#NoSizeFitsAll สองนางแบบเรียกร้องต่อต้าน 'เผด็จการด้านรูปร่าง' ของอุตสาหกรรมแฟชั่น

จะ 'สตรอง' ไปได้อย่างไรถ้ายังมีแต่นางแบบไซส์เล็กผู้ถูกบีบคั้นให้ทานอาหารแสนอับเฉาและต้องออกกำลังกายหักโหมแบบไม่สมดุลต่อสุขภาวะ มีสองนางแบบผู้ที่จะไม่ทนกับการถูกบังคับกีดกันด้วยมาตรฐานรูปร่างที่บิดเบี้ยวของวงการอุตสาหกรรมแฟชั่นอีกต่อไป พวกเธอร่วมรณรงค์ในนาม #NoSizeFitsAll เพื่อให้มีความหลากหลายของขนาดตัวนางแบบและขนาดเสื้อผ้ามากขึ้น

6 ก.ย. 2559 ขณะที่อังกฤษกำลังจะมีงานลอนดอนแฟชั่นวีคในช่วงกลางเดือน ก.ย. ที่จะถึงนี้ นางแบบสองคนคือ โรซี เนลสัน และเจดา เซเซอร์ ได้ร่วมกับพรรคการเมืองสตรีของอังกฤษรณรงค์ร่วมกับกลุ่มเรียกร้องความเท่าเทียมของผู้หญิงเพื่อต่อสู้กับวงการแฟชั่นที่นิยมผลิตเสื้อไซส์เล็กและใช้นางแบบที่มีน้ำหนักน้อยซึ่งส่งผลต่อปัญหาโรคการกินที่ผิดปกติ (eating disorder)

ในรายงานของเดอะการ์เดียนโดยผู้เขียนชื่ออเล็ก คลาร์ค ระบุว่านางแบบอายุไม่มากอย่างเนลสันถูกบังคับให้ต้องกินธัญพืชเป็นอาหารเช้า กินผักเป็นอาหารกลางวัน และกินปลาแซลมอนรมควันเป็นอาหารเย็น ห้ามกินผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลี ห้ามดื่มนม ห้ามทานน้ำตาล และต้องออกกำลังกาย 45 นาทีทุกวัน ซึ่งเป็นการวางกรอบที่เข้มงวดมากและไม่สมดุลต่อสุขภาพสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก เป็นวิธีการที่ทำให้คนอายุ 21 ปี สุขภาพอ่อนแออย่างมาก

เนลสันเริ่มงานนางแบบตั้งแต่อายุ 18 ปี ในขณะที่ร่างกายเธอยังอยู่ระหว่างเติบโต เธอเป็นชาวออสเตรเลียโดยกำเนิดที่เดินทางไปทำงานตามหาความฝันการเป็นนางแบบในอังกฤษ แต่เอเจนซีของเธอก็บอกว่าเธอตัวใหญ่เกินไปโดยเฉพาะส่วนสะโพกที่ในตอนนั้นเธอมีรอบสะโพก 37-38 นิ้ว เธอถูกสั่งให้ลดรอบสะโพกลงเหลือ 35 นิ้ว

ปัจจุบันเนลสันอายุ 24 ปี เธอบอกว่าในช่วงที่ถูกสั่งให้ลดสะโพกนั้นเธอรู้สึกว่าเธอถูกดูดกลืนให้คิดในแบบที่พวกเขาสั่งให้เธอเป็นเท่านั้น

"พวกเขาควบคุมชีวิตคุณ พวกเขาหางานให้คุณ พวกเขาหารายได้ให้คุณ คุณเหมือนเป็นทาสของมัน อุตสาหกรรมนี้ดูดกลืนคุณมากจนทำให้คุณลืมโลกความจริงไป ในโลกความจริงฉันเป็นคนที่ผอมมาก แต่ในโลกของการเดินแบบฉันยังตัวใหญ่เกินไป ดังนั้นเมื่อพวกเขาขอให้ฉันลดน้ำหนัก ฉันก็ยอมทำตาม" เนลสันกล่าว

แต่ถึงแม้ว่าเนลสันจะทำตามความประสงค์ของเอเจนซีอย่างเคร่งครัด เธอควบคุมอาหารและออกกำลังกาย ขาดโอกาสเข้าสังคม ไปจนสามารถลดสะโพกเหลือ 35 นิ้วตามที่ต้องการได้แต่เอเจนซีก็ยังคงกดสะโพกแล้วสั่งให้เธอ "ลดน้ำหนักมากกว่านี้อีก ให้เหลือแต่กระดูก" เนลสันเล่าว่าในตอนนั้นเธอตะลึงจนพูดไม่ออก หลังจากนั้นเนลสันก็ตัดสินใจแล้วว่าเธอจะไม่กลับไปสู่หนทางการบีบบังคับตัวเองให้ลดน้ำหนักแบบทำลายตัวเองเช่นเดิมอีก

เนลสันออกไปทำงานกับเอเจนซี่ที่เล็กกว่าที่ยอมให้เธอมีน้ำหนักแบบสมดุล ในตอนนั้นเธอก็เริ่มเขียนเกี่ยวกับประสบการณ์ของตัวเอง เธอเขียนเพื่อที่จะสร้างความตระหนักรู้ว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นมีพลังทำลายคนอื่นมากเพียงใด เนลสันเข้าร่วมกับโครงการของพรรคเพื่อความเสมอภาคของสตรี (Women's Equality Party หรือ WEP) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองในอังกฤษนำโดยโซฟี วอลเกอร์ และนางแบบร่างใหญ่อีกคนหนึ่งที่ชื่อเจดา เซเซอร์ ผู้มีความฝันอยากออกแบบและวางจำหน่ายชุดในไซส์ของเธอเอง ในโครงการที่ชื่อ #NoSizeFitsAll หรือ "ไม่ใช่ไซส์เดียวจะเหมาะกับทุกคน"

วอลเกอร์บอกว่าพวกเขากำลังอยู่ท่ามกลางวิกฤตสาธารณสุขที่มีคน 1.6 ล้านคนเป็นโรคการกินผิดปกติ ร้อยละ 89 เป็นผู้หญิงและเด็กผู้หญิง โรคนี้ส่งผลทางเศรษฐกิจ 1,300 ล้านปอนด์ต่อปี จากค่ารักษาพยาบาลและการสูญเสียผลผลิต

โครงการของพรรค WEP ได้รับการสนับสนุนจากคาริน แฟรงลิน นักวิจารณ์ในวงการอุตสาหกรรมแฟชั่นและศาตราจารย์ด้านความหลากหลายของแฟชั่น ซึ่งโครงการ #NoSizeFitsAll นี้จะเน้นที่รากฐานของปัญหาคือเรื่องขนาดตัวของตัวอย่างเสื้อผ้าในอุตสาหกรรมแฟชั่น

วอลเกอร์บอกว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นเน้นออกแบบเสื้อในแบบที่ตัวเล็กเกินไป แต่เสื้อตัวเล็กเหล่านี้ก็ถูกกำหนดว่าเป็น "เสื้อขนาดปกติ" ที่ผู้หญิงต้องอดข้าวอดน้ำเพื่อที่จะใส่ได้ ไม่ใช่แค่กินอาหารเป็นซุปทั้ง 3 มื้อซึ่งถือว่าเลวร้ายพอสมควร วอลเกอร์เรียกร้องว่าในช่วงเวลาที่กำลังจะมีลอนดอนแฟชั่นวีคนั้น ทางสภาแฟชั่นของอังกฤษต้องมีระบบให้ดีไซน์เนอร์ต้องมีขนาดตัวอย่างเสื้อผ้าอย่างน้อย 2 ไซส์ โดยหนึ่งในนั้นต้องมีขนาดใหญ่กว่าเบอร์ 12 ตามมาตรวัดขนาดของอังกฤษ

นอกจากนี้พรรค WEP ยังเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายให้เอเจนซีต้องจ้างนางแบบที่มีดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ที่ 18.5 ขึ้นไป ถ้าต่ำกว่านี้ต้องได้รับการรับรองจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ว่าพวกเธอมีสุขภาพดี ซึ่งมาตรการเช่นนี้จะทำให้อังกฤษมีมาตรการแบบเดียวกับประเทศยุโรปอื่นๆ อย่าง ฝรั่งเศส, สเปน และอิตาลี โครงการของวอลเกอร์ยังเรียกร้องให้สื่อนิตยสารของอังกฤษมีบทบรรณาธิการอย่างน้อย 1 ชิ้นที่พูดถึงเรื่องนางแบบรูปร่างใหญ่ และให้มีการเรียนการสอนในโรงเรียนเกี่ยวกับภาพลักษณ์ทางร่างกายทั้งในแง่เรื่องส่วนตัว เรื่องทางสังคมและสุขภาวะ

พรรค WEP เคยลงสมัครเลือกตั้งนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนเช่นกัน ถึงแม้ว่าพวกเธอไม่ชนะการเลือกตั้งแต่ก็สร้างอิทธิพลได้ในแง่การทำให้ซาดิก ข่าน ผู้ชนะการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเสนอเรื่องการตรวจสอบบัญชีคนทำงานศาลากลางเพื่อให้แน่ใจว่าทุกเพศได้รับค่าจ้างเท่ากัน โดยวอลเกอร์บอกว่าข่านขโมยเอาแนวคิดนโยบายของพวกเธอไปใช้เพราะกลัวเสียคะแนนเสียง วอลเกอร์กล่าวอีกว่าตัวเธอเองสามารถเรียกสมาชิกพรรคและผู้สนับสนุนหลายพันคนให้ร่วมขับเคลื่อนด้วยการเขียนเรียกร้องการสนับสนุนจากสภาแฟชั่นอังกฤษได้

มีข้อกังขาว่าการเรียกร้องด้านดัชนีมวลกาย 18.5 ขึ้นไปจะกลายเป็นการบีบเค้นผู้หญิงที่ต้องการทำงานนางแบบด้วยข้ออ้างด้านการแพทย์ในอีกแบบหนึ่งหรือไม่ วอลเกอร์ตอบว่าทุกวันนี้ผู้หญิงก็โดนบีบเค้นด้วยข้ออ้างทางการแพทย์อยู่แล้ว พวกเธอแค่กำลังเริ่มต้นก้าวแรกในการปลดปล่อยชีวิตของผู้หญิงออกจากแรงกดดันเหล่านี้ วอลเกอร์เล่าว่าตัวเธอเองเคยมีรูปร่างมาแล้วหลายแบบโดยที่ตัวเธอต้องอยู่ภายใต้การกดดันจากสังคมให้มีรูปร่างแบบใดแบบหนึ่ง แต่ในปัจจุบันลูกหลานอายุ 7 ปี หรือ 14 ปี ก็ยังถูกแรงกดดันเรื่องรูปร่างในแบบเดียวกันกับที่เธอเคยโดนมา เธอจึงเชื่อว่าสิ่งที่เธอทำเป็นการพยายามลบเลือนแรงกดดันที่ผู้หญิงต้องเผชิญและทำให้สภาพแวดล้อมเอื้อต่อการที่ผู้หญิงจะมีสุขภาพดีและทำงานได้ แทนที่จะให้พวกเธอถูกจ้างให้มีสุขภาพแย่ๆ และมีส่วนในการสร้างสังคมให้มีสุขภาพแย่ตามไปด้วย

เซเซอร์กล่าวว่าการโหมประโคมภาพลักษณ์ของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในแบบเดิมๆ ไม่มีอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ จะทำให้คนมีภาพลักษณ์ร่างกายของมนุษย์ในอุดมคติโดยอัตโนมัติ (เช่น ผู้หญิงต้องผอม ผู้ชายต้องมีกล้าม) โดยที่มีแต่การนำเสนอแบบเดียวในสื่อเก่าทุกแขนง อย่างไรก็ตามเซเซอร์มองว่าอินเทอร์เน็ตซึ่งมีความเป็นสื่อที่สร้างโดยปัจเจกบุคคลต่างๆ ก็มีการใช้โฟโต้ช็อปหรือกระแสการ "กินคลีน" แบบสุดโต่งหรือการออกกำลังกายแบบหนักหน่วงเกินไปที่ทำให้เกิดการซ้อนทับภาพลักษณ์ในแบบเดิมเข้าไปอีก แต่โซเชียลมีเดียก็มีโอกาสถูกนำมาใช้ในแง่ดีได้เช่นกัน

ปัจจุบันเซเซอร์อายุ 27 ปี ก่อนหน้านี้เธอเรียนจบปริญญาโทด้านจิตบำบัดเด็ก และเคยช่วยสร้างความมั่นใจให้กับเด็กที่ขาดความมั่นใจมาก่อนผ่านทางอินสตาแกรมของเธอทำให้เธอได้รับความสนใจและได้เซ็นสัญญากับเอเจนซี "โมเดลวัน" และกลายเป็นนางแบบรูปร่างใหญ่คนแรกของลอนดอนแฟชั่นวีค อย่างไรก็ตามเซเซอร์เล่าประสบการณ์หลังจากที่เธอทำงานเดินแบบมาเป็นเวลา 2 ปีครึ่งว่านางแบบรูปร่างใหญ่จะถูกจำกัดให้ทำงานกับแบรนด์เสื้อผ้าไซส์ใหญ่เท่านั้น โดยในตอนที่เธอเข้าทำงานเดินแบบไม่มีใครบอกเธอมาก่อนว่าเธอเป็นนางแบบเฉพาะแบบไซส์ใหญ่

นั่นทำให้เซเซอร์กลับไปที่ลอนดอน ทำงานกับองค์กรการกุศลที่ชื่อ "ยังมายด์ส" (Young Minds) และออกแบบเสื้อผ้าของเธอเองที่มีหลากหลายขนาดและจะขายผ่านทางออนไลน์ในเดือน ก.ย. นี้

ทั้งเซเซอร์และเนลสันต่างก็มองอุตสาหกรรมแฟชั่นตามสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันว่าพวกเธอต้องถูกเซ็ตให้ดูสวยตามแบบฉบับและสำหรับเนลสัน ยิ่งเอเจนซี่ใหญ่ก็ยิ่งทำให้เธอได้งานใหญ่ๆ มากขึ้น และเธอก็เชื่อว่าเธออาจจะเสียงานไปถ้าไม่ยอมทำตัวเป็นทาสของอุตสาหกรรมนี้ "แต่ฉันก็เลือกสุขภาพและความสุขมากกว่าการงาน ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา" เนลสันกล่าว

เซเซอร์พูดถึงเอเจนซีเหล่านี้ว่าพวกเขาปลูกฝังความเชื่อฝังรากลึกให้คนเชื่อว่าพวกเขาจะทำให้ฝันจะเป็นนางแบบนั้นเป็นจริงได้ แต่มันเป็นความคิดที่มีตำหนิเพราะตัวเอเจนซีเองก็สั่งให้ผู้หญิงเหล่านี้เปลี่ยนแปลงรูปร่างในแบบที่พวกเขาต้องการ ในแบบที่พวกเขาคาดเดาเอาเองว่าแบบไหนถึงจะดึงดูด อย่างไรก็ตามเซเซอร์ชี้ว่าเอเจนซีก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของปัญหาเพราะอย่างไรก็ตามเอเจนซีก็เป็นแค่ตัวกลางระหว่างดีไซน์เนอร์และคนเดินแบบ ดีไซน์เนอร์เป็นกลุ่มคนที่ออกแบบเสื้อไซส์เล็กๆ ออกมา ทำให้เอเจนซีหาได้แค่เสื้อไซส์เล็กให้กับคนเดินแบบ

เรื่องนี้ทำให้กลับมาสู่ข้อเถียงเรื่องขนาดตัวอย่างของเสื้อผ้าซึ่งผูกโยงกับวัฒนธรรมแฟชั่นและร้านค้า ถึงแม้ว่าผู้หญิงจะมีรูปร่างที่หลากหลายมาก แต่ทำไมมีแค่เสื้อผ้าขนาดเล็กที่เป็นตัวนำมานานโดยตลอด วอลเกอร์พูดถึงเรื่องนี้ว่ามันมาจากความเข้าใจผิดที่ว่าการจะมีความคิดสร้างสรรค์ได้นั้นต้องมีจินตนาการถึงผู้หญิงรูปร่างเล็ก

เซเซอร์พูดถึงเรื่องนี้ว่าเมื่อมองย้อนไปในประวัติศาสตร์แฟชั่นแล้วดีไซน์เนอร์ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายทำให้สะท้อนความงามในอุดมคติของพวกเขาออกมาในแบบคนที่รูปร่างบอบบางและหุ่นที่เกือบจะเหมือนเด็กผู้ชาย

วอลเกอร์บอกว่าเธอจะเคลื่อนไหวทุกวิถีทางไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกับซาดิก ข่าน ในเรื่องนี้และเรียกร้องให้หยุดให้งบลอนดอนแฟชั่นวีคถ้าหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมแฟชั่น นอกจากนี้ยังจะเขียนถึงมาเรีย มิลเลอร์ ประธานกรรมการด้านสตรีและความเท่าเทียมให้พิจารณาฟังความคิดเห็นสาธารณะร่วมกับแฟชั่นดีไซน์เนอร์เพื่อหาคำตอบว่า "ทำไมพวกเขาถึงเชื่อว่าความสำเร็จของพวกเขาเชื่อมโยงอย่างฝังลึกกับความผอมในระดับที่ไม่สามารถเข้าถึงได้จริง"

นอกจากนี้วอลเกอร์ยังบอกอีกว่าการกำหนดหลักเกณฑ์รูปร่างขึ้นมาเองของอุตสาหกรรมแฟชั่นทำให้พวกเขาผลักให้ตลาดใหญ่ๆ ของพวกเขากลายเป็นชายขอบ วอลเกอร์ยังกล่าวถึงการเคลื่อนไหวของเธออีกว่าก่อนหน้านี้พวกเธอใช้วิธีแบบละมุนละไมและอ่อนโยนเพื่อสร้างความตระหนักรู้ แต่ในตอนนี้เธอต้องการเคลื่อนไหวในแบบที่หนักแน่นขึ้นเพื่อประกาศว่าการกำกับเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงให้มีแต่คนผอมแห้งนั้นควรจะพอได้แล้ว ควรจะหยุดมันได้แล้ว

เรียบเรียงจาก

Two models, one goal: to free women from fashion’s weight tyranny, Alex Clark, The Guardian, 04-09-2016
https://www.theguardian.com/lifeandstyle/2016/sep/04/models-women-weight-london-fashion-week

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท