สื่ออาวุโสร่วมเวที 40 ปี 6 ตุลา 19 - เสนอบทเรียนสื่อต้องไม่ผูกขาดความดี

สื่อมวลชนอาวุโสที่เคยมีจุดยืนแตกต่างกันในทศวรรษ 2520 กลับมาร่วมเสวนาเวทีเดียวกันในโอกาส 40 ปี 6 ตุลา พูดคุยเรื่อง “สื่อมวลชนกับความรุนแรงทางการเมือง” ชี้สื่อปัจจุบันยังไม่ได้เรียนรู้เหตุการณ์จากอดีต แม้จะเชื่อว่าสื่อไม่จำเป็นต้องเป็นกลาง แต่สื่อก็ต้องมีเหตุผลและไม่บิดเบือน ต้องไม่หลงผิดว่าวิเศษกว่าคนอื่น ต้องสร้างการรู้เท่าทันสื่อและศึกษาประวัติศาสตร์

ในงานครบรอบ 40 ปี 6 ตุลาคม 2519 ที่จัดขึ้นที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวานนี้ (7 ตุลาคม) ได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ ‘สื่อมวลชนกับความรุนแรงทางการเมือง’ โดยได้เชิญสื่อมวลชนอาวุโสมาร่วมเวทีประกอบด้วย ยุวดี ธัญญสิริ หรือ “แม่ยุ” ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ประจำทำเนียบรัฐบาล รุ่งมณี เมฆโสภณ อดีตนักข่าวสายการเมืองและสายทหารจากเครือผู้จัดการ นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโสและที่ปรึกษามติชนทีวี จักร์กฤษ เพิ่มพูล อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และอธึกกิต แสวงสุข คอลัมนิสต์นามปากกา “ใบตองแห้ง”

ยุวดี ธัญญสิริ ผู้สื่อข่าวอาวุโส ผู้อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในฐานะนักข่าว เล่าอดีตให้ฟังว่า ตนเองไม่อยากให้รื้อฟื้นขึ้นมา เพราะรู้สึกหดหู่ใจมาก ในฐานะที่เป็นคนไทยก็ไม่อยากให้ลุกขึ้นมาฆ่ากัน และกล่าวว่าตนยังจำภาพวันนั้นได้ เป็นวันที่ไปทำข่าวที่กระทรวงกลาโหม ซึ่งสถานการณ์ตอนนั้นเริ่มไม่ดีแล้ว ตอนนั้น พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ บอกว่าจะพยายามไม่ให้มีเรื่องราว ผู้หลักผู้ใหญ่ก็พยายามดึงทุกฝ่าย แต่ก็ปรากฏว่ามีนักข่าวชายบอกว่าเกิดการฆ่ากัน ยิงกันขึ้น

“หลายฝ่ายก็พยายามให้ปัญหายุติโดยเร็ว ตอนนั้นนักศึกษากำลังสอบ มีคนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาเยอะ มีการบอกว่ามีคอมมิวนิสต์ เราก็นึกว่ามาได้ไง เพราะจบไปแล้ว ตอนนั้นสับสนมาก ไม่รู้อะไรเป็นอะไร แต่รู้ว่าผู้ใหญ่หลายฝ่ายพยายามให้เหตุการณ์ยุติโดยเร็ว

“หลังเหตุการณ์ ก็ถามผู้ใหญ่ว่าจะทำยังไง พล.อ. เกรียงศักดิ์ก็บอกว่ากำลังไปกราบเบื้องบนให้นิรโทษ เพราะเด็กเข้าป่าหมด ประเทศจะขาดปัญญาชน ให้กลับมาเรียน เด็กจะกลายเป็นเหยื่อฝ่ายนั้น”

ด้าน รุ่งมณี เมฆโสภณ ปัจจุบันเป็นกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยหรือไทยพีบีเอส เล่าอดีตในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาเช่นกันว่า ขณะนั้นเขาเองเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แต่มีความสนใจการเมืองและทำกิจกรรมทางการเมืองในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จากการติดตามข่าวสารในกรุงเทพฯ ทำให้เธอรับรู้ว่าสถานการณ์รุนแรงมาก จนเธอตัดสินใจหนีไปอยู่เกาะลันตา จ.กระบี่ ช่วงเวลาหนึ่ง เมื่อเหตุการณ์ต่างๆ เริ่มคลี่คลายเธอจึงเดินทางกลับกรุงเทพฯ

ขณะที่เพื่อนสนิทของรุ่งมณีอย่างนิธินันท์ ยอแสงรัตน์ ที่ปรึกษามติชนทีวี เล่าว่า ช่วงนั้นเธอยังเป็นนักศึกษาเช่นกัน แต่ไม่ได้สนใจการเมืองมากนัก เธอสนใจมิติด้านความเป็นธรรมทางสังคมมากกว่า กิจกรรมที่เธอทำส่วนใหญ่เป็นงานด้านวัฒนธรรมและให้กำลังใจแก่ผู้ถูกกดขี่

ด้านนักวิเคราะห์ข่าวจากว็อยซ์ทีวีอย่าง อธึกกิต แสวงสุข เล่าว่า ช่วงเวลานั้นเขาอยู่ชมรมวรรณศิลป์ ในวันที่เกิดเหตุการณ์ เขาเป็นคนหนึ่งที่ช่วยดูแลพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนที่รุ่งเช้าจะมีการล้อมปราบเกิดขึ้น

“ผมก็ไม่ได้เห็นข้างนอก เรามารู้ทีหลัง ที่โดนกับตัวคือโดนยิงกราดเข้ามา เพื่อนสนิทถูกยิงเสียชีวิตระหว่างทุบกระจกตึกบัญชีเพื่อให้เราหนีไป ตอนอยู่ในตึกบัญชีก็ถูกยิงถล่ม เป็นปืนไร้แรงสะท้อน มันสะเทือนมาก ตอนนั้นคิดว่าเราตายแล้ว ทหารบุกเข้ามา เอาพานท้ายปืนฟาด บังคับถอดเสื้อ ยังมียิงกราดกันอยู่ พวกผมถูกต้อนมาเรือนจำบางเขน อยู่ที่นั่นสามวัน ห้าสิบกว่าคนห้องน้ำห้องเดียว ผมก็ยังโชคดีกว่าหลายคนที่พ่อแม่ผมรู้ข่าวก็มาประกันตัว”

ขณะที่ จักร์กฤษ เพิ่มพูล อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ตนเองเริ่มชีวิตการเป็นสื่อมวลชนหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 3 ปี ประมาณปี 2523 และเป็นการเริ่มงานในสถานีวิทยุที่เรียกได้ว่าเป็นสื่อที่ปลุกปั่นสถานการณ์ในตอนนั้นคือวิทยุยานเกราะ เขาสารภาพว่าตอนนั้นเขามีแนวคิดตรงข้ามกับกลุ่มนักศึกษา แต่ภายหลังเมื่อทำงานมาได้สักระยะ เผชิญกับการใช้อำนาจรัฐสั่งปิดสื่อ ทำให้เขาเริ่มหันเหความคิดมาให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพในที่สุด

เมื่อให้แต่ละคนสะท้อนถึงการทำงานสื่อจากอดีตถึงปัจจุบัน ยุวดี กล่าวว่า ตลอดเวลาที่อยู่ในวิชาชีพ ตนเองทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา และสื่อต้องไม่ใช่คู่ขัดแย้งของใคร ขณะที่ปัจจุบันมีสื่อประเภทยุให้รำตำให้รั่ว พยายามจะทิ่มแทงฝ่ายตรงข้ามเกิดขึ้น ซึ่งเธอเห็นว่าเป็นสื่อจอมปลอม เดี๋ยวนี้ฉบับใดใช้สื่อเป็นผลปย.ของตัวเอง ไม่ต้องอ่าน พรรคการเมืองเปิดสื่อ ทำให้คนเข้าใจผิด ต้องดูสื่อจริงๆ ไม่ใช่สื่อจอมปลอม เธอกล่าวว่าสื่อจะต้องยืนอยู่บนผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

รุ่งมณี กล่าวว่า ตอนเริ่มต้นงานนักข่าวในช่วงเวลาที่สังคมปราศจากสิทธิเสรีภาพว่า นักข่าวต้องเล่นในกติกา ต้องเล่นในบริบทที่สื่อจะสามารถเล่นต่อได้ ซึ่งเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ต้องหล่อหลอม

“สมัยนั้นเราเอาสรพงษ์ ชาตรี ขึ้นปกโดยให้พูดเรื่องการเมืองหรือเกี่ยวกับการเมือง แต่ตอนนั้นเราแหลมคมมากไม่ได้”

จักร์กฤษ สะท้อนภาพคล้ายกับรุ่งมณีว่า ในยุคนั้น การทำงานสื่อมีเงื่อนไขมาก หลังรัฐประหาร 6 ตุลาคมปี 2519  คณะรัฐประหารกำหนดว่าอะไรเขียนได้ อะไรเขียนไม่ได้ ทำให้มีข่าวไร้สาระจำนวนมาก ข่าวการเมืองจึงลดบทบาทลงอย่างมาก และเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ข่าวดาราป่วยและต้องไปเยี่ยมไข้เริ่มปรากฏขึ้น สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้เขาเห็นว่าเป็นการลิดรอนเสรีภาพสื่อและหันมาต่อต้าน

“สื่อปัจจุบันได้เรียนรู้อะไรจาก 6 ตุลาหรือเปล่า ผมคิดว่าแทบจะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย คนที่จะทำงานต่อเนื่องจากยุคนั้นมามีน้อยมาก คนที่เข้ามาในยุคปัจจุบันเป็นคนรุนใหม่ๆ ที่เลวร้ายกว่านั้นคือคนทำสื่อก็มีบทบาทเป็นคู่ขัดแย้งทางสังคม

“อคติและความเกลียดชัง เราปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกคนมีความเชื่อทางการเมืองทั้งนั้น แต่เราไม่สามารถแยกบทบาทพื้นที่สาธารณะกับพื้นที่ส่วนบุคคลได้ ช่วงมีความขัดแย้งทางการเมือง พิธีกรรายการบางคน ยุให้ไปบุกอีกฝ่ายด้วยซ้ำ สิ่งที่เราจะต้องตระหนักคือคนที่ทำหน้าที่สื่อไม่รู้ว่าตัวเองควรอยู่ในจุดไหน เราจะเหลือสื่อที่ให้สติกับสังคมน้อยมาก เราเคยหวังว่าสื่อจะเป็นพื้นที่สุดท้ายที่พึ่งได้ แต่วันนี้เราไว้วางใจไม่ได้เลย บางฉบับเรียกคนที่ไม่ชอบเรียกเป็นสัตว์เลย

“ส่วนเรื่องความเป็นกลางในสื่อ พูดกันนานแล้ว ผมยืนยันว่าเป็นกลางไม่มีอยู่จริง แต่อะไรใกล้เคียงที่สุดคือความไม่ลำเอียง คือเราต้องไม่มีอคติเท่านั้นเอง” จักร์กฤษ กล่าว

ขณะที่ปัจจุบันที่ความขัดแย้งทางการเมืองมีสูงและมีการพูดถึงการเลือกข้างของสื่อ อธึกกิต กล่าวว่าตนเป็นสื่อเลือกข้างไปแล้วไม่ว่าจะจงใจหรือไม่ ซึ่งทำให้มีข้อจำกัดในการทำงานอยู่ แต่เขาเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเสแสร้ง เพียงแต่สิ่งที่ต้องรักษาไว้ก็คือความมีเหตุมีผล ใช้ถ้อยคำที่รักษาความเป็นมนุษย์ และไม่บิดเบือนสิ่งที่แหล่งข่าวพูด

อธึกกิตกล่าวว่า ต้องแยกความรุนแรงในอดีตกับปัจจุบันออกจากกัน เพราะความรุนแรงนับจากปี 2549 เป็นต้นมา ไม่ใช่ความรุนแรงจากการจัดตั้งกลุ่มอันธพาลขึ้นมาโจมตีฝ่ายประชาธิปไตย แต่เป็นความรุนแรงที่อ้างกฎหมาย

“อย่างทำผิดคนเดียว ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบทั้งพรรคและเป็นความผิดที่เชื่อได้ว่าเท่านั้น มีการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร คนอีกข้างก็ลุกฮือขึ้นมา แล้วเวลาใช้ความรุนแรงก็บอกว่าเราใช้กฎหมายรักษาความสงบ ถ้าไม่ทำ เราจะถูกข้อหาหนึ่งห้าเจ็ด ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เป็นการอ้างกฎหมาย อ้างความสงบมาจัดการ แล้วยั่วยุให้เกิดความรุนแรง กลายเป็นว่าคนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมถูกบอกว่าใช้ความรุนแรง

“สื่อก็บอกว่าพวกนี้รุนแรง ประเด็นของสื่อมีหลายประเด็นที่ต้องมอง สื่อปัจจุบันอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคม ความเปลี่นแปลงของอำนาจทางชนนชั้น จาก 6 ตุลามาถึงปี 2535 สื่อมีพลังสูงมากในการโค่นสุจินดา คราประยูร เกิดยุคสองนคราประชาธิปไตย คนชนบทตั้งรัฐบาล คนกรุงเทพล้มรัฐบาล ล้มด้วยอะไร ด้วยสื่อ สื่อสมัยที่ผ่านมาเป็นตัวแทนชนชั้นกลาง พอเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง รัฐธรรมนูญ 2540 สื่อเจอภาวะที่ประชาชนก็เป็นสื่อได้ เจอสื่อเทียม ปรากฏการณ์ปี 2549 คุณสนธิใช้เอเอสทีวี อีกข้างเกิดพีทีวี ไม่ใช่สื่อดั้งเดิมที่คิดกัน ปัจจุบันมีเฟซบุ๊ค คนเยอะแยะกลายมาเป็นสื่อ สื่อเดิมถูกช่วงชิงบทบาท

“ผมคิดว่าสื่อเป็นตัวแทนชองชนชั้นกลางเดิม ไม่ได้เลวร้ายทั้งหมด พอเจอทักษิณ ชินวัตรก็ไม่รู้จะอธิบายยังไง ทำให้สื่อเองก็ขัดแย้ง ไม่รู้จะตัดสินปรากฏการณ์นี้ยังไง เพราเป็นคนที่ตัดสินมาตลอด ถึงวันนี้แค่เรื่องเฮทสปีช เรื่อความเป็นมืออาชีพ ไม่พอ ต้องถกด้วยการใช้เหตุผล ไม่ต้องแคร์เรื่องเลือกข้าง”

ด้าน นิธินันท์ แสดงทัศนะว่า ปัจจุบันภูมิทัศน์สื่อไม่เหมือนเดิม บางครั้งคนทำสื่อต้องอยู่กับการหาเงินเอง เกิดความเข้าใจใหม่ว่าการหาสปอนเซอร์คือการซื้อพื้นที่เพื่อลงโฆษณาโดยไม่ยุ่งกับเนื้อหา ไม่ได้แปลว่าสื่อรับเงินของใครเพื่อเขียนเชียร์ แต่ตัวสื่อต้องรู้ว่ากำลังทำธุรกิจสื่อ

“คนทำสื่อจะได้รู้ว่าฉันอยู่ในธุรกิจสื่อ ไม่คิดว่าตนเองเป็นคนดี วิเศษ คนทำสื่อหลายคนก็หลงตัวเองกับคำใหญ่คำโต กลายเป็นผูกขาดความดีในสังคม ฉันเป็นคนดี ทำเพื่อประชาชน สื่อไม่ควรหลงตัวเองผิดๆ ขนาดนั้น หรือที่สมัยหนึ่งเถียงว่าสื่อต้องเป็นกลาง ประเด็นคือเราต้องนำความจริงมาเสนอ นี่คือความเป็นกลางที่ว่า แต่มีสิทธิที่จะบอกว่าเราชอบ ไม่ชอบ ได้ แต่อย่าไปบอกว่าคนนั้นเลว สื่อต่างประเทศก็มีแบ่งข้างมาเสนอ สื่อไทยล้าหลังเพราะไม่มีการพูดถึงนโยบายการเมืองชัดเจน จึงแบ่งข้างไม่เคยได้ชัด แต่ดิฉันจะพูดว่าดิฉันเลือกเสรีนิยม อะไรที่เป็นเผด็จการดิฉันไม่ชอบ และจะพูดเสมอ”

รุ่งมณี กล่าวว่า คนทำข่าวต้องยึดความจริงเป็นสรณะ ไม่ว่าตัวสื่อจะมีความเชื่อในเรื่องใดก็ตาม ก็ไม่สามารถบิดเบือนความจริงได้ อย่าเอาความเกลียดชังมาเป็นตัวตั้งในการทำงาน เพราะหากสื่อเสนอข่าวด้วยอคติ ความเกลียดชัง หรือเขียนโดยไม่เคารพต่อข้อมูล ต่อผู้อ่าน สิ่งนั้นจะสะท้อนกลับ

“เฮทสปีช การใช้ความรุนแรงของคำพูดนำไปสู่การฆ่าคนได้ เราไม่เคยตระหนักและศึกษาอย่างจริงจัง สื่อออนไลน์ทุกวันนี้เหมือนเราไม่มีตัวตน นึกจะพูดไรก็พูด ไม่รับผิดชอบ มีคนวิจารณ์ว่าเฟซดิฉันไร้สาระ เพราะดิฉันไม่พูดเรื่องการเมือง เพราะดิฉันพูดอะไรต่อสาธารณะชน เราไม่รู้ว่าผู้เสพเป็นใคร มีความคิดทางการเมืองอย่างไร เราเขียนไปแล้วเราอธิบายไม่ได้ ดิฉันยอมไร้สาระ ระมัดระวังการแสดงความเห็นสู่สาธาณะ เพราะคนทำงานสื่อต้องมีความรับผิดชอบต่อสาธารณะ

รุ่งมณีกล่าวว่า ควรมีการศึกษาเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่แค่ 6 ตุลา แต่ทุกๆ เหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนที่ถูกกระทำ พร้อมกับทิ้งท้ายว่า

“ไม่ว่าสถานการณ์หรือภูมิทัศน์สื่อจะปลี่ยนไปอย่างไร องค์ความรู้ที่เราควรช่วยกันสร้างคือการรู้เท่าทันสื่อ ยิ่งเท่าทันมากเท่าไหร จะยิ่งมองอย่างเข้าใจและ มีมิติมากขึ้น การรู้เท่าทันสื่อ การเรียนรู้ประวัติศาสตร์โดยไม่หยุดนิ่ง จะทำให้เราเรียนรู้มากขึ้น”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท