Skip to main content
sharethis
นักรณรงค์ด้านประชากรข้ามชาติและนักวิจัยแรงงานข้ามชาติ ชี้ปรากฏการณ์แรงงานข้ามชาติผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการเป็นเรื่องปกติ ภาพสะท้อนปัญหาสังคมเสรีนิยมใหม่ ระบุมีทั้งที่แข่งกับธุรกิจไทยและสินค้าวัฒนธรรมที่คนไทยไม่ขาย แนะดึงเข้าสู่ระบบเพื่อคุมคุณภาพ ลดปัญหาส่วย พร้อมเสนอท้องถิ่นเข้ามาจัดการ ปฏิรูปกฎหมายสอดคล้อง และเข้าระบบสวัสดิการ

แฟ้มภาพประชาไท

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ได้เปิดเผยว่า สศช.ได้ร่วมกับบริษัทศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ จำกัด สำรวจการประกอบอาชีพค้าขายรายย่อยของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 4 พ.ค. - 22 มิ.ย. 2559 ในพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร เชียงใหม่ นครราชสีมา หนองคาย ชลบุรีและสงขลา พบว่า แรงงานต่างด้าวเป็นเจ้าของร้านในห้างสรรพสินค้า 6.9% ของจำนวนผู้ค้าทั้งหมด เป็นเจ้าของแผงในตลาดนัด 1.8% เป็นเจ้าของแผงในตลาดสด 20.9% และเป็นเจ้าของร้านในตลาดชุมชน 9.7% ซึ่งต่างด้าวที่เป็นเจ้าของร้านหรือแผงค้ามีสัญชาติพม่า 44.5% กัมพูชา 21.4% ลาว 19.8% เวียดนาม 4.4% จีน 1.6% ชนกลุ่มน้อย 5.5% และอื่นๆ 2.7% พร้อมระบุด้วยว่าผู้ค้าคนไทยและต่างด้าวขาดการรับรู้ด้านกฎหมาย  (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ตัวอย่างพาดหัวข่าวของสื่อต่างๆ จากการรายงานข่าวข้อมูลของงานศึกษานี้

แม้ตัวเลขจากการสำรวจอาจดูเหมือนไม่มาก แต่ก็ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ รวมทั้งสื่อมวลชนหลายสำนักก็พาดหัวค่อนข้างแรง ราวกับว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านี้จะเข้ามายึดครองเศรษฐกิจไปแล้ว ดังนั้นเพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์มากขึ้น ประชาไทจึงสัมภาษณ์ อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ และษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งศึกษาวิจัยแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ มหาชัย จ.สมุทรสาคร พื้นที่ จ.สมุทรปราการและ จ.ภูเก็ต เพื่อทำความเข้าใจต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว พร้อมทั้งข้อเสนอเชิงนโยบาย

อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (แฟ้มภาพ ประชาไท)

ชี้เป็นเรื่องปกติ กับประเด็นข้อกฎหมาย

“จริงๆ มันเกิดขึ้นมานานแล้ว น่าจะประมาณ 6-7 ปีมาแล้ว และผมก็มองเป็นเรื่องปกติ เพราะเมื่อถึงระดับหนึ่งคนเริ่มมีช่องทางจะพัฒนาตัวเองเป็นผู้ประกอบการได้ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตลอดมาตั้งแต่สมัยแรงงานจีนช่วงแรกๆ ก็เปลี่ยนแปลงเป็นผู้ประกอบการได้” อดิศร กล่าวเริ่มต้นอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว

ต่อประเด็นทางกฎหมายนั้น ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่ามีกฎหมาย 2 ตัวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือ พ.ร.บ.การทำงานคนต่างด้าว อันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่ขึ้นไปเป็นผู้ประกอบการนั้น เดิมจะอยู่ภายใต้กฎหมายตัวนี้ แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นผู้ประกอบการก็จะไปสัมพันธ์กับกฎหมายอีกตัวหนึ่ง คือ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ซึ่งจะยากกว่าเนื่องมันใช้ตามการลงทุนเพื่อประกอบธุรกิจจึงมีเงื่อนไขบางอย่างที่ค่อนข้างจะทำได้ยาก เช่น ต้องมีเงินลงทุนตั้งต้น ซึ่งจะไม่สอดคล้องกับการประกอบธุรกิจขนาดเล็กอย่างแรงงานข้ามชาติทำ ดังนั้นจึงทำให้ผิด 2 ตัว คือเดิมเมื่อขออนุญาตทำงานแล้ว แต่กลับมาประกอบธุรกิจก็จะถือว่าทำงานผิดประเภท  ขณะเดียวกันตัวกฎหมายประกอบธุรกิจเองก็ตั้งเงื่อนไขไว้ค่อนข้างสูง

สำหรับ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว นั้น อดิศร กล่าวว่าเป้าหมายในการออกเพื่อควบคุมบริษัทขนาดใหญ่ หรือป้องกันการลงทุนจากบริษัทขนาดใหญ่เข้ามา ซึ่งไม่สอดคล้องกับการประกอบธุรกิจขนาดเล็กของกลุ่มที่ไม่ใช่คนไทย ซึ่งคิดว่าในกรณีเหล่านี้ไม่ใช่เพียงแงงาน พม่า ลาว กัมพูชาหรือเวียดนาม อย่างที่เราเห็น แต่ยังรวมถึงชนกลุ่มน้อยที่ยังไม่มีสัญชาติไทยด้วย ทำให้เมื่อต้องขายของเล็กๆ น้อยๆ จะต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว เหมือนกันซึ่งมีปัญหา

มีทั้งที่แข่งกับธุรกิจไทยและสินค้าวัฒนธรรมที่คนไทยไม่ขาย

สำหรับประเด็นการกลัวแย่งงานของคนไทยนั้น อดิศร มองว่าการประกอบกิจการขนาดเล็กหรือขนาดย่อมนี้ คำถามว่ามันแย่งงานไหม ถ้าหากกิจการที่คนไทยทำมันก็มีความเสียง แต่ถ้าเป็นอีกด้านหนึ่งก็มีการประกอบธุรกิจบางส่วนที่มองว่ามันเป็นโอกาสที่จะให้คนต่างชาติหรือแรงงานข้ามชาตินั้นหันมาซื้อของมากขึ้นเพิ่มวงจรลูกค้าในการซื้อขายของเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจว่าอาจมีบางส่วนที่อาจจะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการแน่ๆ แต่ก็มีกิจการบาส่วนที่คนไทยไม่ขาย เช่น ขายหมาก หรือสินค้าที่เป็นของประเทศเขาโดยตรง เช่น ถ้าไปตลาดแถวมหาชัย จะมีอาหารบางอย่างที่เราไม่เคยเห็น เป็นอาหารของคนกลุ่มน้อย ซึ่งพวกนี้ตนคิดว่าไม่มีการแย่งกัน เพราะว่าตัวลูกค้านั้นชัดเจน เพราะคนไทยนั้นซื้ออยู่แล้ว ซึ่งเหล่านี้จะมีการยืดหยุ่นให้มีการขายสินค้าเหล่านี้ได้หรือไม่ จึงเป็นโจทย์ที่น่าสนใจเพราะว่าสินค้าในเชิงวัฒนธรรมแบบนี้มันเกิดขึ้นพร้อมกับการเกิดขึ้นของการย้ายถิ่น จากการที่มีคนย้ายเข้ามาก็มีสิ้นค้าตามมา เช่นอาหารจีนอาหารเกาหลี ฯลฯ คือคนต้องการเสพสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการทางวัฒนธรรมของคนเหล่านั้นอยู่ด้วย จึงมองว่าไม่เป็นการแย่งกัน แม้จะให้คนไทยขายก็คงไม่ขายเพราะไม่รู้แหล่งวัตถุดิบและไม่รู้วิธีการขายหรือสรรพคุณ วิธีการผลิต

ดึงเข้าสู่ระบบเพื่อคุมคุณภาพ

อดิศร กล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจที่ผ่านมาอาจจะไม่ใช่เรื่องของการแย่งหรือไม่แย่งลูกค้า แต่เป็นเรื่องของการควบคุมคุณภาพสินค้า ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่ถูกพูดถึงมากนัก เช่น กรณีน้ำส้มปลอมที่เป็นข่าวขึ้นมา แล้วเมื่อไปจับกลายเป็นแรงงานข้ามชาติมาขาย ซึ่งของแบบนี้มันเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ประกอบการต่างชาติเท่านั้นเพราะผู้ประกอบการบางคนก็ขาย วิธีการที่น่าสนใจคือว่าเราจะดึงเขาเข้าสู่ระบบเพื่อควบคุมคุณภาพ หรือว่าเราจะปล่อยให้เขาอยู่แบบมืดๆ เงียบๆ อย่างนั้นแล้วก็ไปคล้ายๆ กับไปทำตลาดอ้อมๆ แข่งกับผู้ประกอบการไทยแต่ว่าสินค้าเขามีปัญหา ตนคิดว่าในส่วนตรงนี้ประเด็นการให้เขขายโดยมีเงื่อนไขว่าคุณจะขายเฉพาะสินค้าที่คนไทยทั่วไปไม่นิยมขายแล้ว หรือว่าเป็นสินค้าเฉพาะทางวัฒนธรรม ก็ควรขาย แต่ว่าต้องมีเรื่องของกระบวนการตรวจสอบคุณภาพเข้ามาด้วย คิดว่าตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญมากกว่า

ปฏิรูปกฎหมาย การใช้แรงงาน-ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว

ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ เสนอว่า มันควรแบ่งในเรื่องของการประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว เป็น 3 ระดับ ระดับแรกคือการประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น เรื่องการลงทุนขนาดใหญ่ คุณก็ใช้กฎหมายตัวนี้ไป ระดับ 2 คือการประกอบธุรกิจขนาดกลาง พวกมาตั้งบริษัทหรือตั้งโรงงาน อันนี้ตนิดว่าสามารถใช้แบบแรกได้ คือต้องมีเงินลงทุนระดับหนึ่ง เพื่อให้เกิดความมั่นคงของการลงทุน แต่ว่าตัวระดับ 3 คือการประกอบธุรกิจขนาดเล็ก ตนอยากให้แบ่งเป็น 2 แบบ คือ การขายสินค้าทั่วไป กับการขายสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งลักษณะแบบนี้ควรจะทำให้เกิดลักษณะย่อยๆ แบบนี้ขึ้นมา และมีการกำหนดเงื่อนไขในการลงทุนในธุรกิจขนาดเล็กหรือขายทั่วไป ควรมีเงื่อนไขที่ต่ำ เช่น คุณมีเงินลงทุนที่ไม่ต้องสูงมากไม่ต้องถึงขั้น 1 ล้านบาท แต่ต้องมีเงื่อนไขเรื่องกลไกในการตรวจสอบเรื่องของคุณภาพสินค้าหรือรายงานคุณภาพสินค้าตามช่วงเวลาเพื่อทำให้การควบคุมหรือดูแลในเรื่องนี้จะดีขึ้น ตนคิดว่าการบอกว่าปิดไปเลย เขาไม่ควรขาย นั้น มันเหมือนไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่สำหรับตน

บางอันที่ได้ทราบมาธุรกิจที่ชาวต่างชาติขายนั้น มันเป็นธุรกิจครอบครัวของนายจ้างเดิม แล้วคนในครอบครัวไม่ทำแล้ว เพราะว่าลูกก็เรียนสูงไปทำอย่างอื่น แต่ว่าตัวเจ้าของเดิมอยากให้ยังอยู่ จึงจ้างคนพวกนี้ทำ เมื่อทำไปสักพักก็เป็นหุ้นส่วนกัน ไม่ได้เป็นเพียงแค่ลูกจ้างเท่านั้น หรือบางที่ก็ให้สูตรไปลงทุนทำเพื่อให้สามารถขายต่อได้ก็มี ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจว่าลักษณะแบบนี้มันก็ตอบสนองต่อตลาดไทยระดับหนึ่ง โดยที่ผู้ประกอบการไทยอาจจะไม่สนใจในการลงทุนธุรกิจนี้แล้ว มันควรจะอนุญาตให้ขาย เป็นลักษณะงานที่คนไทยไม่ทำแล้ว

อดิศร ระบุว่า ควรเอากฎหมาย 2 ตัวมาดู โดย พ.ร.บ.การทำงานคนต่างด้าว ที่ระบุว่างานประเภทไหนที่คนไทยไม่ทำแล้ว อนุญาตให้คนต่างชาติทำได้  กับ พ.ร.บ.ประกอบการธุรกิจคนต่างด้าว เอามารวมกันเพื่อหาจุดร่วมให้ตรงกันแล้วปรับเป็นข้อกฎหมายใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจ

เข้าระบบลดปัญหาส่วย พร้อเสนอท้องถิ่นเข้ามาจัดการ

อดิศร กล่าวด้วยว่า การให้มาจดทะเบียนอนุญาตจะเป็นผลดีมากกว่าเพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดภาวะที่ทั้งรัฐและคนไทยบางส่วนจะแสวงหาประโยชน์จากภาวะแบบนี้แทน มีส่วยสติ๊กเกอร์ เป็นต้น ตนจึงอยากหาวิธีการที่ดูง่าย โดยหมาเป็นแรงงานก่อนแล้วเมื่อถึงเวลาที่จะประกอบธุรกิจก็ไปแจ้งที่จังหวัดหรือที่จัดหางานว่าจะปรับสภาพตัวเองจากเป็นแรงงานไปเป็นผู้ประกอบธุรกิจแล้ว โดยจะมีเงื่อนไขต่างๆ คิดว่าจะได้ผลดีกว่า ซึ่งเรื่องแบบนี้มันควรจะกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเข้ามาดำเนินการ เพราะคนส่วนกลางอาจจะไม่ได้รู้ว่าอะไรคือสินค้าที่คนในท้องถิ่นนั้นๆ อยากขายหรือไม่อยากขาย อยากได้หรือไม่อยากได้ จึงคิดว่าการให้ท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการจัดการจึงอาจจะตอบคำถามได้ดีกว่าที่จะให้รัฐจากส่วนกลางจัดการทุกอย่าง โดยรัฐส่วนกลางอาจจะกำหนดเพียงกรอบใหญ่ๆ ให้ แต่ถึงเวลาที่จะจัดการรายละเอียดควรให้ท้องถิ่นเข้ามาจัดการมากกว่า

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (แฟ้มภาพ)

ทุนทางสังคมและเศรษฐกิจที่ค่อนข้างต่ำ ความสามารถขยับฐานะทางสังคมต่ำ

ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า สิ่งแรกที่อยากให้มองนั้นคือจริงๆ แล้ว สถานะของแรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นจากพม่า ลาว หรือกัมพูชา ส่วนมากแล้วพวกเขาเป็นคนที่มีทุนทางสังคมและเศรษฐกิจที่ค่อนข้างต่ำ ไม่ได้เป็นชาชั้นกลางหรือชนชั้นกลางระดับสูงจากประเทศเหล่านั้น คือ ส่วนมากเป็นคนจนที่มาตายเอาดาบหน้า แม้จะไม่ใช่คนจนที่สุดก็ตาม

ษัษฐรัมย์ กล่าวด้วยว่า จากงานวิจัยของตนที่ไปศึกษาใน 3 พื้นที่ คือ ภูเก็ต สมุทรปราการและมหาชัย พบว่า พวกเขาสามารถขยับฐานะทางสังคมได้น้อยมาก และถ้าจะมีการเลื่อนฐานะทางสังคมก็จะเกิดขึ้นผ่านการส่งเงินกลับบ้าน ไปเลื่อนฐานะทางสังคมที่บ้านเกิด ซึ่งก็เป็นส่วนน้อยเช่นกัน ส่วนมากพวกเขาก็จะถูกดูดกลืนอยู่ในสังคมเมืองเหล่านี้และไม่สามารถเลื่อนฐานะได้ แม้กระทั่งแรงงานที่ได้รับเงื่อนไขการจ้างที่ดี เช่น การได้ทำงานในโรงงาน แต่พวกเขาก็มีโอกาสในการเลื่อนฐานะทางสังคม ผ่านการขึ้นเงินเดือนหรือปรับเปลี่ยนตำแหน่งถือว่าต่ำมาก อย่างมากก็ได้เป็นเพียงหัวหน้าไลน์ ในไลน์การผลิต อาจจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าขั้นต่ำประมาณ 10% เท่านั้น

ภาพสะท้อนปัญหาสังคมเสรีนิยมใหม่

ษัษฐรัมย์ กล่าวต่อว่า การที่มีข้อมูลออกมาว่าแรงงานข้ามชาติเป็นผู้ประกอบการรายย่อยมากขึ้นนั้น ตนมองว่าจริงๆ แล้ว เศรษฐกิจของเรามันอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งในสังคมเสรีนิยมใหม่กระบวนการสะสมทุนจะมีกระบวนการคัดออกของคนเกิดขึ้นตลอดเวลา ชีวิตการใช้งานของคนในฐานแรงงานจะต่ำลง เช่น แต่ก่อนแรงงานอาจจะทำงานได้ 20 ปี หรือจนกระทั่งเกษียณทำงานไม่ไหว แต่ด้วยรอบของการสะสมทุนภายใต้ระบบเสรีนิยมใหม่นั้นจะสั้นกว่า โดยจะพบว่าจะใช้รอบประมาณ 7-10 ปี จะมีการรับแรงงานเด็กรุ่นใหม่มาหรือคนที่หัวอ่อนทำงานหนักได้มากกว่า นั่นหมายความว่าตัวแรงงานที่มาเป็นผู้กอบการรายย่อยนั้น จริงๆ แล้ว ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นได้ เพราะการที่จะเป็นผู้ประกอบการรายย่อยได้นั้นต้องรู้จักชุมชนดี ดังนั้นภาพที่ตนเห็นจากงานวิจัยที่ผ่านมาใน 3 ปี จริงๆ แล้วคนที่ออกมาเป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่มีรายได้ไม่แน่นอน ส่วนมากเป็นแรงงานที่ถูกกัดทิ้งจากระบบ เช่น อาจจะเป็นแรงงานผู้หญิงที่ผ่านการตั้งครรภ์มาแล้ว เพราะในระหว่างตั้งครรภ์ไม่สามารถที่จะทำงานได้ โรงงานไม่จ้าง เมื่อออกมาก็มีลูกก็ต้องเลี้ยงลูกจึงต้องผันตัวเป็นผู้ประกอบการรายย่อยในชุมชนของผู้ใช้แรงงานเอง นี่เป็นสภาพที่เกิดขึ้น ดังนั้นคนที่จะมาเป็นผู้ประกอบการรายย่อยจริงๆ แล้วเป็นคนที่แบกรับความเสี่ยงสูง ยิ่งในกรณีของแรงงานข้ามชาติ

หากนึกถึงภาพของแรงงานข้ามชาติส่วนมากที่เข้ามาคือต้องการที่จะมีรายได้เงินเดือนประจำที่แน่นอน สามารถที่จะส่งกลับได้ การที่จะต้องออกมาเป็นผู้ประกอบการรายย่อยด้านหนึ่งแสดงว่าเป็นแรงงานที่มีเครือข่ายทางสังคมที่ต่ำ คือว่าไม่สามารถที่จะหางานประจำเป็นหลักเป็นแหล่งที่มีโอทีมีรายได้ อีกด้านก็เป็นแรงงานที่ถูกระบบคัดออกมา ไม่ว่าจะเป็นแรงงานสูงอายุหรือผู้หญิงที่มีอำนาจในการต่อรองต่ำ หรือไม่ก็เป็นแรงงานเหมาช่วงเมื่อหมดสัญญาจ้างแล้วก็ไม่สามารถอพยพไปที่อื่นได้ ไม่มีเครือข่าย หรือวิธีการที่จะไปได้ จึงมีภาพของแรงงานที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยเกิดขึ้น

ทั้งแรงงานไทย-ข้ามชาติ เป็นผู้แบกรับความเสี่ยงแทนนายทุน

ส่วนประเด็นที่ถูกมองว่าจะเป็นการแย่งงานของคนไทยหรือไม่นั้น ษัษฐรัมย์ กล่าววา เป็นภาพแบบเดียวกันที่ระบบเสรีนิยมใหม่ เป็นระบบที่มีการแข่งขันกันสูง จึงมีการคัดคนที่ลงมากองอยู่ข้างล่างเยอะและให้คนเหล่านี้มาคอยแบกรับความเสี่ยง จริงๆ แล้ว แรงงานไทยเองก็อยู่ในสภาวะเดียวกันคือเป็นแรงงานที่แบกรับความเสี่ยงแทนผู้ประกอบการ เพราะฉะนั้นตัวเงื่อนไขความสัมพันธ์การผลิตระหว่างแรงงานพม่ากับแรงงานไทยรุ่นใหม่ต่อระบบจริงๆ แล้วเงื่อนไขเชิงคุณภาพนั้นไม่ต่างกัน คือไม่สามารถที่จะยกระดับฐานะตนเองได้ จึงต้องออกมาเป็นผู้ประกอบการหรือแรงงานตัวเอง ซึ่งมันก็ฟังดูดีเป็นผู้ประกอบการ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นผู้แบกรับความเสี่ยงแทนนายทุนที่ตัวเองไม่สามารถมีอำนาจต่อรองได้

สำหรับภาพที่ว่าแรงงานข้ามชาติกลายเป็นเถ้าแก่เนี้ยเป็นเจ้าสัวอะไรขึ้นมาแล้วมีลูกจ้างเป็นคนไทยนั้น อาจจะมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้น แต่ตนคิดว่ามันน้องมากจนแทบไม่มีนัยสำคัญที่เราจะเอามาอ้างอิง ซึ่งต่างจากกระบวนการสะสมทุนยุคคนจีนที่ว่าได้รับอภิสิทธิ์จากภาครัฐ จึงมองว่าไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้

ยกเลิกข้อห้ามการประกอบอาชีพ แนะดึงเขาเข้าระบบสวัสดิการ

ต่อกรณีกฎกมายกำหนดอาชีพต้องห้ามของแรงงานข้ามชาตินั้น ษัษฐรัมย์ กล่าวว่ามันเป็นการคิดอยู่บนฐานของความมั่นคงยุคสงครามเย็น ที่สงวนอาชีพบางอย่างไว้ให้กับคนไทย เราก็จะพบว่าจริงๆ แล้วตัวเนื้อหาพวกนี้มันก็ไม่ได้เข้ากับสภาพการณ์ในปัจจุบันเท่าไหร่นัก เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วตัวนี้ตนคิดว่ายกเลิกอชีพต้องห้ามไปได้เลย สิ่งที่ตนอยากชวนให้มองคือเรื่องของการพัฒนาตัวระบบสวัสดิการต่างๆ ที่มันจะสามารถเอามาครอบคลุมคนที่อยู่ในฐานะแรงงานเสี่ยงทั้งไทยและแรงงานข้ามชาติ โดยคนเหล่านี้ที่เขาผัดตัวไปเป็นผู้ประกอบการนั้นเนื่องจากด้านหนึ่งเขาไม่สามารถกลับประเทศเขาได้ ภาพคือทุกคนจะคิดว่าจะสามารถส่งเงินกลับได้ เดือนละ 5-6 พัน แต่แน่นอนไม่ใช่แรงงานทุกคนที่จะทำได้ คนกลุ่มนี้การที่เขาผัดตัวมาเป็นตลาดแรงงานอีกชุดหนึ่งนี่ก็แสดงว่าเขาไม่สามารถกลับไปประเทศได้และไม่สามารถกลับเข้าระบบการจ้างงานแบบสายพานได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถพัฒนาระบบสวัสดิการขึ้นมา โดยแทนที่เราจะมองว่าเป็นภัยคุกคาม เราคิดว่าเราจะพัฒนาให้ผู้ประกอบการรายย่อยทั้งหลายเหล่านี้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมาและกลายเป็นเศรษฐกิจที่มันสร้างสรรค์มากขึ้น มากกว่าการซื้อถูกขายแพงอย่างที่มี ซึ่งในชาติตะวันตกเขาอาศัยการสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการรายย่อยที่นอกจากเข้าใจเรื่องวิถีวัฒนธรรมของแรงงานอพยพแล้ว และอีกด้านก็เป็นการเพิ่มมูลค่าขึ้นมา แต่เราจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้ไม่ต้องอยู่ในลักษณะที่ต้องแบบรับความเสี่ยงอย่างไม่มีเงื่อนไข เพราะว่าในหลักการของการพัฒนาทางธุรกิจนั้น การที่จะพัฒนาธุรกิจที่มันสร้างสรรค์ได้มันต้องอยู่ในสถานะที่มันมีความปลอดภัยโดยเปรียบเทียบ เพราะฉะนั้นเราอาจจะต้องคิดถึงเรื่องของการบูรณาการคนเหล่านี้เข้ามาสู่ระบบที่เขาเป็นผู้ประกันตนเองได้ไหมผ่านระบบประกันสังคมแบบที่แรงงานไทยสามารถทำได้ หรือเข้าถึงสิทธิพื้นฐานของประกันสังคม บูรณาการเขาเข้าสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งคนเหล่านี้การทำงานของเขามีผลบวกต่อระบบมากกว่าไปคิดว่าพวกเขาจะมาดึงสวัสดิการไปจากระบบจึงคิดว่าตรงนี้น่าจะเป็นทางออก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net