Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

 

ขณะที่การศึกษาพุทธศาสนาเชิงวิพากษ์จาก “คนนอก” หรือนักวิชาการที่ไม่ได้ศึกษาพุทธศาสนาบนพื้นฐานของ “ศรัทธา” ชี้ว่า พุทธศาสนามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนระบบชนชั้นในรัฐพุทธศาสนาในเอเชียอาคเนย์

แต่ชาวพุทธทั้งกระแสหลักและกระแสรองต่างก็แย้งว่า ที่สนับสนุนระบบชนชั้นคือพราหมณ์ไม่ใช่พุทธ เพราะพุทธศาสนาปฏิเสธวรรณะมาแต่สมัยพุทธกาลแล้ว

แล้วในรัฐพุทธศาสนาที่สร้างขึ้นจากคติพุทธผมสมพราหมณ์ พุทธศาสนาไม่มีส่วนสนับสนุนระบบชนชั้นเลยหรือ ชาวพุทธก็จะตอบว่า นั่นเป็นเรื่องชนชั้นปกครองใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือเท่านั้น

แล้วพระสงฆ์ที่ยอมรับการมีสมณศักดิ์หรือ “ศักดินาพระ” เป็นองค์กรสงฆ์ของรัฐ จนกระทั่งมีอำนาจทางกฎหมายแบบองค์กรสงฆ์สมัยใหม่ ไม่ได้มีส่วนสนับสนุนระบบชนชั้นเลยหรือ ชาวพุทธก็จะตอบอีกว่า ก็ไม่เห็นเกี่ยวกับพุทธศาสนานี่ เพราะพุทธศาสนาคือ “คำสอนของพระพุทธเจ้า” องค์สงฆ์ตีความพุทธศาสนาสนับสนุนระบบชนชั้นก็เป็นเรื่องขององค์กรสงฆ์

ปัญหาคือ การมองว่าพุทธศาสนาคือ “คำสอนของพระพุทธเจ้า” ที่ดำรง “ความถูกต้อง” อยู่อย่างเป็นอิสระจากการตีความ การปรับใช้คำสอนโดยคน หรือสังคมในยุคต่างๆ หรือกระทั่งเป็นอิสระจากองค์กรสงฆ์ นับว่าเป็นเรื่องที่แปลกมาก เพราะว่าคำสอนของพุทธะไม่ใช่ “ก้อนหิน” แต่เป็นเนื้อหาความคิด มุมมองที่เกิดขึ้นจากการปะทะเสวนากับความคิดอื่นๆ ในยุคสมัยเดียวกัน และถูกนำเข้ามาปะทะเสวนาในบริบททางสังคมวัฒนธรรมในยุคสมัยต่างๆตลอดมา

ฉะนั้น พูดอย่างถึงที่สุด สิ่งที่เรียกว่าคำสอนของพุทธะนั้น ย่อมจะถูกตีความ สรุปความตั้งแต่สาวกคนแรกที่ฟังคำสอนจากปากของพุทธะแล้ว การสังคายนาคำสอนก็คือกระบวนการสรุปความ เรียบเรียงคำสอนของพุทธะมารวมไว้ใน “ไตรปิฎก” และใช้วิธีจำปากต่อปาก (มุขปาฐะ) มายาวนาน จึงมีการบันทึกเป็นตัวหนังสือ โดยกระบวนการเหล่านี้ จึงไม่มีคำสอนของพุทธะที่เป็นอิสระจากการตีความอยู่จริง เพราะพุทธะไม่ได้เขียนบันทึกคำสอนของท่านเองไว้แต่แรก

อย่างไรก็ตาม สมมติตกลงกันว่า สิ่งที่บันทึกในไตรปิฎกคือคำสอนของพุทธะที่แท้หรือบริสุทธิ์จากการตีความ คำถามก็คือว่า ใครเป็นคนตัดสินได้ว่า ชนชั้นปกครองและองค์กรสงฆ์ใช้พุทธศาสนาสนับสนุนระบบชนชั้นเอง ส่วน “ตัวคำสอนของพุทธศาสนา” ไม่ได้สนับสนุน

การจะตอบคำถามนี้ ก็หนีไม่พ้นที่เราจะต้องไปดูข้อมูลในไตรปิฎก และดูประวัติศาสตร์การประยุกต์ใช้คำสอนพุทธศาสนาสนับสนุนระบบชนชั้น และแน่นอน ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องยอมรับว่าตัวเราเองก็กำลัง “ตีความ” ที่อาจถูกหรือผิดได้ เช่นกัน

เริ่มจากวรรณกรรมคลาสสิกอย่าง “ไตรภูมิพระร่วง” ที่ให้ภาพ “จักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิ” ที่ประกอบด้วยภพภูมิที่มีลำดับต่ำ-สูง รองรับการไปเกิดของสัตว์โลกตามระดับต่ำ-สูงของ “ความดี” ที่แต่ละคนทำมาไม่เท่ากัน และในภูมิหนึ่งๆ ก็ยังมีลำดับชั้นอีก เช่น สวรรค์ก็จะแบ่งเป็นชั้นต่างๆจนถึงพรหมโลกที่รองรับการไปเกิดตามลำดับชั้นต่ำ-สูงของความดี

ขณะเดียวกันในโลกมนุษย์ ก็มีชนชั้นที่ “สัมพัทธ์” (relative) กับระดับความดีหรือบุญบารมีที่ทำมาต่างกัน นั่นคือการเกิดมาในตระกูลชนชั้นสูงก็เพราะชาติก่อนเคยทำบุญมามากกว่าคนที่เกิดในชนชั้นต่ำ

เห็นได้ชัดว่า ความดีในจักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิเป็น “ความดีมีชนชั้น” หรือเป็นตัวกำหนดให้คนเราเกิดมาในชนชั้นต่ำ-สูงต่างกัน กระทั่งเกิดในระดับชั้นต่ำ-สูงของภพภูมิต่างกัน ฉะนั้น ความแตกต่างทางชนชั้นของคนจึงถูกกำหนดโดย “ระดับความดี” ที่ทำมาต่างกัน

ถามว่าไตรภูมิฯ ชนชั้นปกครองแต่งขึ้นลอยๆ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการปกครองเช่นนั้นหรือ? ก็น่าจะจริงในเรื่องเป็นเครื่องมือในการปกครอง แต่ไม่ใช่แต่งขึ้นลอยๆแน่ หากแต่งจากฐานข้อมูลคำสอนในไตรปิฎกและอรรถกถานั่นเอง เพราะข้อมูลในไตรปิฎกและอรรถกถาก็เต็มไปด้วยเรื่องราวของการเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ ที่มีสาเหตุมาจากผลของกรรมหรือเป็นไปตาม “กฎแห่งกรรม” เช่นใน “พาลบัณฑิตสูตร” ระบุว่า การเป็นบัณฑิต ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เมื่อตายไปจะได้เกิดในตระกูลสูง ร่ำรวย

บัณฑิตนั้นนั่นแล ถ้ามาสู่ความเป็นมนุษย์ ในบางครั้งบางคราวไม่ว่ากาลไหนๆ โดยล่วงระยะกาลนาน ก็ย่อมเกิดในสกุลสูง คือ สกุลกษัตริย์มหาศาล หรือสกุลพราหมณ์มหาศาล หรือสกุลคฤหบดี มหาศาล เห็นปานนั้นในบั้นปลาย อันเป็นสกุลมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจ และทรัพย์ธัญญาหารอย่างเพียงพอ และเขาจะเป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยความงามแห่งผิวพรรณอย่างยิ่งมีปรกติได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และเครื่องตามประทีป เขาจะประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ครั้นแล้วเมื่อตายไปจะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ

ในบางที่ เช่นอัคคัญญสูตร ดูเหมือนพุทธะโต้แย้งระบบวรรณะว่า คนเราไม่ได้ประเสริฐเพราะชาติกำเนิด แต่ประเสริฐเพราะประพฤติธรรม แต่ถามต่อว่าเมื่อประพฤติธรรมแล้วส่งผลอย่างไร? พาลบัณฑิตสูตร(และสูตรอื่นๆอีกจำนวนมาก) ก็ให้คำตอบว่า “การประพฤติธรรมเช่น  กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ฯลฯ ย่อมส่งผลให้เกิดในตระกูลสูงและมั่งคั่ง” ฉะนั้น ความดีแบบพุทธจึงเป็นความดีที่รองรับความชอบธรรมของการเกิดมามีสถานะชนชั้นสูงและมั่งคั่ง?

เราลองนึกภาพว่า ในสังคมชมพูทวีปที่ผู้คนเขาเชื่อกันว่า วรรณะ 4 เกิดจากการสร้างของพระพรหม แล้วพุทธะก็แย้งว่า “ไม่จริง” แล้วคนเหล่านั้นก็ต้องการคำตอบว่า ที่พวกเขาเกิดมาในวรรณะต่ำ สูงไม่เท่ากันมีสาเหตุมาจากอะไร คำตอบที่ได้คือ “สาเหตุมาจากความดี ความชั่ว หรือกรรมที่ทำมาต่างกันในอดีตชาติ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นไปตามกฎแห่งกรรม”

เมื่อพุทธศาสนาเข้ามาอยู่ในสังคมเอเชียอาคเนย์ที่ถือชนชั้นเจ้าขุนมูลนาย ไพร่ ทาส ก็ถูกใช้อธิบายว่าคนเกิดมาเป็นเจ้าขุนมูลนาย ไพร่ ทาส เพราะทำบุญมาไม่เท่ากัน

ฉะนั้น โดยตรรกะนี้การมีชีวิตอยู่ในโครงสร้างสังคมชนชั้นเป็นเรื่องของ “ผลทางศีลธรรม” ส่วนบุคคล หรือเป็นผลของการทำดี ทำชั่วของแต่ละคน แม้แต่ละคนจะเลือกทำดีเพื่อให้ไปเกิดในสถานะทางสังคมที่สูงขึ้นได้ หรือในภพภูมิที่สูงขึ้น จนกระทั่งบรรลุโลกุตตรภูมิหรือบรรลุนิพพานได้ แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องรับผิดชอบตัวเอง ไม่เกี่ยวใดๆ กับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือระบบสังคมให้ยุติธรรม

ตรงกันข้าม ยิ่งปลูกฝังความเชื่อให้คนมุ่งทำความดีเพื่อจะได้ไปเกิดในชนชั้นที่สูงขึ้น ยิ่งเป็นการสร้างสำนึกทางชนชั้นที่ฝังลึกถึงระดับจิตวิญญาณ

ทั้งหมดที่ผมเขียนมา อาจเป็นที่ไม่พอใจของชาวพุทธและปราชญ์ผู้รู้ทางพุทธศาสนา แต่ผมก็ยินจะถูกวิพากษ์โต้แย้งด้วยเหตุผล และถ้าเห็นว่าการตีความเช่นนี้ผิดจากหลักฐานในคัมภีร์พุทธศาสนา และข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ผมก็ขอฝากโจทย์ให้ช่วยกันแก้ด้วย


โจทย์ให้แก้

ถ้าเชื่อว่าไอเดียความดีแบบพุทธปฏิเสธชนชั้น และสนับสนุนความเสมอภาค ทำไมในประวัติศาสตร์ของรัฐพุทธศาสนาที่พุทธศาสนารุ่งเรืองมายาวนานเป็นพันๆปี จึงไม่ได้ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า มีการอ้างไอเดียความเสมอภาคตามคำสอนพุทธเปลี่ยนแปลงให้สังคมมีความเสมอภาค

แม้แต่การเลิกทาสสมัย ร.5 ก็ไม่ได้อ้างไอเดียความดีแบบพุทธ (แต่เลิกเพราะอิทธิพลความคิดสมัยใหม่ที่มาจากตะวันตก)

นอกจากไม่ได้อ้างไอเดียความดีแบบพุทธสนับสนุนให้เลิกทาสแล้ว ยังมีการส่งเสริมให้วัดต่างๆทั่วประเทศมีการ "เทศน์มหาชาติ" เรื่องพระเวสสันดรบำเพ็ญบารมีเพื่อไปเกิดเป็นพระพุทธเจ้าด้วยการ "บริจาคลูกให้เป็นทาส" อีกด้วย

ถามอีกว่า ถ้าไอเดียความดีแบบพุทธสนับสนุนความเสมอภาคจริง ทำไมสังคมสงฆ์ที่สอนความดีที่สนับสนุนความเสมอภาค จึงเป็นสังคมชนชั้นแบบยศช้าง ขุนนางพระมายาวนาน แม้ในยุคเปลี่ยนการปกครองเป็นประชาธิปไตยจนถึงปัจจุบัน ก็ไม่เคยอ้างไอเดียความเสมอภาคแบบพุทธเพื่อยกเลิกระบบชนชั้นในวงการสงฆ์เอง

0000

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net