Skip to main content
sharethis
'สวนดุสิตโพลล์' เผย ปชช. 77.59% ชอบรัฐบาลทหาร 70.41% ชอบรัฐบาลทักษิณ 'กรุงเทพโพลล์' เผย ปชช. 26.6% หนุน 'ประยุทธ์' เป็นนายกคนต่อไปตามด้วย 'ยิ่งลักษณ์-อภิสิทธิ์' ด้าน 'ซุปเปอร์โพลล์' เสนอให้กลับไปตกลงเรื่องคำถามพ่วงก่อนกลับให้ประชาชนเลือก 'นิด้าโพลล์' ชี้ ปชช.ค้านแนวคิด ทำยาเสพติดถูกกฎหมายหวั่นคนเสพเพิ่ม 
 
 
11 ก.ย. 2559 ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่าสวนดุสิตโพลล์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ 1,254 คน ต่อรัฐบาลไทย โดยถามถึง 5 อันดับข่าวการเมือง ที่ประชาชนสนใจพบว่า 83.57% การใช้มาตรา 44 ปราบปรามทุจริตข้าราชการและนักการเมือง เพราะเป็นการใช้อำนาจพิเศษเพื่อแก้ปัญหาที่สำคัญของบ้านเมือง มีความเด็ดขาด แก้ปัญหาได้รวดเร็ว ฯลฯ 74.64% ร่างรัฐธรรมนูญ การจัดตั้งพรรคการเมือง เพราะอยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ จะได้รู้ทิศทางของการเมืองไทย ฯลฯ 68.42% สถานการณ์ภาคใต้ เกิดเหตุระเบิดในหลายพื้นที่ เพราะเป็นปัญหาที่มีมานาน รู้สึกเป็นห่วงและกังวล ไม่อยากให้มีการสูญเสียเกิดขึ้น อยากให้ภาคใต้สงบสุข ฯลฯ 67.54% ภารกิจ และการบริหารงานของนายกรัฐมนตรี เพราะต้องการติดตามข่าวสารบ้านเมือง การทำงาน และผลงานของนายกฯ ชื่นชอบเป็นการส่วนตัว ฯลฯ และ 55.66% การใช้งบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่าง ๆ เพราะที่ผ่านมามักมีการทุจริตไม่โปร่งใสเกิดขึ้น แต่ละโครงการต้องลงทุนจำนวนมาก อยากให้ใช้อย่างคุ้มค่า ฯลฯ
       
เมื่อเปรียบเทียบระหว่างรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ รัฐบาลที่มีนักการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรี ประชาชนคิดว่ามีสิ่งใดที่ดีขึ้น 78.47% การปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน 72.65% ทำงานเด็ดขาด จริงจัง บ้านเมืองเป็นระเบียบ ไม่มีการชุมนุม และ 61.48% การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม เมื่อถามถึงสิ่งที่แย่ลง 76.24% ปัญหาเศรษฐกิจ ราคาพืชผลการเกษตร 66.59% สถานการณ์ภาคใต้ ระเบิด การก่อการร้าย และ 56.70% ความขัดแย้ง ถูกควบคุมสิทธิเสรีภาพ เมื่อถามถึง สิ่งที่เหมือนเดิม 80.90% ค่าครองชีพแพง ความเป็นอยู่ลำบาก 79.67% ยังมีความขัดแย้ง ทะเลาะเบาะแว้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย และ 60.77% ปัญหาอาชญากรรม คุณธรรมจริยธรรมลดลง
       
เมื่อถามถึง 5 อันดับรัฐบาลไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่ประชาชนชื่นชอบ 77.59% รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เพราะเป็นรัฐบาลทหาร มีความเด็ดขาด จริงจัง มีแผนการทำงานเป็นระยะชัดเจน แก้ปัญหาการทุจริตได้ดี ฯลฯ 70.41% รัฐบาลทักษิณ เพราะเศรษฐกิจดี ต่างชาติให้การยอมรับ ประชาชนได้รับความช่วยเหลือ เน้นนโยบายเพื่อประชาชน ฯลฯ 63.16% รัฐบาลอภิสิทธิ์ เพราะมีการปฏิรูปการศึกษา มีนโยบายสนับสนุนส่งเสริมการศึกษา นโยบายในการพัฒนาประเทศดี ฯลฯ 59.17% รัฐบาลชวน เพราะประเทศมีความก้าวหน้า บ้านเมืองสงบสุข มีความสามัคคีปรองดอง ผู้นำมีความซื่อสัตย์ สุภาพ ฯลฯ และ 54.39% รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพราะ เน้นช่วยเหลือเกษตรกร และคนจน งบประมาณทั่วถึง ขึ้นเงินเดือน มีนโยบายที่เน้นทำเพื่อประชาชน ฯลฯ
 
'กรุงเทพโพลล์' เผย ปชช. 26.6% หนุน 'ประยุทธ์' เป็นนายกคนต่อไป
 
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่ากรุงเทพโพลล์ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยถึงผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “คะแนนนิยมพรรคการเมืองไทย หลังผ่าน 1 เดือน การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ” จากประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 1,156 คน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 59.9 เห็นว่าการใช้ประชานิยมหาเสียงของพรรคการเมืองแบบที่ผ่านมาในอดีต ไม่เหมาะสมเพราะมีแค่กลุ่มคนบางกลุ่มได้รับผลประโยชน์จากประชานิยมนั้น ขณะที่ร้อยละ 32.4 เห็นว่าเหมาะสม เพราะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น ส่วนที่เหลือร้อยละ 7.7 ไม่แน่ใจ 
 
โดยเมื่อถามว่าอยากให้มีการใช้ประชานิยมหาเสียงอยู่อีกหรือไม่ในอนาคต ส่วนใหญ่ร้อยละ 64.2 อยากให้มี แต่การใช้ประชานิยมหาเสียงควรใช้อย่างสร้างสรรค์ โดยในจำนวนนี้อยากให้ใช้ประชานิยมตอบสนองด้านเศรษฐกิจแก้ปัญหาของแพง ค่าครองชีพมากที่สุด ร้อยละ 70.8 รองลงมาคือ ด้านการเกษตร สินค้าเกษตร ร้อยละ 62.1 และด้านการศึกษา ร้อยละ 59.6 ขณะที่ร้อยละ 31.6 ไม่อยากให้ใช้ประชานิยมหาเสียง มีเพียงร้อยละ 4.2 ไม่แน่ใจ 
 
ทั้งนี้ เมื่อถามว่า “หากวันนี้เป็นวันเลือกตั้งจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป” พบว่า อันดับแรกคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 26.6% รองลงมาคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ร้อยละ 3.8 และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 3.7  นอกจากนี้ ในส่วนคะแนนนิยมพรรคการเมือง พบว่า คะแนนนิยมพรรคประชาธิปัตย์ อยู่ที่ร้อยละ 16.9 รองลงมาคือ พรรคเพื่อไทย ที่มีคะแนนนิยมอยู่ที่ร้อยละ 15.3 และ พรรคชาติไทยพัฒนา มีคะแนนนิยมอยู่ที่ร้อยละ 1.2
 
'ซุปเปอร์โพลล์' เสนอให้กลับไปตกลงเรื่องคำถามพ่วงก่อนกลับให้ประชาชนเลือก 
 
เว็บไซต์คมชัดลึก รายงานว่า ดร.นพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดผลสำรวจเรื่อง โพลคำถามพ่วง กับ ความสับสนและความกังวลของสาธารณชนกรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,559 ตัวอย่างดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 5 - 10 กันยายนพ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา พบว่า  ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.3 ระบุ คำถามพ่วงประชามติ รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่อง สำคัญ ในขณะที่ร้อยละ 19.7 ระบุไม่ใช่เรื่องสำคัญ
 
เมื่อถามถึงความสับสนของสาธารณชน ต่อประเด็นข่าวที่ถกเถียงกันเรื่อง คำถามพ่วง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.7 รู้สึกสับสน ในขณะที่ร้อยละ 14.3 ไม่สับสน ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อถามถึงความกังวลต่อความขัดแย้งของคนในชาติต่อประเด็นคำถามพ่วง พบว่า ความกังวลของสาธารณชน เพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 59.5 ในเดือนสิงหาคม มาอยู่ที่ร้อยละ 64.6 ในการสำรวจครั้งล่าสุด
 
ข้อเสนอแนะต่อปรากฎการณ์คำถามพ่วง พบว่า ร้อยละ 54.9 ระบุให้ผู้เกี่ยวข้องไปตกลงกันให้เรียบร้อยแล้วกลับออกมานำเสนอประชาชนเลือก ร้อยละ 48.3 ระบุอยากฟังข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันของประชาชน เช่น ทางแก้ปัญหาปากท้อง โรคระบาด ภัยพิบัติ น้ำท่วม และผลงานรัฐบาล ในขณะที่ร้อยละ 41.7 ระบุ ควรมีผู้มีบารมีหาทางออกที่ทุกฝ่ายในกลุ่มนั้นๆ ให้การยอมรับ ร้อยละ 38.8 ระบุไม่ควรเป็นต้นเหตุความขัดแย้งเสียเอง เพราะเป็นผู้เข้ามาด้วยวิธีพิเศษบนความคาดหวังให้มาเป็นต้นแบบปรองดองคนในชาติ ร้อยละ 32.6 ไม่ควรออกมาจุดชนวนทะเลาะกันกับการเมืองกลุ่มต่างๆ คนจะหมดศรัทธากับทางเลือกปัจจุบัน และร้อยละ 10.7 ระบุอื่นๆ เช่น เห็นต่างได้แต่อย่าแตกแยก ไม่ควรใช้ถ้อยคำขัดแย้ง ยั่วยุรุนแรง มุ่งทำงานไปตามแผนที่ในโรดแมป เป็นต้น
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึง ความหวังที่จะก้าวต่อไป กับ ความมกลัวที่จะก้าวต่อ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.8 มีความหวังที่จะก้าวต่อไป ในขณะที่ร้อยละ 31.2 มีความกลัวที่จะก้าวต่อ
 
'นิด้าโพลล์' ชี้ ปชช.ค้านแนวคิด ทำยาเสพติดถูกกฎหมายหวั่นคนเสพเพิ่ม 
 
เว็บไซต์ไทยรัฐ รายงานว่าศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพลล์" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 1,250 คนทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 6-7 ก.ย.ที่ผ่านมา เรื่อง "แนวทางแก้ไขปัญหายาบ้า" โดยเมื่อถามถึงแนวคิดการให้ยาเสพติดบางชนิดถูกนำมาใช้โดยถูกกฎหมาย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 49.20 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการให้ยาเสพติดทุกชนิดถูกนำมาใช้โดยถูกกฎหมายได้ รองลงมา ร้อยละ 38.48 ระบุว่า เห็นด้วยกับการเปลี่ยนใบกระท่อมให้เป็นยา ร้อยละ 38.16 ระบุว่า เห็นด้วยกับการเปลี่ยนกัญชาให้เป็นยาสมุนไพร และอนุญาตให้ใช้ในทางการแพทย์ และร้อยละ 15.60 ระบุว่า เห็นด้วยกับการเปลี่ยน ยาบ้าให้เป็นสารเสพติดที่อนุญาตให้ใช้ในทางการแพทย์ เมื่อถามถึงการลงโทษผู้เสพยาบ้า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.36 ระบุว่า ผู้เสพยาบ้า ควรได้รับการลงโทษด้วยการจำคุกและต้องเข้ารับการบำบัดรักษา รองลงมา ร้อยละ 25.76 ระบุว่า ผู้เสพยาบ้า ไม่ควรถูกจำคุกแต่ต้องเข้ารับการบำบัดรักษาในศูนย์บำบัดฯ ของทางราชการ ขณะที่ ร้อยละ 9.36 ระบุว่า ผู้เสพยาบ้า ควรได้รับการลงโทษด้วยการจำคุกเท่านั้น
 
สำหรับความเชื่อมั่นของประชาชนต่อความยินยอมของผู้เสพยาบ้าที่จะเข้ารับการบำบัดรักษาด้วยความสมัครใจ หากกฎหมายระบุว่าผู้เสพยาบ้าเป็นผู้ป่วย และต้องเข้ารับการบำบัดรักษา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 33.68 ระบุว่า ไม่มีความมั่นใจเลย รองลงมา ร้อยละ 32.56 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความมั่นใจ มีเพียงร้อยละ 14.56 ระบุว่า ค่อนข้างมีความมั่นใจ ขณะที่ความคิดเห็นของประชาชนต่อจำนวนผู้เสพยาบ้าในประเทศไทย ถ้ายาบ้ามีราคาลดลง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 75.28 ระบุว่า จำนวนผู้เสพยาบ้าจะเพิ่มขึ้น เพราะยาบ้ามีราคาถูกลง จะทำให้หาซื้อได้ง่ายมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กหรือเยาวชนหรือคนที่อยากรู้อยากลอง คนที่เสพมีกำลังซื้อมากขึ้น รองลงมา ร้อยละ 13.68 ระบุว่า จำนวนผู้เสพยาบ้าจะไม่เปลี่ยนแปลง เพราะ ไม่ว่ายาบ้าจะมีราคาเท่าไร คนก็จะยังหาซื้อมาเสพเหมือนเดิม ขณะที่ ร้อยละ 5.36 ระบุว่า จำนวนผู้เสพยาบ้าจะลดลง เพราะในทางจิตวิทยาคนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าสิ่งของที่มีราคาถูกจะเป็นสิ่งของที่ไร้ค่าหรือไม่มีคุณภาพ เมื่อราคาถูก จำนวนผู้ขายก็จะลดลง ผู้เสพก็จะลดลง จนเลิกการผลิตไป
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net