Skip to main content
sharethis

อดีตปธ.ผู้แทนการค้าไทย เบิกความเป้าโครงการรับจำนำข้าวเพื่อให้ชาวนามีรายได้สุทธิสูงขึ้นตรงข้ามกับนโยบายประกันรายได้ที่ผลประโยชน์ตกที่พ่อค้าข้าวรายใหญ่ ยิ่งลักษณ์ขอ รบ.ยกเลิกใช้คำสั่งทางปกครอง ชี้เพราะทุกอย่างต้องอยู่บนข้อเท็จจริง ควรใช้กระบวนการทางศาลแพ่งมากกว่า

 
ที่มาภาพ เพจ Yingluck Shinawatra
 
เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดสืบพยานจำเลย นัดที่ 4 คดีโครงการรับจำนำข้าว ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในฐานความผิดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท 
 
โดยศาลนัดไต่สวนพยาน 2 ปาก คือ โอฬาร ไชยประวัติ อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย และอดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (ยิ่งลักษณ์) และวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ รองอัยการสูงสุด ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานพิจารณาสำนวนคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว 
 

อดีตรองอัยการเบิกความไม่เคยคุยเยาวภา

ชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะรวม 9 คน ได้ไต่สวนพยานจำเลย โดยทนายความจำเลยได้นำ วุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ อดีตรองอัยการสูงสุดเคยเป็นหัวหน้าคณะทำงานพิจารณาสำนวนจำนำข้าวขึ้นเบิกความเป็นพยานปากแรก ระบุว่า ช่วงที่พยานดำรงตำแหน่งอธิบดีอัยการภาค 5 ที่ จ.เชียงใหม่ พยานไม่เคยพูดคุยกับเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ พี่สาวของจำเลย หรือนักการเมืองพรรคเพื่อไทยแต่ยอมรับว่าเคยเข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงสถาบันวิทยาลัยตลาดทุน (วตท.) รุ่น 12 ร่วมกับจำเลยจริง และช่วงระหว่างที่จำเลยเป็นนายกรัฐมนตรีได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการหลายคณะ แต่ไม่ได้เป็นการแต่งตั้งโดยรัฐบาล 
 
รวมทั้งยังได้รับการแต่งตั้งเป็นบอร์ดการประปานครหลวงและบอร์ดธนาคารออมสิน ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดออมสินได้มีส่วนร่วมอนุมัติการปล่อยกู้ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)เพื่อใช้แก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องแต่ไม่ทราบว่า ธ.ก.ส. จะนำไปใช้ในโครงการจำนำข้าว 

อดีตปธ.ผู้แทนการค้าไทย ยันเป้าโครงการเพิ่มรายได้ชาวนา 

จากนั้นทนายจำเลยได้เบิกตัว โอฬาร ไชยประวัติ อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย เป็นพยานเบิกความสรุปว่าเป็น 1 ในคณะกรรมการร่างนโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย และเป็นผู้ร่วมคิดทำนโยบายรับจำนำข้าวโดยเปรียบเทียบปรับปรุงนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรในรัฐบาลก่อนๆ 
 
โดยวัตถุประสงค์ของโครงการรับจำนำข้าว เพื่อให้ชาวนามีรายได้สุทธิสูงขึ้นตรงข้ามกับนโยบายประกันรายได้ที่ทำให้ชาวนามีเงินลดลง แต่ผลประโยชน์ตกที่พ่อค้าข้าวรายใหญ่เงินที่ใช้ในโครงการทั้งหมดเป็นเงินกู้แต่ได้วางแผนความเสี่ยงเรื่องเงินกู้และดอกเบี้ยไว้แล้ว เพื่อใช้ในการกำหนดราคาจำนำข้าวรายละ 1.5-2 หมื่นบาท ในระหว่างดำเนินโครงการไทยผลิตข้าวเปลือกได้ประมาณ 35 ล้านตันต่อปี และสีแปรเป็นข้าวสารประมาณ 21 ล้านตัน มีการส่งออกจากภาคเอกชนและแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ประมาณ 6-7 ล้านตัน แต่ไม่ทราบรายละเอียดในเรื่องการขายแบบจีทูจี 
 
ส่วนการระบายข้าวเมื่อรัฐบาลได้รับข้าวแล้วขั้นตอนทั้งหมดกว่าข้าวเม็ดแรกจะถูกระบายออกตลาดจะใช้เวลา 6 เดือนแต่การระบายข้าวยังจะต้องขึ้นอยู่กับภาวะความต้องการของตลาดด้วย ซึ่งชาวนาสามารถใช้สิทธิมาไถ่ถอนข้าวได้ตามที่ราคาตลาดและสภาวะเอื้ออำนวย แต่หากไม่มีชาวนามาไถ่ถอนข้าวก็ไม่เป็นผลให้ข้าวค้างสต็อก เพราะข้าวจะไหลออกไปตามการระบายอยู่แล้ว แต่ยอมรับว่าในสต็อกจะต้องมีข่าวเหลืออยู่ เพื่อความมั่นคงด้านอาหารเมื่อเกิดภัยแล้ง 
 
“ยืนยันว่าโครงการรับจำนำข้าวไม่ได้เน้นผลิตโดยไม่สนใจคุณภาพข้าวตรงกันข้ามเราให้ความสำคัญกับชาวนา ให้มีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้น โดยการนำข้าวที่มีสเปกตามที่รัฐบาลกำหนดมาจำนำจึงจะได้รายละ 1.5 หมื่น ซึ่งการทำนาถ้าไม่ขยัน ไม่ดูแลใส่ปุ๋ย และไม่ใช่เจ้าของที่นาก็จะไม่ได้สเปกตามที่รัฐบาลกำหนด “ โอฬาร กล่าว 
 
ทั้งนี้ ศาลได้มีคำสั่งให้เลขานุการศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตรวจสอบกรณีวิเคราะห์บทสัมภาษณ์ของ สุเมธ เหล่าโมราพร ประธานคณะผู้บริหารบริษัทซีพีอินเตอร์เทรด จำกัด ในรายการทีวีช่องหนึ่ง ตามที่ฝ่ายจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลและให้นัดสืบพยานจำเลยปากต่อไปในวันที่ 21 ต.ค.นี้ เวลา 9.30 น. 
 
ขณะที่การไต่สวนพยานในคดีนี้ ไต่สวนมาแล้ว 13 นัด แบ่งเป็นไต่สวนพยานโจทก์ทั้งหมด 14 ปาก จำนวน 10 นัด ไต่สวนพยานจำเลยแล้ว 5 ปาก จากทั้งหมด 42 ปาก รวม 3 นัด และจะ ครบกำหนดการไต่สวนในเดือน มิ.ย. 2560 
 

ยิ่งลักษณ์ขอ รบ.ยกเลิกใช้คำสั่งทางปกครอง

ขณะที่ ยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงกรณีเรียกค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าว 35,000 ล้านบาท ว่า อยากขอความเห็นใจ เพราะโครงการรับจำนำข้าวเป็นการช่วยเหลือชาวนา ซึ่งที่ผ่านมาได้ร้องขอความเป็นธรรมกับคณะกรรมการ และหน่วยงานต่าง ๆ  ไปหลายครั้งแล้ว การจะใช้คำสั่งทางปกครองเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
 
สำหรับการยื่นขออุทธรณ์คำสั่งเรียกค่าเสียหายจากโครงการจำนำข้าวนั้น ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับเอกสาร ต้องรอเพื่อศึกษารายละเอียดอีกครั้ง การใช้คำสั่งทางปกครองเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง อยากให้รัฐบาลรับไปพิจารณา เพราะทุกอย่างต้องอยู่บนข้อเท็จจริง ควรใช้กระบวนการทางศาลแพ่งมากกว่าคำสั่งทางปกครอง เพราะเท่ากับว่าเป็นการตัดสินไปแล้ว กฎหมายมีทางออกให้เลือก 2 ทาง
 
ยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงกรณีที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ถึง 15 คดีว่า อยากให้ทุกหน่วยงานยึดแนวทางของรัฐธรรมนูญที่ต้องปฎิบัติเท่าเทียมกัน  ส่วนที่รัฐบาลตรวจสอบโครงการต่าง  ๆของรัฐบาลที่แล้วนั้น รัฐบาลเป็นผู้นำ และเป็นผู้มีอำนาจ จึงอยู่ที่ผู้มีอำนาจจะคิดและจะทำให้ประชาชนยอมรับ

 

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย และ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net