทจากโซเชี่ยลมีเดีย และเข้าติดต่อผ่านช่องทางนี้ แถมบอกด้วยว่า นักศึกษาอาจสามารถเพิ่มความน่าสนใจสำหรับนายจ้างหากเริ่มเขียนblog ในสาขางานที่ตนอยากทำ

(VOA, 24/8/2016)

คาดอุตสาหกรรมเสื้อผ้า-บริการ กัมพูชาโตร้อยละ 7 สวนทางภาคเกษตรที่ร้อยละ 0.5

กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังเผยในรายงานการประเมินเศรษฐกิจกลางปีว่า เศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ไปจนถึงปลายปีด้วยอัตราร้อยละ 7 ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่แปรปรวน โดยมีปัจจัยการเติบโตทางเศรษฐกิจหลักคือภาคอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและธุรกิจบริการ ในปีนี้ รัฐบาลคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและบริการจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 11.4 และ 6.7 ตามลำดับ ในขณะที่ภาคเกษตรกรรมเติบโตเพียงแค่ร้อยละ 0.5 เท่านั้น

(phnompenhpost.com, 31/8/2016)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net