Skip to main content
sharethis

ที่มาภาพประกอบ เฟซบุ๊ก Nongmai Vijan 

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ที่ผ่านมา voicelabour.org รายงานว่า คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) พร้อมด้วยองค์กรสมาชิกเกือบ 100 คนได้เข้ายื่นหนังสือถึง ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง แนวทางการพิจารณาเรื่องปรับค่าจ้างขั้นต่ำจำเป็นต้องเท่ากันทั้งประเทศ

ชาลี ลอยสูง รักษาการประธานคสรท. กล่าวว่า การที่กระทรวงแรงงานโดยปลัดกระทรวงแรงงานประกาศจะปรับขึ้นค่าจ้างรายจังหวัดตามที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างเสนอเข้ามา 13 จังหวัด โดยที่เหลือ 64 จังหวัด ซึ่งวันนี้(14 ก.ย.59)จะมีการประชุมเพื่อแถลงการณ์ปรับขึ้นค่าจ้าง ทางคสรท.จึงมายื่นข้อเสนอต่อปลัดกระทรวงแรงงานให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ โดยทางศสรท.ได้มีการทำข้อมูลแล้วพบว่า ค่าครองชีพในการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งค่าสาธารณูปโภค บริโภคของผู้ใช้แรงงานทุกจังหวัดไม่แตกต่างกัน ฉะนั้นการปรับค่าจ้างขั้นต่ำควรเท่ากันทั่งประเทศที่ 360 บาทอัตราเดียว

“หากถามว่าทำไมค่าจ้างขั้นต่ำแรงงานถึงต้องแตกต่างกันคณะกรรมการค่าจ้างกลางต้องดูข้อมูลด้วยว่าค่าครองชีพปัจจุบันปรับตัวสูงมากแล้ว ซึ่งในส่วนของข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจมีการปรับขึ้นค่าจ้างกันทั่วหน้าเท่ากันทั้งประเทศไปแล้วเหลือแต่ส่วนของผู้ใช้แรงงานที่ยังไม่ได้มีการปรับขึ้นค่าจ้างมากว่า 3 ปี หากว่าการปรับค่าจ้างไม่เท่ากันจะเกิดการไหลของแรงงานไปในพื้นที่ที่มีค่าจ้างที่สูงกว่า และส่งผลต่อผู้ประกอบการในอนาคตหรือไม่ ” ชาลี กล่าว

ชาลี ยังกล่าวอีกว่า จริงแล้วอำนาจการปรับค่าจ้างยังอยู่ในคณะกรรมการค่าจ้างกลาง แม้ว่าจะบอกว่าอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอมาก็ตามเพราะว่าการประกาศปรับหรือไม่ปรับ และจะปรับขึ้นเท่าไรยังเป็นอำนาจส่วนกลาง จึงเสนอว่าควรพิจารณาปรับเท่ากันทั่วประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำเป็นค่าจ้างแรกข้าวของผุ้ใช้แรงงาน และนายจ้างบางแห่งนำมาเป็นฐานในการปรับขึ้นค่าจ้างให้กับลูกจ้าง การปรับค่าจ้างจึงต้องเป็นธรรม และเท่าเทียม คือเท่ากันทั้งประเทศ

จิระพัฒน์ คงสุข ตัวแทนแรงงานระยอง กล่าวว่า การที่อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดระยองมีมติไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั้งที่จังหวัดระยองเป็นเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีผู้ใช้แรงงานจำนวนมาก แต่อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดชลบุรีมีมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งทั้ง 2 จังหวัดอยู่ติดกันซึ่งหากค่าจ้างต่างกันโดยบอกว่าค่าครองชีพไม่เท่ากันคงไม่ใช่ การเสนอข้อมูลของฝ่ายลูกจ้างเชื่อว่าต้องการที่จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแต่มติคือไม่ปรับ แรงงานจะอยู่กันอย่างไรจะย้ายงานกันหรือไม่ และจะกระทบต่อเศรษฐกิจในจังหวัดไหมหากผู้ใช้แรงงานจำนวนมากไม่มีกำลังซื้อเพราะค่าจ้างไม่พอกิน ซึ่งค่าจ้างที่คสรท.เสนอปรับ 360 บาทนั้นยังต่ำไปด้วยซ้ำหากคิดตามแนวคิดขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)ที่ว่าค่าจ้างขั้นต่ำต้องสามารถเลี้ยงครอบครัวได้อย่างน้อย 3 คน

อย่างไรก็ตามวันเดียวกัน ม.ล.ปุณฑริก ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 19 ครั้งที่ 8/2559 ว่า คณะกรรมการค่าจ้างได้ประชุมพิจารณาการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2560 ที่ประชุมมีมติให้คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแนวทางการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปพิจารณาศึกษาสูตรคำนวณใหม่ เพื่อเพิ่มปัจจัยชี้วัดทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยใช้ข้อมูลในการพิจารณารวมกว่า 10 รายการ ได้แก่ ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ  ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งศึกษาเทียบเคียงกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย คาดว่าจะสามารถสรุปอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ได้ราวปลายเดือนตุลาคมนี้ ส่วนข้อเรียกร้อง 360 บาทเท่ากันทั่วประเทศนั้น จะต้องพิจารณาสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศตามความเป็นจริงด้วย เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และประกาศใช้พร้อมกันทั่วประเทศ 1 มกราคม 2560

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net