การเมืองของตัวละครในกรณี "คุณคิดว่าอุณหภูมิมีผลต่อการเรียนไหมครับ?"

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ไม่กี่วันมานี้มีภาพอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ยื่นไมโครโฟนถามเจ้าหน้าผู้เข้ามาวัดอุณหภูมิห้องเรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า "คุณคิดว่าอุณหภูมิมีผลต่อการเรียนไหมครับ?" ถูกโพสต์ขึ้นบนเฟสบุ๊ก น่าจะโดยนักศึกษาในชั้นเรียน

เช่นเดียวกับหลายท่าน ผมที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์เป็นอีกหนึ่งหัวที่คิดจะวิจารณ์และใช้จินตนาการแม้จะไม่รู้จริงว่าอะไรเกิดขึ้น ผมจะไม่ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ว่ากำลังจะพูดกรณีที่แต่งขึ้นใหม่โดยสิ้นเชิง แต่จะขออนุญาตมองมันเป็นกรณีศึกษาอย่างงานศิลปะชุดหนึ่งซึ่งจบลงในโพสต์ดังกล่าวที่ลอยเคว้งออกมาแล้วจากข้อเท็จจริงในอดีต คือผมจะเขียนบนฐานของการออกตัวที่ว่า ผมรู้เท่าที่อ่านและอ่านเท่าที่เห็น ไม่ได้กำลังพูดถึงข้อเท็จจริงทั้งหมดหรือข้อเท็จจริงที่ยังไม่ทราบในห้องเรียน (ซึ่งเมื่อทราบแล้วอาจทำให้เปลี่ยนทัศนคติไปโดยสิ้นเชิง) กรอบของการเขียนครั้งนี้คือการทดลองมองว่าหากเราอนุมานกรณีนี้เป็นงานศิลปะหรือ "เรื่อง" ในวรรณกรรมการละครแบบที่ผู้ประพันธ์ตายแล้วเรื่องหนึ่ง เราจะมองอะไรได้บ้างเท่าที่รู้แบบผู้ชมจากผู้ชม

ผมเล่าเรื่องตามที่เข้าใจเพื่อเป็นฐานแห่งการว่าต่อดังนี้

มีอาจารย์ท่านหนึ่งกำลังบรรยายหรือทำกิจกรรมถามตอบอยู่ในห้อง เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ตรวจอุณหภูมิขออนุญาตเข้ามาทำหน้าที่ของเขาในห้อง จากนั้นก็ถูกถามโดยอาจารย์ผู้ยื่นไมโครโฟนมาให้ว่า "คุณคิดว่าอุณหภูมิมีผลต่อการเรียนไหม" แล้วก็มีนักศึกษาบันทึกภาพกับบทสนทนาคร่าวๆ มาโพสต์ ข้อความว่า

"เจ้าหน้าที่:ขออนุญาตวัดอุณหภูมิในห้องหน่อยครับ
อ.ชัยวัฒน์:คุณคิดว่าอุณหภูมิมีผลต่อการเรียนไหมครับ
#po210 #ปรัชญาการเมือง #เหวอ #งงสิ #จำลองการสนทนาแบบโสเครติส #ที่ผมคุยกับเขาเพราะผมมองเขาเป็นคนไม่ใช่แค่เครื่องวัดอุณหภูมิ"

ประโยคที่ทำให้ผมสนใจโพสต์นี้เป็นพิเศษคือ "ที่ผมคุยกับเขาเพราะผมมองเห็นเขาเป็นคน ไม่ใช่แค่เครื่องวัดอุณหภูมิ" ซึ่งไม่ทราบแน่ชัดจากการอ่านว่าข้อความแฮชแท็ก (#) ส่วนนั้นเป็นน้ำเสียงของใคร แต่เป็นไปได้ที่สุดว่าจะเป็นของอาจารย์ที่พูดเมื่อ "เขา" ได้ออกจากห้องไปแล้ว หรืออาจเป็นการเพิ่มเติมความคิดเห็นของนักศึกษาเอง ฯลฯ

หากเป็นวรรณกรรมการละคร

วันนั้นบนเวทีนี้ทุกคนมีบท มีความตั้งใจต้องการเป็นของตัวเอง ต่างคนต่างก็ตั้งใจจะเข้ามาทำภารกิจของตัวเอง อาจารย์ก็สอน นักศึกษาก็โต้ตอบหรืออื่นๆ มีอะไรผิดไปจากความปกตินิดหน่อยคือมีเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาวัดอุณหภูมิ

ถัดมา สิ่งผิดปกติเหนือความคาดหมายที่สองก็คือมีคนด้นนอกบท

ผมอยากอธิบาย "การนอกบท" คั่นไว้ก่อน ความต่างระหว่างนักแสดงผู้ทำการด้นบท (ส่ง) กับนักแสดงที่มีหน้าที่ต้องตอบรับกับบท (รับ) นั้นอยู่ตรงที่คนส่งรู้ว่าตัวเขากำลังทำอะไรอยู่ ไม่มีอะไรต้องกังวลอะไรมากนัก ต่างจากคนรับที่ต้องพบกับสถานการณ์ไม่ต่างจากอุบัติเหตุบนเวทีและไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรต่อไป เช่นอ่านมาถึงตรงนี้แล้วผมนึกจะเปลี่ยนบทความนี้เป็นบทความโปเกมอนโกมันก็เรื่องของผม ผมเป็นคนเขียน ผมรู้ตัวเอง แต่ภาระที่เหลือจะตกไปอยู่ที่ผู้อ่านที่ไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะมาอ่านเรื่องโปเกมอน แต่ในการละครมีมากกว่าคนส่งและคนรับ มันยังมีคนดูอยู่อีกชั้นหนึ่งด้วย

เมื่อคนส่งส่งไปแล้วคนดูก็จะเบนความสนใจไปรอดูคนรับ ในกรณีที่คนส่งด้นส่งหรือทำผิดปกติ คนรับก็จะยังไม่รู้ว่าควรตัดสินใจดำเนินเรื่องต่อไปอย่างไร เอาองค์ความรู้หรือจินตนาการที่ไหนมาตอบรับ และตอบรับไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น พากลับเข้าเรื่องได้ไหม สถานการณ์แบบนี้หากเกิดขึ้นบนละครเวทีจะเรียกกันว่า "การฆ่า" ฆ่าเพื่อนนักแสดง ทำให้เพื่อนนักแสดงต้องตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากและมีโอกาสขายหน้าต่อหน้าผู้ชม ผู้ชมอาจเข้าใจว่าคนที่แสดงพลาดคือคนรับ ทั้งที่แท้จริงแล้วเขากำลังประสบอุบัติเหตุจากการด้นของนักแสดงอื่นอยู่ และแน่นอนว่าการกระทำเช่นนี้เป็นเรื่องเสียมารยาทอย่างรุนแรงไปจนถึงการผิดจรรยาบรรณในการแสดงร่วมกับผู้อื่น

แต่ชีวิตไม่ได้เป็นไปอย่างละคร เมื่อชีวิตในโลกสมัยใหม่ถูกกำหนดว่าอะไรคือความปกติ ความผิดปกติจึงเกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อ บางครั้งน่ายินดียิ่ง และบางครั้งน่าเศร้า หลายครั้งเราภาวนาให้มีอะไรสักอย่างที่ไม่ปกติเกิดขึ้นเสียที ความรัก รัฐประหาร ฯลฯ

กลับมาว่าด้วยความไม่ปกติในห้องเรียนดังว่า เมื่อสถานการณ์แปลกปลอมเกิดขึ้นนอกเหนือจากที่ควรจะเป็น จึงหมายถึงการแตกกระจายของสิ่งที่เคยเป็น และการเกิดขึ้นของความจำเป็นหรือโอกาสในการจัดลำดับระเบียบสิ่งต่างๆ ใหม่หลังอุบัติเหตุ การเริ่มใหม่ของการเมืองของตัวละครจึงเกิดขึ้นที่นี่ หากตัวละครตัวใดจะพิสูจน์ตัวเอง จะมีอำนาจหรือคุณค่ามากขึ้น หรือพลาด จังหวะของเขาก็อยู่ที่นี่ กล่าวคือ เมื่อมันไม่ปกติ เราก็ต้องคิดใหม่ว่าจะรับมือกับสิ่งต่างๆ อย่างไรเพื่อพาตัวเองกลับเข้าสู่ความปกติแบบใดแบบหนึ่ง และการต้องคิดใหม่เหล่านั้นก็คือจุดเปลี่ยนสำคัญซึ่งจะกำหนดผลลัพท์ที่จะเกิดขึ้นถัดไป (เช่น การต้องคิดใหม่หลังจากที่ จู่ๆ ก็เงินหาย จู่ๆ ก็พายุเข้า จู่ๆ ก็มีคนมาสารภาพรัก ฯลฯ)

หากเป็นวรรณกรรมการละคร: ความสัมพันธ์การสื่อสาร มีการเมือง

ห้องเรียนเป็นพื้นที่ในอำนาจของอาจารย์ เขาเป็นผู้กำหนดสิ่งที่สมาชิกในห้องได้เห็น ได้ยิน และกำหนดความเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ในพื้นที่ ทุกตัวละครที่เข้ามาในฉากรับรู้ในความเป็นไปนี้ดี ส่วนนักศึกษาก็เป็นฝ่ายที่มีพื้นที่เป็นผู้ตามที่อยู่ในอำนาจหลวมๆ และมีที่ทางของตัวเองอยู่ในนั้นคนละเล็กละน้อย ในแผนผังของอำนาจมีอาจารย์อยู่บนนักศึกษา แต่เจ้าหน้าที่ไม่ใช่ และไม่ได้อยู่บนแผนผัง

เจ้าหน้าที่พกความเข้าใจว่า แม้จะมีหน้าที่มาแต่ตนก็เป็นส่วนเกินหรือส่วนรบกวนของสถานการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ ฉะนั้นห้องเรียนในเวลานั้นก็ไม่ได้เป็นสถานที่ที่เจ้าหน้าที่อยากเข้าไปอยู่ด้วยความสะดวกใจ เข้าไปนั่งเล่นเรียนรู้ ไปสั่งสอน ไปแสดงความคิดเห็นหรือไปทัศนศึกษา แต่เป็นสถานที่ของการเข้าไปทำหน้าที่ชั่วคราวให้เสร็จแล้วก็กลับออกมา (อย่างไรก็ตาม อาจไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่ที่เกิดความรู้สึกเช่นนี้กับห้องเรียน) เพราะเขาทราบดีว่าเขาคือความเป็นอื่นไร้ที่ทาง และเขาไม่ใช่กวีที่จะรักมัน

ทันใดนั้นเจ้าหน้าที่ผู้ขออนุญาตวัดอุณหภูมิพบกับการยิงคำถามจากเจ้าของสถานที่ว่า "คุณคิดว่าอุณหภูมิมีผลต่อการเรียนไหมครับ?" ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเขาปฏิเสธที่จะตอบคำถามหรือได้ตอบไปว่าอย่างไร

ทรัพยากรการคิดเท่าที่มีตอนนี้คือ ที่ทางของตัวละคร การยิงคำถาม ตัวคำถามเอง และสภาวะความไร้คำตอบจากเจ้าหน้าที่ถูกกลั่นกรองผ่านการกรอบตัดของสื่อที่คัดโดยนักศึกษาในชั้นเรียน สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การจัดเรียงคุณค่าหรือที่ทางในการเมืองตัวละครแบบใด

"คุณคิดว่าอุณหภูมิมีผลต่อการเรียนไหม?" ในสถานการณ์ดังกล่าวอาจเป็นได้หลายอย่าง อาจเป็นความใคร่รู้ในความคิดเห็น อาจเป็นการประชดแดกดัน อาจเป็นการแสดงอำนาจ อาจเป็นการสาธิตวิธีวิทยา สุดแท้แต่บริบทและเจตนารมณ์กับการตีความที่ไหลลื่นของมนุษย์ ท้ายที่สุดแล้วมันอาจเป็นการทักทายกันฉันท์มิตร เจ้าหน้าที่อาจเดินออกไปจากห้องแล้วพูดกับตัวเองว่า "อาจารย์เขาน่ารักดี" และอาจารย์ก็อาจคิดในใจว่า "คนนี้มีความคิดดี" อาจเป็นเช่นนี้ก็ได้

แต่อย่างไรก็ตามหากคิดผ่านมุมมองที่ประกอบด้วยบริบทที่อาจารย์เป็นเจ้าของสถานที่ และเจ้าหน้าที่เป็นความเป็นอื่นไร้ที่ทางที่เข้ามารบกวน เราก็อาจเห็นความเป็นไปได้ของประโยคคำถามดังกล่าวเปลี่ยนไปอยู่ประมาณหนึ่ง และแน่นอนว่าการได้ทราบว่าเวลาเดียวกันนั้นในชั้นเรียนกำลังมีการเรียนการสอนเกี่ยวกับโสเครตีส เราก็อาจเห็นความเป็นไปได้ที่เปลี่ยนไปอีก

แต่การมองการเมืองหรือการแย่งชิง คุณค่า อำนาจ ความสนใจในตัวละครของวรรณกรรมการละครไม่ได้มองจากความรู้สึกของตัวละครเองโดยตรง (อาจารย์และเจ้าหน้าที่จะเข้าใจและรู้สึกอย่างไร) แต่มองจากความยอมรับและความรู้สึกของประจักษ์พยานหรือ "คนอื่น" (ไม่ว่าตัวละครอื่นในเรื่อง หรือผู้ชม) ซึ่งถ้านับแค่ในนาทีนั้นก็คือนักศึกษาในชั้นเรียน แล้วถัดมาจึงเป็นสังคมออนไลน์

นักศึกษาในชั้นเรียนกับสังคมออนไลน์เห็นอะไรจากการปฏิสัมพันธ์กันของอาจารย์กับเจ้าหน้าที่?

เห็นเขาเป็นคนไม่ใช่แค่เครื่องวัดอุณหภูมิ

การถูกสนใจเป็นสิ่งแรกๆ ที่ตัวละครที่มีเรื่องจะเล่าหรือมีภารกิจต้องทำจะต้องแย่งชิงมาให้ได้ และความสนใจที่ถูกเทไปทางใดทางหนึ่งก็ชี้ให้เห็นถึงความเหนือชั้นกว่าในการเล่นการเมืองของตัวละครที่ทำสำเร็จ หากเริ่มพิจารณาจากประโยคบอกเล่าที่ว่า "ผมเห็นเขาเป็นคนไม่ใช่แค่เครื่องวัดอุณหภูมิ" ก็เห็นถึงความพยายามหยิบยื่นความเป็นคนให้เจ้าหน้าที่ ในทางกลับกันก็น่าพิจารณาต่อว่าความเป็นคนที่ถูกเปิดโอกาสให้เขาแสดงออกมานั้นเป็นอย่างไร แต่ทำไม่ได้เพราะเราไม่ได้เห็นว่ามีการปรากฏคำตอบของเจ้าหน้าที่ขึ้นมาในวรรณกรรม และไม่ถูกสนใจโดยนักศึกษา สิ่งที่ถูกสนใจมากกว่ากลับกลายเป็น "การถาม" และ "คำถาม" ของตัวอาจารย์เอง

ถัดมาจึงเกิดคำถามว่าการถามครั้งนั้นทำให้ความเป็นคนของใครเพิ่มขึ้น และใครเป็นบันไดสู่ความเป็นคนของอีกคน หรือว่าทั้งคู่กำลังเกื้อกูลกันก้าวสู่ความมีคุณค่าและความเป็นคนมากขึ้นร่วมกันอย่างอบอุ่น?

คำถามเลวร้ายสุดที่ผมไม่อยากถามก็คือ หรือว่าอาจารย์ทำหน้าที่สำเร็จลุล่วง เจ้าหน้าที่แกก็ได้ตอบมาอย่างดีเป็นที่น่าประทับใจและไม่ได้ตกที่นั่งลำบาก แต่สุดท้ายผู้ชมก็ไม่อยากที่จะเห็นและบันทึกค่าของเครื่องวัดอุณหภูมิเท่าการกระทำของอาจารย์? มากไปกว่านั้น อะไรทำให้เราต้องมานั่งถกเถียงกันเรื่องความเป็นคนของคนที่เป็นคนอยู่แล้วเล่า?

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ความเป็นคนในนาทีนั้นถูกนิยามไว้อย่างไร? มันคือการ "พูดได้ด้วยหรอ!/คิดได้ด้วยหรอ! เก่งจังเลย!" หรือไม่ ที่ทำให้เจ้าหน้าที่ไต่ขึ้นมาจากความเป็นเครื่องวัดอุณหภูมิสู่ความเป็นคน หากเช่นนั้นก็แน่นอนว่าเจ้าหน้าที่ได้รับความช่วยเหลือให้ได้พิสูจน์ถึงความเป็นคนในตัวเองขึ้นมาแล้ว ช่างน่าปิติยินดี แต่แล้วอาจารย์ผู้ที่เป็นคนอยู่ก่อนหน้าอยู่แล้วขยับได้ไปสู่การเป็นอะไรอีกไหม? (นอกจากนั้นแล้วก็ยังน่าตั้งคำถามต่อว่าก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ท่านนี้ถูกมองหรือถูกเข้าใจว่าถูกมองว่าไม่ใช่คน ในสายตาใคร?)

หากการยื่นไมโครโฟนครั้งนั้นเป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ได้พิสูจน์ความเป็นคนของตัวเอง เขาได้พิสูจน์แล้วว่าอะไร? เกิดอะไรขึ้นจากการพิสูจน์ตัวเองครั้งนั้น เขาคิดอย่างไร? คำตอบไม่ได้ถูกบันทึกไว้ ในทางกลับกัน สิ่งที่ถูกบันทึกกลับเป็นความเป็นโสเครตีส และวิธีการสอนกับความฉับพลันน่าสนใจของอาจารย์ผู้ถาม มีแต่ชื่อและข่าวของอาจารย์ผู้ถาม

คำถามสุดท้ายในการเมืองตัวละคร คุณค่าอยู่ที่ใคร?

ต้องขอบพระคุณอาจารย์ชัยวัฒน์สำหรับลีลาการสอนที่ชวนฉุกคิดอย่างโสเครตีส สอนออกไปไกลกว่าในห้องเรียน ทำให้เราได้ย้อนคิดถึงความเป็นคนอีกครั้ง ขอบคุณนักศึกษาท่านนั้นที่เผยแพร่เรื่องราวที่น่าสนใจ และคุณเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้ทำอะไร แต่ทำตามหน้าที่และเป็นคน ผมรู้สึกดีใจที่ได้รับทราบว่าท่านเป็นคน

0000

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท