Skip to main content
sharethis

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ พร้อมด้วยขบวนการอีสานใหม่ เข้ายื่นหนังสือ เรียกร้องให้กรรมการสิทธิฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริงการดำเนินคดีผู้ต้องหาประชามติ และเผยแพร่สู่สาธารณชน จี้ให้เสนอต่อรัฐบาล คสช. ยุติการดำเนินคดีดังกล่าว

14 ก.ย. 2559 เฟสบุ๊กแฟนเพจ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ รายงานว่า เวลาประมาณ 14.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ นำโดย จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่) และ กรกช แสงเย็นพันธ์ (ปอ) และสมาชิกขบวนการอีสานใหม่ นำโดย ณัฐพร อาจหาญ (บี) ได้เข้าพบ อังคณา นีละไพจิตร ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจับกุมและการดำเนินคดีแก่ประชาชนผู้รณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

ในแถลงการณ์ระบุถึง การบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้มีการบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2559 จนถึงวันที่ 7 ส.ค. 2559 ผลที่เกิดขึ้นคือ มีประชาชนถูกจับกุมดำเนินคดีจากการรณรงค์แล้วอย่างน้อย 208 คน โดยถูกตั้งข้อกล่าวหาทั้งจาก พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 , คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 (ห้ามชุมนุมการเมืองเกิน 5 คน) รวมทั้งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น) และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

ข้อเท็จจริงดังกล่าว ได้แสดงให้เห็นถึง ความพยายามของรัฐบาล คสช. ในการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อปราบปรามกลุ่มคนซึ่งผู้มีอำนาจมองว่าเป็นปฏิปักษ์กับตน ซึ่งนัยยะที่แท้จริงคือ การแสดงถึงความไม่จริงใจที่จะทำให้การลงเสียงประชามติเป็นไปด้วยความโปร่งใส

กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกเกี่ยวกับประชามติร่างรัฐธรรมนูญจึงเรียกร้องให้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการจับกุม และดำเนินคดีกับประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน และเรียกร้องให้มีการทำข้อเสนอไปยังรัฐบาลเพื่อให้ยกเลิกการดำเนินคดีดังกล่าวโดยไม่มีเงื่อนไข

หนังสือฉบับเต็ม

14 กันยายน 2559

เรื่อง ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ดำเนินการตรวจสอบสอบเท็จจริงเกี่ยวกับการจับกุมและดำเนินคดีแก่ประชาชนผู้รณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

เรียน คุณอังคณา นีละไพจิต ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

นับตั้งแต่พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2559 จนถึงวันออกเสียงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 มีประชาชนถูกดำเนินคดีจากการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญแล้วอย่างน้อย 208 คน ซึ่งมีทั้งผู้จัดกิจกรรมเพื่อแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ผู้ที่เผยแพร่เอกสารรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ผู้ที่รวมกลุ่มกันเพื่อตรวจสอบความโปร่งใส่ของการจัดการออกเสียงประชามติ ผู้ที่แสดงความเห็นส่วนตัวผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือกระทั้งนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เข้าไปสังเกตการณ์การละเมิดสิทธิในกิจกรรมแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ โดยถูกตั้งข้อกล่าวหาทั้งจาก พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 , คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 (ห้ามชุมนุมการเมืองเกิน 5 คน) รวมทั้งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น) และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เป็นต้น

ข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) พยายามใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการปราบปรามกลุ่มคนที่รัฐมองว่าเป็นปฏิปักษ์กับตน รวมทั้งแสดงถึงความไม่จริงใจที่จะทำให้การทำประชามติเป็นไปด้วยึวามโปร่งใส่ และด้วยการตัดสินใจอย่างมีข้อมูลที่รอบด้านของประชาชนในเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของตนเองและสังคมไทย ทั้งนี้ นอกจากการจับกุมดำเนินคดีดังกล่าวข้างต้นแล้ว ในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมยังมีการกระทำที่กระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เช่น การจับกุมโดยใช้กำลังเกินสมควรแก่เหตุ การไม่แจ้งข้อกล่าวหาขณะจับกุม การพิจารณาคดีในศาลทหาร หรือการดูแลผู้ถูกคุมขังโดยต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น เป็นต้น ซึ่งในสังคมที่เป็นนิติรัฐ และประชาธิปไตย ประชาชนไม่ควรต้องถูกปฎิบัติโดยรัฐเช่นนี้

กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกเกี่ยวกับประชามติดังกล่าวจึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการคุ้มครองสิทธิของประชาชน ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจับกุมและดำเนินคดีแก่ประชาชนผู้รณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญอย่างถึงที่สุด และนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน ตลอดจนทำความเห็นเสนอต่อรัฐบาลเพื่อให้ยกเลิกการดำเนินคดีดังกล่าว เนื่องจากไม่มีความเป็นธรรม และไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอีกต่อไป ในเมื่อการลงประชามติได้ผ่านพ้นไปด้วยดีแล้ว ตรงกันข้าม หากรัฐบาลยังยืนยันที่จะดำเนินคดีดังกล่าวจนถึงที่สุด มีแต่จะยิ่งสร้างความบาดหมางระหว่างรัฐและประชาชน จนท้ายที่สุดแล้ว แม้ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านการออกเสียงประชามติ แต่ก็ไม่อาจนำความสงบสุขมาสู่สังคมไทยได้

ขอแสดงความนับถือ

ผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกเกี่ยวกับประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net