แจงป.ป.ช. 'คุณธรรมความโปร่งใส' เกือบท้ายตาราง เหตุจำเป็นต้องรักษาข้อมูลทางคดี

7 ต.ค. 2559 จากกรณี ที่ ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้เผยแพร่ผลจากโครงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment : ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินการประเมินหน่วยงานภาครัฐที่อยู่ในความรับผิดชอบทั้งสิ้น 115 หน่วยงาน ประกอบไปด้วย สำนักงานศาล (เฉพาะหน่วยงานธุรการ) องค์กรตามรัฐธรรมนูญ หน่วยงานสังกัดรัฐสภา หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน นั้น ซึ่งปรากฏว่า สำนักงาน ป.ป.ช. อยู่ในอันดับที่ 100 ได้เพียง 73.52 คะแนนเท่านั้น ขณะที่ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ อยู่ที่ 94 ได้คะแนน 75.35 คะแนน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมา สรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ชี้แจงว่าตามที่ปรากฏข่าวในสื่อสาธารณะวิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ดังกล่าวนั้น ขอเรียนว่า การวัดคุณธรรมและความโปร่งใสในระบบราชการ (ITA) มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจหน่วยงานของรัฐว่ามีมาตรฐาน คุณธรรมและความโปร่งใสในระดับใด ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานนั้นๆ ไปพิจารณาประเด็นที่มีค่าคะแนนน้อย เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น ดังนั้นหน่วยงานที่ได้รับค่าคะแนนน้อย จะต้องปรับปรุงองค์กรให้ดีขึ้น เพื่อคุณธรรมและความโปร่งใสในภาพรวมของประเทศจะดีขึ้น และได้รับการยอมรับจากสากล สำหรับ สำนักงาน ป.ป.ช. สังคมอาจจะมองเรื่องความโปร่งใสเกี่ยวกับการขอข้อมูลหรือเปิดเผยข้อมูลทางคดีอันนี้จึงอาจเป็นจุดที่ทำให้ได้คะแนนประเมินในปีนี้ไม่สูง แต่เรื่องนี้ ป.ป.ช. มีความจำเป็นเนื่องจากข้อมูลทางคดีมีผลต่อการพิจารณา มีผลกระทบต่อบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องในคดี ทำให้บางครั้งไม่อาจให้ข้อมูลหรือเปิดเผยได้ซึ่งก็คงต้องมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป

จัดอันดับขององค์กรอิสระด้านตรวจสอบการทุจริต ไทยได้ที่ 10 จาก 16 ประเทศ

ขณะที่มีข่าวว่า สำนักงานป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระของไทย ถูกจัดอับดับอยู่อันดับที่ 12 ท้ายสุดในเอเชียตามรายงานขององค์กร PERC ทำให้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นจากนานาชาติ นั้น สรรเสริญ ขอเรียนว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเก่าเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2557 ซึ่งจากการจัดอันดับองค์กรอิสระด้านตรวจสอบการทุจริต ของ PERC ไทยอยู่อันดับที่ 12 จาก 16 ประเทศ แต่ต่อมาในเดือน เม.ย. 2558 PERC รายงานว่าองค์กรอิสระด้านตรวจสอบการทุจริตของไทยอันดับดีขึ้น โดยอยู่อันดับที่ 10 จาก 16 ประเทศ เรียงตามลำดับดังนี้ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฮ่องกง มาเก๊า สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ ไทยจีน ฟิลิปปินส์ กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียตนาม

ประกอบกับจากผลสำรวจขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาช าติ(Transparency International) ประเทศไทยได้ค่าคะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ปี 2558 ที่ประกาศเมื่อวันที่ 27 ม.ค.2559 ได้ 38 คะแนน ซึ่งหากพิจารณาข้อมูลจากแหล่งข้อมูล 8 แหล่งข้อมูล ที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาตินำไปใช้ประกอบการให้คะแนนและจัดอันดับ พบว่าประเทศไทย ได้คะแนนเพิ่มขึ้นถึง 3 แหล่งข้อมูล ซึ่งหนึ่งในสามแหล่งข้อมูลที่ไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้น คือ แหล่งข้อมูล PERC ไทยได้ 42 คะแนน สูงขึ้นจากปีที่แล้ว 7 คะแนน(ปี 2557 ได้ 38 คะแนน) ดังนั้น จากข้อมูลของ PERC ไทยจึงมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น ทั้งนี้PERC เก็บข้อมูลจากการสำรวจความเห็นของนักธุรกิจในท้องถิ่นและนักธุรกิจชาวต่างชาติที่เข้าไปท างานหรือประกอบธุรกิจในไทยเกี่ยวกับระดับปัญหาการทุจริตว่ามีภาพลักษณ์อย่างไรเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สำหรับแหล่งข้อมูลที่ไทยได้คะแนนเท่าปีที่ผ่านมา มี 4 แหล่งข้อมูล และได้คะแนนลดลงมีเพียง 1 แหล่งข้อมูล

ยึดถือตามพยานหลักฐาน ไม่ว่า พท.หรือปชป.

ต่อกรณีข้อวิจารณ์ว่า สำนักงาน ป.ป.ช. จ้องดำเนินคดีทุจริตกับฝ่ายพรรคเพื่อไทย แต่ละเลยคดีของพรรคประชาธิปัตย์ นั้น โฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ขอเรียนว่าการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยึดถือตามพยานหลักฐาน ไม่กลั่นแกล้งใครและไม่ช่วยเหลือใคร ทั้งนี้เมื่อดูข้อมูลคดีโดยภาพรวมที่ผ่านมาของทั้งสองฝ่าย จะเห็นได้ว่า คดีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดและมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไปในหลายคดีตัวอย่างคดีที่ให้ข้อกล่าวหาตกไป เช่น (1) กรณีคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้จ่ายเงินประกันตัวผู้ต้องขังคดีอาญาที่มีลักษณะเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองโดยไม่มีอำนาจและไม่มีกฎหมายรองรับ (2) กรณีคณะรัฐมนตรีร่วมกันลงมติพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ าและสร้างอนาคตประเทศ (3) กรณีกล่าวหา ภูมิธรรม เวชยชัย เอื้อประโยชน์ให้บริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด เป็นต้น ขณะที่คดีที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติทั้งชี้มูลความผิด ได้แก่ ชี้มูล สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กรณีแทรกแซงการปฏิบัติราชการของกระทรวงวัฒนธรรม (คดีถอดถอน) และให้ข้อกล่าวหาตกไป หลายคดีเช่นเดียวกัน 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท