Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลยินดีกับคำสั่งยุติการดำเนินคดีกับพลเรือนในศาลทหาร แต่รัฐบาลทหารยังต้องดําเนินการอีกมากเพื่อที่จะให้เป็นไปตามพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commissions of Jurists หรือ ICJ) ได้ออกแถลงการณ์เรื่องคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 55/2559 ลงวันที่ 12 ก.ย.2559 โดยกล่าวว่า คําสั่งของคณะรัฐประหารไทยที่ให้ยุติการดําเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหารนั้นถือเป็นความก้าวหน้าที่น่ายินดี แต่ทว่า รัฐบาลทหารยังต้องดําเนินการอีกมากเพื่อที่จะให้เป็นไปตามพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
 
คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 55/2559 ลงวันที่ 12 ก.ย. 2559 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว ได้ยุติการปฏิบัติที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กล่าวคือ การดำเนินคดีกับพลเรือนในศาลทหารที่เป็นการกระทำผิดในฐานความผิด 4 ประเภท ได้แก่ ความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร การฝ่าฝืนคำสั่งคสช. การครอบครองหรือใช้อาวุธที่ใช้เฉพาะแต่การสงคราม และ ฐานความผิดที่มีโทษสูงเช่นกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

โดยคำสั่งฉบับดังกล่าวปรับใช้เฉพาะฐานความผิดที่ได้กระทำนับจากวันที่คำสั่งฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ซึ่ง ก็คือวันที่ 12 ก.ย.59 โดยไม่มีผลย้อนหลังไปถึงการกระทำความผิดในอดีตหรือคดีที่ยังคงค้างอยู่ในการพิจารณาของศาลทหาร

นับตั้งแต่รัฐประหารในเดือน พ.ค. 2557 ที่ผ่านมา มีพลเรือนอย่างน้อย 1,811 ราย ขึ้นศาลทหารโดยข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่กรมพระธรรมนูญได้ให้กับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเมื่อเดือน ก.ค. 2559 โดยเป็นสถิติในช่วงระหว่างวันที่ 22 พ.ค. 2557 จนถึง วันที่ 31 พ.ค. 2559

“พลเรือนจำนวนเกือบ 2,000 รายได้เผชิญกับกระบวนการและการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรมโดย ศาลทหาร พลเรือนจำนวนมากถูกดำเนินคดีเพียงเพราะใช้สิทธิของพวกเขาในเรื่องการแสดงเสรีภาพใน การแสดงออกและการชุมนุม” แซม ซารีฟี่ (Sam Zarifi) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของ ICJ กล่าว พร้อมกล่าวอีกว่า “คดีที่ยัง คงค้างอยู่ในการพิจารณาควรถูกย้ายมาสู่ศาลพลเรือน อีกทั้งการดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหารตั้งแต่รัฐประหาร พ.ศ. 2557 ควรที่จะต้องยุติไว้ก่อน”

คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 55/2559 ยังได้ยืนยันโดยชัดแจ้งว่า คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ซึ่งเป็นคำสั่งฉบับ ที่เป็นปัญหาอย่างมาก(ออกมาบังคับใช้แทนที่กฎอัยการศึกและบังคับใช้ทั่วประเทศในวันที่ 1 เม.ย. 2558)และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2559 ยังมีผลบังคับใช้ต่อไป

ทั้งนี้ คำสั่งสองฉบับดังกล่าวห้ามการรวมตัวทางการเมืองของบุคคลมากกว่า 5 คน ให้อำนาจในการกักขังพลเรือนในที่คุมขังของทหารเป็นเวลาถึง 7 วัน โดยไม่ตั้งข้อหา รวมถึงกำหนดให้มี “เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม” และผู้ช่วย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารในระดับต่าง ๆ รวมถึงอาสาสมัครทหารพราน และให้มีอำนาจอย่างกว้างขวางในการป้องกันและปราบปรามความผิดอาญาจำนวน 27 ประเภทซึ่งครอบคลุมความผิดเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เสรีภาพและชื่อเสียง การเข้าเมือง การค้ามนุษย์ ยาเสพติด และอาวุธ ทาง ICJ พิจารณาแล้วเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่สอดรับกับพันธกรณีเรื่องสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของประเทศไทย

“ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ฝ่ายทหารจะได้คืนความรับผิดชอบเรื่องการบังคับใช้กฎหมายให้กลับเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน อีกทั้งประกันว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะได้รับการอบรมที่เหมาะสมและทรงประสิทธิภาพ” แซม กล่าว พร้อมกล่าวด้วยว่า “เราหวังว่าคำสั่งในวันนี้ จะเป็นก้าวย่างที่จะนำประเทศไทยกลับมาสู่หลักนิติธรรมและการเคารพสิทธิมนุษยชนต่อไป”

อนึ่ง ข้อ 3 ของคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 55/2559 ได้ระบุว่า “ในกรณีเห็นสมควร ให้นายกรัฐมนตรีเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้”
 
โดยก่อนหน้านี้ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557, 38/2557 และ 50/2557 ได้ขยายเขตอำนาจศาลทหารในประเทศไทยให้ครอบคลุมการกระทำความผิดสี่ประเภท ซึ่งรวมถึงความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร การฝ่าฝืนคำสั่งคสช. การครอบครอง หรือใช้อาวุธที่ใช้เฉพาะแต่การสงคราม และการกระทำความผิดฐานหมิ่น พระบรมเดชานุภาพ การดำเนินคดีแก่พลเรือนในศาลทหารนั้นขัดต่อ ข้อ 14 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและได้ให้การรับรองว่าบุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับ “การพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและเปิดเผยโดยตุลาการที่มีอำนาจ เป็นอิสระ และเป็นกลางตามกฎหมาย”
 
หลักการว่าด้วยการวางระเบียบการบริหารงานยุติธรรมของศาลทหาร (The Principles Governing the Administration of Justice through Military Tribunals) วางหลักการซึ่งใช้บังคับกับรัฐที่ใช้ศาลทหาร โดยหลักการที่ 5 ได้ระบุว่า “โดยหลักการแล้ว ศาลทหารไม่ควรมีเขตอำนาจพิจารณาคดีของพลเรือน โดยในทุกสถานการณ์ รัฐต้องให้ความมั่นใจว่าพลเรือนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญา ไม่ว่าในลักษณะใดจะต้องได้รับการพิจารณาคดี ในศาลพลเรือน”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net