Skip to main content
sharethis

 


ผมได้รู้จัก อับดุลเมี๊ยะ (เป็นชื่อสมมติ) ประมาณ ปี 2555 โดยการแนะนำจากเพื่อนร่วมงาน เขาได้นำพาให้ผมได้เข้าพบบางส่วนของสิ่งที่คนไร้รัฐชาวโรฮิงยาต้องเผชิญ เมื่อพวกเขาเดินทางเข้ามาในประเทศไทย สถานะที่พวกเขาถูกทำให้เป็น การต่อรอง และการเลือกที่จะเป็นของพวกเขา อับดุลเมี๊ยะเป็นชาวโรฮิงยาที่ทำโรตีขายส่งร้านอาหารอีกที ซึ่งทำให้เขามีรายได้ที่ดีมากกว่าที่จะเข็นขาย เขามีเมียเป็นสาวชาวพม่ามุสลิมมีลูกด้วยกันสองคน

อับดุลเมี๊ยะเป็นหนึ่งในกลุ่มชาวโรฮิงยาที่เข้ามาในประเทศไทยเป็นเวลานาน ตัวอับดุลเมี๊ยะเข้ามาในประเทศไทยมากกว่า 30 ปี โดยใช้เส้นทางทางบก ชาวโรฮิงญากลุ่มนี้จะถือบัตรประจำตัวบุคคลผู้ไม่มีสถานะ  แต่ก็ยังอีกหลายคนถือบัตรแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการผ่อนผันจากรัฐบาลไทยให้อยู่และทำงาน แต่เมื่อรัฐบาลไทยพยายามทำให้แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฏหมายเข้ามาอย่างถูกต้อง รัฐบาลไทยก็กำหนดให้กลุ่มที่ได้รับการผ่อนผันต้องต้องไปพิสูจน์สัญชาติกับรัฐบาลของเมียนมาและจึงขอวีซ่า ใบอนุญาติทำงานเข้ามาในประเทศไทยใหม่อีกครั้ง ชาวโรฮิงยาในประเทศไทยที่เคยได้รับการผ่อนผันในฐานะแรงงานก็เลยกลายเป็นคนต่างด้าวผิดกฏหมายเมื่อรัฐบาลเมียนมาปฏิเสธพิสูจน์สัญชาติ

กลุ่มชาวโรฮิงยาอีกกลุ่มผมสนใจและเป็นกลุ่มที่อับดุลเมี๊ยะได้เข้าไปช่วยเหลือคือกลุ่มที่เข้ามาภายหลังในปี 2555 จากเหตุการณ์ความรุนแรงภายในรัฐยะใข่ โดยใช้เส้นทางทะเล การเข้ามาของชาวโรฮิงกลุ่มนี้มีลักษณะที่แตกต่างไปจากลุ่มเดิมอย่างชัดเจน จากการใช้เส้นทางทางบกเปลี่ยนเส้นทางทะเลที่ทำให้พวกเขามีโอกาสที่จะถูกจับได้ง่ายมากกว่า

อับดุลเมี๊ยะ เริ่มได้รับโทรศัพท์จากนักข่าว และเจ้าหน้าที่ของรัฐสอบถามถึงความเป็นมาของกลุ่มชาวโรฮิงยาที่จับได้ หลายครั้งที่เขาถูกขอให้ไปเป็นล่ามภายหลังที่เจ้าหน้าที่จับกุมได้ ชาวโรฮิงญาที่เข้ามาในช่วงปี 2555 ที่อับดุลเมี๊ยะพาผมให้ไปพบ มีตั้งแต่กลุ่มของชาวโรฮิงยาที่หลบหนีความรุนแรงที่พวกเขาได้เผชิญโดยตรง ถูกเผาบ้าน ถูกไล่ทำร้ายให้หนีออกจากหมู่บ้านของตนเอง ไม่มีที่ไป หลายคนเห็นเรือที่กำลังจะออกจากฝั่งก็ขอขึ้นเรือออกมาโดยไม่รู้ว่าเรือกำลังจะไปที่ใหน

ต่อมาก็เป็นกลุ่มของชาวโรฮิงยาที่หนีออกมาจากค่ายพักผู้พลัดถิ่นภายในรัฐยะใข่ ภายหลังที่พวกเขาสูญเสียบ้านและทรัพย์สินไปก็ถูกให้ไปอยุ่ภายในค่ายพักดังกล่าว และสภาพความเป็นอยู่ภายในค่ายที่ยากลำบากทำให้หลายคนพยายามหลบหนีออกมา หลายพยายามหานายหน้าภายในค่าย หรือแม้กระทั่งจ่ายเงินเพื่อให้ช่วยนำพาหลบหนีออกมา

กลุ่มที่พบในช่วงหลังมากขึ้น โดยเฉพาะปี 2557 เป็นต้นมา เป็นชาวโรฮิงยาที่ถูกบังคับ ถูกหลอกลวง ชักชวนจากนายหน้าภายในค่าย ให้ไปทำงานในประเทศมาเลเซีย มีทั้งที่อยู่ภายในค่ายพักผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ รวมถึงชาวโรฮิงยาที่อพยพหลบหนีเข้าไปในบังคลาเทศแล้วด้วยเช่นกัน

และกลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มที่ญาติพี่น้องของพวกเขาซึ่งอยู่ในต่างประเทศได้ติดต่อว่าจ้างให้นายหน้า ขบวนการฯ ช่วยนำพาพวกเขาเดินทางออกมาจากประเทศเมียนมาเพื่อมาหาครอบครัวในต่างประเทศ กลุ่มนี้มีทั้งที่เป็นเด็กที่กำลังเดินทางไปหาพ่อ เป็นภรรยาที่กำลังเดินทางไปหาสามี


การเดินทางทางทะเลของชาวโรฮิงยา

ผู้อพยพชาวโรฮิงยาใช้เส้นทางจากรัฐยะใข่ เลาะชายฝั่งทางตะวันออกขงทะเลเบงกอลเข้าสูทะเลอันดามัน ขึ้นฝั่งในบริเวณจังหวัดระนอง พังงา หรือพลัดหลงลงมาถึงภูเก็ต แล้วใช้เส้นทางบกมุ่งหน้าสู่กระบี่ ตรัง พัทลุง เข้าสงขลาเพื่อข้ามแดนไปมาเลเซีย ต่อมามีการเปลี่ยนเส้นทางเพื่อหลบหนีการขัดขวางจับกุมโดยส่วนหนึ่งใช้การเดินทางทะเลลงไปถึงสตูลก่อนขึ้นฝั่งแล้วเดินเท้าเข้าจังหวัดสงขลา อีกส่วนเปลี่ยนไปใช้เส้นทางระนอง พังงา เข้าชุมพร สุราษฎร์ธานีลงไปถึงสงขลา บริเวณอำเภอสะเดา และปาดังเซาร์

ในช่วง ก่อนปี 2556 พวกเขาใช้เรือที่มีขนาดเล็กหลบหนีออกมา เป็นเรือประมงขนาดเล็กจุคนได้ 60-100 คน  ส่วนใหญ่จึงหมดสภาพเมื่อใกล้ถึงชายฝั่งของไทย ต่อมาขบวนการนำพาในประเทศไทยได้ใช้เรือประมงดัดแปลงไปรอรับชาวโรฮิงยาถึงชายฝั่งของเมียนมาบังคลาเทศ ชาวโรฮิงยาจะใช้เรือเล็กออกจากฝั่งเพื่อมาขึ้นเรือประมงที่รออยู่ เรือประมงเหล่านี้จุคนได้ตั้ง 200-400-600-1,000 คน  เรือประมงเหล่านี้จะพาพวกเขามาจนถึงนอกชายฝั่งของไทย ที่จะเรือเล็กมารับเพื่อขึ้นฝั่ง เมื่อขึ้นฝั่งก็จะมีรถมารับ ส่วนใหญ่เป็นรถกระบะที่จะขนชาวโรฮิงยาไปคันละ 20 คน โดยจะมารับในช่วงหัวค่ำเพื่อพาไปให้ถึงชายแดนด้านสงขลาก่อนที่พระอาทิตย์จะขึ้น 

การใช้นโยบาย “ช่วยเหลือให้ไปต่อ” ของรัฐบาลไทย โดยหากมีการพบในทะเลก็ให้กองทัพเรือให้น้ำ อาหารเชื้อเพลิงก่อนลากออกไปกลางทะเล ขณะที่กลุ่มที่มาถึงชายฝั่งไทยก็จะเป็นความรับผิดชอบของหน่วนงานความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดระนองในการ “ช่วยเหลือให้ไปต่อ” ถึงชายแดนมาเลเซีย แนวนโยบายมีส่วนสำคัญที่ทำให้มีชาวโรฮิงยาจำนวนมากขึ้นได้ไปถึงบริเวณชายแดนไทยมาเลเซีย

ขณะเดียวกันขบวนการนำพาคนเข้าเมืองผิดในพื้นที่ชายแดนเองก็เริ่มเข้ามารับชาวโรฮิงยาที่ตกค้างอยู่ระหว่างชายแดนไทยเมียนมานำพาไปมาเลเซีย พวกเขาค่อยๆ ขยายและกลายเป็นขบวนการที่ใช้ความรุนแรงมากขึ้น จากการรับช่วงต่อชาวโรฮิงยาจากเจ้าหน้าที่ ขบวนการเริ่มส่งเรือของตัวเองไปรับจากชายฝั่งเมียนมาบังคลาเทศเข้ามาในประเทศไทย ถ้าไม่ถูกจับก็ดี ถ้าถูกจับพวกเขาก็รอรับช่วงต่อหลังจากที่ ตม.ดำเนินการผลักดันกลุ่มนี้ออกนอกประเทศเพื่อเอาเข้ามาในประเทศใหม่อีกครั้ง ชาวโรฮิงยาเริ่มถูกเรียกและถูกบังคับให้จ่ายเงินเพิ่มเติม มีการบังคับ ขู่เข็ญ ทำร้ายร่างกาย และเรียกเงินค่าไถ่มากขึ้น จาก 20,000 เพิ่มเป็น 50,000 จนถึง 90,000 ในต้นปี 2558 หลายคนเสียชีวตระหว่างอยู่ในขบวนการเหล่านี้


คนไร้รัฐชาวโรฮิงญาในประเทศ ระหว่างปี 2556-2558

ความพยายามของรัฐบาลไทยในการป้องกันคนไร้รัฐชาวโรฮิงญาไม่ให้เข้ามาในประเทศไทยกลายเป็นความล้มเหลวเมื่อไม่สามารถที่จะใช้อำนาจของตนในการควบคุมกับขบวนการนนอกกฎหมายที่กลายเป็นกลุ่มที่พยายามเบียดขับหน่วยงานของรัฐและใช้อำนาจควบคุมเหนือชีวิตของคนไร้รัฐชาวโรฮิงญาที่หลบหนีเข้ามาในประเทศไทยในช่วงปี 2556-2558 ขณะเดียวกันที่คนไร้รัฐชาวโรฮิงญาที่เข้ามาในประเทศไทยก็เริ่มเข้าสู่การปกป้องคุ้มครองตามกฎหมายในฐานะอื่นๆ แม้ว่าพวกเขาจะเป็นคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองก็ตาม 

ในระหว่างปี 2556-2558 อับดุลเมี๊ยะได้โทรศัพท์ร้องขอจากเจ้าหน้าที่ให้ลงไปช่วยเป็นล่ามหลายครั้งที่มีการจับกุมคนไร้รัฐชาวโรฮิงญา เขาเริ่มไม่สามารถช่วยภรรยาทำโรตีขายได้เหมือนในอดีต ต่อมาถึงเขาเองก็จำเป็นที่ต้องเลิกกับภรรยาเพื่อลงไปอยู่หาดใหญ่ หลังจากที่ต้องเดินทางไปกลับกรุงเทพกับหลายจังหวัดภาคใต้เพื่อช่วยเหลือ ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ และก็พี่น้องโรฮิงยาที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐช่วยเหลือและจับกุมด้วย

ในช่วงแรกที่อับดุลเมี๊ยะลงไปช่วยเป็นล่ามสื่อสาร ชาวโรฮิงยาหลายคนบอกเพียงว่า “พวกเขาหนีความรุนแรงมาจากบ้านเกิด” พวกเขาไม่มีหนังสือเดินทาง พวกเขาเข้ามาในประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต พวกเขาจึงถูกจับกุม ดำเนินคดีในฐานะ “คนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง” พวกเขาถูกส่งต่อให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อผลักดันออกนอกประเทศ แต่จากการถูกปฏิเสธจากรัฐบาลเมียนมาทำให้พวกเขาถ้าไม่ล่องลอยอยู่ในพื้นที่ชายแดนไทยเมียนมา ก็จะถูกควบคุมไว้ภายในห้องกักของด่านตรวจคนเข้าเมืองในฐานะ “ผู้ต้องกักเพื่อรอการส่งกลับ” อย่างไม่มีกำหนด แต่กระนั้นก็ดี ถ้าพวกเขาเป็น “ผู้หญิง” หรือ “เด็ก” ทางเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองก็จะส่งให้ทางบ้านพักเด็กและครอบครัว หน่วยงานภายใต้กระทรวงพัฒนาสังคคมและความมั่นคงของมนุษย์ช่วยดูแล แทนการกักขังไว้ภายในห้องกัก

ในเดือนตุลาคม 2557 อับดุลเมี๊ยะลงไปช่วยทางเจ้าหน้าที่ของบ้านพักเด็กฯ แห่งหนึ่งสัมภาษณ์กลุ่มของชาวโรฮิงยาที่ถูกจับได้กลุ่มหนึ่ง เขาบอกว่า “หลายคนพูดแตกต่างไปจากปีก่อน บางคนบอกว่าถูกบังคับให้ขึ้นเรือมา บางคนก็บอกว่าเขาเคยถูกจับแล้วหลายครั้ง แล้วก็ถูกนำพาเข้ามาใหม่ แล้วพวกเขาคนนำพาก็เรียกเงินจำนวนมากเพื่อจะปล่อยพวกเขา แต่พวกเขาไม่มีเงินที่จะจ่าย” หลายคนในกลุ่มนี้จึงถูกคัดแยกว่าเป็น “ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์” และถูกส่งให้บ้านพักเด็กและครอบครัวในฐานะของสถานแรกรับก่อนที่จะส่งต่อให้สถานคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ซึ่งต่างก็เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดของ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เช่นเดียวกัน

แม้ว่าพวกเขาจะได้รับการปกป้องภายใต้กฎหมายของไทย ในฐานะที่เป็น เด็ก ผู้หญิง หรือผู้เสียหายจาการค้ามนุษย์ แต่พวกเขาก็ยังคงหวาดกลัวเจ้าหน้าที่ เด็กชายชาวโรฮิงเขียนจดหมายถึงผมและอับดุลเมี๊ยะ บอกว่า “พอพวกเขาเห็นเจ้าหน้าที่ พวกเขากลัว กลัวถูกจะส่งกลับไปเมียนมา ถูกฆ่า เขาต้องโกหกเพื่อเอาชีวิตรอด พวกที่พามาบอกว่า ถ้าถูกจับให้โกหกไว้ก่อน”

หญิงชาวโรฮิงยาคนหนึ่งที่อยู่ภายในบ้านพักฯ ได้เรียกเจ้าหน้าที่ว่าแม่ ไม่ใชเพราะรู้สึกเหมือนแม่ แต่เป็นเพราะ “ชีวิตของพวกเขาขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่” ผู้หญิงชาวโรฮิงยาที่อยู่ในบ้านพักเด็กและครอบครัวเหล่านี้ไม่ได้มีทางเลือกและความหวังมากนัก การปกป้องคุ้มครองตามกฎหมายเกิดขึ้นระหว่าง "การรอการส่งกลับ” มันจึงเป็นเรื่องของเวลาว่าเมื่อไหร่พวกเขาจะถูกส่งกลับออกไปเท่านั้น


การแทรกแซงจากภายนอกรัฐ

นอกเหนือไปจากความไร้เอกกภาพในแนวนโยบายของรัฐ การพยายามป้องกันไม่ให้พวกเขาเข้ามาในประเทศ การเอื้ออำนวยให้เดินทางไปต่อ การปกป้องคุ้มครองในฐานะ ผู้หญิง เด็ก และผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ รวมถึงการเผชิญกับอำนาจของขบวนการภายนอกกฏหมายที่ทำให้รัฐสูญเสียการผูกขาดอำนาจสูงสุดภายในดินแดนของรัฐสมัยใหม่ รัฐยังคงต้องเผชิญหน้ากับอำนาจภายนอกอื่นๆ ในหลากหลายรูปแบบ เช่น อำนาจจากองค์กรระหว่างประเทศ อำนาจของศาสนาสมัยใหม่ ที่ต่างเข้ามาทำให้รัฐจำเป็นต้องยกเว้นที่จะใช้อำนาจตามกฎหมายของตนกีดกันคนที่ไม่ได้เป็นพลเมืองออกไป

ระหว่างที่พวกเขาถูกควบคุมตัวไว้ภายในบ้านพักเด็กและครอบครัว เจ้าหน้าที่จากองค์กรระหว่างที่ทำงานด้านผู้ลี้ภัยก็เข้ามาในบ้านพักและสถานที่ควบคุมของรัฐอื่นๆ เช่น ห้องกักของสำนักงานตรวคนเข้าเมือง สถานคุ้มครองผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่เหล่านั้นทำการสัมภาษณ์ จัดทำประวัติ และบอกกับคนต่างด้าวไร้รัฐชาวโรฮิงญาที่ถูกควบคุม ดูแลว่า “พวกเขามีโอกาศเดินทางไปตั้งถิ่นฐานในต่างประเทศในฐานะของการเป็น ผู้ลี้ภัย ถ้าต้องการ” แต่ก็โอกาสนี้ก็จำกัดอยู่เฉพาะชาวโรฮิงยาที่ถูกจับกุมและถูกควบคุมอยู่ภายใต้หน่วยงานของรัฐเท่านั้นที่จะสามารถเข้าถึงโอกาสในการเดินทางไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สามนี้ โดยเงื่อนไขนี้เจ้าหน้าที่องค์กรดังกล่าวได้บอกกับอับดุลเมี่ยะเมื่อเขาต้องการจะขอไปประเทศที่สามด้วย

กระนั้นชาวโรฮิงยาจำนวนหนึ่งที่สามารถไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สามก็ปฏิเสธที่จะไป ประเทศที่สามที่พร้อมรับพวกเขาไปตั้งถิ่นฐานไม่ได้เป็นประเทศที่พวกเขารู้จัก ไม่ได้เป็นประเทศที่พวกเขามีครอบครัว ไม่ได้เป็นประเทศที่พวกเขาต้องการที่จะไป หลายคนจึงยังคงพยายามหลบหนีไปมาเลเซียแทนที่จะไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม

ในปีเดียวกัน อับดุลเมี๊ยะนำเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองไปจับกุม ช่วยเหลือชาวโรฮิงยาได้มากกว่า 800 คน ในพื้นที่ชายแดนด้านอำเภอสะเดา สงขลา แต่มีประมาณ 30 คน ส่วนใหญ่สภาพขาดอาหาร เจ็บป่วย ถูกพบภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่ถอนกำลังไปแล้ว อับดุลเมี๊ยะร่วมอิหม่ามในตำบลนั้นแจ้งเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองว่าพวกเขาจะขอดูแลชาวโรฮิงยากลุ่มนี้โดยให้อาศัยอยู่ที่มัสยิด โดยที่ชุมชนจะช่วยดูแลและรักษาการเจ็บป่วยด้วย ต่อมาเครือข่ายของกลุ่มองค์กรมุสลิมในสงขลาก็เข้าไปพบกับทางจังหวัดเพื่อแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบว่าพวกเขายินดีที่จะดูแลชาวโรฮิงยากลุ่มนี้จนหายดี นายอำเภอสะเดาเข้าไปดูแลความปลอดภัย มีอาสามัครจากโรงพยาบาลเข้าไปช่วยเหลือ ชาวโรฮิงยาทั้ง 30 คน ไม่ได้ถูกจับกุมในฐานะคนหลบหนีเข้าเมือง ไม่ได้รับการปกป้องจากกฏหมายของไทย แต่พวกเขาได้รับการดูแลอยู่ในมัสยิดแห่งหนึ่งกลางชุมชนชาวมุสลิมจนหาย บางคนได้เจอกับครอบครัว หลายคนได้เดินทางต่อไป ชาวโรฮิงยาอีกหลายสิบคนได้รับการช่วยเหลือจากชุมชนมุสลิมตลอดหลายปีที่ผ่านมา

กระนั้นก็ดีชาวบ้านมุสลิมหลายคนก็ยังคงหวาดกลัวที่จะช่วยเหลือชาวโรฮิงยาเหล่านี้ พวกเขาถูกบอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ว่า  ถ้ายังคอยให้ความช่วยเหลือก็อาจจะถูกจับข้อช่วยเหลือให้ที่พักพิง หรือไม่ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกหาผลประโยชน์จากการช่วยเหลือ แต่ ก๊ะ ช่าวบ้านคนหนึ่งที่คอยเหลือช่วยอับดุลเมี๊ยะบอกว่า “ก็แล้วแต่เขา แต่ทุกวันฉันกล้าที่จะเผชิญหน้ากับอัลเลาะห์” ขณะที่ชาวบ้านบางคนก็หาผลประโยชน์จากชาวโรฮิงยาด้วยเช่นกัน หากพวกเขาจับชาวโรฮิงยาที่หนีลงมาได้ แล้วพากลับขึ้นไปก็อาจได้ถึงหัวละห้าพัน

 

การต่อรอง ร่วมมือ แทรกซึม และการท้าทายรัฐของคนไร้รัฐชาวโรฮิงญา

ภายใต้ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐ องค์กรระหว่างประเทศ และศาสนาในโลกสมัยใหม่ที่ต่างร่วมมือ ต่อรองกันบนผลประโยชน์และแนวทางการใช้อำนาจที่แตกต่างกัน คนไร้รัฐชาวโรฮิงยาเองไม่ได้อยู่ในสถานะของการเป็นผู้ถูกกระทำเท่านั้น พวกเขาสามารถที่จะเดินทางหลบหนีออกมาจากประเทศเมียนมาเข้ามาในประเทศไทนเพื่อหลบหนีความรุนแรง ก็สามารถที่แสวงหาโอกาศในความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนมากกว่าในประเทศไทยเพื่อบรรลุความต้องการของพวกเขา ทั้งการต่อรอง รวมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ องค์กรระหว่างประเทศ หรือแม้กระทั่งแทรกแซง และท้าทายการใช้อำนาจของพวกเขา

อับดุลเมี๊ยะ เข้ามาในประเทศมามากกว่า 30 ปี นานพอที่จะหาช่องทางจ่ายเงินขึ้นทะเบียนและถือ บัตรประจำตัวบุคคลผู้ไม่มีสถานะ (บัตร 10 ปี )  บัตรดังกล่าวเป็นความพยายามของรัฐบาลไทยในการจัดการปัญหาคนไร้รัฐในประเทศไทย ภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ปี 2548  กลุ่มเป้าหมายของนโยบายนี้ส่วนใหญ่คือ คนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยแต่ตกสำรวจจากรัฐบาลทำให้พวกเขาไม่ได้มีสถานะเป็นคนสัญชาติไทย

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ประกาศให้เปิดการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติ เมียนมา ลาว กัมพูชา เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ โดยให้นายจ้างนำแรงงานต่างด้าวฯ มาจดทะเบียน ณ ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ ( One Stop Service) ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2557จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2557 อับดุลเมี๊ยะได้โทรหาผู้เขียนบอกว่า “เขาอยากที่จะพาชาวโรฮิงยาที่เข้ามาใหม่ที่เขาให้การดูแลอยู่นั้นไปขึ้นทะเบียนด้วย เขาอยากให้ผมช่วยหานายจ้างพร้อมกับขอเงินเพื่อไปขึ้นทะเบียน” ชาวโรฮิงยาที่ไปขึ้นทะเบียนครั้งนี้จะได้รับการผ่อนผันใหทำงานได้บ้างอย่างน้อยก็ 1 ปี ก่อนที่จะต้องไปพิสูจน์สัญชาติกับรัฐบาลเมียนมา

การช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ต่อเนื่องของอับดุลเมี๊ยทำให้เขาภูมิใจ ครั้งหนึ่งที่เขาเดินนำหน้าเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองในระหว่างบุกช่วยเหลือชาวโรฮิงยาบนภูเขาใกล้แนวชายแดน ผู้การได้ให้เขาใส่ใส่เสื้อกันกระสุนเดินนำ เขาบอกว่า “เขายินดีทำทุกอย่างเพื่อช่วยให้ประเทศไทยแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ได้” แต่กระนั้นก็ไม่มีหน่วยงานราชการ หรือ องค์กรสิทธิมนุษย์ใดที่ออกจดหมายรับรองเขา เมื่อเขาต้องการที่ยื่นขอเป็นผู้ลี้ภัย

อับดุลเมี๊ยะยังเล่าว่า “บางครั้งที่ผมไปเจอกลุ่มที่ไม่ได้สัมภาษณ์ มีบางคนที่น่าเป็นคนของขบวนการยอมให้ถูกจับเพื่อรอโอกาสพากลุ่มของชาวโรฮิงยาหลบหนีออกไป ผมบอกเจ้าหน้าที่ก็ไม่มีใครเชื่อ”

ส่วนเจ้าหน้าที่บ้านพักคนหนึ่งก็เคยบอกกับผมว่า “เขาก็สงสัยว่าอับดุลเมี๊ยะเป็นคนของขบวนการเช่นกัน เคยส่งเด็กมาอยู่ เราก็กลัวจะเป็นคนมาพาเด็กเราหนี เราก็แยกให้อยู่ห่าง คอยดูใกล้ชิด” แต่ต่อมาเด็กและผู้หญิงหลายคนก็หลบหนี เจ้าหน้าที่เองก็ไม่รู้ว่าใครนำพาไปยังไง

สำหรับชาวโรฮิงยาหลายที่ถูกกักไว้ในด่านตรวจคนเข้าเมือง แม้ว่าอับดุลเมี๊ยะจะเป็นคนพาเจ้าหน้าที่ไปจับกุม แต่เขาก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปภายใน การควบคุมที่เข้มงวดมากกว่าเรือนจำของห้องกักในด่านตรวจคนเข้าเมืองทำให้ชาวโรฮิงยาเกือบถูกแยกจากสังคมโดยสิ้นเชิง แต่กระนั้นพวกเขาก็ไม่ได้รับอนุญาตที่จะตาย เมื่อพวกเขาเลือกอดอาหารและเรียกร้องขออาหารฮาลาลจากพี่น้องมุสลิม เจ้าหน้าที่ก็จำเป็นที่จะอนุญาตให้อาสาสมัครของสำนักจุฬานำอาหารเข้าไปให้เป็นครั้งคราว

 

ปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2559

อับดุลเมี๊ยะได้เดินทางไปอยู่อาศัยในประเทศยุโรปตอนเหนือประเทศหนึ่ง การจับกุมนายทหาร ข้าราชการ นักการเมือง กลุ่มผู้นำท้องถิ่นจำนวนมากที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำพาและค้ามนุษย์ชาวโรฮิงยาทำให้เขาถูกข่มขู่ถึงชีวิต เขาเคยถูกขับรถปาดหน้าจนรถมอเตอร์ไชต์ที่เขาขี่มาล้มไถลงลงไปข้างถนนทางไปสนามบินหาดใหญ่ อับดุลเมี๊ยะบอกว่า “บัตร 10 ปีที่เขาซื้อมาด้วยชื่อที่เจ้าหน้าที่ตั้งให้ ซึ่งไม่ใช่อับดุลเมี๊ยะ ทำเขารอดมาได้”

หลังจากนั้นเขาโทรขอความช่วยเหลืออจากทุกคนที่เขารู้จัก ผู้การของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และนักข่าวต่างประเทศคนหนึ่งได้ขอให้องค์กรระหว่างประเทศช่วยเหลืออับดุลเมี๊ยะพร้อมกับพยานในคดีเดี่ยวกันอีก 3 คน ให้ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศอื่นภายหลังการที่ขึ้นให้การชั้นศาล หลังจากนั้นไม่นานเขาก็ได้ถูกนำพาไปต่างประเทศโดยไม่ได้ตั้งตัว ทิ้งให้พยานอีกสามคนที่เขาดูแลอยู่ต้องอยู่ใประเทศไทยอีกหลายอาทิตย์ก่อนที่ทั้งสามจะได้เดินทางไปอีกประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ

ชาวโรฮิงยาอีกหลายคนที่หลบหนีเข้ามาในประเทศไทยต่างก็เผชิญกับทางเลือกที่หลากหลาย ทั้งการปกป้องคุ้มครองจากรัฐ องค์กรระหว่างประเทศ และพี่น้องชาวมุสลิมของพวกเขา

หลายคนเลือกจะเดินทางไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สามที่พวกเขารู้สึกว่าเป็นทางเลือกเดียวที่จะออกไปจากห้องกัก

หลายคนยังเลือกที่จะหลบหนีจากการปกป้องคุ้มครองของรัฐและองค์กรระหว่างประเทศเพื่อเดินทางข้ามเข้าไปมาเลเซียเป็นคนผิดกฏหมายในมาเลเซีย

หลายคนยังคงอดทนอยู่ภายในห้องกักโดยหวังว่ารัฐบาลไทยคงไม่สามารถกักขังพวกเขาไว้ในด่านตรวจคนเข้าเมืองได้ไปตลอดกาล ขณะเดียวกันก็หาช่องทางและรอคอยโอกาสในการหลบหนีออกไปในอนาคต

ชีวิตของคนไร้รัฐชาวโรฮิงยาที่ไม่ได้มีสถานะการเป็นพลเมืองของรัฐสมัยใหม่ ทำให้พวกเขาเผชิญกับความรุนแรงโดยไม่ได้รับการปกป้องดูแล แต่กระนั้นก็ไม่ได้เป็นชีวิตที่ปราศจาการปกป้องคุ้มครองจากอำนาจที่หลากหลายในสังคมปัจจุบัน หรือเป็นชีวิตที่ไร้ความสามารถ ที่เป็นเพียงผู้ถูกกระทำแต่เพียงอย่างเดียว แต่กลับเป็นชีวิตที่ท้าทายความพยายามของรัฐในการควบคุมผู้คนที่ตนไม่ต้องการให้เป็นพลเมืองของตนมากกว่า

0000

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน http://www.citizenthaipbs.net/node/9704

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net