สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 7-13 ก.ย. 2559

 
แรงงานจับมือ 12 สถานประกอบการขยายอายุเกษียณเป็น 60 ปี
 
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบาย:การขยายอายุการจ้างงานแรงงานผู้สูงวัยในสถานประกอบการ ระหว่างกระทรวงแรงงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย(มส.ผส.) ร่วมกับสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ 12 แห่ง ที่ รร.เซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์
 
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้ นับเป็นการประกาศความร่วมมือเพื่อขยายอายุการทำงานของผู้สูงอายุ จากเดิมที่เอกชนจะเกษียณอายุ 55 ปี ขยายเพิ่มเป็น 60 ปี เพื่อรองรับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่จะเป็นสังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ ในปี 2567 คือมีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของกำลังแรงงานผู้สูงอายุที่มีผลต่อความมั่นคงของชาติในอนาคต สร้างมาตรฐานเพื่อเป็นต้นแบบการจ้างงานแรงงานผู้สูงอายุแก่สถานประกอบการอื่นๆ พร้อมสร้างรายได้ ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้น ลดภาระพึ่งพิง
 
ด้านพญ.ลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการ มส.ผส.กล่าวว่า การขยายอายุเกษียณ เป็นหนึ่งการดำเนินการที่เป็นแผนรองรับสังคมผู้สูงอายุ ที่ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้สูงอายุมีรายได้เลี้ยงชีพ ยังช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากแรงงานวัยหนุ่มสาวลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่แรงงานทดแทนอย่างแรงงานข้ามชาติ ก็ลดลง ดังนั้นหากไม่ดำเนินการใดๆเลย ก็อาจส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทย หรือ GDP ชะลอตัวลงอย่างน้อยร้อยละ 1 ต่อปี
 
 
กระทรวงแรงงานตั้งเป้าปีนี้ส่งเสริมจ้างผู้สูงอายุ 2,000 คน
 
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงานการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายการขยายอายุการจ้างแรงงานผู้สูงวัยในสถานประกอบการ และปาฐกถาพิเศษ ‘แรงงานสูงวัยพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ’ว่า กระทรวงแรงงาน ได้พัฒนาปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน และพระราชบัญญัติประกันสังคม เพื่อรองรับการจ้างงานผู้สูงอายุ โดยการขยายอายุเกษียณจาก 55 ปี เป็น 60 ปีในระยะแรก การคุ้มครองการทำงาน และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ซึ่งคาดว่าร่างแก้ไขจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคมนี้ รวมไปถึงได้มีการเปิดศูนย์หางานให้ผู้พิการและผู้สูงอายุในกระทรวงแรงงานและหน่วยงานสังกัดทั่วประเทศ นอกจากนี้คณะกรรมการค่าจ้างยังมอบหมายให้อนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง พิจารณาอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงสำหรับผู้สูงอายุมาเสนออีกครั้ง โดยตั้งเป้าหมายส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำรวมกว่า 2,000 คนในปีนี้ ซึ่งจะประสบผลสำเร็จได้จะต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ประกอบการด้วย
 
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ซึ่งตามเกณฑ์ขององค์การสหประชาชาติ ประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศจะถูกจัดเป็นสังคมผู้สูงอายุ ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรรวมทั้งสิ้นประมาณ 64.8 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุประมาณ 10 ล้านคนเศษ คิดเป็นร้อยละ 14.9 ของประชากรรวม สำหรับในปี 2564 มีการคาดประมาณว่า ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 20 ซึ่งจะทำให้เป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aging Society) และในปี 2578 ผู้สูงอายุในประเทศจะมีประมาณร้อยละ 30 และจะถูกจัดเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super Aged Society) นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วเป็นอันดับที่ 2 ของภูมิภาคเอเชีย รองจากประเทศสิงคโปร์ โดยมีประเทศบรูไน และเวียดนามอยู่ในอันดับ 3 และ 4 ตามลำดับ
 
 
จงวิธีการ-ขั้นตอนไปทำงานเกาหลี
 
นางพรปวีณ์ วิชิต จัดหางาน จ.ลำปาง เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนหางานนิยมไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลี ตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS) โดยกรมการจัดหางานเป็นผู้จัดส่งกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งระบบ EPS กำหนดให้คนหางานต้องสอบผ่านความสามารถภาษาเกาหลี (EPS-TOPIK) ตามที่ทางการเกาหลีกำหนด จึงจะเดินทางไปทำงานได้ ดังนั้นจึงต้องสมัครเข้าทดสอบความสามารถภาษาเกาหลีก่อนเป็นอันดับแรก
 
ด้วยเหตุนี้โรงเรียนที่เปิดสอนภาษาเกาหลี สำหรับการไปทำงานตามระบบ EPS จึงเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้กรมการจัดหางานพบว่า โรงเรียนเอกชนที่สอนภาษาเกาหลีบางแห่ง โฆษณาชวนเชื่อทางไลน์ เฟซบุ๊ค ว่าสามารถส่งไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีได้แน่นอน หรือหากสอบผ่านความสามารถภาษาเกาหลี ทางสาธารณรัฐเกาหลีจะรับรองงาน และเดินทางไปทำงานได้ทันที หรือโรงเรียนได้จัดหานายจ้างไว้ให้ สำหรับคนที่สอบผ่านแล้ว เป็นต้น ซึ่งเป็นการแอบอ้างเกินความเป็นจริง โดยกรมการจัดหางานได้ดำเนินคดีกับโรงเรียนเอกชนดังกล่าวแล้วหลายราย จึงขอเตือนว่า อย่าหลงเชื่อการโฆษณาแอบอ้างดังกล่าว เนื่องจากเมื่อคนหางานสอบผ่านความสามารถภาษาเกาหลีแล้ว นายจ้างทางสาธารณรัฐเกาหลีจะเป็น ผู้คัดเลือกคนหางานด้วยตนเอง
 
 
ครม.ช่วยผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากปรับค่าแรง 300 บาท
 
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2559 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงานอันเนื่องมาจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เพิ่มเติมให้ครอบคลุมผลกระทบของผู้ประกอบการก่อสร้างให้สามารถทำงานให้กับภาครัฐแล้วเสร็จตามสัญญาโดยเร็ว
 
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวต่อว่า ครม. ได้เห็นชอบให้ความช่วยเหลือ 4 ประเด็น คือ (1) ผู้รับจ้างที่ได้รับความช่วยเหลือฯ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 มาก่อนแล้ว และต้องทำงานแล้วเสร็จตามสัญญาจ้าง จึงจะของดหรือลดค่าปรับได้ จำนวน 150 วัน (2) ส่วนราชการได้ตัวผู้รับจ้างก่อนวันที่ 1 มกราคม 2556 แต่ลงนามได้หลังจากวันที่ 22 เมษายน 2556 จะได้รับความช่วยเหลือในการงดหรือลดค่าปรับ รวมจำนวน 300 วัน แต่ต้องทำงานเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว (3) สัญญาจ้างที่ลงนามตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2556 ถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 ผู้รับจ้างต้องทำงานเสร็จ จึงจะได้งดหรือลดค่าปรับ จำนวน 150 วัน และ (4) ผู้รับจ้างที่ถูกทิ้งงานไปแล้ว ให้พิจารณาเพิกถอนคำสั่งทิ้งงาน ทั้งนี้ หากผู้รับจ้างทำงานแล้วเสร็จเกินจากระยะเวลาให้ความช่วยเหลือ ยังคงต้องเสียค่าปรับตามจำนวนวันที่เกินไปอยู่เช่นเดิม
 
ก่อนหน้านี้ กรมบัญชีกลางได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างไปแล้ว จำนวน 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 1ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีสัญญาจ้างมีผลผูกพันอยู่ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2556 ถึงวันที่ 22 เมษายน 2556 ให้ขยายระยะเวลาหรืองดลดค่าปรับ ออกไปจำนวน 150 วัน ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 และครั้งที่ 2 ให้ขยายระยะเวลาเพิ่มเติมจากครั้งที่ 1 อีก 150 วัน ซึ่งมีเงื่อนไขว่าต้องทำงานให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาที่ขยายเพิ่มให้ จึงจะได้ลดหรืองดค่าปรับ แต่หากทำงานเสร็จสิ้นเกิน 150 วัน จะไม่เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับความช่วยเหลือ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557
 
“การให้ความช่วยเหลือและเยียวยาเพิ่มเติมในครั้งนี้ เป็นผลมาจากการผลักดันของสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย นอกจากจะสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบเร่งดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญาโดยเร็วแล้ว ยังทำให้ผู้ประกอบการก่อสร้างที่เป็น SMEสามารถดำเนินการตามสัญญาต่อไปได้ด้วย” นายมนัสกล่าว
 
 
อาจารย์ มรท.12 คนตบเท้าเข้า ศธ.ยื่นหนังสือ “ดาว์พงษ์” เหตุถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ทั้งที่ทำตามเงื่อนไขทุกประการ
 
ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กลุ่มอาจารย์และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี (มรท.) ประมาณ 12 คน เข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีการไม่ต่อสัญญาการเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมีพ.อ.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ รับเรื่องแทน
 
โดย นายเสนีย์ เจริญสุข ตัวแทนอาจารย์และเจ้าหน้าที่ มรท. กล่าวว่า ตนและอาจารย์เจ้าหน้าที่ มรท.จำนวน 12 คน ได้รับผลกระทบกรณีที่อธิการบดี มรท.แจ้งไม่ต่อสัญญาจ้างในปีงบประมาณ 2560 โดยไม่ระบุเหตุผลและให้มีผลในวันที่ 30 ก.ย.2559นี้ ซึ่งการแจ้งไม่ต่อสัญญาดังกล่าวไม่เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ว่าด้วย การบริหารงานบุคคลสำหรับพนังงานในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2558 ที่กำหนดให้การทำสัญญาจ้างและการต่อสัญญาจ้าง ให้คณะกรรมการบริหารงานบุคคล (กบม.)ใน มรท. เป็นผู้พิจารณาก่อน
 
“ก่อนหน้านี้ผู้บริหารได้เรียกประชุมอาจารย์เพื่อเตรียมผลงาน อาทิ เอกสารประกอบการสอน และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับการประเมินในการต่อสัญญาจ้างตามเกณฑ์ที่ กบม.กำหนด ซึ่งได้จัดทำและส่งเอกสารเรียบร้อยแล้ว แต่อยู่ๆก็ได้รับซองขาวแจ้งความประสงค์ไม่ต่อสัญญาจ้าง ทำให้รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และการไม่ต่อสัญญาจ้างไม่เพียงจะส่งผลต่อการจัดการเรียนการสอน แต่ยังส่งผลกระทบต่อมาตรฐานหลักสูตรของ มรท. เพราะมีจำนวนอาจารย์ผู้สอนไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานระดับอุดมศึกษา พ.ศ.2558”นายเสนีย์ กล่าว
 
นายเสนีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ นับแต่ได้รับแจ้งไม่ต่อสัญญาจ้าง ยังไม่มีโอกาสได้เข้าพบกับอธิการบดี หรือได้รับคำชี้แจงเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด และการที่มาเรียกร้องขอความเป็นธรรมครั้งนี้ พวกตนไม่ได้ต้องการค่าชดเชย แต่ต้องการทำอาชีพอาจารย์ เพราะเรารักในอาชีพนี้ รักนักศึกษา และเวลานี้ขวัญและกำลังใจเราเสียไปหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม จากนี้พวกตนจะเดินทางไปยื่นหนังสือที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และวันที่ 9 ก.ย.นี้จะไปยื่นจะไปยื่นอุทธรณ์คำสั่งยกเลิกสัญญาจ้างต่อสภา มรท.
 
ขณะที่ นายทองเจือ เขียดทอง ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)ธนบุรี ในฐานะประธานสภาคณาจารย์ มรภ. 38 แห่ง กล่าวว่า ขณะนี้การบริหารงานบุคคลของมรภ.มีปัญหาทั้งระบบ ที่ผ่านมาสกอ. ก็ยังไม่อนุมัติกรอบอัตรากำลังใหม่ให้แก่มหาวิทยาลัย ทำให้อธิการบดีแก้ไขปัญหาโดย จ้างอาจารย์เพิ่มเองเมื่อเกิดปัญหาเงินไม่มีจ่าย ก็ต้องเอาคนออก ซึ่งทำให้ผู้ที่ถูกเลิกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะจะเอาออกตอนไหนก็ได้ ชีวิตเหมือนถูกแขวนอยู่บนเส้นด้าย ซึ่งตนเห็นว่า สกอ.ควรเร่งออกพ.ร.บ.ว่าด้วยพนักงานมหาวิทยาลัย
 
ด้าน พ.อ.ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ตนจะรายงานเรื่องดังกล่าวให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) ทราบและแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบตามขั้นตอนเพื่อแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด
 
 
จ่อใช้ ม.44 ต่ออายุกัปตัน-ครูการบินวัยเกษียณอีก 5 ปี จับเซ็นสัญญายาว 3-5 ปี แก้ขาดแคลนบุคลากร
 
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจหัวหน้าคสช.ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ 57 ขยายระยะเวลาการเกษียณอายุราชการออกไป ว่าประเด็นที่ขอใช้มาตรา 44 เพื่อยกเว้นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่เกี่ยวกับการเข้ารับราชการของพนักงานและลูกจ้างในสังกัดหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ อาทิ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สถาบันการบินพลเรือน วิทยาลัยการบินนานาชาติ มหาวิทยาลัยนครพนม กองทัพอากาศ รวมถึงธุรกิจด้านการบินต่าง ๆ เพื่อขยายอายุการเกษียณของพนักงานหรือข้าราชการจากเดิม 60 ปี ออกไปเป็น 65 ปี ให้เข้าทำงานในหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจเป็นสัญญาระยะยาว 3-5 ปี ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาบุคลากรทางการบินขาดแคลนเร่งด่วน ระยะ 5 ปี (2559-2563) โดยเฉพาะกัปตันและครูการบิน (IP:Flight Instructor Rating) ซึ่งแต่ละปีจะมีบุคลากรทางการบินเกษียณราชการปีละประมาณ 100 คน โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมและสำนักการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ไปศึกษาเพื่อเสนอหัวหน้า คสช.ต่อไป ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหามาตรฐานการบินของ ICAO แต่อย่างใด แต่เป็นการแก้ปัญหาระยะเร่งด่วนในการรองรับแผนระยะกลางและระยะยาว คาดว่าจะปัญหาเรื่องการขาดแคลนนักบินจะหมดไปราวปี 2563
 
 
หอการค้าไทย เปิดเผยคนไทยมีความกังวลเรื่องการปลดพนักงาน หลังภาคการส่งออกติดลบร้อยละ 6 
 
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสรุปการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนสิงหาคม 2559 ว่า ภาพรวมยังปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากระดับ 61.4 ในเดือนที่ผ่านมาสู่ระดับ 62.2 โดยประชาชนส่วนมากมีความมั่นใจในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองในอนาคต ว่า จะปรับตัวดีขึ้นภายหลังจากออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในช่วงเดือนสิงหาคม รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่เริ่มคลี่คลายลงและราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงเล็กน้อย จาก 52.4 เป็น 52.3 เนื่องจากส่วนมากมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การจ้างงานที่มีอัตราเพิ่มไม่มากและความกังวลเรื่องการปลดพนักงาน ทั้งนี้มองว่าน่าจะมีผลมาจากภาคการส่งออกที่ติดลบ ร้อยละ 6 และเหตุการณ์ระเบิดที่ภาคใต้ในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา ซึ่งทางหอการค้าไทยยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณของการปลดพนักงาน แต่เป็นเพียงความกังวลของประชาชนเท่านั้น
 
อย่างไรก็ตาม หอการค้าไทยได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐให้เร่งเบิกจ่ายงบประมาณลงสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ทั้งนี้ เศรษฐกิจยังไม่มีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นอย่างแน่นอนแม้จะมีปัจจัยบวกหลายปัจจัยก็ตาม สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังยังยืนยันว่าจีดีพีจะเติบโตที่ร้อยละ 3.3 เท่าเดิม ซึ่งอาจเติบโตได้มากกว่านี้หากภาคการส่งออกจะต้องกลับมาปรับตัวดีขึ้น
 
 
สนช.รับหลักการ พ.ร.บ.กยศ. ให้นายจ้างหักเงินคืนกองทุน
 
วันที่ 9 ก.ย. นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่สอง เป็นประธานการประชุมสนช. ซึ่งที่ประชุมได้ขอเลื่อนวาระร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. ... ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอนำขึ้นมาพิจารณาก่อน โดย นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง ได้เข้าผู้ชี้แจงเสนอหลักการและเหตุผล ว่า เป็นการปรับปรุงแก้ไขจาก กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ปี 2541 โดยเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาและสำนักงานขึ้น พร้อมกับจัดตั้งคณะอนุกรรมการกำกับการชำระเงินคืนกองทุน เพื่อทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบและกำกับดูแลให้การชำระเงินคืนกองทุนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ
 
ทั้งนี้ เงื่อนไขของคณะกรรมการ โดยให้อธิบดีกรมบัญชีกลาง ทำหน้าที่เป็นประธานอนุกรรมการ ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของการให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษา ประกอบด้วย กรณีขาดแคลนทุนทรัพย์ เป็นสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลักเพื่อตอบสนองการผลิตกำลังคน สาขาวิชาขาดแคลนกำลังคน หรือ กองทุนส่งเสริมเป็นพิเศษหรือเป็นเด็กเรียนดี เรียนเลิศ
 
นอกจากนี้ ในส่วนการประเมินมาตรฐานนั้นให้มีคณะอนุกรรมการกำกับและประเมินสถานศึกษาที่เข้าร่วมดำเนินงานกับกองทุน เป็นผู้ทำหน้าที่เสนอแนะให้คำปรึกษา โดยมี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานอนุกรรมการ ซึ่งการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้เป็นไปเพื่อให้มีประสิทธิภาพการคืนเงินแก่กองทุนมากยิ่งขึ้น และทำให้เงินงบประมาณหมุนเวียนเพื่อการศึกษาส่งผลถึงกับผู้กู้ยืมรุ่นหลังได้
 
สำหรับ การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ ได้ให้ความสำคัญต่อการติดตามชำระเงินกู้ยืมคืนแก่กองทุน โดยยกขึ้นเป็นหมวดเฉพาะ หรือหมวด5 มีสาระสำคัญคือ ให้เริ่มคิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมนับแต่สำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้ว และเพื่อประโยชน์ในการติดตามชำระเงินคืนของคณะกรรมการ ให้สามารถขอข้อมูลส่วนบุคคลของผู้กู้ยืมเงินจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หรือบุคคลที่มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้กู้ พร้อมกับสามารถเปิดเผยข้อมูลการกู้ยืม หรือการชำระเงินของผู้กู้ ให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หรือบุคคลตามที่ร้องขอได้
 
นอกจากนี้ ในมาตรา 51 ยังระบุให้นายจ้างผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่หักเงินได้ จากพนักงานหรือลูกจ้างของผู้จ่ายเงินได้เพื่อชำระเงินกู้ยืมคืนตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบ ถ้าผู้จ่ายเงินได้ไม่หักเงินได้และไม่นำส่ง หรือนำส่งไม่ครบ หรือนำส่งเกินกำหนดระยะเวลา ให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินรับผิดชดใช้เงินที่ต้องนำส่งในส่วนของผู้กู้ยืมเงินตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบ และจ่ายเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ของจำนนเงินที่ผู้จ่ายเงินได้ พึงประเมินยังไม่ได้นำส่ง หรือจำนวนที่ัยังขาดไป บรรยากาศในที่ประชุม สมาชิกสนช.ส่วนใหญ่ที่ลุกขึ้นอภิปรายต่างสนับสนุนการปรับแก้ไขกฎหมายดังกล่าว แต่ก็ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการเคารพข้อมูลสิทธิส่วนบุคคล รวมถึงมาตรการติดตามชำระเงินคืน ควรแบ่งประเภทมาตรการโดยยึดวัตถุประสงค์ของกยศ.ที่มุ่งหวังแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม และสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลด้วย
 
พลเรือเอก วัลลภ เกิดผล สมาชิกสนช. ที่เห็นว่า ควรพิจารณาให้มีความถี่ถ้วน โดยเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมถึงกรณีผู้กู้ยืมต้องแจ้งนายจ้างรับทราบว่าเป็นผู้กู้ยืมกยศ.หลังจากรับเข้าทำงานแล้ว 1 เดือน เพื่อให้นายจ้างรับทราบว่าผู้เข้าทำงานมีหนี้สินอยู่กับภาครัฐ อีกทัั้งยังมีบทลงโทษนายจ้างที่ไม่ส่งเงินจากการหักเงินเดือนลูกจ้าง ให้นายจ้างรับผิดแทนนั้น ซึ่งมองว่าควรมีการศึกษาข้อดีข้อเสียถึงการแจ้งต่อนายจ้างก่อนหรือหลัง เพราะหากกำหนดต้่องแจ้งนายจ้างทราบภายหลังอาจเกิดการปัดความรับผิดชอบ แต่หากสามารถสามารถแจ้งนายจ้างรับทราบก่อนให้ผู้กู้เข้าทำงานน่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับนายจ้างมากกว่า
 
นายตวง อันทะไชย สมาชิกสนช. มองว่า การดำเนินงานของคณะกรรมการกองทุนฯที่ผ่านมา กลับทำตัวเองเป็นเจ้าหนี้ หรือจ้างบริษัทเอกชนโดยใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท เพื่อทวงถามหนี้ โดยลืมวัตถุประสงค์ของกองทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าอนาคตจะต้องไม่เป็นซ้ำเดิมอีก อีกทั้งเห็นว่าผู้กู้บางรายแม้จะจบการศึกษามาแต่ก็ยังมีบางส่วนที่ไม่มีงานทำ จะเอาเงินที่ไหนคืน ซึ่งต้องแยกมาตรการในการผ่อนปรนเป็นสองส่วน ซึ่งนอกจากสร้างโอกาสแล้ว ควรมีการสร้างงานให้ด้วยหรือไม่ ถ้าสร้างโอกาส สร้างงานแล้ว ยังทำไม่ได้ ค่อยมีมาตรการขั้นต่อไป
 
ภายหลังการอภิปรายของสมาชิก นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า การเข้าถึงข้อมูลผู้กู้นั้น เพื่อประโยชน์ติดตามทวงถามหนี้ในการหักเงินเท่านั้น คงไม่ก้าวล่วงเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล อีกทั้งจะต้องเป็นเข้าถึงโดยยินยอมของผู้กู้ด้วย หลังจากนั้น ที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ด้วยคะแนนเห็นด้วย 141 ไม่เห็นด้วย 1 งดออกเสียง 4 พร้อมกับตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาจำนวน 15 คน
 
 
สธ.สร้างเสริมภูมิคุ้มกันเด็กในไซต์งานก่อสร้าง เพิ่มการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรค
 
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และนายอภิชาติ จูตระกูล ประธานอำนวยการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการดำเนินการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคสำหรับเด็กในที่พักคนงานก่อสร้าง ภายใต้โครงการก่อสร้างของ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) โดยมีนายแพทย์ริชาร์ด บราวน์ เป็นสักขีพยาน ณ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข
 
นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยการให้วัคซีนอย่างเป็นระบบ เป็นกลวิธีที่สำคัญในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน โดยจัด บริการวัคซีนฟรี 10 ชนิด แก่เด็กไทย ทุกคนตั้งแต่แรกเกิดและตามช่วงอายุ ผลการให้วัคซีนอยู่ในเกณฑ์ดี ครอบคลุม มากกว่าร้อยละ 90 ทั้งนี้ เพื่อให้ระบบการป้องกันโรคของประเทศไทยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ได้ให้กลุ่มบุตรแรงงานต่างด้าวซื้อบัตรสุขภาพเด็กราคา 365 บาทคุ้มครอง 1 ปี ซึ่งเด็กจะได้รับการดูแลรักษา ส่งเสริมป้องกันโรค และได้รับวัคซีนป้องกันโรคด้วยเช่นกัน ในปีงบประมาณ 2559 นี้ จำหน่ายบัตรสุขภาพเด็กแล้ว 33,166 คน มากที่สุดคือจังหวัดเชียงใหม่ 5,801 คน รองลงมาระยองคือ 3,369 คน และชลบุรี 2,312 คน
 
อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มเป้าหมาย บางกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการวัคซีน โดยเฉพาะเด็กที่ติดตามผู้ปกครองที่เป็นแรงงานเคลื่อนย้ายเพื่อการประกอบอาชีพ เช่น เด็กในที่พักคนงานก่อสร้าง เด็กในที่พักคนงานรับจ้างเกษตรกรรม เด็กที่พักในโรงงาน เป็นต้น ความ ร่วมมือในรูปแบบประชารัฐครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นในการดูแลเด็กทั้งที่เป็นเด็กไทย และบุตรหลานแรงงานต่างด้าว เข้าถึงวัคซีน และจะได้ขยายความร่วมมือไปในไซต์งานอื่นๆ ต่อไป
 
 
กรมการจัดหางานตั้งศูนย์แรกรับและสิ้นสุดการจ้างใน จ.ตาก สระแก้ว และหนองคาย ให้ความรู้แก่แรงงานต่างด้าวก่อนเข้ามาทำงานในประเทศไทย
 
กรมการจัดหางาน จัดตั้งศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างในจังหวัดตาก สระแก้ว และหนองคาย เพื่อเป็นศูนย์อบรมให้ความรู้แก่แรงงานต่างด้าวในการทำงานและการใช้ชีวิตในประเทศไทย รวมทั้งเป็นสถานที่ตรวจสอบ คัดกรองแรงงานก่อนเดินทางกลับประเทศ หวังป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2559 ให้กระทรวงแรงงานจัดตั้ง "ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง”สำหรับแรงงานต่างด้าวสัญชาติ เมียนมา ลาว และกัมพูชา จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างจังหวัดตาก ณ อาคารเลขที่ 555 ถนนสายเอเชีย ตำบลแม่สอด จังหวัดตาก 2. ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างจังหวัดสระแก้ว ณ อาคารเลขที่
 
499/158,499/160,499/162,499/164 ศูนย์การค้าตลาดอินโดจีน ตำบลบ้านไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว และ 3.ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างจังหวัดหนองคาย ที่อาคารเลขที่ 165/1 หมู่ที่ 5 ตำบลมีชัย อำเภอเมืองหนองคาย เพื่ออำนวยความสะดวก และเป็นสถานที่ให้ความรู้แก่แรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย ในด้านต่างๆ เช่น การอบรมให้ความรู้แก่แรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะเรื่องสัญญาจ้างงาน การใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย ตรวจสอบคัดกรองแรงงานต่างด้าว การบันทึกข้อมูลแรงงานต่างด้าว ตรวจสอบและพิจารณาการรับสิทธิที่พึงได้รับของแรงงาน เมื่อจะเดินทางกลับประเทศ รวมทั้งเป็นศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกแก่นายจ้าง และแรงงานต่างด้าว เกี่ยวกับการดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญาจ้าง ซึ้งจะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้ความคุ้มครองแก่แรงงานต่างด้าวมาตรฐานสากลด้วย
 
อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันนายจ้างที่มีความต้องการแรงงานต่างด้าวสามารถดำเนินการได้ในรูปการนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่ถูกต้องตามกฎหมายภายใต้ MOU เท่านั้น ซึ่งจากตัวเลขการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MOU ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 – กรกฎาคม 2559 พบว่า มีนายจ้างความต้องการนำเข้าแรงงานแล้ว จำนวน 284,405 คน อนุญาตให้นำเข้าแรงงานตามงัญชี (มาตรา 11) แล้วจำนวน 150,454 คน สอบถามรายละเอียดการจ้างแรงงานต่างด้าวเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10 หรือ สายด่วนกรมการจัดหางานโทร.1694
 
 
ชุดเฉพาะกิจสตูลตรวจโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ เฝ้าระวังค้ามนุษย์ รักษาคุณภาพเทียร์ 2
 
วันที่ 8 กันยายน ชุดเฉพาะกิจตรวจสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำ จ.สตูล ตามคำสั่งของศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทะเลเขต 3 มอบหมายให้ น.ต.วีรพงษ์ นาคประสิทธิ์ ผบ.นป.สอ.รฝ.491 ในฐานะหัวหน้าชุดเฉพาะกิจ พร้อมสนธิกำลังซึ่งประกอบด้วยตำรวจภูธร จ.สตูล ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อุตสาหกรรมจังหวัด ประมงจังหวัด สวัสดิการคุ้มครองแรงงานจังหวัด จัดหางาน เข้าตรวจสอบเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และควบคุมให้โรงงานซึ่งอยู่ในเป้าหมายของอียูพื้นที่ จ.สตูล อย่างโรงงานผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องสยาม ต.คลองขุด อ.เมือง จ.สตูล ให้อยู่ในเกณฑ์คุณภาพ หลังก่อนหน้านี้ได้เข้าตรวจสอบแล้วเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2559 และเพื่อเป็นการรักษาคุณภาพประมงของไทยหลังมีการประกาศให้อยู่ในเทียร์ 2
 
จากการตรวจสอบในครั้งนี้เป็นการตรวจสอบซ้ำ นอกจากสถานประกอบการแล้ว การตรวจตั้งแต่ต้นทาง เรือประมง ได้มีการทำงานของศูนย์แจ้งเตือนเข้า-ออกของเรือประมง คอยตรวจสอบการปฏิบัติของเรือประมงทุกลำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งเรื่องของแรงงาน เรือ อุปกรณ์บนเรือ และหากมีการพบเห็นสิ่งผิดปกติ สงสัยจะมีการใช้แรงงานเถื่อน หรือใช้แรงงานผิดกฎหมายก็สามารถแจ้งเตือนเข้ามาได้ เราจะนำกำลังเข้าตรวจแบบเซอร์ไพรส์ในทันที
 
สำหรับโรงงานผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องสยาม ต.คลองขุด อ.เมือง จ.สตูล เป็นโรงงานขนาดกลางหนึ่งเดียวใน จ.สตูล มีแรงงานไทยและต่างด้าวทั้งสิ้น 1,100 คน โดยแบ่งเป็น 2 กะ โดยแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานในท้องถิ่น ล่าสุดมีแรงงานต่างด้าวเพียง 40 คน เมียนมา 39 คน และกัมพูชา 1 คน โดยการจัดหาแรงงานผ่านกระบวนการจัดหาของภาครัฐที่ได้ทำ MOU ในการหาแรงงานเข้ามาใช้ และมีแรงงานบางส่วนเดินทางเข้ามาสมัครด้วยตัวเอง ซึ่งการตรวจสอบเป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งโรงงาน โดยผลการตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติ
 
 
ปลัดกระทรวงแรงงาน เผยปี 59 พัฒนาฝีมือแรงงานเอสเอ็มอี ได้ 24,862 คนใน 260 สถานประกอบการ ลดการสูญเสียกว่า 1.1.พันล้าน เผยปี 60 พัฒนาอีก 180 สถานประกอบการ
 
เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2559ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าวว่าการเพิ่มผลิตภาพด้านแรงงานด้วยการพัฒนาฝีมือแรงงานประจำปีงบประมาณ 2559 นี้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้พัฒนาศักยภาพแรงงานในระบบ SMEs กว่า 24,862 คนในสถานประกอบการ 260 แห่งใน 20 ประเภทธุรกิจให้มีทักษะฝีมือที่สูงขึ้น สามารถทำงานได้มากขึ้นในเวลาเท่าเดิม และขณะเดียวสามารถลดการสูญเสีย ลดต้นทุนในวงจรการผลิตได้ด้วย ซึ่งจากที่ประเมิณโครงการนี้ทำให้สถานประกอบการลดการสูญเสียได้กว่า 1.1.พันล้านบาท
 
ขณะที่ในปีงบประมาณ 2560 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ยังจะคงดำเนินโครงการต่อเนื่อง เพื่อช่วยพัฒนาธุรกิจ SMEs ในสถานกประกอบการ 180 แห่ง ซึ่งในปี 60 จะเพิ่มเป้าหมายในเรื่องการพัฒนา แรงงานทักษะต่ำ ไปสู่แรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีทักษะสูง ให้ได้มาตรฐานฝีมือแรงงาน จำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน
 
นอกจากนี้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ยังมีกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อเปิดโอกาส ให้ผู้ประกอบการได้มากู้ยืมนำเงินไปพัฒนาฝีมือของพนักงาน ในการปรับปรุงกระบวนการผลิต และเสริมสภาพคล่องในสถานประกอบการ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 0.1%เท่านั้น
 
สำหรับ 20 ประเภทธุรกิจในปี 2559 ที่กรมพัฒนาฝีมือฯเข้าไปฝึกฝนให้มีแรงงานทักษะเพิ่ม อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม สิ่งทอและแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์จากไม้ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ พลาสติกและยาง ชิ้นส่วนยานยนต์ ธุรกิจสิ่งพิมพ์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โรงแรมท่องเที่ยวและภัตตาคาร โลจิสติกส์ และการเกษตร
 
 
ผู้ประกันตนเฮ! บอร์ดการแพทย์ยกเลิกบัญชีแนบท้าย’ทำฟัน’ ให้สิทธิ 900 บ.ไร้เงื่อนไข
 
เมื่อวันที่ 9 กันยายน นพ.ชาตรี บานชื่น ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การแพทย์ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ดการแพทย์ พิจารณาทบทวนบัญชีประกาศแนบท้าย หลักเกณฑ์สิทธิการรักษาทันตกรรมผู้ประกันตนของสำนักงานประกันสังคมตามที่มีผู้เรียกร้อง เพราะมองว่าการเพิ่มสิทธิค่าบริการทันตกรรม 900 บาทต่อปี จากเดิม 600 บาท แต่มีการกำหนดบัญชีแนบท้าย จะทำให้เป็นการจำกัดวงเงินและได้รับสิทธิที่น้อยลงนั้น ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว และมีมติให้ยกเลิกประกาศแนบท้าย กล่าวคือ ให้ผู้ประกันตนได้สิทธิเบิกค่าบริการทันตกรรมได้ 900 บาทต่อปี โดยไม่มีเงื่อนไข ขณะเดียวกันจะมีการประสานหารือร่วมกับสถานพยาบาลภาครัฐ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) และสังกัดภาครัฐอื่นๆ เพื่อขอความร่วมมือในการเบิกจ่ายตรงคล้ายๆ สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยผู้ประกันตนไปใช้สิทธิทันตกรรมโดยไม่ต้องสำรองจ่าย แต่ให้ทางสถานพยาบาลภาครัฐมาเบิกกับทาง สปส.แทน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 900 บาท โดยการใช้บริการแต่ละกรณี ทั้งอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน จะเป็นเกณฑ์ค่าบริการของสถานพยาบาลภาครัฐนั้นๆ อาทิ ของกระทรวงสาธารณสุข ค่าบริการจะคิดตามเกณฑ์ของกระทรวง หากค่าบริการเกิน 900 บาท ทางผู้ประกันตนจะต้องจ่ายส่วนต่างเอง
 
“เช่นเดียวกับ รพ.เอกชน โดยจะมีการประกาศว่า รพ.เอกชน หรือคลินิกใดสนใจเข้าร่วมก็จะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ของ สปส. โดยเป็นการเบิกจ่ายตรง คือ ไม่เก็บเงินผู้ประกันตนในวงเงิน 900 บาท แต่มาเบิกกับทาง สปส.เอง ทั้งนี้ ต้องมีการเปิดเผย หรือแจ้งค่าบริการกรณีต่างๆ ให้ทางผู้ประกันตนทราบก่อน เพื่อให้ทราบว่า หากเกินวงเงิน 900 บาทต้องจ่ายส่วนต่างเองมากน้อยแค่ไหน ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นทางเลือกให้ผู้ประกันตนที่อาจไม่ต้องการเข้าสถานพยาบาลภาครัฐ ก็เลือกเข้า รพ.เอกชนได้ แต่ทั้งหมดยังไม่ใช่ข้อสิ้นสุด เพราะมติของบอร์ดการแพทย์จะต้องเสนอต่อคณะกรรมการประกันสังคมชุดใหญ่ให้พิจารณาอีกครั้งภายในสัปดาห์หน้า” นพ.ชาตรีกล่าว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับอัตราค่าบริการทางการแพทย์แนบท้ายประกาศคณะกรรมการการแพทย์ ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งจะมีการยกเลิกในเร็วๆ นี้ ประกอบด้วย 1.ขูดหินปูนทั้งปาก อัตราค่าบริการ (เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน) 400 บาท 2.อุดฟันด้วยวัสดุอะมอลกัม (Amalgam) 1 ด้าน 300 บาท อุด 2 ด้าน 450 บาท 3.อุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน 1 ด้าน กรณีฟันหน้า 350 บาท กรณีฟันหลัง 400 บาท อุด 2 ด้าน กรณีฟันหน้า 400 บาท กรณีฟันหลัง 500 บาท 4.ถอนฟันแท้ 250 บาท ถอนฟันที่ยาก 450 บาท และ 5.ผ่าฟันคุด 900 บาท
 
 
กรมจัดหางาน-ตร.ชลบุรีลุยจับ 3 ไกด์เถื่อนจีน
 
นายพิธสันต์ ถนนทิพย์ นักวิชาการแรงงานชำนาญการ กองทะเบียนจัดหางานกลาง และคุ้มครองคนหางาน กรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ สนธิกำลังตำรวจสืบสวนจังหวัดชลบุรี โดย พ.ต.ต.ปริญญา เดชธรรมฤทธิ์ สว.สส. จ.ชลบุรี พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่จากชมรมมังคุเทศน์จีนกลางแห่งประเทศไทย ลุยพื้นที่ตำบลนาจอมเทียนบริเวณเขาชีจรรย์ ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ตรวจจับไกด์เถื่อนชาวจีน หลังได้รับการร้องเรียนจำนวนมาก จากการเข้าตรวจสอบสามารถจับไกด์เถื่อนได้ 3 คน MR Wu Jiang Uo อายุ 30 ปี MR Han Rui อายุ 40 ปี และ MR Zhang Xianfeng อายุ 46 ปี ทั้งหมดเป็นชาวจีน ด้านนายพิธสันต์ เปิดเผยว่า ทางกรมการจัดหางานได้รับการประสานจากชมรมมักคุเทศน์แห่งประเทศไทย โดยมีนายหยงผิง แซ่เหมา เป็นตัวแทนเข้าร้องเรียนว่ามีไกด์เถื่อนจำนวนมากเข้ามาทำหน้าที่บริการลูกทัวร์จีน ทำให้ไกด์ที่ถูกต้องไม่มีงานทำ หลังได้รับการร้องเรียนแล้วจึงวางแผนเข้าจับกุม และสามารถจับกุมไกด์เถื่อนพร้อมของกลางได้ นายพิธสันต์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันบริษัททัวร์รวมทั้งไกด์เถื่อนมีวิธีหลีกเหลี่ยงการตรวจค้นจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยใช้วิธีไม่เก็บหลักฐานต่างๆเกี่ยวกับลูกทัวร์ ใบเสนอขายสินค้า ใบออฟชั่นต่างๆ รวมทั้งบริษัททัวร์ที่มีไกด์เถื่อนจะจ้างคนไทยมานั่งประจำรถคนละ2,000บาทต่อคัน ซึ่งหลังจากจับกุมได้แล้วควบคุมตัวมายัง สภ.นาจอมเทียนเพื่อส่งดำเนินคดีในข้อหา พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 51 เป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน และ พ.ร.บ.มังคุเทศน์ เป็นผู้นำเที่ยวโดยไม่มีใบอนุญาต
 
 
คสรท. ยื่นหนังสือ ก.แรงงาน ทวงขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำสัปดาห์หน้า ขอ รบ. ชุดใหม่ ไม่ออกนโยบายปรับค่าแรง
 
นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย หรือ คสรท. เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอเอ็นเอ็น ว่าในสัปดาห์หน้า ทาง คสรท. จะมีการยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อทวงถามเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 บาทต่อวัน ก่อนที่คณะกรรมการจะมีการประชุมกันในวันที่ 15 กันยายน ทั้งนี้ ยอมรับว่า อาจจะต้องรอผลจนถึงสิ้นปีนี้ เนื่องจากบางฝ่ายยังมีความเห็นว่าปัจจุบันยังไม่เหมาะกับการขึ้นค่าแรงงาน โดย คสรท. ยังยืนยันว่าจะต้องปรับค่าแรงให้เท่ากันทุกจังหวัด อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลเดินหน้าตามโรดแมป โดยมีการจัดการเลือกตั้งปีหน้านั้น เชื่อว่ารัฐบาลชุดใหม่คงไม่มีนโยบายด้านเศรษฐกิจ เรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเหมือนกับชุดที่ผ่านมา เนื่องจากทำให้กลไกของตลาดบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง ซึ่งทาง คสรท. เองก็เห็นด้วย
 
 
ปลัดแรงงาน เผยเตรียมยืดอายุเกษียณเป็น 60 ปี
 
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน บอกว่า ปัจจุบันไทยมีผู้สูงอายุกว่า 10 ล้านคน หรือร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด ทำให้ขาดแคลนแรงงาน จึงจำเป็นที่ไทยต้องขยายอายุการทำงานให้มากขึ้น ขณะนี้กระทรวงแรงงานกำลังปรับปรุงกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน และพ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อรองรับการจ้างงานผู้สูงอายุ ทั้งในเรื่องอายุเกษียณจาก 55 ปี เป็น 60 ปีในระยะแรก การคุ้มครองการทำงาน และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งนี้ คาดว่าร่างแก้ไขจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคมนี้ และอยู่ระหว่างพิจารณาอัตราค่าจ้างรายชั่วโมง สำหรับผู้สูงอายุโดยตั้งเป้าปีนี้ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำกว่า 2 พันคน
 
 
ก.แรงงานเล็งกำหนดอัตราค่าจ้างตามฝีมือแรงงานเพิ่ม 12 สาขา
 
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวง แรงงาน เป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็น (ร่าง) อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 12 สาขาอาชีพ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯกล่าวว่า การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานจะบังเกิดผลดีในวงกว้าง มิใช่มีเพียงการพัฒนาทางตรงคือ การพัฒนาความรู้ ทักษะฝีมือ และความสามารถเท่านั้น ซึ่ง "การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ" ถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่เป็นแรงจูงใจส่งเสริมให้เกิดการ พัฒนาทางอ้อมด้วย เพราะการมีอัตราค่าจ้าง ขั้นต่ำ และอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ จะเป็น เสมือนหนึ่งการมีเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ (Career Path) ของลูกจ้างตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ (Unskilled labour) จนกระทั่งถึงช่างฝีมือ (Skilled labour) ทำให้ลูกจ้างมีขวัญและกำลังใจในการทำงาน หลังจากที่ได้รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ใน 12 สาขาอาชีพ 3 กลุ่มอุตสาหกรรมแล้ว จะนำเข้าคณะอนุกรรมการค่าจ้างอีกครั้ง เพื่อพิจารณาจัดเข้าระบบตามสูตรการคำนวณ ก่อนจะนำเข้าคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาใน ลำดับต่อไป โดยคาดว่าภายในเดือนตุลาคมนี้ จะสามารถประกาศบังคับใช้ได้
 
ปัจจุบันอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน มีผลบังคับใช้แล้วใน 11 กลุ่ม อุตสาหกรรม รวม 55 สาขา มีอัตราค่าจ้าง ตั้งแต่ 320 บาท ถึง 775 บาท ตามระดับความสามารถ สำหรับ 12 สาขาอาชีพ ใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่ต้องจัดทำอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรมจักรกลและโลหะการ จำนวน 4 สาขา คือ ช่างเทคนิคเขียนแบบ เครื่องกล/ช่างเชื่อมทิกสำหรับอุตสาหกรรมจักรกลและโลหะการ/ช่างเทคนิคระบบส่งกำลัง/ ช่างเทคนิคไฮโดรลิก 2.อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น จำนวน 4 สาขา คือ ช่างเชื่อมระบบท่อในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น/ช่างเทคนิคเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่/ช่างเทคนิคห้องเย็นขนาดเล็ก/พนักงานประกอบเครื่องปรับอากาศ 3.อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ จำนวน 4 สาขา คือ ช่างเทคนิคเครื่องกัดอัตโนมัติ/ช่างเทคนิคเครื่อง อีดีเอ็ม/ช่างเทคนิคเครื่องไวร์คัดอีดีเอ็ม/และ ช่างขัดเงาแม่พิมพ์
 
 
"กกจ." รับข้อเสนอผู้นำเข้าต่างด้าว
 
อธิบดีกรมการจัดหางานหรือ กกจ. นายอารักษ์ พรหมณีบอกว่ากกจ.ได้รับข้อเสนอตัวแทนจากชมรมผู้นำเข้าแรงงานต่างด้าวที่ยื่นถึงรมว.แรงงานโดยขอให้แก้ไขพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้พระราชกำหนดฯ ซึ่งข้อเสนอมี 6 ข้อ เช่น ลดจำนวนเงินหลักประกันที่ผู้รับอนุญาตต้องวางไว้กับอธิบดีกกจ.จากไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาทเป็นไม่น้อยกว่า 3 แสนบาทให้ขยายระยะเวลาผ่อนปรนของบทเฉพาะกาลจาก 60 วันเป็น 1 ปี ทั้งนี้ จะพิจารณาข้อเสนอโดยยึดหลักการแก้ปัญหา เช่น แรงงานบังคับ แรงงานขัดหนี้ซึ่งเสี่ยงต่อการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน
 
 
เผย 11 เดือนพบแรงงานต่างด้าวผิด กม.เกือบ 3,000 คน
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ตรวจสอบการทำงานของแรงงานต่างด้าวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 100/2557 ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.2558- 31 ส.ค.2559 ได้ดำเนินการตรวจสอบสถานประกอบการใน กทม.ไปแล้ว 2,988 แห่ง โดยตรวจการทำงานของแรงงานต่างด้าว จำนวน 52,639 คน ซึ่งดำเนินคดีกับนายจ้าง/สถานประกอบการไปแล้ว 217 ราย ดำเนินคดีกับแรงงานต่างด้าว จำนวน 1,298 คน แบ่งเป็น สัญชาติเมียนมา 675 คน ลาว 88 คน กัมพูชา 381 คน และสัญชาติอื่นอีก 154 คน
 
ส่วนการตรวจสอบการทำงานของแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ต่างจังหวัดทั่วประเทศ ดำเนินการตรวจสอบสถานประกอบการไปแล้ว 2,638 แห่ง ตรวจการทำงานของแรงงานต่างด้าว จำนวน 46,416 คน ซึ่งดำเนินคดี นายจ้าง/สถานประกอบการไปแล้ว 264 ราย ดำเนินคดีกับแรงงานต่างด้าว 1,646 คน แบ่งเป็น สัญชาติเมียนมา 939 คน ลาว 120 คน กัมพูชา 370 คน และสัญชาติอื่น จำนวน 127 คน รวมตรวจทั่วประเทศ ตรวจพบแรงงานผิดกฎหมายจำนวน 2,944 ราย และดำเนินคดีกับนายจ้างรวม 481 ราย
 
"แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ เมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย สามารถทำงานได้ใน 2 ตำแหน่งงานเท่านั้น คือ งานกรรมกรใน 24 ประเภทกิจการ และงานรับใช้ในบ้าน ส่วนอาชีพอื่นที่อยู่ในพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ.2522 จำนวน 39 อาชีพ แรงงานต่างด้าว ไม่สามารถทำได้ เพราะจะสงวนไว้ให้คนไทยเท่านั้น" นายอารักษ์ กล่าว
 
 
กระทรวงแรงงานจับมือ สมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์ฯเพิ่มทักษะแรงงาน
 
กระทรวงแรงงาน จับมือสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ (ส.อ.ค.) ภายใต้ “โครงการสานพลังประชารัฐเพิ่มทักษะแรงงานรองรับการเข้าสู่ประเทศไทย 4.0” พัฒนาศักยภาพของแรงงาน ในสถานประกอบกิจการให้มีความรู้ความสามารถด้านคอมพิวเตอร์ และทักษะฝีมือที่สูงขึ้น รองรับการเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 และการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจในอนาคต
 
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังจากเป็นประธานในการลงนามความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ร่วมกับสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ (ส.อ.ค.) ในการดำเนิน “โครงการสานพลังงานประชารัฐเพิ่มทักษะแรงงานรองรับการเข้าสู่ประเทศไทย 4.0” ว่า จากการที่รัฐบาลดำเนินนโยบายพัฒนาประเทศสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยเน้นขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมมากขึ้นเพื่อก้าวให้ถึงจุดมุ่งหมายดังกล่าว พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของแรงงานในสถานประกอบการให้มีความรู้ความสามารถด้านคอมพิวเตอร์ และทักษะฝีมือให้สูงขึ้นทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รวมถึงรองรับต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจใจอนาคต โดยในระยะแรกการอบรมจะเน้นพัฒนาทักษะคอมพิวเตอร์เป็นหลัก เพราะนอกจากจะเป็นการยกประสิทธิภาพในการทำงานแล้ว ยังเป็นทางเลือกสำหรับผู้ต้องการเป็น New Startup ริเริ่มกับอาชีพใหม่ที่สร้างความท้าทายในยุคดิจิตอล โดยการพัฒนาด้านอี-คอมเมิรช์ อี-มาร์เก็ตเพลส ต่อยอดสร้างความได้เปรียบทางโลกธุรกิจในปัจจุบันด้วยซึ่งจะมีการฝึกนำร่องให้แก่แรงงานในสถานประกอบกิจการที่เป็นสมาชิกของสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ใน 6 จังหวัดนำร่อง คือ ปทุมธานี ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา และระยอง โดยจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับหลักสูตรการควบคุมระบบอัตโนมัติ การใช้โปรแกรม Microsoft Excel ความรู้เบื้องต้นในการออกแบบเว็บไซต์และการประกอบธุรกิจในยุคไอที เป็นต้น มีตั้งเป้าหมายดำเนินการจำนวน 500 คน หลังจากนั้นจะขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ
 
กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คอมพิวเตอร์เป็นอุตสาหกรรมที่ได้ชื่อว่าเป็นดาวรุ่งที่สุดในการเป็นอุตสาหกรรมไทยแลนด์ 4.0 กระทรวงแรงงาน จึงมีแนวคิดการเดินไปด้วยกัน ด้วยการทำงานในรูปแบบประชารัฐในเรื่องการเตรียมคนซึ่งได้มีการหารือกับสมาคมฯ ในการออกแบบวางแผนพัฒนากำลังคนรองรับไทยแลนด์ 4.0 ร่วมกัน จึงได้มีการจัดโครงการนี้ที่จะดำเนินการร่วมกับ 30 บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ จัดหลักสูตรการยกระดับทักษะฝีมือ รองรับไทยแลนด์ 4.0 ร่วมกัน
 
นายสัมพันธ์ ศิลปนาฎ รองประธานและผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายปฎิบัติการอาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ประเทศไทย บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอลประเทศไทยจำกัด ในฐานะนายกสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวฯ เป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาล โดยร่วมกับกระทรวงแรงงาน เพื่อพัฒนาแรงงานให้มีทักษะสูงขึ้นลดการพึ่งพาแรงงานจำนวนมากตามนโยบายรัฐบาล ทั้งนี้ ก่อนจะขยายผลให้ครอบคลุม มีแนวคิดว่าควรให้กระทรวงศึกษาธิการเข้ามาร่วมมือในครั้งนี้ด้วย เพื่อกำหนดทิศทางการศึกษาได้สอดคล้องกับความต้องการ โดยตั้งเป้าภายใน 1 ปี จะพัฒนาแรงงานให้มีทักษะสูงขึ้นไม้น้อยกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนสมาชิกสมาคมกว่า 90,000 คน
 
 
บอร์ดค่าจ้างนัดสรุปตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำ 15 ก.ย. นี้ เตรียมชงปรับค่าแรง13จังหวัดเข้าหารือ
 
13ก.ย. 2559 การพิจารณาปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ของคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ที่มี ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดค่าจ้าง และถูกเลื่อนการพิจารณาจากวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด ไปสำรวจตัวเลขสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและค่าครองชีพในแต่ละพื้นที่
 
ล่าสุดมีการเสนอข้อมูลกลับมายังบอร์ดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และถูกส่งต่อให้คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองวิเคราะห์ นำไปคำนวณว่าควรปรับขึ้นค่าจ้างหรือไม่ และอัตราเท่าใดที่จะเหมาะสม เพื่อนำกลับมาพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ในวันที่ 15 ก.ย.นี้
 
ขณะที่ความเห็นของแต่ละฝ่ายยังคงมีมุมมองแตกต่าง โดยเฉพาะในประเด็นการปรับค่าแรงเป็นรายจังหวัดที่ภาครัฐและฝ่ายนายจ้างมีความเห็นค่อนข้างสอดคล้องกัน กับฝ่ายลูกจ้างและนักวิชาการบางส่วนที่เห็นว่าค่าครองชีพแต่ละพื้นที่ไม่แตกต่างกันมากจนถึงขั้นจะจำแนกเป็นรายพื้นที่ได้
 
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าข้อมูลของอนุกรรมการค่าจ้าง 77 จังหวัด ที่รายงานเข้ามามีจังหวัดที่ขอขึ้นค่าจ้าง 11 จังหวัด ได้แก่ จ.เพชรบูรณ์ สกลนคร พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี กระบี่ ภูเก็ต นราธิวาส อ่างทอง และสระบุรี ซึ่งเสนอขอปรับใน 2 อัตรา ฝ่ายนายจ้างเสนอเพิ่ม 15 บาท ส่วนฝ่ายลูกจ้างเสนอเพิ่ม 60 บาท
 
ขณะที่อีก 2 จังหวัด คณะอนุกรรมการค่าจ้างมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ในการปรับขึ้นค่าจ้าง โดยฝ่ายลูกจ้างขอปรับ แต่นายจ้างไม่ขอปรับ คือ จ.ปทุมธานี ลูกจ้างขอเพิ่ม 20 บาท และสมุทรสาคร 60 บาท ส่วนจังหวัดที่เหลือไม่เสนอขอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งรวมถึงกรุงเทพฯ ด้วย
 
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าก่อนที่บอร์ดค่าจ้างจะมีการพิจารณาในวันที่ 15 ก.ย.นี้ ได้ส่งเรื่องกลับไปให้คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองวิเคราะห์ นำข้อมูลที่อนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างจังหวัดส่งมา อาทิ สภาวะค่าครองชีพในแต่ละจังหวัดที่ต่างกัน สภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ นำไปพิจารณาคำนวณสูตรอีกครั้ง ก่อนส่งกลับมาให้บอร์ดค่าจ้างพิจารณา
 
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท