Skip to main content
sharethis

นิตยสารดิอิโคโนมิสต์ เขียนบทความตั้งต้นว่า "ทำไมประเทศไทยจึงเปลี่ยนรัฐธรรมนูญอยู่บ่อยๆ" โดยเชื่อมโยงเกี่ยวกับรัฐประหาร การพยายามยึดกุมอำนาจและแบ่งผลประโยชน์ของชนชั้นในขณะที่ต้องสร้างภาพว่าประเทศยังเป็นประชาธิปไตย

ทหารประจำการบริเวณหน้า พล.ม.2 รอ. เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 (ที่มาของภาพประกอบ: ประชาไท)

ดิอิโคโนมิสต์ฉบับวันที่ 11 ก.ย. นำเสนอบทความที่ตั้งคำถามว่า "ทำไมประเทศไทยจึงเปลี่ยนรัฐธรรมนูญอยู่บ่อยๆ" ในบทความเริ่มต้นด้วยการระบุถึงการทำประชามติเมื่อต้นเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมาซึ่งเป็นประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จากรับบาลเผด็จการทหารที่มีการควบคุมการเข้มงวดไม่ให้มีการแสดงความคิดเห็นแบบอื่น ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ก็อาจจะใช้เวลานานถึง 1 ปีจนกว่าจะมีการรับรองและนำมาใช้ ซึ่งหลังจากมีการนำมาประกาศใช้แล้วมันจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ของไทยในรอบ 85 ปี

นำมาซึ่งคำถามที่ว่าทำไมประเทศไทยถึงเปลี่ยนรัฐธรรมนูญอยู่บ่อยๆ ดิอิโคโนมิสต์ตั้งข้อสังเกตสั้นๆ ว่าเป็นเพราะการรัฐประหาร หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมากองทัพก็เป็นฝ่ายที่มีอำนาจทางการเมืองมากที่สุดในไทยโดยมีการใช้อำนาจแบบเกื้อหนุนกันกับชนชั้นนำตามประเพณีทั้งหลาย เหล่าชนชั้นนำที่เป็นพลเรือนก็ได้รับอาญาสิทธิ์จากความชอบธรรมและทักษะในการปกครองในขณะที่กองทัพเป็นภาคส่วนที่ใช้ในการปราบปรามคนที่ไม่ยอมถูกปกครองโดยชนชั้นนำ

อย่างไรก็ตาม ดิอิโคโนมิสต์ตั้งข้อสังเกตว่าการที่ไทยมีความใกล้ชิดทั้งทางการทูต การทหาร และด้านเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ รวมถึงชาติตะวันตกอื่นๆ รวมกับการเรียกร้องของประชาชนไทยที่อยากมีผู้แทนของตัวเองมากขึ้น ทำให้กลุ่มชนชั้นนำเหล่านี้ต้องพยายามรักษาภาพลักษณ์ให้ดูเป็นประชาธิปไตยไว้ด้วย สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดวงจรของการรัฐประหารที่มีชนชั้นนำหนุนหลังเกิดขึ้นซ้ำๆ แต่การจะยึดอำนาจเอาไว้นานเกินไปก็มีความเสี่ยง ผู้ทำรัฐประหารจึงต้องหาทางลงโดยที่ยังสามารถรักษาผลประโยชน์ที่ฉกฉวยเอาไว้ นี่คือเหตุผลที่พวกเขาต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อรักษาผลประโยชน์เดิมที่ได้จากการเก็บเกี่ยวช่วงรัฐประหาร

ดิอิโคโนมิสต์ระบุถึงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 หลังการโค่นล้มรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งทำให้องค์กรอิสระและศาลผู้มาจากการแต่งตั้งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองจนนำมาซึ่งการล้มรัฐบาลประชาธิปไตยหลายรัฐบาลในยุคต่อๆ มา ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดจะยิ่งทำให้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งทำงานได้ตะกุกตะกักมากขึ้นอีกทั้งยังเป็นรัฐธรรมนูญที่ล้มเหลวในการพูดถึงสิทธิพลเมืองและหน้าที่อื่นๆ ซึ่งเคยเป็นต้นแบบในการร่างรัฐธรรมนูญเสมอ

ดิอิโคโนมิสต์ระบุว่ารัฐธรรมนูญล่าสุดที่มีความยาวสูงสุด 105 หน้า แต่ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่มีไว้แค่แบ่งเค้กของกลุ่มอำนาจนำและกองทัพ ในขณะที่กีดกันไม่ให้มีคนต่อต้าน ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดยังคงให้อำนาจพิเศษกองทัพและเอาใจชนชั้นนำตามประเพณีด้วยการคงไว้ซึ่งอำนาจแบบอำมาตยาธิปไตยและอำนาจของฝ่ายนิยมกษัตริย์เอาไว้ ดิอิโคโนมิสต์วิเคราะห์ว่าสาเหตุที่มีคนโหวตรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นจำนวนมากนั้นเป็นเพราะว่าพวกเขาอยากเลือกตั้งกันแล้วหรือไม่ก็เป็นเพราะเกมการทำประชามติมันไม่เป็นธรรมมาตั้งแต่แรก

ดิอิโคโนมิสต์ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความพยายามเลยเถิดไปหน่อยในการที่แค่พยายามจะบีบเค้นพรรคที่เกี่ยวข้องกับทักษิณที่ยังคงเป็นที่นิยมอยู่แต่ถูกห้ามประท้วง ทั้งนี้ยังมีความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำที่อาจจะทำให้ความพยายามหยุดเวลาประเทศไทยเป็นไปอย่างไม่ราบรื่นเท่าไหร่ แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะสามารถ "หมุนเข็มนาฬิกา" ย้อนกลับหลังได้สำเร็จก็ตาม

เรียบเรียงจาก

Why does Thailand keep changing its constitution?, The Economist, 11-09-2016 http://www.economist.com/blogs/economist-explains/2016/09/economist-explains-4

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net