Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

อาการที่บ่งบอกว่าอาจไปไม่รอด ของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์หรือสื่อกระดาษไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศใดประเทศหนึ่งในโลกใบนี้เท่านั้น แต่อาการร่วงโรยของสื่อสิ่งพิมพ์กำลังเกิดขึ้นในอเมริกาอย่างต่อเนื่อง

นับแต่หนังสือพิมพ์เดอะโกลบ หรือ บอสตันโกลฺบ (The Boston Globe) สื่อยักษ์ใหญ่ในแถบฝั่งตะวันออก โดนบริษัท The New York Times  เข้าครอบครองกิจการเมื่อปี 1993 และสองปีต่อจากนั้นจึงเกิด Boston.com ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ออนไลน์ขึ้น และเป็นที่รู้หรือคาดกันนับแต่นั้นว่า trend หรือแนวโน้มของกิจการหนังสือพิมพ์ที่เป็นสื่อกระดาษจะเป็นอย่างไรในอนาคต

สถานการณ์ของสื่อสิ่งพิมพ์ในอเมริกาคือลางบอกเหตุ เพราะหลังจากนั้นทั้งสื่อสิงพิมพ์ในอเมริกา สื่อฝั่งยุโรป และฝั่งเอเชีย กิจการก็เริ่มทยอยมีปัญหาเกิดขึ้น แม้สื่อเหล่านี้จะผันตัวเองลงสู่การทำสื่อภาคออนไลน์ขนานกันไปก็ตาม ทั้งหมดไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นจากสถานการณ์การแข่งขันที่อยู่ในขั้นรุนแรงทั้งจากสื่อออนไลน์และสื่อโทรทัศน์

นอกเหนือไปจากการปรับตัวของบุคคลที่ทำงานด้านสื่อหรือสื่อมวลชนที่จำเป็นต้องรอบจัดมากขึ้น กล่าวคือนอกจากสื่อมวลชนต้องมีความรู้ในเรื่องงานข่าวหรืองานข้อมูลแล้ว ยังจำเป็นต้องรู้ในเรื่องเทคนิคหรือโนว์ฮาวเชิงเทคโนโลยีในด้านการสื่อสารควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะช่องทางการสื่อสารผ่านระบบออนไลน์

นี้ยังไม่รวมถึงกระบวนการการทำงานของสื่อสารมวลชนที่เปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันกลับ ซึ่งสื่อมวลชนอเมริกันได้ทยอยปรับตัวมานับแต่ทศวรรษที่เก้าสิบหรือก่อนปี 2000 เสียด้วยซ้ำ

เพื่อนอเมริกันที่ทำงานเป็นนักข่าว ณ ลอสแองเจลิสไทม์ เล่าให้ฟังว่า กรอบการทำงานของเขาที่บริษัทกำหนดให้ทำนั้น ละเอียดและรัดกุม มีความยุบยิบมากขึ้น เขาไม่เพียงแต่เป็นผู้รายงานข่าวหรือเหตุการณ์หรือข่าวสารทั่วไปเท่านั้น หากยังต้องเขียนบทความหรือบทวิเคราะห์ข่าว ส่งสำนักงานแอล.เอ.ไทม์ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งอีกด้วย นับเป็นการบ้าน “ภาคบังคับ” ที่นักข่าวทุกคนต้องทำ 

ไม่นับรวมถึงการให้ความเห็น (comments)เกี่ยวกับเหตุการณ์ข่าวที่เกิดขึ้น ต่อสื่อแขนงอื่นๆ ในเครือของแอล.เอ.ไทมส์ ซึ่งนับเป็นการบ้านหรือโจทย์ที่หนักโขสำหรับเขา

พื้นที่แอล.เอ.นั้นนับว่าเป็นพื้นที่การแข่งขันของสื่อมวลชนที่ดุเดือดมากที่สุดพื้นที่หนึ่งในสหรัฐอเมริกา เพราะมีสื่อมวลชนจำนวนมากหลายแขนงสุมอยู่ที่นั่น รวมทั้งสื่อโทรทัศน์จำนวนมากด้วย ซึ่งนอกเหนือไปจากมีสื่อหลักภาคภาษาอังกฤษแล้ว ยังมีสื่อของชนกลุ่มน้อย (minority groups) เป็นจำนวนมากอีกด้วย เช่น สื่อภาษาสเปน ภาษาจีน ภาษาเวียดนาม ตากาล็อก ฯลฯ หรือแม้กระทั่งสื่อภาษาไทย เบ็ดเสร็จแล้วผมประมาณเอาว่า ไม่น่าจะต่ำกว่า 20 ภาษา

ครับด้วยเหตุนี้ จึงมีคนกล่าวแบบเย้ยหยันว่า คนไทยในอเมริกาทางแถบแอล.เอ. (อาจ)มีความสามารถด้านภาษาไทยมากกว่าคนไทยที่เมืองไทย ก็เพราะมีสื่อภาษาไทยให้เลือกอ่านมากกว่าผู้คนในเมืองไทยนี่เอง

แต่ก็อย่างที่ทราบกันและเป็นสื่อไปตาม trend ของโลกครับว่า เมื่อสื่อกระดาษกำลังจะหมดไป สื่อออนไลน์ก็เข้ามามีอิทธิพลแทนที่ โดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งในกระบวนการนิเทศศาสตร์คือสื่อสองทาง (two way communication) เพราะสามารถตอบโต้ไปมาได้ในขณะนั้น เป็นสื่อที่ไวที่สุดและเข้าถึงผู้รับอย่างจำเพาะเจาะจงได้

ดังนั้น พัฒนาการของสื่อออนไลน์ที่เป็นสื่อมวลชน ก็คือ การนำเสนอข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย กล่าวคือ ต้องเสิร์ฟให้ถึงตัวผู้รับสารแบบเจาะจงกลุ่มผู้รับนั่นเอง ซึ่งในปัจจุบันสื่ออเมริกันเป็นหัวขบวนนำสื่อมวลชนทั่วโลกเข้าสู่ระบบหรือวัฒนธรรมการเสนอข่าวสารเหตุการณ์ต่างๆ แบบที่ว่านี้

นอกจากนี้โลกออนไลน์ ยังทำให้การนำเสนอของสื่อมวลชนกลายเป็นการเสนอแบบผสมสาน ใส่ทุกอย่างลงในเข่งเดียวกัน คือ นำเสนอในแง่ของภาษาเขียน ภาษาพูดและภาพ (ภาพและเสียง) แบบเดียวกับโทรทัศน์ คือ ทั้งอ่านทั้งรับชม  ดังกรณีของยูทูปเป็นตัวอย่าง

ปัญหาสำคัญคือ ธุรกิจสื่อมวลชนมีต้นทุน เช่น ค่าจ้างบุคลากรด้านการข่าว ค่าอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีการสื่อสารมวลชนต่างๆ

แต่เมื่อนำเสนอลงสู่สื่อออนไลน์ กลับเป็นการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร “แบบให้ฟรี”

กล่าวคือ ผู้รับสารไม่ต้องจ่ายเงินซื้อเหมือนซื้อหนังสือพิมพ์ตามแผงหนังสือ ซึ่งนี่ก็เป็นปัญหาที่หนักข้อมากขึ้นของสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ไม่รู้จะหาทางออกในเชิงธุรกิจอย่างไร เพื่อให้ธุรกิจของตนเองอยู่รอดปลอดภัยได้ ขณะที่ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกยังดำรงอยู่ต่อไปท่ามกลางความขาดทุนของสื่อสิ่งพิมพ์ (กระดาษ) ที่กำลังจะตกยุค

เพราะแม้แต่สื่อสิ่งพิมพ์ที่ผูกขาดในแต่ละเมืองสำคัญๆ เช่น แอล.เอ.ไทมส์ หรือลาสเวกัส รีวิว เจอร์นัล ก็แทบเอาตัวไม่รอด ดังนั้น เรื่องที่จะช่วยให้สื่อเหล่านี้อยู่รอดได้ในขณะนี้ ก็คือ การนำเสนออย่างฉับไวและความมีเนื้อหาที่ลุ่มลึก ซึ่งก็ต้องกลับไปหาที่คุณภาพของบุคลากรด้านการข่าวหรือการข้อมูล และในการกระทำดังกล่าว มากครั้งที่ “สื่อมีหัว”หรือสื่อกระแสหลักกลายเป็นผู้มีหน้าที่ “ยืนยัน (confirm) และขยายผล” ข่าวสารข้อมูลที่มาจากโซเชียลมีเดียที่นำเสนอเร็วกว่า เพียงแต่ข้อมูลจากโซเชียลมีเดียยังเป็นข้อมูลดิบอยู่เท่านั้น

ไม่แปลกที่บุคลากรด้านการข่าวต้องทำหน้าที่รอบจัดมากขึ้น อ่านมากขึ้น ใช้ความคิดวิเคราะห์มากขึ้น เป็นเพียงผู้คอยรายงานข่าวและข้อมูลต่างๆแบบดิบๆ เหมือนเมื่อก่อนได้อีกต่อไป

และก็ไม่แปลกที่ในสหรัฐอเมริกามีนักข่าวจำนวนมาก นักข่าวเหล่านี้กลายเป็นนักวิเคราะห์ประจำในรายการข่าวของสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ในแต่ละท้องถิ่น(เมือง) สื่อมวลชนอเมริกันถือว่า นักข่าวหรือสื่อมวลชนอยู่กับสถานการณ์หรือเหตุการณ์และควรมีความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ทั้งมีเสรีภาพที่จะพูดตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ

สื่อมวลชนแขนงโทรทัศน์จำนวนไม่น้อยผันตัวมาจากสื่อมวลชนแขนงสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งนับเป็นการเคลื่อนย้ายแรงงานในวงการสื่อมวลชนครั้งสำคัญ จนกระทั่ง trend ดังกล่าว เกิดขึ้นในวงการสื่อทั่วโลก

ขณะเดียวกันสื่อโทรทัศน์ในอเมริกานั้น ยอมรับและให้ความสำคัญกับสื่อมวลชนเทียบเท่านักวิชาการ โดยแต่ละสถานีได้ “ว่าจ้าง” ทั้งสื่อมวลชนและนักวิชาการไว้ประจำช่อง เพื่อวิเคราะห์ข่าวในสถานการณ์ต่างๆ เป็นการจ้างประจำแบบพนักงาน ไม่ใช่แบบ Extra Board หรือจ้างชั่วคราว

กล่าวคือ มิได้จัดพวกให้ความเห็น (commentators) ไว้ในฐานะ “แขกรับเชิญ” เหมือนวัฒนธรรมสื่อมวลชนในบางประเทศนิยมกระทำกัน

อย่างไรเสีย สถานการณ์ของสื่อมวลชนในอเมริกาก็เลี่ยงกฎของความเปลี่ยนแปลงผันแปรไม่พ้น

หนังสือพิมพ์อีกหลายๆ ฉบับคงจะประกาศปิดตัวหรือไม่ก็ควบกิจการกับสื่อแขนงอื่นๆ กันมากขึ้นนับแต่นี้ไป...

0000

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net