การกีดกัน-เลือกปฏิบัติ ในโลกของการออกแบบ

การออกแบบดีไซน์เป็นงานที่ช่วยสร้างสิ่งต่างๆ ในโลก ไม่ว่าจะเป็นม้านั่ง ห้องน้ำ บ้านเรือน ถนนหนทาง ขนส่งสาธารณะ ผังเมืองไปจนถึงเทคโนโลยี แต่สิ่งเหล่านี้ในโลกปัจจุบันยังคงมีการใช้งานที่ไม่เอื้อต่อคนที่เสียเปรียบในสังคม เนื่องจากการออกแบบที่มาจากมุมมองของผู้ที่ได้เปรียบ 

บทความในเว็บไซต์โปรพับลิกาเผยแพร่เมื่อ 3 ก.ย. ระบุถึงเรื่องการกีดกันและเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้นจากการออกแบบสินค้าหรือบริการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน โดยผู้เขียนบทความชื่อลีนา โกรเกอร์ ยกตัวอย่างโปรแกรมส่งข้อความชื่อ Snapchat ที่มีลูกเล่นสามารถปรับแต่งฟิลเตอร์เปลี่ยนแปลงใบหน้าได้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับใบหน้าเป็นลายจุดดูเหมือนสุนัขดัลเมเชียน หรือทำให้เหมือนมีกลีบดอกไม้โปรยอย่บนใบหน้า 

อย่างไรก็ตามมีคนร้องเรียนว่าลูกเล่นนี้ของ Snapchat มีลักษณะที่เหยียดเชื้อชาติอยู่ จากที่สามารถใส่รูปแบบล้อเลียนใบหน้าแบบของคนเอเชียได้เช่นลักษณะตาเป็นขีด ฟันเหยิน ทาง Snapchat โต้ตอบกลับว่าพวกเขาแค่ต้องการให้มันมีลักษณะคล้าย "ตัวละครอนิเมะ" แต่ก็ลบลักษณะการล้อเลียนใบหน้าชาวเอเชียทิ้งหลังจากนั้นอีกไม่กี่ชั่วโมง

เคธี ชู นักวิศวกรรมซอฟท์แวร์เขียนในบทความของเธอว่ากรณีของ Snapchat เป็นตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าถ้าไม่มีกลุ่มคนทำงานที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติจะส่งผลอย่างไร จากที่ในโลกของงานสายเทคโนโลยีมักจะจ้างแต่คนทำงานที่เป็นคนขาวเท่านั้น ทำให้อาจจะเผลอออกแบบอะไรออกมาในแบบที่ทำร้ายหรือกีดกันลูกค้าของตัวเอง โดยที่โฆษกของ Snapchat ให้สัมภาษณ์กับโปรพับลิกาว่าเมื่อไม่นานมานี้ทางบริษัทจ้างคนในแบบที่จะสร้างความหลากหลายให้กับบริษัทเพิ่มแล้ว

ปัญหาการกีดกัน-เลือกปฏิบัติ ที่มาจากการออกแบบและการตัดสินใจไม่ได้มีอยู่แต่ในกรณีของ Snapchat เท่านั้น แต่มันยังแฝงอยู่ในทุกส่วนของชีวิตประจำวันด้วย ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของการสาธารณสุข การศึกษา ไปจนถึงที่อยู่อาศัย และความลำเอียงในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ จนแทบจะเรียกได้ว่ามันยากมากที่จะรื้อถอนชำแหละออกมาให้เห็นได้หมด

ในบทความของโปรพับลิกาเน้นถึงเรื่องการกีดกัน-เลือกปฏิบัติที่มาจากการออกแบบที่มองเห็นได้ทั่วไป โดยยกตัวอย่างกรณีของโรเบิร์ต โมเสส ที่โครงการของเขาส่งอิทธิพลต่อรูปแบบของเมืองนิวยอร์กซิตี้เมื่อช่วง 50-80 ปีที่แล้ว ซึ่งการออกแบบสิ่งแวดล้อมทางกายภาพถือเป็นเครื่องมือที่มีอำนาจมากในการกีดกันหรือทำให้คนบางกลุ่มโดดเดี่ยวและดีไซน์ของโมเสสก็ทำให้เกิดผลลัพธ์จากการกีดกันตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้ ยกตัวอย่างคือสะพานเหนือถนนลองไอแลนด์พาร์คเวย์ที่ดีไซน์ออกมาได้ต่ำมากจนรถประจำทางผ่านไม่ได้ ส่งผลให้คนจนในลองไอแลนด์และคนเชื้อชาติอื่นที่ไม่ใช่คนขาวถูกปิดกั้นการเดินทางเนื่องจากพวกเขาต้องอาศัยขนส่งมวลชนเป็นหลัก

ไม่เพียงเท่านั้นในการออกแบบระบบขนส่งมวลชนในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นรถประจำทาง รถไฟ และอื่นๆ ก็มีเรื่องอคติทางเชื้อชาติปนอยู่ เช่นในช่วงยุค 90s สหภาพผู้โดยสารรถประจำทางของลอสแองเจลิสขึ้นศาลเพื่อให้การในเรื่องความไม่เป็นธรรมทางเชื้อชาติที่พวกเขาพบเจอจากระบบขนส่งสาธารณะจากการที่เจ้าหน้าที่ขนส่งของแอลเอแบ่งสรรทรัพยากรการใช้บริการส่วนใหญ่ให้กับคนร่ำรวยซึ่งเป็นคนส่วนน้อยเท่านั้น ขณะที่มีการแบ่งสรรทรัพยากรการใช้งานมาให้คนรายได้ต่ำและคนชายขอบน้อยกว่า หลังจากศาลตัดสินทำให้หน่วยงานขนส่งมวลชนของแอลเอต้องลงทุนเพิ่มในระบบรถประจำทางมากกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์

นอกจากเรื่องโครงสร้างพื้นฐานแล้วยังมีเรื่องการใช้ที่ดินหรือโรงเรียนที่ลูกหลานของพวกเขาเข้าเรียนกลายเป็นเครื่องมืออีกอย่างหนึ่งที่ใช้กีดกันชุมชนคนเชื้อชาติอื่นที่ไม่ใช่คนขาวออกไป ยกตัวอย่างชุมชนคนดำและชุมชนชาวละตินถูกกีดกันออกไปจากทรัพยากรและความได้เปรียบอื่นๆ ที่ชุมชนคนขาวได้รับ เช่นในกรณีแผนที่ช่วงคริสตทศวรรษ 1930 มีการใช้สีแบ่งแยกชัดเจนว่าย่านไหนที่ "น่าปรารถนา" สำหรับธนาคารและนักลงทุน และย่านที่น่าปรารถนาน้อยที่สุดสำหรับพวกเขามักจะเป็นย่านคนดำ

ประเด็นการดีไซน์ที่มีผลต่อการกีดกันต่อมาคือม้านั่ง โกรเกอร์ระบุว่าม้านั่งที่มีที่วางแขนกั้นแบ่งเป็นที่นั่งเล็กๆ เป็นการออกแบบที่ไม่เอื้อต่อกลุ่มคนไร้บ้าน ถึงขั้นมีคนเคยชี้ให้เห็นว่าในสหรัฐฯ มีการใช้วิธีต่างๆ ในการบีบเค้นให้คนไร้บ้านออกไปจากพื้นที่สาธารณะไม่ว่าจะเป็นการฉีดสปริงเกอร์ไล่ในตอนกลางคืน ทั้งที่จริงๆ แล้วการจะแก้ปัญหาคนไร้บ้านจริงๆ ควรจะมาจากการออกแบบนโยบายและบริการที่ดีขึ้นมากกว่าการพยายามทำให้คนไร้บ้านหาที่นอนยากขึ้น

สถาปนิกและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยังมีส่วนในการออกแบบที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกกีดกัน อย่างการแบ่งทางเข้าออกระหว่างทางเข้าออกสำหรับที่พักอาศัยระดับราคาตลาดกับทางเข้าออกสำหรับที่พักอาศัยระดับราคาประหยัดที่เรียกว่า "ประตูคนจน" (poor doors) ภายในอาคารเดียวกันในบางกรณีถึงขั้นมีการแบ่งระบบการใช้ไฟฟ้าและระบบลิฟท์แยกกันซึ่งทางนิวยอร์กซิตี้สั่งห้ามการแบ่งแยกแบบนี้แต่ก็ยังคงถูกนำไปใช้ในที่อื่น

แม้แต่ห้องน้ำของผู้หญิงก็ถูกออกแบบมาในแบบที่ไม่เอื้อต่อผู้หญิงเนื่องจากคนออกแบบเป็นผู้ชายและออกแบบห้องน้ำมาให้สำหรับผู้ชายใช้ การที่ผู้หญิงต้องยืนรอเข้าห้องน้ำนานๆ นั้นไม่เพียงแค่เป็นความไม่สะดวกสบายเท่านั้น แคธริน แอนโธนี ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยแห่งอิลินอยส์ผู้ศึกษาประเด็นเพศสภาพในสถาปัตยกรรมกล่าวว่า การดีไซน์ห้องน้ำโดยผู้ชายยังทำให้ผู้หญิงเสี่ยงต่อเรื่องสุขภาวะและความปลอดภัยด้วย จากที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่เป็นประจำเดือนต้องเข้าใช้ห้องน้ำที่สกปรกก็จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ผู้หญิงบางคนไม่มีสถานที่ให้นมลูกก็ไปให้ในห้องน้ำ และผู้หญิงจะถูกคาดหวังให้ต้องพาเด็กเล็กเข้าห้องน้ำด้วยมากกว่าผู้ชาย และในบางพื้นที่เช่นวิทยาลัยการแพทย์เยลและวิทยาลัยกฎหมายฮาร์วาร์ด เคยยอมรับว่าพวกเขาไม่มีห้องน้ำผู้หญิงจึงไม่รับผู้หญิงเข้าเรียน

นอกจากผู้หญิงแล้วยังมีการกีดกันเพศอื่นๆ เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เมื่อผู้คนพากันแตกตื่นเพียงเพราะมีการเรียกร้องให้มีห้องน้ำสำหรับคนข้ามเพศ เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าการออกแบบในปัจจุบันยังคงกีดกันกลุ่มคนที่เสียเปรียบอย่างไร คนที่เสียเปรียบเหล่านี้ยังรวมถึงคนพิการและคนชราด้วยเพราะการออกแบบสิ่งก่อสร้างและพื้นที่ต่างๆ ไม่ได้คำนึงถึงบุคคลเหล่านี้

บทความของโกรเกอร์ย้อนกลับมาที่การออกแบบในโลกอินเทอร์เน็ตที่ยังคงเป็นปัญหาท้าทายที่จะออกแบบอย่างไรให้ผู้คนที่พิการด้านต่างๆ สามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นความพิการทางกาย, ทางการได้ยิน, ทางระบบประสาท, การพูด, การรับภาพ, การรับรู้และการคิด บางเว็บอย่างเช่นเครื่องมือส่งข้อความชื่อ Slack ไม่เหมาะใช้งานร่วมกับผู้ใช้สกรีนรีดเดอร์ (ใช้แปลตัวอักษรบนหน้าจอแล้วเปลี่ยนเป็นเสียงหรืออักษรเบรลล์) ซึ่งทำให้คนที่ตาบอด มีภาวะการอ่านตัวอักษรสลับกัน หรือไม่สามารถใช้มือได้ ใช้งานได้ลำบาก นอกจากนี้เว็บไซต์จำนวนมากก็ยังคงทำเว็บโดยใช้สีผสมที่ทำให้คนตาบอดสีไม่สามารถแยกสีออกได้

"เป็นไปได้ว่าตราบใดที่มนุษย์และสถาบันต่างๆ ของคนเรายังคงมีอคติและความลำเอียง การออกแบบของพวกเขาก็จะสะท้อนมันออกมา" โกรเกอร์ ระบุในบทความ

แต่ก็มีความก้าวหน้ากับการดีไซน์เกิดขึ้นอยู่บ้าง เช่นกรณีของสถาปนิกชื่อโรนัลด์ เมซ ผู้ตั้งมาตรฐานใหม่ตั้งแต่ราว 20 ปีก่อน ที่เรียกว่า "การออกแบบที่เป็นสากล" (universal design) ใช้กับทั้งเทคโนโลยี สวนสาธารณะ ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน ให้สามารถใช้ได้สำหรับทุกคน ซึ่งในปัจจุบันกลายเป็นมาตรฐานกฎหมายบังคับใช้ในนอร์เวย์ และถ้าหากพวกคุณต้องการให้มีพัฒนาการเช่นนี้บ้าง ก็ทำได้โดยวางระบบกระบวนการออกแบบสิ่งต่างๆ ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้เท่านั้นเอง

 

เรียบเรียงจาก

Discrimination by Design, Lena Groeger, ProPublica, 01-09-2016

https://www.propublica.org/article/discrimination-by-design

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท