Skip to main content
sharethis

แม้จะไร้เสรีภาพแต่นักโทษในสหรัฐฯ ก็ไม่ยอมให้ระบบเรือนจำที่โหดร้ายกดขี่ขูดรีดพวกเขาให้กลายเป็น ‘แรงงานทาส’ และเอื้อผลประโยชน์ให้กับรัฐหรือบรรษัทขณะที่สภาพในเรือนจำย่ำแย่ พวกเขาจึงพยายามนัดหยุดงานประท้วงหมู่ในวันครบรอบเหตุการณ์การลุกฮือในเรือนจำแอตติกาปี 2514


ภาพโดย publik15 (CC BY-NC-SA 2.0)

เมื่อใดก็ตามที่ผู้ต้องขังและผู้คุมทะเลาะกัน เมลวิน เรย์ จะเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีในการเชื่อมความสัมพันธ์และเรียนรู้กัน หลังจากที่เรย์พยายามทำให้สถานการณ์คลายความตึงเครียดลงแล้ว เขาจะพูดกับเพื่อนผู้ต้องขังถามไถ่ว่าเรามาถึงจุดนี้กันได้ยังไง ที่ว่า "ถึงจุดนี้" นั้นไม่เพียงแค่หมายถึงเรื่องการทะเลาะกันจากความตึงเครียดในอารมณ์ของผู้ที่ถูกคุมขัง หรือ "ถึงจุดนี้" ในความหมายของการที่เขาถูกตัดสินให้ต้องจำคุกมาตั้งแต่แรกเท่านั้น แต่เรย์มุ่งที่จะพูดถึงประเด็นที่ใหญ่กว่านั้นคือ "คุณมาอยู่ที่นี่ไม่ใช่เพราะอาชญากรรมที่คุณทำ คุณมาอยู่ที่นี่เพราะมีคนบางคนคิดหาเงินด้วยวิธีนี้"

การพูดคุยแบบตัวต่อตัวเช่นนี้มีความสำคัญในการในเรื่องการจัดตั้งกลุ่มนักโทษ เรย์ ผู้ที่มีอีกชื่อหนึ่งว่า เบนนู ฮันนิบาล รา-ซัน รู้เรื่องนี้ดีที่สุด เขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งขบวนการฟรีอลาบามา หรือ เอฟเอเอ็ม (FAM) ที่เป็นกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่นำโดยกลุ่มผู้ต้องขังที่สามารถนัดประท้วงหยุดงานในเรือนจำได้ในระดับประเทศสหรัฐฯ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย.2559 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันครบรอบ 45 ปีเหตุการลุกฮือที่เรือนจำแอตติกา

การลุกฮือในเรือนจำแอตติกาเกิดขึ้นในปี 2514 ที่นิวยอร์ก เมื่อนักโทษเรือนจำประท้วงต่อต้านการกักขังโดดเดี่ยวเป็นเวลานาน บริการสุขภาพที่ไม่เหมาะสม มีจำนวนผู้ต้องขังล้นเกิน การใช้กำลังกับผู้ต้องขังและการใช้แรงงานทาส โดยผู้ต้องขังไร้อาวุธจับผู้คุม 39 คนเป็นตัวประกัน เหตุการณ์จบลงด้วยการที่กองกำลังของรัฐใช้อาวุธยิงกระหน่ำอย่างไม่สนใจว่าเป็นผู้คุมหรือนักโทษด้วยกระสุนมากกว่า 2,000 นัด ทำให้มีทั้งผู้คุมและนักโทษเสียชีวิตรวม 39 คน

กลุ่ม FAM จัดการประท้วงหมู่ในครั้งนี้ด้วยความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ อย่างกลุ่มสนับสนุนการต่อต้านของผู้ต้องขังและคณะกรรมการจัดตั้งแรงงานผู้ต้องขัง (IWOC) ในสังกัดแรงงานระหว่างประเทศของโลก (IWW) โดยมีการเรียกร้องให้นักโทษในเรือนจำราว 40 แห่งใน 24 รัฐ เข้าร่วมการประท้วงด้วยประเด็นการต่อสู้เดียวกับการลุกฮือเรือนจำแอตติกาคือเรื่องสภาพของผู้ต้องขัง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสภาพการถูกบังคับใช้แรงงานที่เป็นลักษณะของแรงงานทาส

บางเรือนจำอนุญาตได้นักโทษได้รับค่าจ้าง แต่ค่าจ้างที่พวกเขาได้รับก็มักจะต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (ราว 30-35 บาท) และบางครั้งก็ไม่ได้เลยสักแดงเดียว สำหรับเรือนจำของรัฐบาลกลางค่าจ้างที่ได้มาอย่างน้อยครึ่งหนึ่งจะถูกหักเป็นค่าโครงการต่างๆ ค่าจ้างที่เหลืออยู่ก็มักจะถูกใช้ไปกับการซื้อหาสิ่งของที่ทำให้ชีวิตในเรือนจำดีขึ้นมาบ้าง เช่น กระดาษชำระ น้ำหอมดับกลิ่นกาย อุปกรณ์เกี่ยวกับประจำเดือนสตรี และผงซักฟอก ซึ่งสินค้าแต่ละชิ้นก็มีราคาต้องใช้ค่าจ้างหลายวันถึงจะซื้อหามาได้

ในขณะเดียวกันเรื่องการกดขีผู้ต้องขังในเรือนจำในสหรัฐฯ ยังเป็นเรื่องของการหาผลประโยชน์เข้ากลุ่มทุนใหญ่ๆ ด้วย โดยเรือนจำในสหรัฐฯ มีรูปแบบเป็นธุรกิจมูลค่าหลายพันล้าน กลุ่มอุตสาหกรรมเรือนจำรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (UNICOR) รายงานว่ารายได้จากการขายสุทธิผลิตภัณฑ์และบริการโดยผู้ต้องขังนั้นมีมูลค่า 472 ล้านดอลลาร์ในปี 2558 (ราว 16,000 ล้านบาท) ซึ่งนี่เป็นแค่ส่วนของสถาบันรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เท่านั้น ถ้ารวมกับเรือนจำรัฐอื่นๆ พวกเขาผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่ารวมกันอย่างน้อย 2,000 ดอลลาร์ (ราว 69,700 ล้านบาท)

ในเรือนจำของเอกชนนั้นถึงขั้นมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่เรือนจำเอาสินค้าที่นักโทษทำขึ้นไปขายเพื่อหาผลกำไรเข้าตัวเอง อย่างไรก็ตามเรือนจำเอกชนก็ถูกตรวจสอบมากขึ้นเมื่อกระทรวงยุติธรรมเพิ่งประกาศว่าจะไม่ดำเนินสัญญากับบริษัทเรือนจำเอกชนต่อไปแล้ว และกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิที่ดูแลเรื่องการอพยพเข้าเมืองก็กำลังพิจารณาอย่างเดียวกัน
ในสหรัฐฯ มีการใช้นักโทษทำงานต่างๆ ที่มีความสำคัญกับสังคมอย่างงานในโรงงานรีไซเคิลในรัฐวิสคอนซิน ทำงานดับไฟป่าในแคลิฟอร์เนียและจอร์เจีย พวกเขายังทำงานให้กับเอกชนอย่างทำเสื้อยูนิฟอร์มให้แมคโดนัลด์ ทำงานคอลเซนเตอร์ให้กับเอทีแอนด์ที หรือแม้กระทั่งทำชีสเพื่อขายในห้างโฮลฟู้ดส์ (Whole Foods)

เรย์ เป็นนักโทษในทัณฑสถานเซนต์แคลร์ ในสปริงวิลล์ อลาบามา ซึ่งถูกจัดให้เป็นหนึ่งในเรือนจำที่โหดร้ายที่สุดในประเทศเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เนื่องจากมีสภาพนักโทษล้นเกินและผู้คุมที่ไม่สนใจสภาพชีวิตผู้ต้องขัง เรย์บอกว่านักโทษเป็นคนทำผลิตภัณฑ์แทบทุกประเภทในโลกของธุรกิจ และเนื่องจากที่มีธุรกิจมาเกี่ยวข้องจึงทำให้สภาพผู้ต้องขังถูกปฏิบัติแบบทาสและทุกคนล้วนถูกใช้ประโยชน์เป็นแรงงานฟรีในโลกภายนอกเรือนจำ

แต่พวกเขาก็ไม่เพียงต้องใช้แรงงานในโลกภายนอกเรือนจำเท่านั้น ภายในเรือนจำพวกเขาก็ต้องทำงานเองด้วย ไม่ว่าจะเป็นการส่งจดหมาย การเตรียมอาหาร การทำงานซักรีด แต่เรื่องนี้ก็ทำให้การนัดหยุดงานประท้วงของนักโทษส่งผลกระทบสำคัญต่อรัฐได้ในสายตาของ เบน เติร์ก ผู้มาจากกลุ่มกลุ่มสนับสนุนการต่อต้านของผู้ต้องขัง และคณะกรรมการจัดตั้งแรงงานผู้ต้องขัง เติร์กกล่าวเสริมต่อไปว่าสาเหตุที่มันส่งผลมากเพราะการหยุดงานจะทำให้รัฐต้องเสียเงินจ้างผู้คุมและพนักงานเรือนจำมากขึ้น

เรย์จัดตั้งขบวนการ FAM ในปี 2556 โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการประท้วงหยุดงานในเรือนจำที่จอร์เจียปี 2553 ซึ่งเป็นการประท้วงหยุดงานของนักโทษที่ใหญ่ที่สุดในยุคนั้นมีนักโทษเข้าร่วมประท้วงหลายพันคนในหลายสิบเรือนจำ พวกเขาเรียกร้องโอกาสในการศึกษาที่ดีขึ้น สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้มากขึ้น และได้รับค่าจ้างมากขึ้น เติร์กกล่าวว่าถึงแม้ว่าการประท้วงหยุดงานและการอดอาหารประท้วงจะไม่ทำให้ข้อเรียกร้องของผู้ต้องขังได้รับการตอบสนองแต่พวกเขาก็มักจะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ต้องขังคนอื่นๆ ทำอะไรสักอย่าง

เรย์และเติร์กเล่าถึงการจัดตั้งนักโทษเรือนจำหลายแหล่งว่าเป็นงานที่ท้าทายมาก เพราะถ้าหากเจ้าหน้าที่เรือนจำตอบโต้การกระทำของพวกเขา พวกเขาก็จะได้รับสิทธิพิเศษหรือถูกลงโทษขังเดี่ยว การสื่อสารของพวกเขาก็ถูกจับตามองโดยผู้คุม

เคยมีกรณีของนักโทษชื่อชิดดิค อับดุลเลาะห์ ฮาซาน หนึ่งในผู้จัดการประท้วงหยุดงานวันที่ 9 ก.ย. สมาชิกขบวนการฟรีโอไฮโอซึ่งเป็นองค์กรที่เชื่อมโยงกับ FAM ถูกตั้งข้อหาเป็นภัยคุกคมต่อความมั่นคงซึ่งเป็นข้อหาที่ใช้เหวี่ยงแหเพื่ออ้างขังเดี่ยวนักโทษ ทำให้นอกจากฮาซานจะถูกขังเดี่ยวแล้วเขายังถูกริบของใช้ส่วนตัว ถูกห้ามใช้อีเมลและการสื่อสารอื่นๆ
เรย์เองก็เป็นหนึ่งในคนที่เคยถูกลงโทษเช่นกันหลังจากที่ในปี 2556 สมาชิก FAM โพสต์วิดีโอแสดงให้เห็นสภาพที่ย่ำแย่ในเรือนจำและมีการพยายามจัดตั้งการหยุดงานประท้วงจนกระทั่งทำให้เรย์ถูกลงโทษจับขังเดี่ยวเนื่องจากเขามีส่วนร่วมด้วย เรย์พูดถึงการขังเดี่ยวว่า "นี่เป็นสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าเป็นการทารุณกรรมแบบละมุนละม่อมหรือแบบไม่ต้องออกแรง ด้วยการคุมขังในคุกที่เล็กและสกปรก" เรย์บอกอีกว่า "มันคือนรก ผมหมายความว่ามันคือนรกของจริงเลย และพวกเขาก็ใช้มันทารุณกรรมคน"

เรย์มองว่าเหล่านักโทษถูกบังคับให้ทำงานหนักเพื่อรัฐในขณะเดียวกันก็ทำเงินเป็นกำไรให้กับบรรษัทโดยที่เรื่องนี้ไม่เพียงแค่เป็นสภาพการทำงานที่ไม่เป็นธรรมในลักษณะใช้แรงงานทาสเท่านั้นแต่ยังเป็นระบบที่กระทำกันมาอย่างต่อเนื่อง เรย์บอกว่าถึงแม้ในบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ฉบับที่ 13 จะระบุว่ามีการเลิกทาสแล้วแต่ในความเป็นจริงระบบทาสยังไม่ได้ถูกล้มเลิกไปทั้งหมดแต่ "ถูกทำให้กลายเป็นกิจการของรัฐ" เท่านั้น

เรย์ยังพูดถึงเรื่องที่พวกเขาถูกจับตามองเรื่องการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกจากผู้คุม ผู้คุมอ่านอีเมลของพวกเขาทุกฉบับโดยเฉพาะถ้ารู้ว่าจะมีการวางแผนหยุดงานประท้วงหรืออดอาหารประท้วง แต่ถ้าหากว่าเรือนจำอยู่ในสภาพมีนักโทษล้นเกินแบบในอลาบามาก็ยากที่จะสำรวจได้ครบถ้วนว่านักโทษทำอะไรบ้าง และในบางรัฐก็สามารถนำโทรศัพท์มือถือเข้าไปได้ทำให้นักกิจกรรมในเรือนจำสามารถติดต่อสื่อสารกันได้รวมถึงสามารถติดต่อกับคนรักและสื่อให้เห็นถึงสภาพภายในเรือนจำได้ ซึ่งเติร์กบอกว่าเรือนจำในรัฐเหล่านี้อาจจะมีการจัดตั้งที่ดีกว่า

ทั้งหมดนี้ทำให้ถึงแม้ว่าข้อเรียกร้องของนักโทษจะไม่ได้ผลแต่การที่ส่งสารออกไปสู่โลกภายนอกหรือต่อโซเชียลมีเดียก็ถือว่ามีความสำคัญในมุมมองของเรย์และเติร์ก เติร์กยังเล่าว่าเขาพยายามประสานงานกับโลกภายนอกเพื่อให้มีการประท้วงนอกเรือนจำ เป็นการส่งเสียงออกไปข้างนอกให้ดังที่สุดเพื่อเรียกการสนับสนุนจากภายนอก ขณะเดียวกันก็มีการพูดคุยกับนักโทษที่ถูกขังเดียว คอยตอบคำถามสื่อ และดูแลจัดการการสนับสนุนด้านกฎหมายที่นักโทษอาจจะต้องการ

เติร์กยังทำงานร่วมกับสมาคมประชาชนคนธรรมดา (The Ordinary People Society) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำงานรณรงค์และสนับสนุนในประเด็นกว้างๆ เกี่ยวกับการลงโทษผู้คนด้วยการจับขังหมู่และเรียกร้องให้มีการสนับสนุนด้วยการนัดหยุดงานภายนอกคุกด้วย

ถึงแม้ว่าเรย์และเติร์กจะมีอุปสรรคขวางกั้นจากการจัดตั้งการประท้วง แต่พวกเขาก็พยายามกระทำสิ่งต่างๆ ในการที่จะทำให้ระบบการหาผลกำไรจากระบบคุกชะงักงันลง

แล้วการนัดประท้วงใหญ่ของพวกเขาเป็นอย่างไรบ้าง สื่อมาเธอร์โจนส์นำเสนอในเรื่องนี้ว่านักโทษในสหรัฐฯ ทำการประท้วงใหญ่ต่อสิ่งที่เรียกว่าเป็น "การใช้ทาสในยุคสมัยใหม่" ทางด้านดิอินดิเพนเดนต์รายงานว่านักโทษเรือนจำในรัฐเซาธ์แคโรไลนาประกาศข้อเรียกร้องให้มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสำหรับการใช้แรงงาน มีระบบพ้นโทษแบบคุมประพฤติที่เป็นธรรมมากขึ้น และมีการนำการศึกษาระดับไฮสคูลกลับมา ลดราคาสินค้าเครื่องใช้ในเรือนจำ ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 9 ก.ย.

ในแง่ของความเคลื่อนไหว เมื่อช่วงเที่ยงของวันที่ 9 ก.ย. นักโทษทุกคนในเรือนจำฮอลแมนรัฐอลาบามาก็ร่วมกันปฏิเสธไม่รายงานตัวทำงานของเรือนจำโดยไม่มีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่เป็นคนทำหน้าที่ต่างๆ แทนทั้งหมดขณะที่นักโทษพากันนอนหรืออ่านหนังสือ ทางด้านเรือนจำหญิงในเดนเวอร์มีภาพทางทวิตเตอร์แสดงให้เห็นพวกเธอถือป้ายประท้วงการใช้แรงงานทาสในไร่

นอกจากเรือนจำต่างๆ แล้ว ยังมีภาพการประท้วงของคนที่อยู่นอกคุกเพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับผู้ประท้วงในคุก เช่นในกรีซมีคนถือป้ายประท้วงต่อสู้กับการใช้แรงงานทาสในเรือนจำ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้ประท้วงแสดงความเป็นพวกเดียวกับผู้ต้องขังตะโกนส่งเสียงที่หน้าสถานที่ทำงานผู้ต้องขังในรัฐเซนต์หลุยส์ ซึ่งผู้ต้องขังตะโกนตอบรับเสียงของพวกเขา

ถึงแม้จะยังไม่ทราบว่าการประท้วงนี้จะส่งผลเช่นไร แต่ Waging Nonviolence ก็ระบุว่าสิ่งที่ชัดเจนคือพวกเขากำลังต่อสู้กับการจ้างงานแบบกดขี่ขูดรีด

"พวกเรากำลังพยายามรื้อระบบ" เรย์กล่าว

 

เรียบเรียงจาก

How inmates are organizing a nationwide strike from behind bars, Waging Nonviolence, 07-09-2016
http://wagingnonviolence.org/feature/inmates-organizing-nationwide-strike-behind-bars/

45 Years After Legendary Attica Prison Uprising, New Book Reveals State Role in Deadly Standoff, Democracy New, 09-09-2016
http://www.democracynow.org/2016/9/9/new_details_revealed_about_legendary_attica

Inmates launch massive nationwide strike to protest 'modern slavery' in US prison system, The Independent, 09-09-2016
http://www.independent.co.uk/news/world/americas/prison-strike-inmates-us-attica-45-anniversary-a7235391.html

Inmates Are Kicking Off a Nationwide Prison Strike Today, Mother Jones, 09-09-2016
http://www.motherjones.com/politics/2016/09/national-prison-strike-inmates


การเคลื่อนไหวที่นำเสนอผ่าน Twitter
https://twitter.com/jaybeware
https://twitter.com/hashtag/prisonstrike


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net