Skip to main content
sharethis
รองปลัดกรุงเทพฯ เผยพบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อไวรัสซิกาในพื้นที่สาทร และผู้ติดเชื้ออีก 20 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างเฝ้าระวังและควบคุมโรค เป็นระยะเวลา 30 วัน ยืนยันยังไม่พบการเสียชีวิต ด้านกรมควบคุมโรค เผยช่วงหน้าฝน 4 เดือนค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในชุมชนเพิ่มเกือบ 3 เท่า ขอประชาชนร่วมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
 
10 ก.ย. 2559 ThaiPBS รายงานว่า พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่าพบหญิงตั้งครรภ์เป็นผู้ป่วย ซึ่งได้รับการตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะ ยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสซิกาในพื้นที่เขตสาทร กทม. ขณะตั้งครรภ์ได้ 37 สัปดาห์ แต่ขณะนี้คลอดลูกแล้ว พบว่าทั้งแม่และเด็กปลอดภัย โดยคาดว่าได้รับเชื้อจากสามี ที่มีประวัติเดินทางกลับจากประเทศสิงคโปร์
 
จากการสอบสวนโรคบุคคลใกล้ชิด พบผู้ป่วยกับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ อีกจำนวน 20 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคของสำนักอนามัย และสำนักงานเขตอย่างเคร่งครัด ประมาณ 30 วัน หรือ 2 เท่าของระยะฟักตัว โดยขอความร่วมมืองดเดินทางออกนอกบ้านในระยะนี้
 
พญ.วันทนีย์กล่าว่า กทม.ยังเฝ้าระวังหญิงตั้งครรภ์อีก 1 คน ซึ่งขณะนี้มีอายุครรภ์ประมาณ 7 เดือน เนื่องจากมีประวัติเป็นไข้ มีผื่น ปวดข้อ และตาแดง
 
อย่างไรก็ตามยืนยันว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่พบผู้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ขอความร่วมมือประชาชนอย่าตื่นตระหนก และควรกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายภายในบ้านเรือน เพื่อป้องกันตัวเอง
 
สนามบินอุบลตั้งเครื่องจับอุณหภูมิ เข้มป่วยไข้ซิกา
 
ด้าน TNN รายงานวันเดียวกัน (10 ก.ย.) ว่านายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานป้องกันควบคุมโรค และท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานี เปิดจุดคัดกรองโรคไวรัสซิกา ที่บริเวณจุดรับผู้โดยสารขาเข้า ท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานี 
 
ทั้งนี้ เนื่องจากในประเทศไทยมีแนวโน้มของการแพร่ระบาดของโรคไวรัสซิกาในหลายจังหวัด แม้ว่าจังหวัดอุบลราชธานียังไม่มีรายงานผู้ป่วย แต่ได้ดำเนินมาตรการป้องกัน โดยการติดตั้งเครื่องเทอร์โมสแกน หรือ กล้องตรวจจับอุณหภูมิ เพื่อคัดกรองผู้โดยสาร หากพบอุณหภูมิสูงผิดปกติ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง มีอาการเข้าข่ายต้องสงสัย จะกักตัวไว้เพื่อสอบถามประวัติตามระบบคัดกรอง ให้คำแนะนำ และดำเนินตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข
 
สำหรับโรคไวรัสซิกา มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส โดยมียุงลายเป็นพาหะ จึงควรที่จะกำจัดยุงและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยอาการของโรค ได้แก่ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ ข้อบวม ปวดหลัง และอาจมีอาการอื่นได้ เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต และ อุจจาระร่วง ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง อาการเหล่านี้ทุเลาลงภายใน 2-7 วัน แต่หากหญิงมีครรภ์ติดเชื้อหรือมีอาการดังกล่าวข้างต้น ให้รีบพบแพทย์โดยเร็ว เพราะหากติดเชื้ออาจส่งผลต่อทารกที่อยู่ในครรภ์ ทำให้เกิดภาวะสมองเล็กได้
 
กรมควบคุมโรค เผยช่วงหน้าฝน 4 เดือนค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในชุมชนเพิ่มเกือบ 3 เท่า
 
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2559 ที่ผ่านมา เว็บไซต์สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่านายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค (EOC) ว่าในช่วงหน้าฝนปีนี้ ฝนตกบ่อยครั้งจนเกือบทุกวัน ทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะและแหล่งน้ำต่างๆ และยุงก็เพิ่มจำนวนขึ้นตามไปด้วย ซึ่งช่วงหน้าฝนนี้ก็เป็นฤดูระบาดสูงสุดของโรคที่มียุงลายเป็นพาหะด้วย โดยเฉพาะ 3 โรคสำคัญ คือ ไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–6 กันยายน 2559 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้ว 38,031 ราย เสียชีวิต 31 ราย และพบว่าพื้นที่ที่มีผู้ป่วยหนาแน่น คือ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น ช่วงหน้าฝนทำให้จำนวนยุงเพิ่มมากขึ้น การป้องกันไม่ให้ยุงกัดของประชาชนน้อยลง กิจกรรมกำจัดลูกน้ำยุงลายไม่ต่อเนื่อง เป็นต้น ทำให้ทั้งสองภาคดังกล่าวมีจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกมากขึ้น และมีผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในบางพื้นที่
 
นอกจากนี้ ช่วงหน้าฝนปีนี้ ยังพบว่าจากการสำรวจค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายมีค่าเพิ่มสูงขึ้น เฉพาะในชุมชนและบ้านพักบางแห่งสูงขึ้นจากช่วงต้นฤดูฝนอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเปรียบเทียบระหว่างเดือนพฤษภาคมและเดือนสิงหาคม ดังนี้ ค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในชุมชนจาก 9.84 เป็น 24.49 และบ้านพักบางแห่งจาก 0.32 เป็น 5.72 ซึ่งค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายที่เพิ่มขึ้นนี้ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นสถานที่ที่เป็นแหล่งเพาะพัน์ลูกน้ำยุงลายและอาจทำให้มีจำนวนผู้ป่วยจากโรคที่มียุงลายเป็นพาหะเพิ่มขึ้นตามมาเช่นกัน 
 
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือประชาชนในการควบคุมยุงลายในบ้านของท่านเองอย่างสม่ำเสมอ โดยดำเนินตามมาตรการ 3 เก็บ 5 ส. “เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ” และกิจกรรม 5 ส. เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ ไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โดยร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นทุกวันศุกร์ โดยเริ่มวันนี้เป็นแรกจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2559 รวมถึงการป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด โดยใช้ยาทากันยุง นอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด และสวมเสื้อผ้าเนื้อหนาสีอ่อนๆ ปกคลุมผิวหนังและร่างกาย
 
ส่วนคำแนะนำสำหรับหญิงตั้งครรภ์ แยกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ 1.หญิงตั้งครรภ์ทั่วไป ที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ให้ป้องกันตนเองไม่ให้ยุงลายกัด โดยใช้ยาทากันยุงที่ทำจากสมุนไพร นอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด ควรไปฝากครรภ์ที่สถานบริการสาธารณสุข หากมีมีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ หรือมีอาการผิดปกติให้รีบไปแพทย์ และงดเดินทางไปในพื้นที่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา 2.หญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โดยให้ป้องกันตนเองไม่ให้ยุงลายกัด โดยใช้ยาทากันยุงที่ทำจากสมุนไพร นอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด ให้ฝากครรภ์ที่สถานบริการสาธารณสุข และเข้าไปปรึกษาแพทย์โดยไม่ต้องรอให้ป่วยก่อน งดเดินทางไปในพื้นที่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หรืองดมีเพศสัมพันธ์ระหว่างท้อง หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net