Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis




ตามที่ผมเคยเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังเกี่ยวกับเหตุผลของความหายนะครั้งใหม่ทางด้านเศรษฐกิจของไทยประมาณ 10-11 ประการไปแล้วนั้น

ลืมบอกไปครับว่า ฝรั่งเรียกปรากฏการณ์ความพินาศทางด้านเศรษฐกิจครั้งที่กำลังเป็นอยู่และกำลังจะเป็นนี้ว่า  ปรากฏการณ์“ซุปเปอร์โนวา”

ว่ากันว่าปรากฏการณ์นี้มีความรุนแรงมากกว่าต้มยำกุ้งปี 40  หลายเท่าทีเดียว เพราะมีเหตุปัจจัยความตกต่ำทางเศรษฐกิจของโลกเป็นตัวเร่งเร้า ในยามที่เศรษฐกิจของประเทศของไทยเราเองก็ย่ำแย่อยู่แล้วจากเหตุผลหลายๆด้าน โดยเฉพาะในส่วนที่จะต้องเกี่ยวพันกับต่างประเทศซึ่งก็คือ การส่งออก นั่นเอง

ตัวเลขการส่งออกของเราตกต่ำมากเป็นประวัติการณ์ในรอบหลายสิบปี เป็นเหตุให้รายได้ของประเทศกระทบกระเทือนอย่างหนัก และกระเทือนไปยังภาคเศรษฐกิจต่างๆ อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่เป็นฐานรายได้สำคัญของคนไทยตลอดมา เมื่อส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศไม่ได้ ทุกอย่างก็จอด และเมื่อรายได้หรือเม็ดเงินไม่เขาสู่ภาคเกษตร (เกษตรกร) ก็อย่าไปคาดหวังในเรื่องสภาพคล่องในประเทศ แม้รัฐจะพยายามกระจายเม็ดเงินผ่านรัฐ-ข้าราชการ ลงมามากมายเพียงใดก็ตาม

เพราะผ่านข้าราชการ ก็ไปผ่าน “หนี้”เงินต้นพร้อมดอกเบี้ย ของข้าราชการอีกทอดหนึ่ง กลายเป็นการโยนหินถมทะเลไปในที่สุด

กล่าวสำหรับเศรษฐกิจอเมริกาในขณะนี้นั้น โดยภาพรวมแล้ว ต้องยอมรับว่า อยู่ในระยะที่ไม่ค่อยดีนัก โดยเฉพาะในส่วนของสถาบันการเงิน ตั้งแต่การสถาปนารัฐบาลโอบามาในปี 2008 มาแล้วเศรษฐกิจอเมริกันโงหัวขึ้นมาบ้าง โดยเฉพาะในส่วนของตัวเลขอัตราการว่างงานที่ดีขึ้น แต่รัฐบาลโอบามาสมัยที่สองโดยเฉพาะในระยะสองปีสุดท้ายของการบริหารของรัฐบาลโอบามาตัวเลขดัชนีเศรษฐกิจของรัฐบาลโอบามาก็หัวปักลงร่ำๆ จะเหมือนกับยุควิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

เนื่องจากอเมริกันเป็นชาติผู้บริโภครายใหญ่ของโลก เมื่ออเมริกามีปัญหาในด้านเศรษฐกิจ กำลังซื้อของประเทศนี้ก็ลดลงไปด้วย การลดลงของกำลังซื้อนี้ไม่ได้จำกัดว่าจะกระทบต่อประเทศคู่ค้าประเทศใดประเทศหนึ่ง อย่างเช่น ประเทศไทยเท่านั้น หากประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างจีนก็พลอยได้รับผลประทบไปด้วย ยอดสินค้านำเข้ามายังสหรัฐฯของจีนจึงลดลงในอัตราเกือบร้อยละ 5 เลยทีเดียวในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา

ปกติแล้วต้นทุนสินค้าจากจีนสูงกว่าต้นทุนสินค้าจากไทยอยู่แล้ว จึงไม่แปลกที่ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมานี้สินค้าไทยที่ส่งออกมายังสหรัฐฯได้รับผลกระทบอย่างมาก แข่งสู้สินค้าจากจีนไม่ได้ แม้แต่ตัวสินค้าเกษตร ที่ถือว่าประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตสำคัญและต้นทุนถูกมาก่อนก็ตาม แต่นั่นกลายเป็นอดีตของผู้นำเข้าอเมริกันไปแล้ว ซึ่งก็น่าสนใจว่าผู้นำเข้าสินค้าจากจีนส่วนใหญ่ก็เป็นนักธุรกิจอเมริกันเชื้อสายจีนนั่นเอง โดยที่กลุ่มนักธุรกิจเหล่านี้มีเครือข่ายสายสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับผู้ส่งออกชาวจีนอยู่ก่อนแล้ว การติดต่อการค้าจึงเป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้น ดังการนำสินค้ามาขึ้นที่ท่าเรือเมืองโอ๊คแลนด์ ที่อยู่ตรงกันข้ามกับเมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ส่วนใหญ่ก็มาจากนำเข้าจากเมืองจีน โดยนักธุรกิจอเมริกันเชื้อสายจีน

ในปัจจุบันถือได้ว่า สินค้าจากเมืองจีนถือครองตลาดอเมริกันมากที่สุดเมื่อเทียบกับสินค้าต่างด้าวจากชาติอื่นๆ เนื่องจากราคาถูก สินค้าเหล่านี้ถูกกระจายไปยังตลาดตามเมืองต่างๆในสหรัฐฯ ที่เห็นได้ชัดคือ ไชน่าทาวน์หรือตลาดอาเซียน

ความที่ต้นทุนถูกทำให้สินค้าจากจีนตีสินค้าจากเอเชียประเทศอื่นๆ เช่น ไทย หรือแม้กระทั่งเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่ต้นทุนการผลิตต่ำมากประเทศหนึ่ง ซึ่งในประเด็นนี้มีข้อน่าสังเกตว่า “ซันลี” บริษัทนำเข้าสินค้าอาเชียน(เอเชีย) สัญชาติอเมริกัน (แคลิฟอร์เนีย) ที่เคยนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจากไทยต้องหันไปนำเข้าสินค้าจากจีนและเวียดนามที่ต้นทุนถูกกกว่าแทน ดังนั้น ทำให้ ผลิตภัณฑ์ทางด้านการเกษตรของไทยได้รับความกระทบกระเทือนอย่างมาก โดยเฉพาะสินค้าข้าวหอมมะลิ ที่เผชิญคู่แข่งทั้งประเทศเพื่อนบ้านของไทยและคู่แข่งในสหรัฐฯเอง เนื่องจากในเวลานี้อเมริกันเองสามารถปลูกหรือผลิตข้าวหอมมะลิเองได้แล้วและมีราคาถูกกว่าข้าวหอมมะลิจากประเทศเอเชียอย่างไทยหรือเวียดนามด้วยซ้ำ

ทางออกเพื่อความอยู่รอดของสินค้าไทยในเวลานี้จึงน้อยลงกว่าเดิมมาก ยิ่งคนอเมริกันต้องเผชิญกับชะตากรรมทางด้านเศรษฐกิจก็ทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างสินค้าไทยกับผู้บริโภคอเมริกันน้อยลงไปอีก

ชนิดที่หน่วยงานของรัฐไทยที่มาตั้งสำนักงานอยู่ในอเมริกาเองไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้มากไปกว่าการยืนดูผู้ทำธุรกิจนำเข้าไทยตายไปเฉยๆ ต่อหน้าต่อตามากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นไม่ว่าหน่วยงานของรัฐไทยเหล่านี้จะมีสำนักงานอยู่ในอเมริกาหรือไม่ก็แทบไม่ต่างกัน แถมยังสิ้นเปลืองงบประมาณของรัฐไทยโดยใช่เหตุอีกตะหาก
 
ในขณะที่ในส่วนของคนอเมริกันเอง แม้ไม่ถึงกับชี้ชัดลงไปว่าพวกเขารอความแน่นอนของเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้งในเดือนพ.ย.นี้ก็ตาม แต่สื่อทีวีอเมริกันและโพลล์หลายสำนักก็ชี้ว่านโยบายทางด้านเศรษฐกิจของแคนดิเดทประธานาธิบดีคือจุดชี้วัดว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีอเมริกันคนต่อไปหรือไม่ ไม่ใช่แค่ความพ็อพพูล่าอย่างเดียวเท่านั้น

รัฐบาลอเมริกันเองก็จำเป็นต้องกระทำทุกวิถีทางเพื่อให้เศรษฐกิจปากท้องอเมริกันกระเตื้องขึ้น และแง่การเมืองนั้นก็ย่อมหมายถึงการออกกฎหมายเพื่อทำให้การนำเข้าสินค้าเข้าอเมริกายากขึ้น รวมถึงการบีบให้ประเทศคู่ค้าต้องทำสัญญาที่วางกรอบกติกาโดยรัฐบาลอเมริกันมากขึ้น อย่างเช่น Trans Pacific Partnership Agreement  หรือ TPPA เป็นต้น เพราะประเทศผู้ส่งออกเหล่านี้ มีอเมริกาเป็นเป้าหมายปลายทางเป็นสำคัญ กล่าวคือ ต้องพึ่งอเมริกาเป็นหลัก รัฐบาลอเมริกันเองต้องการให้ผู้บริโภคและรัฐอเมริกันได้ประโยชน์อย่างเต็มทีในฐานะประเทศภาคีทางการค้า

ซึ่งก็ตรงกับที่โดนัลด์ ทรัมป์และฮิลลารี คลินตัน แคนดิเดทประธานาธิบดีอเมริกันกำลังหาเสียงอยู่ในช่วงนี้

ในชีวิตประจำวันในอเมริกานั้น หากจะสังเกตกันให้ดีก็จะเห็นว่า สินค้าไทยในตลาดเอเชียนั้น มีให้เห็นน้อยลง มันถูกกลบฝังโดยสินค้าจากเวียดนามและจีนที่มีราคาถูกกว่า จากสาเหตุต้นทุนต่ำกว่า และคอนเนกชั่นของตัวสินค้านั่นเอง

0000

 

  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net