ประยุทธ์ย้ำ รบ.ใส่ใจปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ หนุนเอกชนร่วมลงทุนลดภาระทางการคลัง

ประยุทธ์มอบนโยบายเสริมสร้างความรู้และธรรมาภิบาลของกรรมการรัฐวิสาหกิจ ย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญกับการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ชี้การขับเคลื่อนประเทศโดยได้ใช้กลไกประชารัฐวิสาหกิจเป็นการสานพลังความร่วมมือระหว่างภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยการสนับสนุนให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐจะช่วยลดภาระทางการคลัง

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบฯ 

30 ก.ย. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบ นโยบายในการสัมมนาเสริมสร้างความรู้และธรรมาภิบาลของกรรมการรัฐวิสาหกิจ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจในอนาคต และการเสริมสร้างธรรมาภิบาลของกรรมการและผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจ ทั้ง 55 แห่ง  ให้สามารถดำเนินกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลตามนโยบายของรัฐและแผนวิสาหกิจ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)  กระทรวงการคลัง ณ ห้องประชุมเวิลด์ บอลรูม ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ

เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ได้กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์การจัดงานว่า รัฐวิสาหกิจถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยรัฐวิสาหกิจมีสินทรัพย์มากกว่า 13.5  ล้านล้านบาท (มูลค่าเท่ากับ GDP ของประเทศ) รายได้รวม 5 ล้านล้านบาทมากกว่ารายได้ของรัฐบาล ใช้งบประมาณรายจ่ายแต่ละปี 4.8 ล้านล้านบาท เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของรัฐบาลมากกว่า 1 แสนล้านบาท รวมทั้งสร้างงานประมาณ 4.3 แสนคน ทั้งนี้ การที่รัฐวิสาหกิจจะดำเนินการได้อย่างดีส่วนหนึ่งมาจากประธานกรรมการและกรรมการรัฐวิสาหกิจซึ่งถูกแต่งตั้งจากรัฐบาลเข้าไปทำหน้าที่กำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะในการผลักดันนโยบายของรัฐบาล ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ได้มีบทบาทเชิงรุกในการทำงานร่วมกับกรรมการรัฐวิสาหกิจมากขึ้นเพื่อประสานงานให้รัฐวิสาหกิจมีบทบาทในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพ โดยการจัดสัมมนาฯ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบนโยบายและทิศทางการพัฒนารัฐวิสาหกิจซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายให้แก่ประธานกรรมการและกรรมการรัฐวิสาหกิจเพื่อจะได้นำไปขับเคลื่อนรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความรู้ในเรื่องธรรมาภิบาลของกรรมการรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลทั้งในด้านกฎหมายและการกำกับดูแล เพื่อให้ประธานและกรรมการรัฐวิสาหกิจนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน เพื่อพัฒนาให้รัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่เป็นภาระของภาครัฐ มีการบริหารจัดการที่ดีเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล

โอกาสนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบนโยบายฯ ให้แก่ประธานกรรมการและกรรมการรัฐวิสาหกิจ โดยกล่าวตอนหนึ่งเกี่ยวกับการทำงานร่วมกับกรรมการและผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมาว่า การทำงานอาจจะมีบางเรื่องที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน แต่การดำเนินงานที่ผ่านมาทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีมาโดยตลอด อย่างไรก็ตามขอฝากให้ทุกคนหันกลับมามองประเทศไทยโดยทบทวนการทำงานเพื่อหาจุดยืนของประเทศในประชาคมโลกในช่วง 5 ปี และ 10 – 20 ปี ข้างหน้า และยืนยันว่าการดำเนินงานของรัฐบาลยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ จึงขอให้ทุกคนร่วมกันดำเนินการในสิ่งที่ดีเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในการขับเคลื่อนประเทศไทยตามห้วงระยะเวลาที่กำหนดไว้

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก่อนปฏิรูปประเทศต้องปฏิรูปตนเองก่อน เพื่อจะขยายไปสู่การดำเนินงานต่าง ๆ ขององค์กรให้ดีมากยิ่งขึ้น และนำไปสู่การปฏิรูปประเทศต่อไป ซึ่งดำเนินงานและการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจถือเป็น 1 ใน 37 วาระของการปฏิรูปประเทศ โดยมีความสำคัญในการที่จะปฏิรูปให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจเพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศ การลงทุนในด้านธุรกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในประชาคมโลก โดยรัฐบาลมีเป้าหมายที่ต้องสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมที่มีคุณภาพ มีความเข้มแข็ง มีคุณธรรมและธรรมาภิบาล ซึ่งหากทุกคนที่อยู่ในสังคมและองค์กรมีคุณธรรมก็จะทำให้เป็นองค์กรที่มีจริยธรรม และนำไปสู่การบริหารราชการที่มีธรรมาภิบาล ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือทุกคนต้องรู้จักอดทน เสียสละ และคำนึงถึงประโยชน์ต่อส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้งมากกว่าประโยชน์ส่วนตน รวมทั้งต้องคำนึกถึงหน้าที่หลักและบทบาทของรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะเรื่องของการบริการต่อประชาชน และการดำเนินงานต้องไม่มุ่งหวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ

สำหรับการบริหารราชบ้านเมืองให้มีธรรมาภิบาล ทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน มีส่วนสำคัญในการเป็นกลไกประสานความร่วมมือกันอย่างบูรณาการเพื่อสร้างสังคมที่มีคุณธรรม เป็นองค์กรที่มีจริยธรรมและมีธรรมาภิบาลในการปฏิบัติงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ตลอดจนการปลูกฝังให้ประชาชนคนไทยมีคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งต้องใช้กลไกทั้งการแสดงออกที่มีต่อกันในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ เปิดเผยโปร่งใส ปลอดจากการทุจริตคอร์รัปชั่น การสร้างความร่วมมือและบูรณาการระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานต่าง ๆ ขององค์กรและประเทศสามารถเดินหน้าและขับเคลื่อนต่อไปได้ตามเป้าหมายที่กำหนด

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการดำเนินการปฏิรูปทั้งระบบอย่างเร่งด่วนว่า ต้องดำเนินการเชิงรุกทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง การต่างประเทศ กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งหากทุกคนไม่ร่วมมือกันก็ไม่สามารถที่จะขับเคลื่อนประเทศต่อไปได้ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจโลกยังมีปัญหาอยู่ อย่างไรก็ดีคณะทำงานด้านเศรษฐกิจและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาคเอกชน และประชาชนได้ร่วมกันดำเนินการให้เศรษฐกิจของประเทศไทยสามารถเดินหน้าต่อไปได้และมีแนวโน้มที่ดีขึ้น  โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจมีส่วนสำคัญในการทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมดีขึ้น โดยการขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งส่งเสริมให้เกิดการหมุนเวียนการใช้จ่ายทั้งระบบ เพื่อขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัวและเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องส่งผลดีต่อประชาชนทุกภาคส่วนในสังคม บ้านเมืองเกิดความสงบเรียบร้อย มีเสถียรภาพ เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ และเป็นประเทศที่น่าลงทุน

ในส่วนของการขับเคลื่อนประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐวิสาหกิจถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการดำเนินการพัฒนาปรับปรุงระบบบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้มีมาตรฐานในระดับสากลและสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศชาติโดยรวม ขณะเดียวกันฝากให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั้ง 55 แห่ง ได้นำผลการดำเนินงานของตนเองเปรียบเทียบกับการดำเนินงานของหน่วยงานจากต่างประเทศเพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานและกิจการของรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนปรับบทบาทการดำเนินงานให้สอดคล้องและทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน เพื่อให้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพของรัฐในการพัฒนาประเทศ และพัฒนากลไกกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่เข้มแข็ง เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ สามารถคุ้มครองผู้ใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้บริการสาธารณะที่มีคุณภาพแก่ประชาชนได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ รวมทั้ง สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพย์สินที่มีอยู่ของประเทศ และสามารถบริหารจัดการหนี้ทั้งในส่วนที่รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจรับภาระอย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพเพื่อลดภาระทางการคลังของประเทศ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการค้า การลงทุนปัจจุบันที่มีอัตราเพิ่มขึ้นมากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ว่า เกิดจากความร่วมมืออย่างเข้มแข็งจากภาครัฐและภาคเอกชนที่ได้ร่วมกันพัฒนาเพื่อวางรากฐานของประเทศให้ครอบคลุมทั้งด้านคมนาคม สาธารณูปโภค ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศจำนวนมาก เพื่อสร้างความเชื่อมโยงประเทศไทยสู่ภูมิภาคต่างๆ และขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และพัฒนาความเจริญก้าวหน้าของประเทศไปสู่จุดมุ่งหมาย “มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” รวมทั้งการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติในระยะ 20 ปีข้างหน้าอย่างเชื่อมโยงกันในทุกมิติ โดยแบ่งการดำเนินการเป็นช่วงละ 5 ปี ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งการดำเนินการตั้งแต่ในปี 2559 - 2560 จะเป็นระยะเริ่มต้นที่รัฐบาลชุดปัจจุบันวางรากฐานไว้ให้ในเรื่องของการปฏิรูปเพื่อสามารถขับเคลื่อนประเทศต่อไปตามเป้าหมายที่กำหนด

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะการกำหนดโครงสร้างการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจในภาพรวมให้ชัดเจน เช่น กำหนดแนวนโยบายการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ผู้กำหนดนโยบาย (Policy Maker) โดยกระทรวงเจ้าสังกัด จะเป็นผู้ให้นโยบายในการดำเนินการกับรัฐวิสาหกิจ องค์กรเจ้าของ (Owner) ดูแลฐานะการเงิน การบริหารทรัพย์สิน ให้เพิ่มมูลค่า การประเมินผล และความสำเร็จขององค์กร ผู้กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจรายสาขา (Regulator) จะควบคุมราคาคุณภาพ มาตรฐานการให้บริการ รวมทั้งดูแลให้มีการแข่งขันที่เท่าเทียมระหว่างรัฐวิสาหกิจและเอกชน พร้อมขอให้ผู้บริหารทุกคนนำแนวทางการกำกับดูแลที่ดี (Good Governance) ไปปฏิบัติ โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลของรัฐวิสาหกิจ มีกลไกตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจระหว่างผู้เกี่ยวข้อง (Checks and Balances) และมีระบบประเมินผลรัฐวิสาหกิจ ให้สอดคล้องกับบทบาท หน้าที่และพันธกิจที่ได้รับจากรัฐบาล

นอกจากนี้ ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ทำหน้าที่กำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้การบริหารงานของรัฐวิสาหกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลสูงสุด ซึ่งกรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันนโยบายสำคัญของรัฐบาลและของกระทรวงเจ้าสังกัดให้เกิดผลสัมฤทธิ์และบริหารจัดการองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับรัฐวิสาหกิจ โดยจะต้องดำเนินการภายใต้กฎและกติกาของผู้กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจรายสาขาอย่างเคร่งครัด

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐวิสาหกิจไทยในภาพรวมมีจำนวน 55 แห่ง มีมูลค่าทรัพย์สินรวมกันประมาณ 13 ล้านล้านบาท และในปีหนึ่งๆ รัฐวิสาหกิจมีการลงทุนคิดเป็นร้อยละ 50 ของการลงทุนภาครัฐ ซึ่งรัฐวิสาหกิจจะมีบทบาทที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ความมั่นคงตามนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ นโยบายเพื่อสนับสนุนการลงทุนของประเทศ เพื่อให้การลงทุนของภาครัฐขยายตัวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ตามเป้าหมายการพัฒนาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12  เช่น การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ประจำปีงบประมาณ 2560 ซึ่งมีวงเงินลงทุนประมาณ 520,980 ล้านบาท ให้มากกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ให้เลื่อนการลงทุนให้เร็วขึ้น (Front Load) โดยขอให้เน้นการเบิกจ่ายในไตรมาสที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2560 ให้มากขึ้น ทั้งนี้ กรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจต้องเร่งรัดรัฐวิสาหกิจให้เบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายที่กำหนดที่ 95% ของบลงทุนอนุมัติ ซึ่งการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund: TFF) เป็นทางเลือกในการระดมเงินทุนของรัฐวิสาหกิจ ที่จะช่วยลดข้อจำกัดของการใช้แหล่งเงินทุนจากงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด และช่วยให้การบริหารจัดการหนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐเป็นไปอย่างรวดเร็วและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยในระยะยาว โดยกรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้รัฐวิสาหกิจนำโครงการโครงสร้างพื้นฐานมาระดมทุนผ่านกองทุนรวม Thailand Future Fund ซึ่งจะช่วยลดข้อจำกัดด้านงบประมาณและหนี้สาธารณะ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนประเทศโดยได้ใช้กลไกประชารัฐวิสาหกิจเป็นการสานพลังความร่วมมือระหว่างภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยการสนับสนุนให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private partnership: PPP) จะช่วยลดภาระทางการคลังของประเทศ โดยกรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจจะต้องเร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจดำเนิน PPP เพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการลงทุนทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะการสร้างความโปร่งใสในการบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจ เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่สำคัญ ด้วยปราการ 3 ด่าน ดังนี้  1) ปราการด่านที่ 1 (First Line of Defense) การยกระดับความโปร่งใสในการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบกำกับและตรวจสอบความโปร่งใสของภาครัฐในทุกหน่วยงาน ทั้งองค์กรอิสระและรัฐบาล 2) ปราการด่านที่ 2 (Second Line of Defense) ในโลกยุคปัจจุบัน  ได้ให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูล เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม โดยภาครัฐได้สร้าง Platformให้ภาคเอกชนประชาชน และประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการยกระดับความโปร่งใสของรัฐวิสาหกิจ เช่น CoST และ Integrity Pact 3) ปราการด่านที่ 3 (Third Line of Defense) การสร้างค่านิยมและจริยธรรมของบุคลากรภายในองค์กรให้มีคุณธรรม สร้างความโปร่งใส และไม่ให้โกง ทั้งนี้ กรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจจะมีส่วนสำคัญในการสร้างความโปร่งใสในการบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะปลูกฝังค่านิยมและจริยธรรมให้กับตนเอง และบุคลากรภายในองค์กร เพื่อให้ทุกคนเกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของ

ทั้งนี้ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเป็นหนึ่งในมาตรการเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้รัฐวิสาหกิจในระยะยาว ได้แก่ การผลักดันร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... เพื่อยกระดับการกำกับดูแลและพัฒนารัฐวิสาหกิจให้มีความชัดเจน โปร่งใส และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารรัฐวิสาหกิจให้เป็นมาตรฐานสากล โดยมีหลักการสำคัญ ดังนี้ 1. การจัดตั้ง “คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ” (คนร.) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2557 2. การจัดทำ “แผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ” ที่มีอายุ 5 ปี  เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนารัฐวิสาหกิจให้ชัดเจน และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 3. การมีกลไกสร้างความโปร่งใสและความรับผิดรับชอบ โดยเปิดเผยข้อมูลการดำเนินนโยบายผ่านรัฐวิสาหกิจให้เกิดความโปร่งใส (Transparency) และทำให้เกิดความรับผิดรับชอบ (Accountability) ในการดำเนินนโยบาย

4. การมีกระบวนการคัดเลือกกรรมการรัฐวิสาหกิจที่โปร่งใสและเปิดเผยหลักเกณฑ์ วิธีการ และกระบวนการสรรหากรรมการต่อสาธารณะ โดยจะมีกำหนดสมรรถนะหลัก (Skill Matrix) เพื่อให้ได้คนดีและคนเก่งมาเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ 5. การพัฒนาระบบประเมินผล ให้สามารถวัดผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม และ 6. การจัดตั้ง “บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” เพื่อทำหน้าที่ผู้ถือหุ้นเชิงรุก (Active shareholder) เพื่อยกระดับประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากล

สำหรับสิ่งสำคัญในการทำงานของกรรมการรัฐวิสาหกิจ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า คือการกำกับควบคุมรัฐวิสาหกิจให้สามารถดำเนินงานตามแผนงาน ยุทธศาสตร์และบริหารกิจการด้วยธรรมาภิบาล เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ มุ่งเน้นการสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างรัฐบาลและประชาชน ในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องดูแลประชาชนด้วยธรรมาภิบาลเช่นกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะสร้างความเข้มแข็งอย่างสมดุล รวมไปถึงความมั่นคงของเศรษฐกิจฐานรากที่ดีต่อไป

พร้อมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวถึงหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีผลการดำเนินการที่ดีและได้รับรางวัลรัฐวิสาหกิจว่า เป็นผลมาจากการกำกับดูแลที่ดี ซึ่งรางวัลดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างขวัญกำลังใจให้พนักงานรัฐวิสาหกิจ และช่วยส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจมีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ทุกคนจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต คำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประชาชนเป็นสำคัญ ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน รวมทั้งผู้บริหารต้องนำหลักสำคัญในการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Governance) 6 หลักการ คือ   หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า มาใช้ในการบริหารงานภายในองค์การอย่างเป็นธรรม เพื่อเป็นผู้นำต้นแบบที่ดีด้านจริยธรรมและคุณธรรม ขณะเดียวกันหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทุกหน่วยงานต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานตามหลักการกำกับดูแลที่ดี รวมทั้งส่งเสริมให้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินงานของหน่วยงาน และเสริมสร้างด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ต่อสาธารณะในเชิงรุก มีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินการให้ประชาชนรับทราบและการตรวจสอบที่เป็นมาตรฐานสากล

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี  ได้กล่าวฝากความห่วงใยและขอบคุณผู้บริหาร พนักงานรัฐวิสาหกิจและสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทุกคน พร้อมขอให้ทุกคนร่วมกันสร้างความเข้มแข็ง สร้างวัฒนธรรมในองค์กรและมีความรู้สึกของการเป็นเจ้าของร่วมกันในการดำรงอยู่ขององค์กร โดยคำนึงถึงการให้บริการและประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ ซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้ของรัฐวิสาหกิจอีกด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท