Skip to main content
sharethis
หลังถูกปรับลดระดับสถานการณ์ค้ามนุษย์เป็น Tier 3 และถูกใบเหลืองปัญหาประมงจาก EU ทางการไทยขยับตัวอย่างหนัก ตัวเลขจับกุมคดีค้ามนุษย์พุ่ง หวังเพิ่มสถิติในรายงานความคืบหน้า ต่างจากเมื่อก่อนที่ปฏิเสธ-ทำให้เข้าองค์ประกอบยาก ล่าสุดขยายความคดีค้ามนุษย์ครอบจักรวาล ทำธุรกิจประมงและเกี่ยวเนื่องซบหนักส่อย้ายฐาน สุดท้าย ชีวิตแรงงานข้ามชาติก็ไม่ได้ดีขึ้น
<--break- />

ไทยวุ่น หล่นสู่ Teir 3 -ใบเหลืองประมงผิดกฎหมายจาก EU

เดือน มิ.ย. 2557 สำนักงานเพื่อการติดตามและการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ แห่งกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S. State Department's Office to Monitor and Combat Trafficking in Persons) ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report-TIP) หรือรายงาน TIP ประจำปี 2557 ซึ่งไทยเป็นหนึ่งใน 4 ประเทศใน 2557 ที่ถูกลดระดับความพยายามตอบสนองต่อการค้ามนุษย์ลงไปอยู่กลุ่มที่ 3 หรือ Tier 3 ซึ่งเป็นลำดับขั้นต่ำสุดของรายงานนี้

ต่อมาในเดือน เม.ย. 2558 สหภาพยุโรป (EU) ได้ให้ ‘ใบเหลือง’ ยื่นคำขาดให้รัฐบาลไทยเร่งแก้ไขและปฏิรูปมาตรการกวาดล้างเรือประมงและการทำประมงที่ผิดกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยต้องมีความคืบหน้าอย่างชัดเจน มิเช่นนั้น EU จะระงับการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลจากผู้ประกอบการของไทย ซึ่งจากรายงานของ EU ระบุด้วยว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศส่งออกสินค้าอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดของ EU ดังนั้นหากมีมาตรการคว่ำบาตรเกิดขึ้นจริงผู้ประกอบการจะได้รับผล กระทบหนักมาก

และในเดือน ก.ค. 2558 สหรัฐอเมริกายังคงให้ไทยอยู่ในกลุ่ม Tier 3 โดยรายงาน TIP ประจำปี 2558 ระบุว่าแม้ประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ และการประสานงานระหว่างหน่วยงานการปราบปรามการค้ามนุษย์ แต่ทว่าในช่วงเวลาของการทำรายงาน ไทยมิได้ดำเนินการที่จำเป็นอย่างเพียงพอที่จะบรรลุผลความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่ยากลำบากนี้

ทั้ง 3 เหตุการณ์นี้ ได้ทำให้ประเทศไทยต้องขยับตัวอย่างหนักในการพยายามแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และอุตสาหกรรมประมงเกือบทั้งระบบ

ความซับซ้อนของการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงและเกี่ยวเนื่อง

'ล้ง' สถานที่ 'แกะ-ล้าง' สัตว์ทะเลโดยเฉพาะ 'กุ้ง' ที่รับมาจากเรือประมงและแพปลา ก่อนการส่งต่อไปให้โรงงานในการทำการแปรรูปในขั้นตอนต่อไป พบว่าก่อนหน้านี้มีการใช้แรงงานจากธุรกิจค้ามนุษย์ ใช้แรงงานเด็ก และใช้แรงงานบังคับอย่างแพร่หลาย (ภาพประกอบเป็นสถานที่ที่ใช้แรงงานถูกกฎหมาย โดย : ฐานันดร ชมภูศรี)

ก่อนปี 2558-2559 นั้น การทำธุรกิจ 'ล้ง' มีอยู่อย่างแพร่หลายในจังหวัดที่มีการทำประมงและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง  ล้งก็คือสถานที่แกะและล้างสัตว์ทะเลโดยเฉพาะกุ้งที่รับมาจากเรือประมงและแพปลา ก่อนการส่งต่อไปให้โรงงานทำการแปรรูปในขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ในอดีตก่อนการเข้มงวดเรื่องแรงงานเด็ก การค้ามนุษย์ และการทำประมงผิดกฎหมายนั้น ล้งโดยส่วนใหญ่มักจะเป็น 'ล้งเถื่อน' มีการใช้แรงงานเด็ก (ซึ่งแน่นอนว่าผิดกฎหมาย) ใช้แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย รวมทั้งอยู่ในห่วงโซ่ของธุรกิจค้ามนุษย์ โดยเฉพาะที่ จ.สมุทรสาคร นั้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้เปิดเผยภายหลังลงตรวจพื้นที่คุมเข้มในเดือน ส.ค. 2559 จากที่ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับล้งเถื่อน โดยได้ร่วมกับมณฑลทหารบกที่ 16 จัดทีมเฉพาะกิจ DIW ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารและจังหวัด นำร่องปฏิบัติการโดยเน้นตรวจสอบล้งโดยเฉพาะ ซึ่งเบื้องต้นพบว่ามีการฝ่าฝืนจำนวนกว่า 100 ล้ง จากจำนวนมากกว่า 300 ล้ง ความเคลื่อนไหวของภาครัฐนี้เองทำให้ล้งต่าง ๆ ใน อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ต้องปิดตัวลงหรือหยุดการดำเนินธุรกิจไว้ก่อน สอดคล้องกับข้อมูลการลงพื้นที่สำรวจของ TCIJ เมื่อเดือน ส.ค. 2559  ซึ่งนอกจากปัจจัยด้านการกวดขันเรื่องการใช้แรงงานผิดกฎหมายแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ล้งเถื่อนเหล่านี้ต้องปิดตัวลง หรือหยุดการดำเนินธุรกิจไว้ก่อนนั้น ก็มาจากบริษัทแปรรูปอาหารทะเลเจ้าใหญ่ ๆ ที่เป็นลูกค้าของล้งเถื่อนเหล่านี้อีกทอด ไม่อยากที่จะเสี่ยงรับซื้อสินค้า เพราะอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทยกำลังถูกนานาชาติเพ่งเล็งอยู่

ด้านสภาพการทำงาน ก่อนที่ล้งเถื่อนต่าง ๆ จะปิดตัวลงหรือหยุดการดำเนินธุรกิจนั้น พบว่าล้งเถื่อนที่มีการใช้แรงงานผิดกฎหมายและเกี่ยวข้องกับธุรกิจค้ามนุษย์ จะมีการกักขังแรงงานและมีสภาพการทำงานที่เลวร้ายด้วย (อ่านเพิ่มเติมในล้อมกรอบ: ธ.ค. 2558 สำนักข่าว AP ทำข่าวเจาะ ‘แรงงานทาสล้งแกะกุ้ง’ ใน จ.สมุทรสาคร)

แผนผังตัวอย่างรูปแบบการค้ามนุษย์สู่สถานประกอบกิจการล้งกุ้ง จ.สมุทรสาคร กรณีหนึ่ง [ที่มา: มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN)]

ข้อมูลจากมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ระบุว่าการค้ามนุษย์ในแรงงานเถื่อนปัจจุบัน มีความซับซ้อนและมีลำดับหลายทอด แรงงานเหล่านี้ต้องเสียค่านายหน้าหลายครั้งตามเส้นทางเข้าสู่ประเทศไทย ตั้งแต่ฝั่งพม่า โดยในการทำงานเพื่อช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ของ LPN พบว่าแรงงานที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในกิจกรรมต่อเนื่องประมงนั้น ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่เข้ามาทำงานโดยผ่านนายหน้า ค่านายหน้าจะถูกระบุว่าเป็นเหนี้สิน และมีการบังคับทำงานวันละมากกว่า  16 ชม. ส่วนใหญ่อยู่ในสถานประกอบการขนาดเล็ก (ล้งเถื่อน) แม้ปัจจุบันมีการจัดการและมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด แต่ยังมีบางแห่งใช้แรงงานบังคับ และจ่ายค่าแรงไม่เป็นธรรม ทำให้เกิดปัญหาแรงงานบังคับและแรงงานขัดหนี้

ส่วนกลุ่มแรงงานบังคับที่นำเข้าถูกฎหมาย (เป็นรูปแบบ MOU) จะถูกบังคับทำงานใช้หนี้ โดยการยึดเอกสาร พาสปอร์ตและบัตรประชาชนประเทศต้นทาง แม้แรงงานเหล่านี้จะเข้ามาโดยถูกกฎหมาย แต่ก็ตกเป็นเหยื่อและไม่สามารถต่อรองได้ ถูกหักค่าแรงไม่เป็นธรรม เช่น ทำกุ้งตกพื้น หักตัวละ 15 บาท ฯ นายจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้าง เมื่อเกิดข้อพิพาทแรงงานจะถูกส่งกลับ ทั้งแรงงานพม่าและกัมพูชา ไม่สามารถต่อรองได้ และไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ส่วนอีกกลุ่มที่เจอปัญหาหนักไม่แพ้กัน และเป็นข่าวบ่อยครั้งในช่วงสองปีนี้ ก็คือแรงงานในเรือประมงนอกน่านน้ำ ที่ตกเป็นเหยื่อกระบวนการค้ามนุษย์ บางคนยาวนานตั้งแต่ 3 ปี -18 ปี และยังไม่ได้รับการฟื้นฟูเยียวยาเท่าที่ควร เช่น กลุ่มลูกเรือประมงที่ได้รับความช่วยเหลือจากเกาะอัมบล ประเทศอินโดนีเซีย

ข้อมูลจาก LPN ระบุว่า ก่อนหน้านี้ปัญหาการค้ามนุษย์ในแรงงานภาคประมงและกิจกรรมต่อเนื่อง แม้ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ในรอบหลายปีที่ผ่านมาก่อนที่ไทยจะถูกลดระดับมาเป็น Tier 3 และถูกใบเหลืองประมงจาก EU นั้น บ่อยครั้ง เจ้าหน้าที่รัฐมักจะตีความว่า ‘ไม่ได้เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์’ เนื่องจากทัศนคติและความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพการทำงานบังคับ การทำงานขัดหนี้ แรงงานบังคับ ยังใช้ข้อมูลด้านเดียวจากนายจ้างเท่านั้น รวมทั้งขั้นตอนและกระบวนการคัดแยกกรณีคดีค้ามนุษย์ ยังขาดความชอบธรรม ในบางครั้งมีนายจ้างอยู่ในห้องสอบสวนคัดแยกเหยื่อ เหยื่อบางรายถูกข่มขู่เพื่อไม่ให้ดำเนินคดี ไม่กล้าให้ข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ เช่น การถูกขายโดยมีค่าหัว และการถูกทำร้ายร่างกาย การบังคับทำงาน การดำเนินการสัมภาษณ์ทำในเวลาจำกัด เหยื่อหวาดระแวงและสภาพจิตใจไม่พร้อมให้ข้อมูล

นอกจากนี้  ยังขาดกระบวนการเยียวยาฟื้นฟูเพื่อให้เขาพร้อมให้ข้อมูล ขาดกระบวนการติดตามที่มีประสิทธิภาพ  ไม่มี กระบวนการสหวิชาชีพและขาดประสิทธิภาพในการทำงาน ขาดการประสานและส่งต่อข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อเหยื่และผู้ประสบปัญหา รวมทั้งขาดการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ดีในการเชื่อมโยงกลุ่มเหยื่อที่ประสบปัญหาจากนายจ้างกลุ่มเดียวกัน การไม่ทำคดีอย่างต่อเนื่อง และความไม่ชัดเจนของการนิยามคดี คดีนอกราชอาณาจักรและในราชอาณาจักร การสอบ ปากคำต้องให้อัยการร่วมด้วยนั้น มีความล่าช้าในการดำเนินการ และขั้นตอนต่างๆขาดความชัดเจน

ธ.ค. 2558 สำนักข่าว AP ทำข่าวเจาะ ‘แรงงานทาสล้งแกะกุ้ง’ ใน จ.สมุทรสาคร

Eae Hpaw (คนนั่งกลาง) แรงงานข้ามชาติวัย 16 ปี เธอมีร่องรอยแผลเป็นบนแขนของเธอจากการติดเชื้อและอาการแพ้เกี่ยวข้องกับกุ้ง เธอยังระบุว่าเลิกงานตอน 19.00 น. ก่อนจะเริ่มงานอีกครั้ง 03.00 น (ที่มาภาพ: สำนักข่าว AP)

จากรายงานข่าวสืบสวน 'AP: Global supermarkets selling shrimp peeled by slaves' ของสำนักข่าว AP ที่เผยแพร่เมื่อเดือน ธ.ค. 2558 เผยถึงชีวิตของ Eae Hpaw (คนนั่งกลาง) แรงงานชาวพม่าวัย 16 ปี ในล้งแกะกุ้งเถื่อน พื้นที่ จ.สมุทรสาคร เธอมีร่องรอยแผลเป็นบนแขนของเธอจากการติดเชื้อและอาการแพ้เกี่ยวข้องกับกุ้ง และกล่าวว่า "พวกเขาไม่ยอมให้เราพักเลย ... เราเลิกงานตอนราวๆ 19.00 น. จากนั้นก็จะอาบน้ำและเข้านอน ก่อนจะเริ่มงานอีกครั้งตอนราว  03.00 น."

จากการขุดคุ้ยของ AP พบว่าขบวนการค้ามนุษย์ได้ช่วยให้ไทยกลายเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกกุ้งรายใหญ่ที่สุดของโลก แม้มีคำสัญญาจากเหล่านักธุรกิจและรัฐบาล ที่จะแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมส่งออกอาหารทะเลมูลค่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นี้ ซึ่งส่วนใหญ่มีการคอรัปชันในหมู่ตำรวจกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขณะที่การจับกุมและดำเนินคดีมีให้เห็นไม่บ่อยนักซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักลงเอยด้วยการส่งตัวแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าคุก โดยไม่มีการลงโทษผู้เป็นเจ้าของกิจการแต่อย่างใด แรงงานแกะกุ้งในล้งเถื่อนหลายร้อยคนต้องอยู่แบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ บางส่วนถูกขังไว้ราวกับทาส นอกจากนี้ยังมีแรงงานประมงมากกว่า 2,000 คนที่ได้รับความช่วยเหลือจนเป็นอิสระเมื่อช่วงต้นปี 2558 ที่ผ่านมา

รายงานของ AP ยังระบุว่า ภูมิภาคอาเซียนเป็นแหล่งค้ามนุษย์ที่เลวร้ายที่สุดแห่งหนึ่ง ไทยเองก็ถูกประเมินให้อยู่ในระดับ Tier 3 ติดต่อมาแล้วสองปีจากสหรัฐฯ ส่วนสหภาพยุโรป (EU) ได้ให้ใบเหลือง และเตือนด้วยว่าจะทำการขึ้น กำแพงภาษีสามเท่าหากไทยยังแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายไม่ได้ ซึ่งจากข้อมูลของศุลกากรสหรัฐฯ พบว่ากุ้งที่มาจากล้งเถื่อนที่มีการใช้แรงงานทาสนั้น ถูกส่งเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของห้างค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐฯ อย่าง Wal-Mart , Kroger, Whole Foods, Dollar General และ Petco รวมทั้งเครือข่ายร้านอาหารอย่าง Red Lobster และ Olive Garden นอกจากนี้ยังเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของแบรนด์อาหารทะเลและอาหารสัตว์ชื่อดังของอเมริกาบางส่วน เช่น  Chicken of the Sea และ Fancy Feast นอกจากนี้ AP ยังระบุว่าได้ลงพื้นที่ซูเปอร์มาร์เกตต่าง ๆ ทั้ง 50 รัฐ พบว่าล้วน มีผลิตภัณฑ์กุ้งจากห่วงโซ่ที่ใช้แรงงานทาสจากไทย และแม้บันทึกการนำเข้าและส่งออกจากยุโรปและเอเชียเป็นความลับ แต่เหล่าบริษัทไทยที่รับกุ้งเหล่านั้นยอมรับกับ AP ว่าพวกเขาส่งออกไปยังทวีปอื่น ๆ ด้วย ขณะที่ผู้สื่อข่าว AP  ในอังกฤษ เยอรมนี อิตาลี และไอร์แลนด์ พบแบรนด์สินค้าจำนวนมากที่มีแหล่งที่มาจากไทยตามซูเปอร์มาร์เก็ตของ ประเทศเหล่านั้น

ด้านธีรพงศ์ จันศิริ ซีอีโอของกลุ่มบริษัท ไทยยูเนียน บริษัทแปรรูปอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดของไทยระบุกับ AP ว่าอาจมี การตบตาลักลอบนำผลิตภัณฑ์จากแหล่งผลิตผิดกฎหมายเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของพวกเขา

หวังตัวเลขรายงานกวาดจับคดีค้ามนุษย์  จาก ‘เข้าองค์ประกอบยาก’ สู่ ‘ครอบจักรวาล’

ก่อนหน้าที่ไทยจะถูกลดระดับมาเป็น Tier 3 และถูกใบเหลืองประมงจาก EU นั้น ปัญหาการค้ามนุษย์ในแรงงานอุตสาหกรรมประมงและเกี่ยวเนื่อง ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร  บ่อยครั้งปัญหาเหล่านี้มักจะถูกตีความว่า ‘ไม่ได้เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์’ เพราะ ’ เข้าองค์ประกอบยาก ‘

แต่ภายหลังเดือน มิ.ย. 2557 ที่ไทยถูกลดระดับความพยายามตอบสนองต่อการค้ามนุษย์ลงไปอยู่กลุ่มที่ 3 หรือ Tier 3 ซึ่งเป็นลำดับขั้นต่ำสุดนั้น ได้ทำให้รัฐบาลไทยขยับตัวอย่างหนัก พยายามแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ เช่น มีการกวาดจับคดีค้ามนุษย์ในหลายพื้นที่, ศาลอาญามีการตั้งแผนกคดีพิเศษค้ามนุษย์โดยเฉพาะ, มีการแก้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ ฯลฯ และการเปิดเผยจากรองนายกรัฐมนตรีระบุว่ารัฐบาลชุดนี้เตรียมเอาผิดคดีค้ามนุษย์ให้ครอบจักรวาลยิ่งขึ้น (อ่านเพิ่มเติม: ‘วิษณุ’ ลั่น รบ.จ่อปรับข้อกฎหมาย พวกค้ามนุษย์ต้องโดนข้อหาครอบจักรวาล) เหตุผลสำคัญก็น่าจะมาจากแรงกดดันจากสหรัฐฯ จากเรื่อง Tier 3 นั่นเอง

แหล่งข่าวจากองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่ง ที่ติดตามกระบวนการทำรายงานความคืบหน้าการแก้ปัญหา Tier 3 ของรัฐบาลไทยเพื่อยื่นต่อสหรัฐฯ เปิดเผยว่า หลังจากที่ไทยหล่นมาสู่ Teir 3 มุมมองต่อการค้ามนุษย์ของผู้มีอำนาจในรัฐบาลไทยได้เปลี่ยนไป  จากที่เคย ‘ปฏิเสธและไม่ยอมรับว่ามี’  เปลี่ยนมาเป็น ‘ยอมรับว่ามีแล้วปราบปราม’  เพื่อการเก็บตัวเลขการจับกุมคดีค้ามนุษย์แทน เพราะในรายงาน TIP ของสหรัฐฯ นั้นเน้นเรื่องตัวเลขสถิติเป็นหลัก

สอดคล้องกับตัวเลขที่รัฐบาลเปิดเผย ก่อนที่ไทยจะได้กลับสู่ระดับ Tier 2 Watch list ในเดือน มิ.ย. 2559 พบว่ามีการเร่งปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยตัวเลขการบังคับใช้กฎหมายในปี 2558 มีจำนวนคดีการค้ามนุษย์ 317 คดี เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากปี 2557 ที่มีจำนวน 280 คดี และมีจำนวนผู้ต้องหา 547 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 33 แยกเป็นคดีด้านแรงงาน 69 คดี และคดีค้าประเวณี 245 คดี สำหรับตัวเลขล่าสุดในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2559 มีจำนวนคดี 54 คดี ผู้ต้องหา 74 คน และมีผู้ที่ถูกศาลตัดสินลงโทษเพิ่มเป็น 241 คน โดยข้อมูลจาก กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่าการดำเนินการการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ของไทยนั้น ตัวเลขคดีคืบหน้ากว่าชาติอื่น ๆ มาก เช่น จีนมีเพียง 35 คดี และมาเลเซียมีเพียง 3 คดีเท่านั้น

นอกจากนี้ รัฐบาลยังระบุว่าการปราบปรามของไทยเน้นการทลายโครงข่ายการค้ามนุษย์ขนาดใหญ่ (Big Fish) ทำให้สาวต่อไปถึงคดีต่าง ๆ ได้มากขึ้น เช่น คดีโรฮีนญา พอได้หัวขบวนทำให้ขยายผลจับกุมได้ถึง 150 คน ในจำนวนนี้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ 20 คน ทำให้ตัวเลขด้านการป้องกัน หรือ Prevention เพิ่มขึ้น ซึ่งในรายงาน MSDHS & Control สรุปว่า ไทยสามารถหยุดจำนวนคนที่เคลื่อนย้ายทางทะเลซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นโรฮีนญา ลงได้ร้อยละ 94 ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 2559

รวมทั้งการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ เช่น พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559 ที่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2559 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 พ.ค. 2559  หลังจากที่ไทยได้ตั้งแผนกพิเศษคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญา ทำให้การพิจารณาคดีค้ามนุษย์มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น การเสนอร่างกฎหมายใหม่กำกับดูแลการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาในประเทศ เพื่อดูแลบริษัทนายหน้านำเข้าแรงงานเป็นการเฉพาะ โดยให้มาจดทะเบียนตั้งบริษัทอย่างถูกต้อง กำหนดอัตราค่าบริการอย่างไร สัญญาจ้างงานถูกต้อง รวมทั้งกฎหมายค้ามนุษย์ฉบับปี พ.ศ. 2551 แก้ไขปรับปรุงปี 2558 และ 2559 ด้วยการเพิ่มข้อการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองสามารถบังคับใช้กฎหมายปิด-ระงับสถานประกอบการที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ได้ มีการเพิ่มโทษผู้ต้องหารุนแรงขึ้นถึงขั้นสูงสุดประหารชีวิต เป็นต้น

อุตสาหกรรมประมงและเกี่ยวเนื่อง-อ่วม

จากความพยายามแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมประมงและเกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย (IUU) ที่ทาง EU ให้ใบเหลืองไทย  ทำให้ทางการไทยเข้มงวดกับเรือประมงเป็นอย่างมากและส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมนี้เป็นวงกว้าง

อย่างเมื่อช่วงเดือน มี.ค. 2559 สมาคมการประมงสมุทรสาคร ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า ผู้ประกอบการเรือประมง 22 จังหวัดชายฝั่งทะเล ไม่สามารถทำการประมงได้ ต้องจอดเรือเทียบท่ากว่า 3,000 ลำ ส่วน จ.สมุทรสาคร มีเรือพาณิชย์ทั้งหมด 1,100 ลำ สามารถออกเดินเรือได้ 200 ลำ และจอดทิ้งกว่า 900 ลำ ด้านข้อมูลชมรมแปรรูปอาหารทะเล จ.สมุทรสาคร ระบุว่าตั้งแต่เกิดปัญหาขึ้น ได้ทำให้สัตว์น้ำขาดแคลนทุกชนิด เกิดการแย่งวัตถุดิบ ราคาวัตถุดิบสูงขึ้น แต่ยังคงขายราคาเดิม ณ ขณะนั้น (มี.ค. 2559) มีล้งกุ้งปิดตัวไปถึง 392 แห่ง เหลือเพียง 3-4 แห่งเท่านั้น ส่งผลให้แรงงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ ตกงานจำนวนหลายหมื่นคน

อุตสาหกรรมประมงและเกี่ยวเนื่องของ จ.สมุทรสาคร ยังซบเซามาอย่างต่อเนื่อง จนถึงเดือน ส.ค. 2559 ที่ TCIJ ได้ลงพื้นที่สำรวจ  ไม่ว่าจะเป็น ล้ง แพปลา ตลาดซื้อขายสินค้าประมง ห้องเย็น โรงน้ำแข็ง  ธุรกิจขายเกลือ ต่างเงียบเหงาปิดตัวลงหรือระงับการทำธุรกิจไว้ก่อน  แหล่งข่าวจากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจประมงและเกี่ยวเนื่องใน จ.สมุทรสาคร เปิดเผยกับ TCIJ ว่า ปัจจุบันเริ่มมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมประมงและเกี่ยวเนื่องใน จ.สมุทรสาคร ออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านบ้างแล้ว หรือไม่ก็หันไปนำเข้าอาหารทะเลจากประเทศเพื่อนบ้านแทนการออกเรือเอง  เนื่องจากความไม่แน่นอนของอุตสาหกรรมนี้ในประเทศไทย กอปรกับความหวั่นใจที่ผู้ประกอบการจะต้องเพิ่มต้นทุนสูงขึ้น เพราะปัจจุบัน จากความเข้มงวดปราบปรามการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานในเรือประมงตามมาตรฐานที่ EU กำหนดนั้น ทำให้ผู้ประกอบการหาแรงงานลงเรือประมงได้ยากมาก

อนึ่ง อุตสาหกรรมประมงไทยขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงศตวรรษที่ 20 ส่งผลให้เกิดปัญหา 'การทำประมงเกินขนาด' โดยก่อนที่ EU จะให้ใบเหลืองกับไทยนั้น มีเรือประมงที่ทำการจับสัตว์น้ำด้วยวิธีการที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก และจับสัตว์น้ำในปริมาณที่มากเกินไป มีการประเมินว่าเรือประมงไทยในปัจจุบันสามารถจับปลาได้เพียงร้อยละ 14 ของจำนวนที่เคยจับได้ในช่วงทศวรรษ 2500 เท่านั้น

แรงงานข้ามชาติมีชีวิตดีขึ้นไหม ?

จุดประสงค์หลักของการใช้แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมประมงและเกี่ยวเนื่องนั้น แน่นอนว่า เพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำที่สุด เมื่อมีความพยายามทำให้แรงงานในอุตสาหกรรมนี้ถูกกฎหมาย ย่อมทำให้ต้นทุนของผู้ ประกอบการสูงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าโดยปกติ นายจ้างมักจะผลักภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้แรงงานอยู่แล้ว

บัตรอนุญาตให้อาศัยและทำงานได้ชั่วคราว (บัตรชมพู)

ข้อมูลจากเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ระบุว่า ปัจจุบันแม้จะมีความพยายามจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติทั้งระบบ แต่ก็ยังพบปัญหาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นตัวแรงงานเองรวมถึงผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้รับข้อมูลเพียงพอ ในการเข้าสู่กระบวนการต่อบัตรของแรงงานข้ามชาติ ที่ถือเอกสารการอยู่อาศัยและการทำงานในประเทศไทยที่แตกต่างกัน ส่งผลต่อการคุ้มครองสิทธิทางกฎหมายที่เปลี่ยนไป อาทิ การเข้าถึงสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายประกันสังคม โดยมีแรงงานจำนวนมากที่เคยมีบัตรประกันสังคม แต่ปัจจุบันนี้ แรงงานที่ถือบัตรชมพูไม่สามารถทำบัตรประกันสังคมได้ ผู้ประกอบการต้องยกเลิกการจัดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม และให้แรงงานซื้อประกันสุขภาพแทน ซึ่งมีการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกัน และหลังการต่อบัตรของแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะที่ถือบัตรอนุญาตให้อาศัยและทำงานได้ชั่วคราว (บัตรสีชมพู) แรงงานพบปัญหาเรื่องการเดินทางเป็นอย่างมาก เนื่องจากหลายรายที่เคยถือหนังสือเดินทางประกอบใบอนุญาตทำงาน และต่อมาได้เข้าสู่กระบวนการขยายระยะเวลาการจ้างงาน และเปลี่ยนจากเอกสารการเดินทางประเภทหนังสือเดินทางเป็นบัตรชมพู ทำให้ไม่สามารถเดินทางข้ามเขตจังหวัดได้ รวมทั้ง แรงงานที่ต้องใช้นายหน้าในการดำเนินการช่วยเหลือในการต่อใบอนุญาต ซึ่งมักจะระบุพื้นที่ทำงานของนายจ้างที่แตกต่างจากนายจ้างและสถานที่ทำงานจริง แม้กระทรวงมหาดไทยจะได้ออกประกาศเรื่องการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2559 แต่ในบางอาชีพพบว่า ไม่สามารถปฏิบัติตามได้จริง คือ อาชีพ กรรมกรก่อสร้าง ส่งผลให้แรงงานมีความเสี่ยงต่อการจับกุมตัว และนายจ้างมีความเสี่ยงต่อการถูกเรียกรับผลประโยชน์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตัว เพื่อแลกกับอิสรภาพของคนงาน

ส่วนการดำเนินการผ่อนผันและอนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรี สำหรับแรงงานประมงและแปรรูปสัตว์น้ำ แม้กฎหมายจะอนุญาตให้แรงงานกลุ่มดังกล่าวสามารถเปลี่ยนงานได้ แต่สามารถเปลี่ยนได้เฉพาะในสายงานเดียวกันเท่านั้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับความต้องการของแรงงาน ที่อาจจะมีโอกาสทางการงานในกิจการอื่น ที่มีการคุ้มครองและสวัสดิการดีกว่า  แรงงานยังประสบปัญหาจากการถูกยึดเอกสารการเดินทางและเอกสารการทำงานไว้กับนายจ้าง และหลายพื้นที่แรงงานพบประกาศเรื่องการรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองทุก 90 วัน ทั้งที่มิได้เป็นผู้ถือหนังสือเดินทางอีกด้วย

ตัวอย่างการใช้ ‘บัตรคิวรถโดยสาร’ มาข่มขู่รีดไถแรงงานข้ามชาติจากเจ้าหน้าที่นอกรีต จำนวนเงิน 500 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถานะถูกกฎหมายในการอาศัยอยู่ในประเทศไทยแต่อย่างใด  

จากการลงพื้นที่สำรวจ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร โดยทีมงาน TCIJ และนักเรียน TCIJ School รุ่นที่ 3 เมื่อช่วงเดือน ส.ค.   2559 ที่ผ่านมา  พบว่า ‘ความไม่รู้’ และ ‘ความกลัว’ ยังเป็นอีกอุปสรรคหนึ่ง สำหรับการใช้ชีวิตในประเทศไทยของแรงงานข้ามชาติ แม้จะเป็นแรงงานที่อยู่ในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมายก็ตาม เช่น บ่อยครั้ง ถูกเจ้าหน้าที่นอกรีตบางส่วนรีดไถโดยใช้ข้ออ้างว่า แรงงานต้องมี‘บัตรคิวรถโดยสาร’ จึงจะเดินทางได้ ข่มขู่รีดไถเงินจำนวน 500 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด บางครั้ง แรงงานก็ถูกตำรวจอีกสถานีหนึ่งรีดไถซ้ำโดยอ้างว่า เป็นคนละเขตกับบัตรใบเดิม แรงงานต้องจ่ายเงินใหม่ เป็นต้น หรือหากมีการทะเลาะวิวาท ซึ่งโทษจริงคือเสียค่าปรับไม่กี่ร้อยบาท แต่แรงงานมักถูกเรียกเงิน  ค่าปรับหลายพันบาท  รวมทั้งความพยายามในการยัดข้อหา ‘ยาเสพติด’ เพื่อเรียกเงิน เป็นต้น

จนถึงขณะนี้ พื้นที่หลายจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมประมงและเกี่ยวเนื่อง ก็ยังตกอยู่ในบรรยากาศแห่งความเข้มงวดจับกุมและการจัดระเบียบ เพื่อรัฐบาลไทยจะนำตัวเลขสถิติการแก้ไขปัญหาต่างๆ  ทั้งการแก้ปัญหาค้ามนุษย์เพื่อรายงานต่อ TIP  และการแสดงมาตรฐานการประมงเพื่อการปลดจากใบเหลืองของ EU อยู่นั้น  แรงงานประมงผิดกฎหมายจำนวนมากที่ยังอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ น่าจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด  แต่กลับปรากฎว่า แหล่งข่าวหลายฝ่าย ‘ไม่กล้า’ และ ‘ไม่อยาก’ ตอบคำถามของ TCIJ ว่าแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายเหล่านั้น หายไปไหน ?  

อ่าน 'จับตา': “Timeline หลังไทยถูกจัดอันดับ Tier 3 (ปี 2557-2559)"
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6417

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net