โพลล์สุดสัปดาห์: ประชาชนมองการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการไม่ค่อยมีความเป็นธรรม

'นิด้าโพลล์' เผยผลสำรวจประชาชนมองการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการไม่ค่อยมีความเป็นธรรม 'สวนดุสิตโพลล์' คนส่วนใหญ่กังวลน้ำท่วม อยากให้วางแผนป้องกันระยะยาว 'กรุงเทพโพลล์' ประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนใช้ ม.44 ตรวจสอบคดีโครงการรับจำนำข้าว และควรเพิ่มบทลงโทษอย่างอื่นนอกเหนือจากการยึดทรัพย์ 'ซูเปอร์โพลล์' เผยคนยังพอใจการทำงานของ กกต. พร้อมเลือกพรรคการเมืองที่หนุน 'ประยุทธ์'
 
25 ก.ย. 2559 สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นรายงานว่าศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพลล์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ” ระหว่างวันที่ 20 - 21 ก.ย. 2559 จากประชาชนที่เป็นข้าราชการประจำและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง โดยเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ พบว่า ประชาชน ร้อยละ 29.04 ระบุว่า ความสามารถและประสบการณ์ที่เหมาะสมกับตำแหน่งใหม่ รองลงมา ร้อยละ 25.68 ระบุว่า ความสามารถและผลงานที่ผ่านมา ร้อยละ 17.68 ระบุว่า ความอาวุโสในตำแหน่ง ร้อยละ 9.36 ระบุว่า ความรู้  
 
ทั้งนี้ เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อความเป็นธรรมในการพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 39.92 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความเป็นธรรม รองลงมา ร้อยละ 34.00 ระบุว่า ค่อนข้างมีความเป็นธรรม ร้อยละ 11.04 ระบุว่า ไม่มีความเป็นธรรมเลย ร้อยละ 10.56 ระบุว่า มีความเป็นธรรมมาก โดยสำหรับความคิดเห็นต่อการใช้ระบบอุปถัมภ์หรือเส้นสายในการพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในหน่วยงาน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 35.68 ระบุว่า มีการใช้ระบบอุปถัมภ์หรือเส้นสายค่อนข้างบ่อย รองลงมา ร้อยละ 22.56 ระบุว่า ไม่ค่อยมีการใช้ระบบอุปถัมภ์หรือเส้นสาย ร้อยละ 22.00 ระบุว่า ไม่มีการใช้ระบบอุปถัมภ์หรือเส้นสายเลย ร้อยละ 15.60 ระบุว่า มีการใช้ระบบอุปถัมภ์หรือเส้นสายอย่างมาก 
 
นอกจากนี้ ความคิดเห็นต่อการใช้ระบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในการพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 40.16 ระบุว่า ไม่มีการใช้ระบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เลย รองลงมา ร้อยละ 21.76 ระบุว่า ไม่ค่อยมีการใช้ระบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ร้อยละ 19.92 ระบุว่ามีการใช้ระบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ค่อนข้างบ่อย ร้อยละ 8.32 ระบุว่า มีการใช้ระบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เป็นประจำ
 
โพลล์สวนดุสิต สำรวจเรื่องความกังวลน้ำท่วม ส่วนใหญ่กังวลน้ำท่วมบ้านเรือน ไร่นา อยากให้วางแผนป้องกันระยะยาว 
       
25 ก.ย. 2559 ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า “สวนดุสิตโพลล์” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง ความวิตกกังวลของประชาชน ต่อสถานการณ์น้ำท่วม จากสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่อง ส่งผลให้หลายจังหวัดประสบปัญหาน้ำท่วม ประชาชนได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะความเสียหายของบ้านเรือน พื้นที่การเกษตร ตลอดจนเส้นทางสัญจรต่าง ๆ ขณะที่ทางภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือและขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งจากผลสำรวจจำนวนทั้งสิ้น 1,304 คน ระหว่างวันที่ 19 - 24 กันยายน 2559 สรุปผลได้ ดังนี้
       
       เมื่อถามว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ ประชาชนมีความวิตกกังวลในเรื่องใดบ้าง
       อันดับ 1 ประชาชนได้รับความเดือดร้อน น้ำท่วมบ้านเรือน ไร่นา ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย 86.69%
       อันดับ 2 อุบัติเหตุจากน้ำท่วม เส้นทางสัญจรถูกตัดขาด การจราจรติดขัด การเดินทางไม่สะดวก 80.54%
       อันดับ 3 กลัวว่าจะมีฝนตกหนักลงมาอีก น้ำท่วมขัง ระบายไม่ทัน น้ำจากที่อื่นมาสมทบ 75.20%
       อันดับ 4 ภัยหรือโรคที่มาจากน้ำ และสัตว์มีพิษ 66.81%
       อันดับ 5 ปัญหาน้ำท่วมสร้างความเสียหายต่อภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ 64.03%
       
       เมื่อถามว่า ประชาชนอยากให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างไร?
       อันดับ 1 ต้องวางแผนป้องกันระยะยาว มีการบริหารจัดการน้ำที่ดี มีพื้นที่รองรับน้ำเพียงพอ 82.14%
       อันดับ 2 รัฐบาลควรสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือก่อนเข้าสู่หน้าฝน 78.85%
       อันดับ 3 มีการแจ้งเตือน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง 69.32%
       อันดับ 4 มีบทลงโทษที่รุนแรงกับผู้กระทำผิด เช่น บุกรุกป่า ปลูกสร้างรุกล้ำพื้นที่ขวางทางน้ำ 67.16%
       อันดับ 5 จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง 60.77%
       
       เมื่อถามว่า ประชาชนมีความมั่นใจต่อการป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาลครั้งนี้มากน้อยเพียงใด?
       อันดับ 1 ค่อนข้างมั่นใจ 58.39%
        เพราะ มีบทเรียนจากน้ำท่วมที่ผ่านมา น่าจะศึกษาและหาทางป้องกันได้ดีขึ้น แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี ฯลฯ
       อันดับ 2 ไม่ค่อยมั่นใจ 31.26%
        เพราะ ปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้นทุกปี มีฝนตกหนักต่อเนื่อง การให้ความช่วยเหลือดูแลตามพื้นที่ต่างๆอาจไม่ทั่วถึง ฯลฯ
       อันดับ 3 มั่นใจมาก 5.98%
        เพราะ เชื่อมั่นในการทำงานของรัฐบาล สั่งการเด็ดขาด ทำงานรวดเร็ว มีกองกำลังทหารให้การช่วยเหลือ ฯลฯ
       อันดับ 4 ไม่มั่นใจ 4.37%
        เพราะ เป็นภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้ ป่าไม้ลดลงและเสื่อมโทรมมาก การบริหารจัดการน้ำยังไม่ดี ฯลฯ 
 
กรุงเทพโพลล์เผยประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนใช้ ม.44 ตรวจสอบคดีโครงการรับจำนำข้าว และควรเพิ่มบทลงโทษอย่างอื่นนอกเหนือจากการยึดทรัพย์
 
เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2559 ที่ผ่านมาสำนักข่าวทีเอ็นเอ็นรายงานว่ากรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ประชาชนคิดเห็นอย่างไรต่อการดำเนินคดีโครงการรับจำนำข้าว” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,150 คน จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ มีผลดังนี้
 
ความเห็นต่อการใช้ มาตรา 44 ให้อำนาจกับกรมบังคับคดีในการตรวจสอบคดีโครงการรับจำนำข้าว พบว่า ประชาชน ร้อยละ 63.4 เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า จะทำให้ความจริงปรากฏเร็วขึ้น (ร้อยละ32.9) และทำให้การดำเนินคดีมีความคืบหน้าเร็วขึ้น (ร้อยละ 30.5) ขณะที่ร้อยละ 36.6 ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า ควรให้ศาลยุติธรรมดำเนินคดีไปตามกระบวนการมากกว่า (ร้อยละ 25.4) และเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง (ร้อยละ 11.2)
 
สำหรับความเห็นต่อการออกคำสั่งให้มีการยึดทรัพย์กว่า 2 หมื่นล้าน จากผู้กระทำผิดโครงการรับจำนำข้าวในส่วนการซื้อขายข้าวแบบ จีทูจี ประชาชนร้อยละ 44.2 ระบุว่าควรเพิ่มบทลงโทษอย่างอื่น นอกเหนือจากการยึดทรัพย์ รองลงมา ร้อยละ 27.7 ระบุว่าเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายที่คุ้มค้าแล้ว และร้อยละ 14.8 ระบุว่าเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายที่น้อยไป
 
เมื่อถามว่า “กังวลหรือไม่ว่าผลจากการดำเนินคดีว่าจะมีการสร้างความปั่นป่วนหรือการปลุกระดม จากกลุ่มผู้ที่ไม่พอใจคำสั่งทางการปกครอง” ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.6 ระบุว่าไม่กังวล ขณะที่ร้อยละ 41.4 ระบุว่ากังวล
 
ด้านความเห็นต่อ การดำเนินคดี “โครงการรับจำนำข้าว”ว่าส่งผลต่อนักการเมืองและข้าราชการให้หยุดพฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชั่นมากน้อยเพียงใด ประชาชนร้อยละ 37.4 เห็นว่าส่งผลค่อนข้างมาก รองลงมาร้อยละ 23.5 เห็นว่าส่งผลมาก และร้อยละ 21.6 เห็นว่าส่งผลค่อนข้างน้อย
 
ส่วนความเห็นต่อ การดำเนินคดี “โครงการรับจำนำข้าว”ว่าส่งผลอย่างไรกับสังคมไทยนั้น ประชาชน ร้อยละ 35.3 ระบุว่าทำให้นักการเมืองตระหนักถึงความสุจริตในหน้าที่ รองลงมาร้อยละ 30.6 ระบุว่าทำให้ประชาชนคิดว่ากฎหมายสามารถเอาผิดนักการเมืองได้จริง และร้อยละ 21.9 ระบุว่าจะได้เป็นกรณีตัวอย่างสำหรับการเมืองไทย
 
สุดท้ายเมื่อถามความพึงพอใจต่อภาพรวมความคืบหน้าในการดำเนินคดี “โครงการรับจำนำข้าว” พบว่า ประชาชน ร้อยละ 33.1 พึงพอใจค่อนข้างมาก รองลงมาร้อยละ 29.2 พึงพอใจมาก และ ร้อยละ 27.1 พึงพอใจค่อนข้างน้อย
 
'ซูเปอร์โพลล์' เผยคนยังพอใจการทำงานของ กกต. พร้อมเลือกพรรคการเมืองที่หนุน 'ประยุทธ์'
 
เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2559 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอินโฟเควสท์ รายงานว่าสำนักวิจัยซูเปอร์โพลล์ (SUPER POLL) เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง ประชาชนคิดอย่างไรกับการรีเซ็ตคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.)
 
โดยถามถึงความพอใจของประชาชนต่อการทำหน้าที่ของ กกต. เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า ประชาชนพอใจกับการทำหน้าที่ของ กกต.6.85 คะแนน เมื่อถามถึงความเป็นกลางในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้คะแนนถึง 6.45 คะแนน ที่น่าพิจารณาก็คือ ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.3 ระบุให้โอกาส กกต.ทำงานต่อไป ในขณะที่ประชาชนร้อยละ 33.7 ระบุควรรีเซ็ต ปรับเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
 
นอกจากนี้ ประชาชนเกินครึ่งหรือร้อยละ 52.7 เห็นด้วยกับการมีหน่วยงานรัฐ อื่นๆ มาช่วยทำหน้าที่จัดการการเลือกตั้ง โดย กกต. เป็นผู้กำกับดูแล ในขณะที่ร้อยละ 47.3 ไม่เห็นด้วย
 
เมื่อถามว่า ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง พบว่า ประชาชนร้อยละ 34.8 ระบุพรรคการเมืองที่สนับสนุน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รองลงมา คือ ร้อยละ 20.4 ระบุยังไม่คิดเลือกพรรคใดเลย และร้อยละ 17.4 ระบุพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 14.4 ระบุพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่ร้อยละ 13.0 ระบุเลือกพรรคอื่นๆ
 
นายนพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน และผู้อำนวยการซูเปอร์โพล กล่าวว่า วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงให้ความไว้วางใจการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และพร้อมสนับสนุนให้โอกาส กกต.ชุดปัจจุบันทำงานต่อไป และคะแนนความนิยมของสาธารณชนต่อ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา กำลังส่งผลลัพธ์ทำให้พรรคการเมืองใดๆ ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี กลายเป็นพรรคการเมืองที่ประชาชนตั้งใจจะเลือกตามไปด้วย
 
"จังหวะทางการเมืองแบบนี้ โดยทั่วไปสำหรับบางประเทศ ฝ่ายการเมืองจะใช้โอกาสนี้จัดการเลือกตั้งโดยเร็ว ผลที่ตามมาคือ เสถียรภาพทางการเมืองบน ความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยจะต่อเนื่องยาวนานไปอีกระยะหนึ่ง" ผอ.ซูเปอร์โพล ระบุ
 
อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศจำนวน 2,215 ตัวอย่าง ดำเนินการระหว่างวันที่ 21 – 23 กันยายน 2559
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท