Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการพูดถึงกกต.อินเดียกันอย่างมากมาย ซึ่งผมไม่รู้ว่าใครเป็นคนที่พูดคนแรกว่า กกต.อินเดียมีคนเดียว แล้วระบาดไปทั่ว แม้แต่รองนายกฯหรือนักวิชาการทั้งหลายก็เป็นไปด้วยโดยไม่หาข้อมูลที่แท้จริงเสียก่อน เพราะจริงๆแล้ว กกต.อินเดียมีสามคนไม่ได้มีคนเดียวตามที่เข้าใจและถกเถียงกันแต่อย่างใด

ประเด็นที่ผมจะเขียนถึงคงมิใช่เพียงเรื่อง กกต.อินเดียมีคนเดียวหรือสามคนแต่เป็นประเด็นที่ กกต.อินเดียเขาทำงานกันอย่างไร มีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมถึงสามารถจัดการการเลือกตั้งในประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลกเพราะมีประชากรถึง 1,200 กว่าล้านคน ในพื้นที่ 3,287,590 ตารางกิโลเมตร ล่าสุด ปี 57 ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 814 ล้านคน(อายุ 18 ปีขึ้นไป) มาใช้สิทธิถึง 541 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 67 มีเขตเลือกตั้ง 543 เขต จาก ส.ส.543 คน(เขตเดียว คนเดียว) มีคูหาเลือกตั้ง 930,000 คูหา โดยการเดินทางไปเลือกตั้งของประชาชนในบางแห่งต้องเดินเท้าถึง 22 กิโลเมตรเลยทีเดียว


ความเป็นมา

เริ่มจากการที่รัฐธรรมนูญอินเดียได้ร่างเสร็จเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2493 ซึ่งเป็นวันที่ถือว่าเป็นวันชาติของอินเดียด้วย โดยมี Sukumar Sen เป็น กกต.คนแรกคนเดียวดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 21 มีนาคม 2493 ถึง 19 ธันวาคม 2501 แต่ต่อมาภายหลังตั้งแต่ 2536 จึงมีสามคนจวบจนปัจจุบัน

กกต.อินเดียแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีโดยการเสนอแนะจากรัฐบาลอินเดียเพราะการปกครองของอินเดียใช้ระบบรัฐสภา(parliamentary system) ซึ่งประธานาธิบดีเป็นเพียงประมุขมิใช่หัวหน้าฝ่ายบริหารดังเช่นประธานาธิบดีในระบบประธานาธิบดี (presidential system) อย่างสหรัฐอเมริกา แต่การถอดถอน (impeachment) ประธานกกต.นั้นต้องทำโดยสภาฯด้วยเสียง 2 ใน 3 เท่านั้น แต่การปลด กกต.อื่นนั้นทำโดยการเสนอจากประธาน กกต.เสนอให้ประธานาธิบดีเป็นผู้ปลด (ถ้าจะเปรียบเทียบบ้านเราก็คือการรับสนองพระบรมราชโองการหรือหาผู้รับผิดชอบนั่นแหล่ะครับ) โดยผู้ที่จะเป็นกกต.นั้นอายุตัวต้องไม่เกิน 65 ปี และมีวาระการดำรงตำแหน่งเพียง 6 ปีเท่านั้น แล้วแต่ว่าอันไหนถึงก่อน การลงมติหรือการตัดสินใจใดๆประธานฯและกรรมการฯ มีศักดิ์และสิทธิ์เท่ากัน โดยใช้เสียงข้างมากตัดสิน


อำนาจหน้าที่

กกต.อินเดียมีอำนาจหน้าที่จัดการเลือกตั้งทั่วไปทั้งในระดับชาติและมลรัฐเท่านั้น ไม่มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นกกต.อินเดียมีหน้าที่รับและตรวจสอบการจดทะเบียนของพรรคการเมืองเช่นเดียวกับของเรา แต่สิ่งที่หน้าทึ่งก็คือวิสัยทัศน์อันก้าวไกลของกกต.คนแรกคือ Sukumar Sen ที่เชื่อว่าการมอบสิทธิทางการเมืองให้กับประชาชนที่แม้ว่าจะไม่รู้หนังสือนั้นนับได้ว่าเป็นการทดลองทางประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดทางประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ โดยในตอนแรกๆเขาถูกโจมตีอย่างหนักว่าน่าจะเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงที่ทำเช่นนั้น เพราะคนที่โจมตีเขาเชื่อว่าหากผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถอ่านออกเขียนได้แล้วผู้มีสิทธิเลือกตั้งเหล่านั้นน่าจะถูกหลอกด้วยข้อมูลที่ผิดๆ แต่ปรากฏว่า Sukumar Sen คิดถูก กอปรกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามาโดยลำดับทำให้ข้อกล่าวหาเหล่านั้นตกไป ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ต่างจากบ้านเราก้คือนักบวชทุกศาสนาในอินเดียมีสิทธิเลือกตั้งเหมือนกันหมด เพราะเขาถือว่าศาสนาเป็นความเชื่อส่วนบุคคล การเลือกตั้งไม่มีเรื่องศาสนา ประชาธิปไตยที่แท้จริงจะไม่เอาเรื่องศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง

ตัวอย่างของการใช้อำนาจหน้าที่ของกกต.อินเดียที่ได้รับการชื่นชม ก็คือ เมื่อก่อนมีการลงคะแนนในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้งของอินเดีย ได้บังคับให้ถอนสิทธิ์ผู้สมัครเลือกตั้ง 2 ราย ที่กล่าวคำพูดที่ยุยงก่อให้เกิดความเกลียดชังและแตกแยก แตกสามัคคีของคนในชาติ ในระหว่างการกล่าวปราศรัยหาเสียงของพวกเขา อันมีผลกระทบต่อความสามัคคีและก่อให้เกิดความเกลียดชังกันของคนในชาติที่ต่างแนวความคิด แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้วอำนาจหน้าที่ในการให้ใบแดงเป็นของศาล


วิธีการจัดการเลือกตั้ง

ไม่ว่าจะเป็นสภาจะอยู่ครบวาระหรือถูกยุบก็ตาม กกต.อินเดียจะใช้เวลาเตรียมการเพื่อจัดการเลือกตั้งประมาณ 6 เดือน โดย  กกต.อินเดียมีอำนาจเด็ดขาดในการกำหนดวันเลือกตั้ง การประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ รวมถึงการประกาศข้อห้ามต่างๆ เช่น การใช้พื้นที่สาธารณะ การย้ายข้าราชการ ฯลฯ โดยการกำหนดวันเลือกตั้งจะดูความพร้อมของสภาพดินฟ้าอากาศ ฤดูกาลทางการเกษตร เทศกาลและวันสำคัญต่างๆโดยไม่จำเป็นต้องเป็นวันหยุดราชการ ที่สำคัญก็คือไม่จำเป็นต้องเลือกตั้งพร้อมกันภายในวันเดียว ซึ่งอาจใช้เวลานานถึง 5 สัปดาห์ กว่าจะเลือกตั้งเสร็จทั้งประเทศและพอเลือกตั้งเสร็จกกต.อินเดียก็ยังมีเวลาอีก 4 วันให้นับคะแนน ทั้งนี้ เพราะเขาเชื่อมั่นในการทำงานของ กกต.นั่นเอง

กกต.อินเดียสามารถสั่งให้เจ้าหน้าที่พลเรือนมาช่วยการเลือกตั้งได้ถึง 4 ล้านคน เมื่อรวมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารที่มาช่วยรักษาความสงบเรียบร้อยอีก 2 ล้านกว่าคน ก็หมายความว่า กกต.อินเดียมีบุคลากรทำงานถึง 6 ล้านกว่าคน มีเครื่องนับคะแนนอีเล็กโทรนิกส์(e-voting machine)อีก 1.1 ล้านเครื่องซึ่งเทคโนโลยีนี้จะให้ผู้ออกเสียงเลือกตั้งกดปุ่มเลือกผู้สมัครจากจอภาพที่ปรากฏใบหน้าและชื่อผู้สมัคร โดยที่ผู้ที่อ่านหนังสือไม่ออกสามารถรู้จักพรรคการเมืองผ่านตราสัญลักษณ์ของพรรคนั้นๆ ราคาของเครื่องก็พอๆ กับโน๊ตบุ๊กธรรมดาๆ นี่เองและสามารถใช้สแกนลายนิ้วมือแทนการตรวจบัตรได้ด้วย

มองเขา มองเรา แล้วเลือกเอาสิ่งดีๆมาใช้น่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าการที่จะมานั่งถกเถียงกันว่ากกต.จะมีกี่คน จะเอามหาดไทยมาจัดการเลือกตั้งอีกดีไหม ฯลฯ ที่สำคัญที่สุดก็คือ กกต.ไทยเองต้องเข้าใจบทบาทและอำนาจหน้าที่ของตนตามรัฐธรรมนูญว่าคืออะไร แล้ว กกต.ไทยก็จะได้รับความเชื่อถือจากทุกฝ่ายเหมือนกับ กกต.อินเดียดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั่นเอง

0000

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 14 กันยายน 2559
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net