เยาวชนผู้ต้องหาคดีปล้นทรัพย์ชาวต่างชาติ ที่สามร้อยยอด ร้องถูกตำรวจซ้อมให้รับสารภาพ

 
 
เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่าสืบเนื่องจากเมื่อเดือน ก.ย. 2559 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้รับหนังสือร้องเรียนจากผู้ต้องหาสามราย กรณีถูกจับกุมตัวดำเนินคดีปล้นทรัพย์ โดยระบุว่าตนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายคนทำร้ายร่างกายระหว่างการสืบสวนสอบสวนและบังคับให้สารภาพ โดยหนึ่งในผู้ต้องหาได้รับบาดเจ็บบริเวณหน้าอก สีข้าง เป็นระยะเวลาหนึ่งเดือน โดยผู้ต้องหาทั้งสามคนยืนยันว่า  ตนเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ได้กระทำความผิดตามที่พนักงานสอบสวนกล่าวหาแต่อย่างใด  เหตุสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2559 ช่วงเวลาประมาณ  03.00 น. บริเวณริมถนนทางหลวงชนบทสายปราณบุรี-อุทยานแห่งชาติสามร้อยยอด ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 5-6 หมู่บ้านบ้านใหม่ หมู่ 1 ต.สามร้อยยอด อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 2 คน ถูกกลุ่มคนร่วมกันทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บและปล้นทรัพย์ไป ประกอบด้วยเงินสด จำนวน 100 บาท เงินสดสกุลยูโรจำนวน 200 ยูโร รถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นคลิก หมายเลขทะเบียน 1 กค 3912 เพชรบุรี โทรศัพท์มือถือยี่ห้อโนเกีย ไม่ทราบรุ่น จำนวน 1 เครื่อง และบัตรเครดิตประเทศอิตาลี จำนวน 1 ใบ โดยผู้เสียหายทั้งสองคน ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ที่ไว้ที่สถานีตำรวจภูธรสามร้อยยอด อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์
 
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุต่อว่า ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2559 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจภูธรสามร้อยยอด  กองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  และกองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธร ภาค 7 ได้ร่วมจับกุมผู้ต้องสงสัย คือ ณัฐวัตร ธนัฏฐิกาญจนา อายุ 19 ปี ต่อมาเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2559 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดดังกล่าวข้างต้นได้จับกุมและควบคุมตัว อดิศักดิ์ สีละมุด อายุ 21 ปี และศรัณญู หรือแมน  สายน้ำเขียว อายุ 20 ปี ตามลำดับ โดยในระหว่างที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ณัฐวัตร หรือเจมส์ ธนัฏฐิกาญจนา และอดิศักดิ์ หรือเจมส์ สีละมุด ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมและควบคุมตัว ทำร้ายร่างกายเพื่อให้สารภาพว่าตนกับพวกเป็นผู้ก่อเหตุปล้นทรัพย์นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2559
 
โดยเมื่อวันที่ 1-2 ต.ค. 2559 ทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ติดต่อพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวน ขอนำผู้ต้องหาเข้าให้การเพิ่มเติม และขอให้สอบคำให้การพยานจำนวนทั้งสิ้น 5 ปาก และมอบพยานหลักฐานแก่พนักงานสอบสวนเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของตน โดยพนักงานสอบสวนจะเรียกพยานหลักฐานที่ผู้ต้องหาร้องขอให้เรียกให้  ขณะนี้ผู้ต้องหาทั้งสามคนได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน ทังนี้คดีนี้ศาลได้สืบพยานล่วงหน้าผู้เสียหายทั้งสองไว้แล้ว และพนักงานสอบสวนอยู่ในขั้นตอนสรุปสำนวนเพื่อพิจารณาสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องต่อไป
 
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเห็นว่าการซ้อมทำร้ายร่างกายผู้ต้องสงสัยให้สารภาพ ในคดีอาญาที่ทางราชการต้องการเร่งรัดให้ปิดคดีหรือให้ได้ผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเร่งด่วน  เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เจ้าหน้าที่ท้องที่และเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับบังคับบัญชาใช้การซ้อมทรมานอย่างบ่อยครั้งขึ้น  และมีเพียงส่วนน้อยที่ญาติและผู้เสียหายกล้าหาญร้องเรียนเพื่อยืนยันว่าตนถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายจริง โดยในหลายกรณีที่ไม่มีการร้องเรียนต่อหน่วยงานใดใด ทำให้เจ้าหน้าที่ยังคงใช้วิธีการที่ผิดกฎหมายและละเมิดสิทธิ  ในการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาพยานหลักฐานหรือผู้ต้องหามาดำเนินคดี ซึ่งการกระทำเหล่านี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดกฎหมายภายใน และละเมิดอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และสร้างปัญหาให้สังคมโดยเท่ากับว่ายังไม่สามารถนำผู้กระทำความผิดจริงเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
 
“การสืบสวนสอบสวน พึงกระทำอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว โปร่งใส่ ตรวจสอบได้ เพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำผิดตัวจริงมาลงโทษ การซ้อมผู้ต้องหาเพื่อให้รับสารภาพนั้น เป็นการทำลายกระบวนการยุติธรรมอย่างเลวร้าย ทำให้กระบวนการยุติรรมไทยขาดความน่าเชื่อถือ ไร้ความศักดิ์ศรี” พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม โครงการเข้าถึงความยุติธรรม กล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท