Skip to main content
sharethis

เจมส์ มิทเชลล์ ผู้ศึกษาด้านดนตรีในแง่มุมสังคม-วัฒนธรรม นำเสนอเรื่องราวในเว็บเดอะอีสานเรคคอร์ดเกี่ยวกับหงษ์ทอง ดาวอุดร นักร้องลูกทุ่งและหมอลำ เกี่ยวกับการเดินทางในชีวิตของเธอจากนักร้องลูกทุ่งสู่การกลายเป็นนักโทษการเมือง

หงษ์ทอง ดาวอุดร เป็นดาราเด็กตั้งแต่อายุ 7-8 ปี เมื่อราว 50 ปีที่แล้ว จนกระทั่งต่อมาเธอก็พัฒนาตัวเองมาเป็นนักร้องหมอลำลูกทุ่ง เธอมีอาชีพที่สองเป็นดีเจวิทยุในใจกลางขบวนการเสื้อแดงของจังหวัดอุดรธานี แล้วเธอก็ถูกทำให้ต้องไปพัวพันกับความขัดแย้งทางการเมืองจากสีเสื้อของไทย

มิทเชลล์ระบุว่าเขาใช้เวลาหลายปีเพื่อที่จะหาทางพบเจอดาวอุดรเนื่องจาก "ลูกทุ่ง" และ "เสื้อแดง" เป็นคีย์เวิร์ดสองอย่างที่เขาอยากวิจัย พวกเขาได้พบเจอกันในที่สุดเมื่อเดือน ก.ย. 2558 หนึ่งสัปดาห์ก่อนที่หงษ์ทองจะถูกตัดสินจำคุก 16 เดือนที่เรือนจำอุดรธานี ในข้อหาที่เธอร่วมทำกิจกรรมทางการเมือง


การผงาดของลูกทุ่ง

ในช่วงยุคราว 50-60 ปีที่แล้ว วงการดนตรีของไทยก็มีการสั่นสะเทือนจากการผุดขึ้นมาของดนตรีของชนชั้นแรงงานที่มีการผสมผสานแนวเพลงต่างๆ จนเกิดแนวที่เรียกว่าเพลงลูกทุ่งซึ่งมิทเชลล์เรียกว่าเป็น "คันทรีแบบของไทย" (Thai country songs) ดาราลูกทุ่งในรุ่นแรกอย่างชาย เมืองสิงห์, ไวพจน์ เพชรสุพรรณ และ ราชา-ราชินีลูกทุ่ง คนแรกอย่าง สุรพล สมบัติเจริญ กับ ผ่องศรี วรนุช ส่วนใหญ่ต่างก็มาจากจังหวัดในภาคกลางทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ

ช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง "หมอลำ" ซึ่งเป็นดนตรีพื้นบ้านของชาวไทย-ลาว ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ยากไร้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็เป็นเพลงที่มีการบันทึกเสียงกันมากและได้รับความนิยมมากขึ้น

มีการผสมผสานทั้งสองแนวคือลูกทุ่งและหมอลำเข้าด้วยกันในช่วง 40-50 ปีที่แล้วเปิดเส้นทางสู่ดวงดาวให้กับนักร้องอย่างศักดิ์สยาม เพชรชมภู จากจังหวัดมหาสารคาม, ดาว บ้านดอน จากยโสธร และศรชัย เมฆวิเชียร จากนครราชสีมา แต่กระแสก็เพิ่งมามีในอีก 10 ปีถัดจากนั้นเมื่อวัฒนธรรมอีสานเริ่มฟื้นคืน มีกระแสศิลปินเพลงชาวอีสานแห่เข้าสู่อุตสาหกรรมลูกทุ่งจำนวนมาก เช่น สรเพชร ภิญโญและนักร้องคู่ขวัญของเขาคือ น้องนุช ดวงชีวัน

มีศิลปินเพลงที่มีความสามารถจากอีสานคนอื่นๆ ในยุคนี้คือ เฉลิมพล มาลาคำ จากสุรินทร์ พิมพา พรศิริ จากชัยภูมิ ทองมี มาลัย จากยโสธร ผู้มีเพลงดังคือ "ชมรมแท็กซี่" พูดถึงวิถีชีวิตของคนขับรถแท็กซี่ชาวอีสานในกรุงเทพฯ นักร้องคนอื่นๆ คือ ขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด จากร้อยเอ็ด อรอุมา สิงห์ศิริ และเย็นจิตร พรเทวี จากขอนแก่น และแน่นอนว่าต้องมี หงษ์ทอง ดาวอุดร จากอุดรธานี

ในรุ่นนี้นักร้องลูกทุ่งจากอีสานต่างก็ได้รับการสอนจากคนเขียนเพลงรุ่นเก่าจากพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างครูเพลง สุรินทร์ ภาคศิริ, สุมทุม ไผ่ริมบึง และ ดอย อินทนนท์ ผู้ที่มาจากจังหวัดสุรินทร์และเป็นชนกลุ่มน้อยชาวกูย ครูเพลงอย่างดอย อินทนนท์ เป็นคนที่แผ้วถางเส้นทางอาชีพการงานให้กับนักร้อง ศรชัย เมฆวิเชียรและหงษ์ทอง ดาวอุดร ผู้ที่กำลังเป็นดาวรุ่งในตอนนั้นด้วยการเรียบเรียงบทเพลงเครื่องดนตรีไฟฟ้ากับเพลงหมอลำและลูกทุ่ง

ความสำเร็จของครูเพลงรุ่นเก่าเหล่านี้ผลักดันให้มีนักดนตรีอีสานเข้าสู่อุตสาหกรรมลูกทุ่งมากขึ้นเรื่อยๆ พอถึงยุคสมัยที่สุพรรณ ชื่นชม เขียนเพลงฮิตอย่าง "โบว์รักสีดำ" ให้กับศิริพร อำไพพงษ์ ครูเพลงจากภาคอีสานก็กลายเป็นผู้นำวงการและมีการลงหลักปักฐานการอุปถัมภ์ค้ำจุนคนจากภูมิภาคของพวกเขา


จากงานวัดอีสาน ถึงโรงงานครีมทาหน้าในกรุงเทพฯ

หงษ์ทองมีชื่อจริงโดยกำเนิดว่ากุหลาบ ยศอ่อน เธอเข้าสู่วงการเพลงจากการประกวดร้องเพลงในระดับจังหวัด พอเธออายุได้สิบขวบก็กลายเป็นผู้ช่ำชองการขึ้นเวทีงานวัดซึ่งเป็นแหล่งคอนเสิร์ตประจำสำหรับคนต่างจังหวัดในตะวันออกเฉียงเหนือ

ในปี 2519 อดีตนักร้องและผู้นำวงศรีไพร ใจพระ จัดการประกวดในระดับใหญ่เพื่อค้นหานักร้องรุ่นเยาว์ที่มีความสามารถ 4 คน ในตอนนั้นกุหลาบ ยศอ่อน อายุได้ 16 ปี เธอเป็นที่สามที่ได้รับการคัดเลือก ศรีไพรไปพบพ่อแม่ของเธอแล้วให้สัญญาว่าจะทำให้เธอเป็นดาราให้ได้

แต่ศรีไพรเองก็ต้องการโปรโมทครีมทาหน้ารองพื้นยี่ห้อของเขาเองที่ชื่อ "หงส์หยก" ทำให้เขาเปลี่ยนชื่อนักร้องทั้ง 4 คนที่คัดเลือกมาเป็นชื่อ หงษ์น้อย, หงษ์ฟ้า, หงษ์ทอง และหงษ์เงิน

ในช่วงแรกๆ หงษ์ทองถูกมองว่าเป็นคนที่ดูมีแววรุ่งน้อยที่สุดในกลุ่ม แต่เมื่อเพื่อนร่วมวงของเธอหงษ์น้อยต้องใช้ความพยายามอย่างมากในเพลงรางวัลที่ 1 อย่าง "บั๊มพ์...ลำเพลิน" หงษ์ทองก็ใช้โอกาสนี้ให้เป็นของเธอ จากที่เธอมีพื้นเพมาทางหมอลำมาก่อนทำให้เธอทำให้เพลง "บั๊มพ์...ลำเพลิน" กลายเป็นเพลงฮิตเพลงแรกของเธอได้

ต่อมาก็เริ่มเห็นได้ชัดเจนว่าชีวิตของพวกเธอภายใต้การชี้แนะของศรีไพรนั้นไม่ตรงกับที่พวกเธอฝันไว้ เมื่อดอย อินทนนท์ ครูเพลงเขียนเพลงไว้แล้ว หงษ์ทองก็ต้องใช้เวลาในการจำเนื้อเพลงให้เร็วไม่เช่นนั้นแล้วศรีไพรจะตีเธอแล้วบอกว่า "ถ้าเธอทำไม่ได้ก็กลับบ้านไป" ด้วยความที่หงษ์ทองเป็นคนรูปร่างอวบ บางครั้งศรีไพรก็จะบังคับให้เธออดอาหารเป็นเวลาสามวันโดยให้ดื่มแต่น้ำ

ไม่นานนักหงษ์น้อยก็ชวนนักร้องรุ่นน้องเธออีกสองคนไปเข้าร่วมกับวงของศรชัย เมฆวิเชียร แต่หงษ์ทองก็ยังคงอยู่กับศรีไพรเพราะรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณเขาอยู่ เธอจำได้ว่าศรีไพรมีความรู้มากมายที่จะสืบทอดต่อแต่มีอยู่ไม่กี่คนเท่านั้น - หรือจริงๆ แล้วอาจจะมีแค่หงษ์ทองคนเดียว - ที่ทนอยู่กับศรีไพรจนเรียนรู้ทุกอย่างจากเขาได้

แม้ว่าเพลงของเธอจะได้รับความนิยมแต่การอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ก็ยากลำบากมาก หงษ์ทองต้องอยู่ในอพาร์ทเมนต์ที่แออัดร่วมกับผู้อุปถัมภ์คนอื่นๆ ของศรีไพรและคนงานโรงงานครีมทาหน้า หงษ์ทองเล่าว่าศรีไพรจะให้เงิน 100 บาทกับนักร้องทุกคนทุกๆ 5 วัน แต่บางทีเขาก็ลืมแล้วก็เงียบหายไปต่างจังหวัด

บางทีพวกนักศึกษารามคำแหงที่อาศัยอยู่ห้องใกล้ๆ กันก็จะยืมเงินจากนักร้องแม้ว่าหงษ์ทองและนักร้องคนอื่นๆ ก็จนเหมือนกัน ด้วยความที่พวกเขาผูกพันกันในสภาพชีวิตที่ยากลำบากบางครั้งพวกเขาก็จะร่วมกันทำต้มจืดเต้าหู้ที่จะใส่น้ำเยอะมาก เมื่อครอบครัวของเธอเดินทางไกลจากอีสานมาถึงกรุงเทพฯ พวกเขาตะลึงที่เห็นเธออยู่ในสภาพยากจนถึงขั้นเห็นว่าเธอไม่มีวัตถุดิบอะไรจะทำอาหารได้ ปลาที่ครอบครัวเธอนำมาจากบ้านถูกแบ่งออกเท่าๆ กันให้กับเพื่อนบ้านของเธอที่ขอทำกับข้าวให้

ศรีไพรผู้เป็นที่รู้จักดีว่าเป็นคนเจ้าชู้ เคยแต่งงานกับนักร้องชื่อดังอย่าง บุปผา สายชล มาก่อน แต่หงษ์ทองรู้จักแต่บอมที่เป็นภรรยาคนที่ 3 ของเขาเท่านั้น แม้ว่าหงษ์ทองจะเป็นดาราใหญ่ที่สุดสำหรับศรีไพร แต่บอมก็มักจะใช้ให้หงษ์ทองออกไปซื้อของให้เพราะคนอื่นๆ สูง สวย และผิวขาวเกินไปที่จะไปตลาด กุ้งกำหนึ่งจากตลาดก็เพียงพอจะเลี้ยงสมาชิกวงทั้ง 10 คนได้แล้วแต่บอมก็เป็นคนขี้เหนียวมากถึงขนาดว่าถ้าหงษ์ทองทานลำไยไปลูกเดียวบอมก็จะตะโกนว่า "ใครกินลำไยของฉัน" ถึงกระนั้นก็ตามหงษ์ทองก็ชื่นชมที่ว่าทั้งบอมและศรีไพรต่างก็สอนให้เธอรู้จักเก็บเงิน


สู่ความเป็นดาราค่าตอบแทนดี

ในปี 2521 การที่หงษ์ทองตัดสินใจอยู่กับศรีไพรต่อไปก็ส่งผลลัพธ์ ในปีนั้นเธอได้ร้องเพลงแก้ (เพลงที่มีเนื้อเพลงทำนองโต้ตอบกับเพลงเดิม) โต้ตอบกับดาราลูกทุ่งใหญ่ 2 เพลงคือ "รักติ๋มแน่หรือ" ซึ่งเป็นการร้องแก้เพลงสายันต์ สัญญา ชื่อ "รักติ๋มคนเดียว" กับเพลง "บัวหลวงรอรัก" ซึ่งเป็นเพลงแก้ "บัวหลวงบึงพลาญ" ของศรชัย เมฆวิเชียร

หลังจากที่เธอได้รับใบอนุญาตวิทยุหงษ์ทองก็เริ่มเป็นดีเจ อีกทั้งยังทำงานเขียนบทและจัดทำจิงเกิ้ลประกอบโฆษณา และแสดงโฆษณาโทรทัศน์ เธอเคยได้รับค่าตอบแทน 100,000 บาท จากเพลงโฆษณา "ฉันรักจักรยานมิกกี้ ดูสิสง่าสวยดี ขี่ไปไหน"

ต่อมาเธอยังปรากฏบนหน้านังสือพิมพ์ไทยรัฐโพสต์ท่ากับจักรยานมิกกี้ เธอยังเป็นคอลัมนิสต์ประจำของหนังสือพิมพ์บ้านเมืองภายใต้นามปากกาว่าช่อผกา เธอยังเป็นหุ้นส่วนธุรกิจประกอบการของศรีไพรที่บ้านของเขาบนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ชั้นบนเป็นโรงงานผลิตครีมทาหน้า ชั้นล่างเป็นบริษัท เอส.เอ.เอส.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่จัดหาแรงงานอีสานส่งไปซาอุดิอาระเบีย

ศรีไพรเคยทำภาพยนตร์โปรโมทธุรกิจส่งงานไปซาอุฯ ในชื่อ "คุณนายซาอุ" ในปี 2525 ที่มีดารานำแสดงอย่าง สรพงษ์ ชาตรี, ลลนา สุลาวัลย์ และเนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ สำหรับดารานำหญิงอีกคนหนึ่งเขาไปจ้างหงษ์ทองเพราะนักร้องหญิงอื่นๆ หนีจากเขาไปหมดแล้ว หงษ์ทองเล่นบทเป็นภรรยาของแรงงานและร้องเพลงสามเพลงคือ "หงษ์ทองคะนองลำ" "ท่าพี่" และ "คุณนายซาอุ" ในแบบญี่ปุ่น

ในภาพยนตร์เรื่องนี้ศรีไพรหลอกคนงานอีสานโดยพาพวกเขาขึ้นเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ไปอุดรธานี จนพวกเขาคิดว่าไปถึงซาอุฯ แล้วจนมีมุกตลกว่า "นี่ดูเหมือนบ้านเกิดฉันเลย น่าจะเรียกมันว่าซาอุดร" อีกมุกหนึ่งคือมุกที่คนงานอีสานไม่รู้จักเนยตอนอยู่บนเครื่องบินไม่รู้ว่าควรจะทำอะไรกับมันเลยเก็บใส่กระเป๋าจนเนยละลาย ในภาพยนตร์เรื่องนี้ตัวละครที่หงษ์ทองแสดงมีบทถูกถามว่าทำไมเธอถึงมีเพชรพลอยใส่เยอะแยะมากมายขนาดนี้ เธอตอบว่า "ส่งควายไปเมืองนอก" ซึ่งบทพูดนี้มีที่มาจากการที่คนมักพูดกันว่า "ควายเมืองอุดรแข็งแรง" หงษ์ทองแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ว่า "คนกรุงเทพฯ ไม่เข้าใจว่าประโยคนี้มีที่มาอย่างไรและคิดว่ามันเป็นคำที่มีความหมายทางเพศ"

ถึงแม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่ได้ประสบความสำเร็จด้านรายได้ แต่ก็มีชื่อเสียงมากพอจะทำให้คนที่ต้องการไปทำงานที่ซาอุฯ จะคิดถึงบริษัทของศรีไพรก่อน บทบาทของหงษ์ทองในภาพยนตร์ยังทำให้เธอมีงานเพลงเข้ามามาก เธอมีรายได้เดือนละประมาณ 30,000 บาท มากพอที่เธอจะซื้อบ้านได้ก่อนที่เธอจะได้บัตรประชาชนเสียอีก

ในช่วงปี 2521-2525 หงษ์ทองมีผลงานเพลง 15 อัลบั้มในรูปแบบเทปคาสเซตต์ แต่ในปี 2525-2526 การทัวร์คอนเสิร์ตลูกทุ่งก็ประสบปัญหาหนักจากภาวะขาดแคลนน้ำมันทั่วประเทศทำให้ปั้มน้ำมันต้องปิด 4 ทุ่ม นอกจากนี้หงษ์ทองยังเริ่มมีปัญหากับเสียงของเธอเองทำให้เธอต้องลดการแสดงคอนเสิร์ตลง จนกระทั่งในปี 2528 เธอก็แต่งงานและหยุดแสดงทั้งหมดเพราะสามีเธอไม่ชอบให้เธอได้รับความสนใจจากแฟนเพลงผู้ชาย


เปลี่ยนเวทีชีวิต

ต่อมาหงษ์ทองก็เปิดประตูเข้าสู่หนทางอาชีพใหม่โดยการเข้าร่วมรณรงค์หาเสียงให้กับ กร ทัพพะรังสี และ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ พอเธอได้เป็นเพื่อนกับภรรยาของชาติชายแล้วเธอก็เริ่มรู้จักนักการเมืองกรุงเทพฯ จำนวนมากในช่วงนั้น เธอจำได้ว่าเธอเคยร้องเพลงในงานวันเกิดของชาติชายไม่นานนักหลังจากที่เขาได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งเธอได้รับทิป 30,000 บาท

หงษ์ทองให้กำเนิดลูกชายในปี 2530 และหย่ากับสามีในปี 2537 เธอออกจากกรุงเทพฯ และย้ายกลับไปอุดรธานี

หงษ์ทองประทับใจในตัวอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งในยุคนั้นทำให้พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งปี 2544 ได้ เธอบอกว่าทักษิณไปเยือนอีสานและเรียนรู้จากคนอีสาน อีกทั้งคนอีสานยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมแบบประชาธิปไตยเพราะเป็นสิ่งที่อนุญาตให้พวกเขาสามารถแสดงความคิดเห็นได้

เมื่อกองทัพโค่นล้มรัฐบาลทักษิณในปี 2549 หงษ์ทองบอกว่าเธอรู้สึกอยากประท้วง ในตอนนั้นเธอเพิ่งได้พบกับผู้จัดการเพลงลูกทุ่ง ขวัญชัย ไพรพนา แล้วจึงเริ่มทำงานเป็นดีเจให้กับสถานีวิทยุชุมชนคนรักอุดร

เมื่อขวัญชัยเริ่มมีชื่อเสียงในหมู่ขบวนการคนเสื้อแดงมากขึ้นเรื่อยๆ หงษ์ทองก็เริ่มมีสไตล์บู๊ๆ ตามแบบขวัญชัย ในวันที่ 24 ก.ค. 2551 กลุ่มรักอุดรฯ ของขวัญชัยโจมตีการชุมนุมของกลุ่มเสื้อเหลืองในพื้นที่สวนสาธารณะหนองประจักษ์ศิลปาคมในอุดรธานี ในวันนั้นวิทยุธรรมดาทั่วไปของเธอก็เปลี่ยนแปลงท่าที หงษ์ทองเรียกร้องให้กลุ่มรักอุดรฯ เข้าไปในสวนสาธารณะไปเผชิญหน้ากับกลุ่มเสื้อเหลือง เป็นเหตุให้เธอถูกตั้งข้อหาเผยแพร่ข้อมูลเท็จผ่านวิทยุและถูกตัดสินโทษจำคุก 16 เดือน เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2553

ขวัญชัยผู้ที่ไม่ได้ร่วมเหตุการณ์ด้วยก็ถูกตัดสินลงโทษจำคุก 2 ปี ในขณะที่เสื้อแดง 32 คน และเสื้อเหลือง 2 คน ที่ต่อสู้กันในเหตุการณ์ถูกตัดสินจำคุก 8 เดือน

ในปี 2550 หงษ์ทองยังร่วมวงดนตรีกับญาติของเธอที่เป็นตำรวจชื่อ บ่าวแนว เมืองอุดร พวกเขาเขียนเพลงให้กับเสื้อแดงและทำวิดีโอคลิป รวมถึงแสดงร่วมกันในการประท้วงด้วย เพลงส่วนมากของพวกเขาเป็นเพลงแปลงที่มีการดัดแปลงเนื้อร้องจากเพลงเดิม เช่น "หนุ่มเสื้อขาว สาวเสื้อแดง" เป็นเพลงที่แปลงมาจาก "หนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือ" ของสรเพชร ภิญโญ มิทเชลล์ระบุว่าเขาเขียนถึงเพลงนี้ไว้ในหนังสือของเขาชื่อ "Luk Thung: The culture and politics of Thailand’s most popular music" (ลูกทุ่ง วัฒนธรรมและการเมืองของแนวเพลงที่เป็นที่นิยมที่สุดในไทย) แต่ในตอนที่เขาเขียนนั้นเขาก็ไม่ทันได้รู้ว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังคำประกาศที่ทรงพลังอย่าง "ฉันเป็นสาวเสื้อแดงที่เข้มแข็งที่สุด"

เพลงแปลงของเสื้อแดงอีกเพลงหนึ่งที่ชื่อ "หมีหน้าฮาก" มาจากเพลง "แฟมิลี่หมีแพนด้า" ของน้องเบนซ์ จูเนียร์ หงษ์ทองเขียนเนื้อร้องเชิงเสียดสีเผ็ดร้อนแล้วบ่าวแนวก็เป็นคนตัดต่อภาพอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้เป็นนายกฯ ในตอนนั้นลงไปในวิดีโอ เท่าที่เธอจำได้เธอเคยแสดงเพลงนี้แค่ครั้งเดียวเท่านั้นในพิธีเปิดชมรมคนรักอุดรในปี 2551

มีท่อนหนึ่งในเพลงที่ทำให้หงษ์ทองถูกสั่งจำคุก เธอกล่าวติดตลกในการให้สัมภาษณ์ต่อมิทเชลล์ว่าตอนแรกเธอขอให้นำท่อนนั้นออกแต่บ่าวแนวยืนยันว่าจะใส่ท่อนนั้นลงไป "ฉันเขียนมัน ฉันร้องมัน ฉันติดคุกเพราะมัน ฉันคงมีพรสวรรค์ความเป็นศิลปินอยู่ในหัวมากเกินไป"

หงษ์ทองเพิ่งได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำอุดรธานีหลังรับโทษจำคุก 12 เดือน ไม่นานนัก มิทเชลล์ระบุว่าประเทศไทยควรจะช่วยส่งเสริมศิลปินอย่างหงษ์ทอง เธอมาจากสภาพที่ยากแค้นจนกระทั่งเอาดีด้านเพลงลูกทุ่งที่เป็นศิลปะประจำชาติได้ด้วยความเพียรพยายามและความสามารถ เมื่อสุขภาพที่ทรุดโทรมทำให้เธอเสี่ยงต่อการเสียงานเพลงไป เธอก็หันไปเอาดีด้านอื่น ปัจจุบันเธอมีความสนใจในเรื่องกระบวนการทางการเมืองและโอกาสที่ผู้นำทางการเมืองจะฟังคนไทยธรรมดาๆ ทั่วไป

แต่ก็เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ที่เป็นเสื้อแดง เธอถูกลงโทษด้วยการลิดรอนเสรีภาพเนื่องจากกิจกรรมที่เธอทำ ในช่วงท้ายการสัมภาษณ์เธอบอกกับมิทเชลล์ขอฝากประโยคต่อไปนี้ให้เป็นที่รับรู้กันด้วย "ฉันไม่ใช่เสื้อแดงเพราะฉันรักทักษิณหรือยิ่งลักษณ์" หงษ์ทองกล่าว "ฉันต้องการจะเน้นย้ำว่าผู้ประท้วงเสื้อแดงทุ่มเททำทุกอย่าง พวกเขาต้องจ่ายให้กับทุกอย่าง ฉันคิดว่าตอนนี้ผู้คนในชนบทจะมีชีวิตที่ดีขึ้นและคนอื่นๆ จะมีจิตใจที่ต้องการลุกขึ้นมาสู้เพื่อสิทธิของพวกเราเอง"

 

เรียบเรียงจาก

Isaan Lives: Hongthong Dao Udon: From singing star to political prisoner, The Isaan Record, 12-09-2016
http://isaanrecord.com/2016/09/12/isaan-lives-hongthong-dao-udon-from-singing-star-to-political-prisoner/

ติดตามเพจ The Isaan Record ได้ที่ https://www.facebook.com/IsaanRecord/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net