กกต.ชงกฎหมายพรรคการเมืองให้ กรธ. ย้ำไม่มีเช็ตชีโร่ พรรคเดิมไม่ต้องเริ่มใหม่

สมชัย ศรีสุทธิยากร เปิดเผยว่า กกต. ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองให้ กรธ. แล้ว ยึดหลัก "ตั้งยาก อยู่ยาก ยุบยาก" พรรคการเมืองเดิมสามารถดำเนินการได้ต่อเนื่องไม่มีการเซ็ตซีโร่ ด้าน สนช. เตรียมรับไม้ต่อพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ พร้อมปฏิเสธข่าวให้มหาดไทยคุมเลือกตั้ง

สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (ที่มา: แฟ้มภาพ/เพจสมชัย ศรีสุทธิยากร)

เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ในรายงานของมติชนออนไลน์ สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต. ) แถลงภายหลังการประชุม กกต. ว่า ทาง กกต. ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองให้กับทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เมื่อช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้แล้ว

สำหรับร่างกฎหมายดังกล่าวนั้น สมชัยอ้างว่า นำประสบการณ์เดิมมาปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้พรรคการเมืองในอนาคตและพรรคการเดิมที่เป็นอยู่เกิดความเข้มแข็ง โดยมีหลักการสำคัญคือ "ตั้งยาก อยู่ยาก ยุบยาก" ทั้งนี้ หลักการสำคัญของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีหลักการที่กำหนดขึ้นใหม่ คือ การจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ต้องมีสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 5,000 คน และมีสาขาพรรคอย่างน้อยหนึ่งสาขาในแต่ละภูมิภาค ส่วนพรรคการเมืองเดิมที่มีอยู่ก็ดำเนินการต่อไปได้ตามปกติ ไม่ต้องเซ็ตซีโร่

สมชัย กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน กำหนดให้สาขาพรรคการเมืองมีส่วนร่วมในการพิจารณาและเสนอชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ โดยคำนึงสัดส่วนของชายและหญิง นอกจากนี้ นโยบายหาเสียงของพรรค กกต.กำหนดแนวทางจะต้องมาจากความเห็นที่ประชุมสาขาพรรค โดยต้องมีกรอบ 4 ด้าน คือ ที่มางบประมาณ ระยะเวลาดำเนินการ ความคุ้มค่าและประโยชน์ และความเสี่ยง และต้องส่งให้กกต.ประกาศต่อสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ หากไม่ได้ดำเนินการตามกรอบนี้ กกต.มีอำนาจในการสั่งยุติการใช้นโยบายดังกล่าวหาเสียง และหากไม่ยอมยุติจะมีความผิดทางคดีอาญา ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยให้พรรคการเมืองคิดนโยบายอย่างรอบคอบต่อการนำเสนอมากขึ้น มีการวิเคราะห์รอบด้าน

สมชัย กล่าวอีกว่า ส่วนเหตุของการสิ้นสภาพพรรคการเมือง กำหนดให้การยุบพรรคจะกระทำได้เฉพาะที่มีเหตุร้ายแรง คือ กระทำการล้มล้างหรือกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งถ้ามีการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว พรรคการเมืองใดไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งก็เป็นเหตุให้สิ้นสภาพได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดมาจากการกลั่นกรองของคณะทำงาน ยอมรับว่ายังไม่มีการฟังความเห็นจากพรรคการเมือง เป็นการดำเนินการซีกเดียว ฉะนั้นอยากให้พรรคการเมืองมีส่วนให้ความเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าว โดยให้ส่งหนังสือความเห็นไปยังกรธ.เพื่อให้กรธ.ประมวลความเห็นจากฝ่ายต่างๆ

สมชัย กล่าวอีกว่า ส่วนกฎหมายอื่นๆ กกต.จะมีการพิจารณาในสัปดาห์หน้า โดยในวันที่ 13 กันยายน จะมีการพิจารณา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. วันที่ 20 กันยายน พิจารณา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต. และวันที่ 27 กันยายน พิจารณาพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.ทั้งนี้ เชื่อว่าจะสามารถส่งให้กรธ.ได้ภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ โดยกรธ.สามารถเปลี่ยนแปลงได้หมดทุกเรื่อง แม้กระทั่งเซ็ตซีโร่ ท้ายที่สุดอยู่กรธ. จะไม่เอาเลยตามที่กกต.เสนอก็ได้ เพราะออกกฎหมายโดย กรธ.

ขณะเดียวกันเว็บไซต์วิทยุรัฐสภารายงานว่า สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่หนึ่ง (สนช.) เปิดเผยว่าขณะนี้ สนช. ได้เตรียมความพร้อมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูก โดยให้คณะกรรมาธิการสามัญรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ไปศึกษารายละเอียดตามร่างรัฐธรรมนูญ  โดยให้ศึกษาจากกฎหมายฉบับเดิมที่เคยมีตามรัฐธรรมนูญปี 2550  โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ

จากนั้นจะแบ่งหน้าที่ให้กรรมาธิการสามัญทั้ง 16 คณะของ สนช. ไปศึกษาพิจารณาก่อนที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)  จะเสนอมา เพื่อให้การดำเนินงานเสร็จทันตามกรอบเวลา

พร้อมยืนยัน สนช. จะไม่เสนอความเห็นเกี่ยวกับการร่างกฎหมายลูกไปยัง กรธ. แต่จะรวบรวมความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ไว้ประกอบการพิจารณา เมื่อร่างกฎหมายเข้าสภา   ซึ่ง สนช. มีอำนาจในการแก้ไขตามกระบวนการพิจารณากฎหมายปกติ

สุรชัย ยังได้ตอบคำถามเรื่องการแต่งตั้งสมาชิก สนช.เพิ่มอีก 30 คน ว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและ คสช. ส่วนกระแสข่าวที่ว่าสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) เสนอให้กระทรวงมหาดไทยดูแลจัดการการเลือกตั้งและให้ คสช. ดูแลความเรียบร้อยนั้น  นายสุรชัย  ปฏิเสธที่จะให้ความเห็น  โดยกล่าวเพียงว่า  การดำเนินการทุกอย่างต้องไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ กระแสข่าวดังกล่าวน่าจะเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะ สปท. เสนอให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ช่วยดูแลการเลือกตั้งเท่านั้นไม่ได้ให้รับผิดชอบจัดการเลือกตั้งแต่อย่างใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท