Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ไม่น่าเชื่อว่าเราจะมาถึงจุดนี้กันได้  จุดที่เกิดสงครามวิวาทะครั้งใหญ่ว่าด้วยการสืบทอดและส่งเสริมวัฒนธรรมไทย  ภายหลังเกิดกรณีการร้องเรียนเรื่องความเหมาะสมในการนำตัวละครโขน “ทศกัณฐ์” ไปใช้เป็นตัวดำเนินเรื่องในโฆษณาส่งเสริมการท่องเที่ยวที่จัดทำโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ชุด “เที่ยวไทยมีเฮ”

ผู้ที่ร้องเรียน เป็นอดีตข้าราชการผู้ใหญ่สังกัดกระทรวงวัฒนธรรมที่ผู้เขียนเคยร่วมงานด้วยเมื่อครั้งที่กระทรวงวัฒนธรรมเป็นเจ้าภาพในการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมการจัดเรตติ้งเชิงคุณภาพสำหรับสื่อโทรทัศน์ (ที่ปัจจุบันเราใช้กันอยู่) ครั้งนั้นผู้เขียนเป็นคณะทำงานจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในฝั่งสภาเยาวชนกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นองค์กรร่วม แม้ภายหลังผู้เขียนลาออกจากสภาเยาวชนฯ  แต่ก็ยังได้กลับมาร่วมงานกับท่านและกระทรวงของท่านอีกหลายงาน ทั้งในการร่วมประชุมให้ความคิดเห็นจัดทำนโยบายและเป็นวิทยากรบรรยายให้กับเวทีของกระทรวงฯ  ส่วนตัวผู้เขียนค่อนข้างเคารพและประทับใจในน้ำใจของอดีตข้าราชการท่านนั้น แต่ขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่ค่อยประทับใจในเรื่องบทบาทของท่านในการเป็นหัวหน้าศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม(ตำแหน่งขณะนั้น) 

และไม่แปลกใจที่การกลับมาของท่านครั้งนี้ในฐานะอดีตข้าราชการ จะกลับมาสร้างความแตกแยกทางวัฒนธรรมกับคนรุ่นใหม่อีกครั้งในยุค gen Z

ความขัดแย้งเรื่องความเหมาะสมในการนำตัวละครชุดโขน “ทศกัณฐ์” ที่ถูกนิยามว่าเป็นราชาแห่งยักษ์ในวรรณคดีรามเกียรติ์ มาใช้ในภาพยนตร์ประกอบเพลง(MV)โฆษณาการท่องเที่ยว ที่มีทั้งฉากถ่ายรูปเซลฟี่  หยอดขนมครก ในส่วนผู้เขียนมองว่า เรื่องนี้มันไม่ควรเป็นประเด็นขัดแย้ง เป็นศึกใหญ่อย่างไร้สาระระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นครูในแวดวงนาฏศิลป์  หากว่าพวกเรา โดยเฉพาะผู้ร้องเรียน ช่วยกันตั้งสติเสียหน่อยว่า

1. ประเด็นเรื่องความเป็น “ราชาแห่งยักษ์” มันไม่ควรเป็นประเด็น เพราะอย่างไร ไม่ว่ามองในคติทางวรรณคดีไทย หรือในคติทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู   ทศกัณฐ์ก็ถือเป็น “อสุรกาย” ไม่ใช่เทพอวตาร ต่างจากตัวละคร “พระราม” ซึ่งถูกระบุว่าเป็นภาคอวตารของ “พระวิษณุนารายณ์ “ หรือ “นางสีดา” ซึ่งเป็นภาคอวตารของ “พระแม่ลักษมี” จะสังเกตได้ว่าทั้งในmvนี้ หรือแม้แต่ในการแสดงโขน ซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าชมการแสดงโขนรอบพิเศษร่วมกับคณะของทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา  จะไม่มีบทน่ารักๆหรือบทตลกให้ตัวละครตัวพระตัวนางเลย (โดยเฉพาะในmvนี้ ทีมผู้สร้างคงคิดดีแล้ว ที่ไม่นำตัวพระราม-นางสีดามาใช้เลย)

*เพื่อนของผู้เขียนเคยให้ความเห็นว่า ในอินเดียก็มีกลุ่มที่บูชา “ราวณะ” ในฐานะที่เป็นสาวกขององค์พระศิวะ  ซึ่งก็อาจไม่ได้มองเชื่อมโยงว่าเป็นองค์เดียวกับตัวละครบทร้ายในรามายณะ (เพื่อนผู้เขียนใช้คำที่คุยกันว่า “เขาบูชา แต่ไม่บ้าจี้แบบคนไทยเรา”)

2. การแสดงชุดเที่ยวไทยมีเฮ ถ่ายทอดในลักษณะภาพยนตร์ประกอบเพลง (MV) ซึ่งก็ชัดเจนว่าถ่ายทอดในลักษณะศาสตร์ภาพยนตร์  ไม่ใช่นาฏศิลป์โขน  การที่คนบางพวกตั้งแต่ระดับนักเลงคีย์บอร์ดไปจนถึงครูบาอาจารย์ ศิลปินแห่งชาติบางท่านต่างงัดเอาความเป็นศิษย์มีครู  งัดเอาหลักการทางโขนมาโจมตีภาพยนตร์ชุดนี้ ก็ดูเหมือนจะเป็นการใช้วิชามาแสดงความพาลกันอย่างเลอะเทอะไปหน่อย  แทนที่จะตั้งหลักกันว่า เขาชัดเจนว่าเขาแสดงภาพยนตร์ที่นำเสนอไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยวประเทศไทย4ภูมิภาค  ไม่ได้มาแสดงโขน(ที่นอกจากมีรูปแบบการแสดงเฉพาะแล้ว ยังแสดงได้แต่วรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์เท่านั้น ไม่มีโขนวรรณคดีเรื่องอื่นๆ)  ดังนั้นการแสดงภาพยนตร์ชุดนี้ก็ชัดเจนว่าไม่ได้ต้องการมาเปลี่ยนแปลงหลักการ นิยาม หรือรายละเอียดใดๆของการแสดงรูปแบบโขนเลย ไม่ได้จะมาสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้การแสดงโขน เพียงยืมตัวละครในโขนมาใช้เดินเรื่องในภาพยนตร์เท่านั้น 

เมื่อสิ่งนี้เป็นภาพยนตร์  โขนที่มีอยู่ก็ยังคงความเป็นโขน ที่ไม่มีใครกล้าคิดจะไปเปลี่ยนบรรทัดฐาน  และการดำรงรักษาไว้ซึ่งนาฏศิลป์โขนแบบต้นฉบับดั้งเดิม ก็ควรจะเป็นหน้าที่ของผู้เรียนโขน ที่วันนี้เราอาจพบได้ที่ศาลาเฉลิมกรุง ที่วัดพระพิเรนทร์    ส่วนผู้ทำภาพยนตร์โฆษณา เขามีหน้าที่เรื่องโฆษณาการท่องเที่ยว  ก็เท่านั้นเอง


อีกประการหนึ่งที่ผู้เขียนให้ความสนใจคือประเด็นเรื่องที่ว่า ราชาแห่งยักษ์อย่างทศกัณฐ์ไม่ควรมาแสดงการทำ “ขนมครก”  เป็นการไม่เหมาะสม ไม่สมเกียรติในความเป็นยักษ์ระดับพระราชา

ผู้เขียนมองว่า การแสดงฉากนี้จะเป็นเรื่องผิด และผิดร้ายแรงมากๆ หากมันปรากฏอยู่ในการแสดงโขน แต่ไม่ผิดสำหรับการแสดงที่ชัดเจนว่าเป็นภาพยนตร์   เพราะอย่างที่กล่าวว่า  โขนแสดงได้เฉพาะเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นวรรณคดีเก่าแก่ที่สะท้อนวิถีชีวิต ค่านิยมในสังคมยุคเทวราชา  การทำขนมครกก็ดูควรจะเป็นกิจของพวกสามัญชนมากกว่ากษัตริย์นักรบแห่งนครรัฐลงกา

แต่สำหรับภาพยนตร์ประกอบเพลงเที่ยวไทยมีเฮ  มันคือการแสดงที่เป็นคนละศาสตร์กับโขน และมันคือการตั้งโจทย์ท้าทายวาทกรรม  ว่าหากทศกัณฐ์ที่เรารู้จักจากวรรณคดีโบราณ ยังมีตัวตนอยู่ในโลกยุคปี ค.ศ. 2016 (พ.ศ.2559) ทศกัณฐ์ควรจะต้องปรับวิถีชีวิต ไลฟ์สไตล์ให้เข้ากับคนยุค2016หรือไม่?  เช่นการใช้สมาร์ทโฟนแทนนกพิราบสื่อสาร การถ่ายรูปลงสื่อสังคมออนไลน์(Social Media) 

และในยุค2016นี้เองสถานะของ “ขนมครก” ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญไปแล้ว  จากการเป็นขนมที่เกิดจากกิจกรรมในครัวของสามัญชน  มันได้ถูกยกระดับขึ้นมาเป็น “มรดกทางวัฒนธรรม” (Cultural Heritage) เป็นภูมิปัญญา เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ที่ชนชั้นสูงต้องมีบทบาทร่วมในการทำให้สังคมเห็นคุณค่า ความสำคัญ  อาจคล้ายๆกับที่พสกนิกรไทยในชีวิตจริงก็ยังมีโอกาสได้เห็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ทรงลงมือสาธิตการทำอาหารเมนูโบราณต่างๆในพิธีการโอกาสสำคัญๆ เช่นตรุษจีน เป็นต้น

พูดมาถึงตรงนี้ มันก็วนมาเข้าประเด็นกับคำพูดฮิตติดหูที่ตามมาภายหลังกรณีสงครามความคิดนี้ ที่กล่าวกันไว้ว่า “เราอยากมีวัฒนธรรมไทยให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จัก สนใจ หรืออยากให้มันอยู่บนหิ้งให้คนไม่กี่กลุ่มเข้าถึง  และรอวันสูญหายไปกับกาลเวลา?!”

0000

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net