Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



บทความนี้แปลมาจากบทความภาษาอังกฤษชื่อ The Siren Song of “Strong mania” เขียนโดยคุณหมินซิน เป่ย ซึ่งดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ทางด้านรัฐศาสตร์แห่งวิทยาลัยแคร์มอนท์ แม็คเกนนา โดยบทนำและเชิงอรรถเป็นของผู้แปลบทความนี้เอง

Strong mania เป็นคำผสมมาจากคำว่า Strongman กับ mania อันแปลว่า บ้าคลั่ง  สำหรับคำว่า Strongman  ตามบริบททางรัฐศาสตร์ หมายถึง ผู้นำซึ่งปกครองประเทศด้วยรูปแบบเผด็จการผ่านการใช้อำนาจทั้งคุกคามและบังคับประชาชน  หากใช้คำอย่างระวัง เราจึงไม่สามารถใช้คำนี้กับผู้นำที่ปกครองประเทศประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพด้วยความเข้มแข็งหรือ strong อย่างเช่น นางมาร์กาเร็ต แทชเชอร์ ของอังกฤษ หรือ นางอังเกลา เมอร์เคิล ของเยอรมัน (แต่ถ้าจะใช้ก็น่าจะเป็นคำว่า Strong Lady หรือ Iron Lady)  ตัวอย่าง Strongman จึงมักใช้กับผู้นำประเทศโลกที่ 3 ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา อย่างเช่น นายอิสลาม คาริมอฟ อดีตประธานาธิบดีของอุซเบกิสถาน ซึ่งเพิ่งถึงแก่อสัญกรรมไม่กี่วันมานี้ ในเมืองไทยนั้น ได้แก่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เจ้าของวลีที่ว่า “ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” (ยกเว้นเรื่องมรดก) นอกจากนี้คนเขียนบทความผู้หนึ่งของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เคยขนานนามพลเอกเปรม   ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีช่วงระหว่างปี 1980-1988 ว่าเป็น Strongman ซึ่งผู้แปลเห็นว่าต้องระวังในการใช้คำว่า “เผด็จการ” กับคำว่า “นักการเมืองผู้เข้มแข็ง” ให้ดี เพราะพลเอกเปรมนั้นมักหลบเลี่ยงการอภิปรายไม่ไว้วางในจากพรรคฝ่ายค้านโดยการรีบชิงยุบสภาเสียก่อน (ข้อมูลจากอาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ)  ในบทความนี้ผู้แปลขอใช้ศัพท์ว่า“จอมเผด็จการ”

อนึ่งตามสารัตถะของบทความนี้ คำไม่น่าจะเจาะจงเฉพาะนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งตามแบบปกติอันเป็นที่นิยมทั่วโลกซึ่งต่อมาคนเหล่านั้นก็ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นเผด็จการในภายหลังดังเช่นคำว่า Creeping Authoritarianism แต่ยังรวมถึงนักการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเช่นรัฐประหาร นอกจากนี้ อาจมาจากรูปแบบการเลือกตั้งพิเศษ เช่น เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่รัฐอุปถัมภ์ ในขณะที่พรรคคู่แข่งถูกเซ็ตซีโรหรือทำให้อ่อนแอ จนไม่สามารถทำการแข่งขันอย่างเสรีตามแบบประชาธิปไตยได้ รวมไปถึง นักการเมืองที่รอให้กลุ่มพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เสนอชื่อตนให้เป็นนายกรัฐมนตรี จากรัฐธรรมนูญที่เขียนอนุญาตให้คนนอกสามารถเข้ามาดำรงตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองนี้ได้อย่างพลเอกเปรม ดังที่เรากล่าวได้ว่า เป็นผู้อยากเป็นเหมือนพลเอกเปรม (Prem Wannabe)

0000

จอมเผด็จการกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง เมื่อไม่นานมานี้ ประธานาธิบดีรัสเซีย นายวลาดิมีร์ ปูติน เป็นหนึ่งในบรรดาผู้นำไม่กี่คนซึ่งควรคู่กับสมญานี้ ทุกวันนี้ เขามีคู่แข่งเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาก ความนิยมดังกล่าวสามารถพบเห็นได้จากรัฐบาลที่เป็นเผด็จการมาแต่ดั้งเดิม ประธานาธิบดีของจีน นายสี  จิ้นผิง อาจเป็นผู้นำที่ทรงอำนาจมากที่สุดของประเทศ นับตั้งแต่การถึงแก่อสัญกรรมของเหมา เจ๋อตง เมื่อ 4 ทศวรรษก่อน

แต่บางอย่างซึ่งคล้ายคลึงกันสามารถพบเห็นได้ในบรรดาประเทศซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นแบบประชาธิปไตยใหม่ ในตุรกี ประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ผู้นำประเทศเข้าสู่การเป็นเผด็จการ ได้รวบรวมอำนาจไว้อย่างมากมาย อันเป็นผลมาจากการทำรัฐประหารที่ล้มเหลวเมื่อเดือนก่อน นายกรัฐมนตรีฮังการี  วิกเตอร์ ออร์บัน ได้เปลี่ยนเรื่องราวความสำเร็จของประเทศยุคหลังคอมมิวนิสต์ โดยกลับหลังหันไปเป็นประชาธิปไตยเทียม  (illiberalism)  แม้แต่ในฟิลิปปินส์ ซึ่งการปฏิวัติพลังประชาชนสามารถโค่นล้มนายเฟอร์ดินานด์ มาร์คอส ในปี 1986 ชาวฟิลิปปินส์กลับหันมาเลือกประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต นักการเมืองเผด็จการ ซึ่งเน้นลัทธิประชานิยมอย่างเปิดเผย อีกทั้งยังเป็นนักสู้ผู้พร้อมกราดยิงราชาค้ายาเสพติดได้ทุกเมื่อ  

แม้แต่ประเทศประชาธิปไตยซึ่งมีเสถียรภาพที่สุดก็มาติดเชื้อกระแสคลั่งเผด็จการ ในออสเตรีย นายนอร์เบิร์ต โฮเฟอร์ ผู้นำของพรรคฟรีดอม ซึ่งเป็นพวกขวาสุดโต่ง มีแนวโน้มที่จะได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในเดือนตุลาคม และในสหรัฐอเมริกา นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้อาศัยประโยชน์จากความคับข้องใจ และอคติของคนอเมริกัน โชคดีที่โอกาสของเขาในการจะเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ดูแผ่วลงเรื่อยๆ

การต้อนรับบรรดาผู้นำซึ่งสัญญาว่ามีเพียงพวกเขาซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาสังคมและสามารถรื้อฟื้นอดีตอันแสนยิ่งใหญ่ ได้สะท้อนถึงความโง่เขลาอันมีอย่างดาษดื่นของธรรมชาติและผลลัพธ์ของการปกครองแบบประชานิยม ตามความจริง ประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้มีเมตตาต่อนักปกครองแบบนั้นมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เช่นเดียวกับผู้นำในยุคนี้ ผู้นำในอดีตมักก้าวเข้าสู่อำนาจโดยอาศัยกระแสความโกรธแค้นของประชาชนต่อความล้มเหลวของประชาธิปไตย ความล้มเหลวซึ่งพวกเขาไม่ได้มีความตั้งใจจะแก้ไข ในทางกลับกัน เมื่ออยู่ในตำแหน่ง พวกเขามักหันมาใช้วาระอันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงซึ่งมักจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิมมาก

เราไม่ต้องมองไกลไปกว่าเวเนซุเอลา ซึ่งความล่มจมทางเศรษฐกิจในปัจจุบันสามารถสืบหาสาเหตุได้จากการปกครองที่แฝงด้วยหายนะของนักประชานิยมตัวพ่ออย่างฮูโก ชาเวซ ประชาชนต่างรักโครงการสวัสดิการสังคมของชาเวซ โดยดูเหมือนจะไม่ตระหนักว่าพวกมันอิงอยู่บนรายได้จากน้ำมันและหนี้สินต่างประเทศ  ตราบใดที่ผลประโยชน์ไหลมาเทมา ชาเวซก็สามารถปล้นสะดมภาคอุตสาหกรรมและทำให้การแข่งขันโดยเสรีชะลอตัวลง จึงไม่น่าประหลาดใจนักที่ว่าการสร้างความหลากหลายของแหล่งรายได้ประเทศจะหยุดชะงัก และเมื่อราคาน้ำมันดิ่งลงเหว เศรษฐกิจก็เช่นเดียวกัน

สิ่งนี้ได้เน้นย้ำสาเหตุสำคัญว่าเหตุใดจอมเผด็จการมักนำประเทศของพวกตนไปสู่ความหายนะ ภายหลังจากสามารถชนะใจประชาชนจากท่าทีอันเด็ดขาดและความตรงไปตรงมา ผู้นำเช่นนั้นสามารถรวบรวมอำนาจได้เพียงพอในการตัดสินใจอย่างรวดเร็วและสะท้อนถึงผลลัพธ์ซึ่งได้ผลในระยะสั้น[1] อันส่งผลให้ประชาชนมอบความนิยมในขณะพวกเขาสามารถรวบอำนาจได้มากขึ้นเรื่อยๆ  แต่ความเด็ดขาดเช่นนี้ก่อให้เกิดผลเสียที่ตามอย่างมหาศาล โดยการที่ไม่มีใครตรวจสอบความประพฤติของพวกเขา จอมเผด็จการแทบจะไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหายในระยะยาวเลย ในตอนท้าย ความเจริญรุ่งเรืองของประเทศตามคำสัญญาของพวกเขาจะไม่เคยเกิดขึ้น หรืออย่างน้อยไม่ได้ยั่งยืน  ในทางกลับกัน เศรษฐกิจมักล่มสลายในตอนท้ายเสมอ[2]

และนั่นก็ยังไม่ใช่เรื่องเลวร้ายที่สุด ผู้ลงคะแนนเสียงมักยอมแลกเสรีภาพกับความรุ่งเรืองตามสัญญา ดังรัสเซียในยุคของปูติน ปูตินสัญญาถึงเสถียรภาพกับความเป็นระเบียบทางสังคมแล้วรวบรวมอำนาจโดยการเล่นงานศัตรูทางการเมือง พวกเสรีนิยม พวกคณาธิปไตยโดยถ้วนหน้ากัน   และเขาก็เริ่มต้นทำลายอย่างเป็นระบบต่อสถาบันทางประชาธิปไตยของรัสเซีย  เข้าครอบงำสื่อมวลชนและลดทอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนรวมไปถึงเสรีภาพของการชุมนุมทางการเมือง เมื่อไม่ถึงทศวรรษที่ผ่านมา เขาก่อตั้งรัฐบาลเผด็จการแบบทรราชย์บนซากของประชาธิปไตยใหม่[3] และในเวเนซุเอลา การที่ประเทศปราศจากการสร้างรูปแบบทันสมัยของเศรษฐกิจและการสร้างความหลากหลายของรายได้กลับผูกชะตากรรมของเศรษฐกิจกับตลาดน้ำมัน

ความสามารถในการวิจารณ์รัฐบาลอย่างเสรีนั้นเป็นความแตกต่างระหว่างหลักประชาธิปไตยและเผด็จการ ดังนั้นใครกันเล่าจะเชื่อได้ว่าผู้นำซึ่งลดทอนเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกทางการเมืองจะสามารถกอบกู้ประชาธิปไตยอันมีตำหนิได้  ในความเป็นจริง การผสมผสานเสรีภาพในการแสดงออกและการเลือกตั้งเป็นกุญแจหลักในการจรรโลงประชาธิปไตยเพราะมันสามารถทำให้ความล้มเลวในเชิงระบบนอกจากความผิดพลาดของตัวผู้นำเองได้รับการพิจารณาตรวจสอบจากสาธารณชน

รัฐบาลเผด็จการของจีนนั้นลือชื่อในการหลีกเลี่ยงการพิจารณาตรวจสอบดังกล่าวโดยการกดขี่เสรีภาพในการเปิดเผยข่าวสารข้อมูล หลายๆ รูปแบบของการเซ็นเซอร์ภายในระบบอินเทอร์เน็ตตั้งแต่การปิดกั้นบทความในวิกิพีเดียซึ่งมีความอ่อนไหวทางการเมือง จนไปถึงการกรองคำสำคัญออกจากโปรแกรมค้นหาทางออนไลน์ เช่นเดียวกับระบบเกรตไฟร์วอลล์[4]  ไฟร์วอลล์เช่นเดียวกับการเซ็นเซอร์สื่อมวลชนได้ทำให้ผู้นำจีนสามารถซ่อนเร้นความล้มเหลวและเน้นย้ำความสำเร็จของพวกเขาถึงแม้ว่ามันจะดูน่าสงสัยก็ตาม

ปูตินก็มีพฤติกรรมเช่นเดียวกัน โดยใช้สื่อในการเน้นย้ำว่าการผนวกไครเมียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียได้ทำให้ปรปักษ์ซึ่งเป็นตะวันตกตระหนักถึง “ความยิ่งใหญ่” ของรัสเซียอย่างไร นายออร์บันและนายแอร์โดอันดูเหมือนจะนำกลยุทธ์มาจากตำราเล่มเดียวกัน  นอกจากนี้ รัสเซียก็เหมือนกับจีนที่ได้จัดงานยิ่งใหญ่ดังการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ในความพยายามจะอวดถึงความยิ่งใหญ่และความดีงามของบรรดาผู้นำ การนำเสนอข่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวเข้ามาเบียดบังในการนำเสนอข่าวของสื่อซึ่งควรจะเป็นการถกเถียงประเด็นการบริหารประเทศที่สำคัญ[5]

ถ้านั่นไม่เพียงพอที่จะชักจูงประชาชนให้ตระหนักถึงอันตรายจากผู้นำเผด็จการที่เน้นนโยบายประชานิยม  เราก็อาจจะคำนึงถึงเหยื่อจากการปกครองของเขา บางทีผู้สื่อข่าวจำนวนมากซึ่งถูกจับกุมในตุรกีตั้งแต่การทำรัฐประหารซึ่งล้มเหลวหรือครอบครัวของศัตรูทางการเมืองของปูตินจำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิตไปแล้วอาจจะสามารถนำเสนอภาพอันชัดเจนถึงความเลวร้ายของการมีชีวิตอยู่ภายใต้ความกลัวต่อรัฐบาล  

ความนิยมของจอมเผด็จการซึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในหลายส่วนของโลกอาจจะหรืออาจจะไม่นำไปสู่ยุครุ่งอรุณของยุคเผด็จการใหม่ จอมเผด็จการมีแนวโน้มที่จะเป็นพวกทำลายตัวเองอันเนื่องมาจากความผิดพลาดอย่างมหันต์ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายของความทะเยอทะยานอันเกินจริงของพวกเขา  โชคร้ายที่พวกเขาดูเหมือนจะทิ้งประชาธิปไตยอันยับเยินและเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ไว้เมื่อตนได้ตาสว่างขึ้นมา

ท้ายที่สุดนี้ การป้องกันที่ดีที่สุดต่อผลลัพธ์เช่นนั้นคือการสกัดกั้นไม่ให้ผู้นำเผด็จการที่เน้นนโยบายประชานิยมได้รับเลือกตั้ง (หรือการยึดอำนาจ –ผู้แปล) เป็นอันดับแรก เพราะประเทศซึ่งเลือกตั้ง (หรือยอมรับ-ผู้แปล) ผู้นำเช่นนั้นจะเป็นแบบอย่างแก่ประเทศอื่นๆ ซึ่งมีท่าทีจะก้าวตามเส้นทางเดียวกัน

0000

 

เชิงอรรถ

[1] เหตุการณ์นี้ทำให้ผู้แปลนึกถึงกรณีการฆ่าตัดตอนพ่อค้ายาเสพติดของนายดูเตอร์เตซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 2,400 ศพ ในปัจจุบัน สิ่งนี้ทำให้คนฟิลิปปินส์ชื่นชอบประธานาธิบดีมากกว่าเดิมโดยไม่สนใจว่าผู้เสียชีวิตอาจเป็นคนบริสุทธิ์หรือไม่ได้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเลยก็ได้ สิ่งที่สูญเสียในระยะยาวก็คือระบบยุติธรรม ในอนาคต ฟิลิปปินส์จะก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศบ้านป่าเมืองเถื่อน

[2] ผู้เขียนอาจจะลืมผู้นำบางคนอย่างเช่นนายลี กวน ยูของสิงคโปร์ ซึ่งนำประเทศไปสู่ความสำเร็จอย่างสูง กระนั้นก็ยังสามารถมีคำถามตามมาได้ว่าก่อนหน้ายุคนายลี สิงคโปร์ก็มีความเจริญตั้งแต่ยุคอาณานิคมของอังกฤษมาแล้วในระดับหนึ่งหรือไม่ หรือว่าถ้าสิงคโปร์ถูกปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมมาตั้งแต่ปี 1965 จะสามารถเจริญได้เท่านายลีหรือไม่ เช่นเดียวกับประเทศจีนซึ่งผู้แปลคิดว่าเป็นจุดอ่อนของบทความนี้ที่ถึงแม้นายสี จิ้นผิงดูเหมือนเป็นผู้นำอันโดดเด่นเหมือนนายปูตินหรือนายแอร์โดอัน แต่จีนยังมีระบอบพรรคการเมืองที่เข้มแข็งและเป็นระบบมากกว่าจะอิงกับตัวบุคคล อันแตกต่างจากพรรคยูไนเต็ดรัสเซียอิงอยู่กับนายปูตินเป็นหลักหรือพรรคยุติธรรมและการพัฒนาที่นายแอร์โดอันเป็นหัวเรือใหญ่  ส่วนเศรษฐกิจจีนซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกจะพบกับหายนะหรือภาวะฟองสบู่แตกหรือไม่ก็ต้องพิจารณาในระยะยาว

[3] ตามความจริงประโยคนี้ของผู้เขียนสามารถนำไปสู่ข้อโต้แย้งได้ว่าการเมืองในยุคของประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซินเมื่อทศวรรษที่ 90 เองก็ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเท่าไรนัก อาจกล่าวได้ว่าการเมืองยุคของปูตินเป็นเผด็จการที่เพิ่มความเข้มข้นกว่าในยุคของเยลต์ซิน

[4] หมายถึงการตรวจพิจารณาการใช้งานอินเทอร์เน็ตของพลเมืองโดยรัฐบาลจีนได้ตรากฎหมายกำหนดให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมีหน้าที่ตรวจพิจารณาและสกัดกั้นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารภายในประเทศ (อ้างจากวิกิพีเดียไทย)

[5] กระนั้นในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมากๆ  สื่อมวลชนต่างก็มีลักษณะเช่นนี้ไม่แพ้กัน แต่สาเหตุไม่ใช่เพราะถูกบังคับจากรัฐบาล หากแต่เป็นการเป็นคำนึงถึงจำนวนผู้ชมและรายได้จากโฆษณา ด้วยธรรมชาติของทุกประเทศที่ประชาชนมักชอบดูรายการเนื้อหาง่ายๆ ที่น่าตื่นตาตื่นใจ มากกว่ารายการที่เน้นวิชาการพร้อมเนื้อหาหนักหัวและผู้นำของประเทศเหล่านั้นก็พร้อมจะใช้ประโยชน์จากรายการเหล่านั้นดังเช่นกีฬาฟุตบอลที่ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนจากความล้มเหลวของรัฐบาลอย่างเช่นอาเจนตินาและบราซิลมาหลายยุคหลายสมัยในยุคหลังเผด็จการทหาร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net