Skip to main content
sharethis

คณะกรรมาธิการสังคมฯ จัดสัมมนา‘เดินหน้ายุทธศาสตร์ AAA สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน’ รายงานผลศึกษา-แนะแนวทาง การเข้าถึงและใช้ประโยชน์สภาพแวดล้อมสาธารณะ ผู้เชี่ยวชาญชี้ต้องทำให้เข้าถึงคนพิการ เด็ก คนชราด้วย

ภาพงานประชุม

20 ก.ย.2559 วานนี้ (19 ก.ย.) คณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติจัดสัมมนา ‘เดินหน้ายุทธศาสตร์ AAA สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน’ ที่ห้องรับรอง 1-2 อาคารรัฐสภา 2 โดยรายงานผลการศึกษาเรื่องการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ (Accessibility) เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการการจัดทำกฎหมายว่าด้วยการจัดสภาพแวดล้อมที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ (Accessibility for All Act: AAA) ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนหลายสำนัก รวมทั้งมีผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 130 คน

ในเอกสารที่จัดทำโดยคณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการฯ ได้กล่าวถึงการเข้าถึงหรือ Accessibility ว่า เป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มคนพิการ ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ หรือซีอาร์พีดี (Convention on the Rights of Persons with Disabilities: CRPD) รวมทั้งในรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 ก็ได้กำหนดให้หลักการเข้าถึงนั้นเป็นหลักพื้นฐานที่สำคัญที่ต้องมีเมื่อพูดถึงสิทธิคนพิการ อย่างไรก็ดี การเข้าถึงไม่ได้มีเฉพาะในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกหรือบริการสาธารณะเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร ข้อมูลข่าวสาร บริการ ผลิตภัณฑ์ ฯลฯ อีกด้วย โดยเป้าหมายของการสัมมนาในครั้งนี้ มุ่งหวังใน 4 เรื่อง ได้แก่ (1) การขับเคลื่อนประเด็นการเข้าถึงให้เป็นระเบียบวาระใน ‘ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี’  และแผนพัฒนาเศรฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (2) จัดทำกฎหมายว่าด้วยการจัดสภาพแวดล้อมสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ หรือกฎหมายสามเอ (AAA) (3)บูรณาการงบประมาณ และดำเนินการให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินงานตามรูปแบบ ‘ประชารัฐ’ (4) ผลักดันให้เกิดการบังคับใช้

กฎหมายสามเอหรือ Accessibility for All Act: AAA ประกอบด้วยปัจจัย 3 อย่าง ได้แก่ Universal Design: UD หรือการออกแบบเพื่อคนทุกคน, Assistive Technology : AT หรือเทคโนโลยีอำนวยความสะดวก และ Reasonable Accommodation: RA หรือความช่วยเหลือที่จำเป็น โดยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จะถูกหยิบมาใช้ผสมผสานกัน ตามความต้องการจำเป็นของแต่ละคน เพื่อช่วยให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อคนในทุกสภาพร่างกาย

พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การตั้งโจทย์ว่า ต้องการทำให้ทุกคนเข้าถึงนั้นไม่ควรเน้นหนักว่าทำเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ควรจะเน้นย้ำว่าสิ่งนี้สามารถใช้งานได้กับทุกคน เพื่อเปลี่ยนบริบทของสังคมว่าการทำเช่นนี้นับเป็นวัฒนธรรมทางสังคมอย่างหนึ่ง เหมือนเป็นการนำเอามาใส่สมการของ ‘คนทั่วไป’ ไม่ใช่เพียงแต่คนพิการเท่านั้น

เขากล่าวว่าเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน จะต้องประกอบไปด้วย การรวมหมู่ (Inclusive)และความปลอดภัย (Safety) เพราะโดยทั่วไปแล้วเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เช่น เหตุการณ์ภัยพิบัติ กลุ่มคนพิการ เด็ก คนชรามักเป็นกลุ่มที่ถูกกันออกแม้ว่าจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยการนำเอากฎหมายสามเอนั้นมาใช้จะช่วยทำให้เป้าหมายและคุณภาพชีวิตของคนดีขึ้นได้ หลักเกณฑ์ในการพิจารณาการออกแบบเพื่อทุกคนประกอบไปด้วย 1.ความเท่าเทียมกัน เสมอภาคในการใช้งานและไม่แบ่งแยก 2. มีความยืดหยุ่นพอดีกับแต่ละบุคคล 3.ใช้งานง่าย เรียบง่าย มีคำอธิบายชัดเจนเข้าใจง่าย 4.สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง 5.ทนทานต่อการใช้งานที่ผิดพลาด 6.ประหยัดพลังงาน ใช้แรงน้อย 7. มีขนาดและพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการใช้งาน

นอกจากนี้ เขาได้กล่าวถึงเครื่องมืออุปกรณ์ หรือ AT ที่จะมีส่วนช่วยตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลาย เช่น อุปกรณ์ซอฟต์แวร์ต่างๆ ซึ่งมีประโยชน์ทั้งในด้านการใช้ชีวิตประจำวันและช่วยในการประกอบอาชีพ ตัวอย่างเช่น วีลแชร์ แขนเทียม ขาเทียม เครื่องช่วยฟัง แว่นตา ระบบช่วยเหลือฉุกเฉิน และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการศึกษา โดยคำนึงถึงคนใน 4 กลุ่ม ได้แก่ ก่อนเกิดความพิการ โดยพึงระวังภาวะเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น เช่น โรคทางพันธุกรรมอย่าง ดาวน์ซินโดรม ฯลฯ, ระยะพบความพิการ ที่ต้องหาอุปกรณ์เทคโนโลยีเพื่อแก้ไขให้ความพิการนั้นหายไป หรือทุเลาลง, ระยะฟื้นฟูความพิการ โดยการใช้เทคโนโลยีเพื่อเสริมศักยภาพ และระยะพัฒนาศักยภาพคนพิการ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการออกมาใช้ชีวิตและประกอบอาชีพ

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังกล่าวถึงปัญหาของของกฎหมายไทย ที่ถึงแม้จะได้รับการยอมรับว่า มีความทันสมัยเป็นอันดับต้นๆ ในอาเซียน แต่ทำไมการบังคับใช้ยังไม่สามารถทำได้จริง ดังจะเห็นได้ว่า การก่อสร้างอาคารสถานที่หลายแห่งยังไม่ได้มาตรฐาน รวมทั้งไม่มีการตรวจสอบ ดังนั้นนอกจากจะมีการบังคับใช้กฎหมายสามเอแล้ว ทัศนคติของคนในสังคมก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากคนไทยไม่เห็นความสำคัญของความเท่าเทียมแล้ว การพัฒนาเรื่องการเข้าถึงก็จะเกิดขึ้นได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นการทำให้คนที่มีโอกาสน้อยในสังคม อย่างคนพิการได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน

“จิ๊กซอว์ของประเทศไทยมันขาดไปหมด ตราบใดที่คนในสังคมยังไม่มองเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องของตัวเอง การแก้ไขก็ยังเป็นเรื่องของการตัดตรงนั้นไปแปะตรงนี้” เขากล่าว

ด้าน นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานสมาคมผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า การจะดำเนินการขยับเขยื้อนอะไรในไทย จะต้องอาศัยการ ’แอบทำ’ แล้วจะทำได้ โดยเขาได้แนะยุทธศาสตร์ไว้ 4 ข้อ โดยเริ่มต้องศึกษา รณรงค์, หาเทคนิคใหม่ๆ เพื่อพัฒนา, กระตุ้นเศรฐกิจ และสุดท้ายจัดการกับเรื่องกฎหมาย เขาได้เน้นย้ำอีกว่า ถึงแม้ว่าตอนนี้สังคมไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคม 4.0 ซึ่งมีนโยบาย 4 ด้าน ได้แก่ ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ การรักษ์สิ่งแวดล้อม การมีสังคมที่อยู่ดีมีสุข และการเสริมสร้างภูมิปัญญามนุษย์ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า สังคมเรายังมีคนกลุ่มที่เติบโตขึ้นมาในสังคมยุค 1.0 และ 2.0 ที่อาจไม่สามารถปรับตัวได้ทัน จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องอุ้มคนกลุ่มนี้ไปด้วยเช่นกัน

ด้านศักดิ์ชัย ยวงตระกูล อดีตอุปนายกคนที่หนึ่ง สภาสถาปนิก เป็นห่วงในเรื่องการออกแบบเมืองและการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร โดย พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับให้อาคารที่สร้างจะต้องมีมาตรฐานตามที่กำหนด เช่น การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก ทางหนีไฟ ฯลฯ อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะมี พ.ร.บ. ดังกล่าว ก็ยังมีอาคารหลายหลังที่ไม่ได้ปฏิบัติตาม นอกจากนี้เขายกตัวอย่างของหลักเกณฑ์การสร้างถนนและทางเท้าว่า ตามกฎหมายแล้วการสร้างถนนและทางเท้าถูกระบุขั้นต่ำอยู่ที่ความกว้าง 9 เมตร โดยแบ่งเป็นถนน 6 เมตร และทางเท้า 3 เมตร ทำให้เหลือทางเท้าข้างละ 1.5 เมตรโดยประมาณ แต่ปัญหาที่พบคืออมีการตั้งเสาไฟฟ้า ถังขยะ ตู้โทรศัพท์ปลูกต้นไม้หรือป้ายโฆษณาอื่นๆ ตลอดเส้นทาง จึงทำบางครั้งเหลือพื้นที่ใช้งานจริงไม่ถึง 1 เมตรและยากลำบากต่อการเดินทางสัญจร อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่กระทบต่อการใช้งานทางเท้าของคนตาบอด ได้แก่ การติดตั้งแผ่นเบรลล์บล็อกที่ไม่ได้มาตรฐาน จะเห็นได้ว่าปัจจุบันแผ่นเบรลล์บล็อก สีเหลืองปุ่ม-ขีดนูนที่ถูกเรียงอยู่ที่พื้น ถูกจัดเรียงอย่างสะเปะสะปะ หรือบางครั้งก็ติดเป็นเส้นตรงเพื่อนำไปหาเสาไฟฟ้าหรือท่อ นี่จึงแสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจของคนสร้างอย่างชัดเจน

เขาได้เสนอการแก้ปัญหาทางเท้าไว้ 3 กรณีคือ การเอาสิ่งประกอบอื่นๆ ไว้ด้านนอก และเว้นทางเดินให้คนด้านในติดกับอาคาร, การทำทางเท้าอยู่ด้านนอก และนำเอาสิ่งประกอบติดชิดอาคาร และการทำทางเท้าตรงกลางโดยมีสิ่งประกอบอื่นสองข้าง เพื่อให้การจัดการนั้นมีระบบและเป็นแบบแผนที่เหมือนกัน นอกจากนี้ยังได้กำชับว่า จริงๆ แล้ว สิ่งเหล่านี้ถูกกำหนดอยู่ใน ‘พ.ร.บ.กำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกและสภาพแวดล้อม’ ตั้งแต่ปี 2548 เพียงแต่ยังไม่มีการบังคับใช้ที่จริงจัง โดย พ.ร.บ. ดังกล่าวได้กำหนดลักษณะของอาคารไว้ค่อนข้างครอบคลุมทั้ง อาคารขนาดเล็ก-ใหญ่, สถานศึกษา, อาคารชุด, อาคารพานิชย์, โรงพยาบาล, อาคารของรัฐ, ปั๊มน้ำมัน รวมทั้งอาคารในอนาคตที่จะประกาศเพิ่มเติมอีกด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การนำเสนอผลการศึกษาในครั้งนี้ เป็นการนำเสนอครั้งแรก โดยจัดเปรียบเทียบผลการศึกษากับกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องการเข้าถึงของสหภาพยุโรป ซึ่งหลังจากการนำเสนอผลการศึกษานี้ก็จะต้องมีการสอบถามความเห็นของกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องในแต่ละหมวดหมู่ว่า เห็นด้วยหรือไม่หรือมีข้อเสนอแนะอย่างไร คณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการฯ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องจึงจะจัดร่างกฎหมาย โดยในวงสัมมนาได้มีการสอบถามความเห็นของผู้เข้าร่วมใน 3 ประเด็น ได้แก่ เห็นควรหรือไม่ที่จะนำเอากฎหมายนี้เข้าไปอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งเห็นด้วยหรือไม่ที่หลักการของกฎหมายสามเอ จะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เห็นด้วยในทั้งสามประเด็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net