Skip to main content
sharethis

วงเสวนา “บทเรียนประชาชน 3 ประสานจากยุคเดือนตุลากับอนาคต” เสนอสร้างพลังพันประสาน สู้ในตำแหน่งแห่งหนที่ตัวเองเป็น สร้างพื้นที่ของคนเล็กคนน้อยเพื่อเสนอทางออกและตรวจสอบถ่วงดุล 


7 ต.ค. 2559 เมื่อเวลา 14.30 น. ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์เนื่องวาระรำลึก 40 ปี 6 ตุลา มีการเสวนาในหัวข้อ “บทเรียนประชาชน 3 ประสานจากยุคเดือนตุลากับอนาคต” ร่วมเสวนาโดย ทวีป กาญจนวงศ์ สุนทรี เซ่งกิ่ง เรืองรวี พิชยกุล พฤ โอโดเชา จตุรภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ดำเนินรายการโดย สุนี ไชยรส โดยพลัง 3 ประสาน นั้นประกอบด้วย พลังของนักศึกษา กรรมกรและชาวนา 

"มันไม่ใช่ 3 ประสานอีกต่อไปแล้ว มันจะมีเป็น 100 ประสาน เป็น 1,000 ประสาน ก็ได้ คุณจะแชร์เฟซบุ๊กกดไลค์ก็เป็นการต่อสู้อย่างหนึ่ง คุณอยากออกมาแต่งเพลง ออกมาทำอะไร ไม่ต้องมาเป็นเหมือนกัน ไม่ต้องมาทำเหมือนผม ทำแบบที่คุณเป็น แต่ว่าให้มองถึงเรื่องของสังคม ถึงเรื่องอันอื่นด้วย ไม่ใช่แค่มองแค่เรื่องตัวเอง ผมคิดว่ามันจะเป็นการต่อสู้ที่สวยงามมาก ผู้คนจะอยู่ในตำแหน่งแห่งหนที่ตัวเองเป็น" ไผ่ ดาวดิน กล่าว

ไผ่ กล่าวอีกว่า ณ ตอนนี้มันไม่ใช่ 3 ประสานนักศึกษา กรรมกร ชาวนา แล้ว มันเป็นร้อยเป็นพันประสาน แต่มันจะประสานกันหรือเปล่า คุณเป็นช่างตัดผมคุณจะมาประสานกับขบวนการประชาธิปไตยหรือเปล่า คุณเป็นร้านขายของชำคุณจะมาประสานกับขบวนการประชาธิปไตยหรือเปล่า และประชาธิปไตยมันสำคัญอย่างไรกับชีวิตคุณ นี่ต่างหากจึงเป็นจุดร้อยเข้ากัน เราไม่ยุ่งกับการเมืองไม่ได้ เพราะการเมืองมายุ่งกับชีวิตเรา เราจึงต้องยุ่งกับมันบ้าง



สุนทรี กล่าวว่า 40 ปีผ่านไป เราเห็นร่วมกันว่าสังคมไทยไม่เปลี่ยนแปลงมาก ความเหลื่อมล้ำกว่าเก่า ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมันก็ห่างกว่าสมัยก่อน แต่สิ่งที่ได้จากการทำงานพัฒนานั้นมีคนรุ่นใหม่ๆ มีเยาวชนที่ตื่นตัวเข้าใจปัญหาและสาถานการณ์ รวมทั้งพร้อมที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง มีพื้นที่ให้พี่น้องที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้หญิง กลุ่มแรงงานนอกระบบ สิ่งที่เราได้มาวันนี้มันคือพื้นที่ของคนเล็กคนน้อย และพื้นที่เหล่านี้ด้านหนึ่งก็มีการเสนอทางออกและข้อเสนอในการแก้ปัญหา ตรงนี้จึงถือเป็นความก้าวหน้า 

สุนทรี กล่าวอีกว่า ในส่วนของงานเอ็นจีโอก็ได้พยายามที่จะทำหน้าที่เปิดพื้นที่ให้กับคนทุกกลุ่มในสังคม หน้าที่ตรวจสอบอำนาจรัฐ หน้าที่ในการเปิดพื้นที่คนเล็กคนน้อยได้มีโอกาสในการเสนอทางออกสังคม ร่วมกับอีกหลายขบวนหลายองค์กร

พฤ กล่าวว่า ทั้งสุขภาพ การสื่อสาร การเรียกร้องเรียนรู้ ค่าใช้จ่ายค่าครองชีพในชีวิตประจำวันชนบทนั้นเสียเปรียบเมือง แม้กระทั่งการเรียกร้องสิทธิยกตัวอย่างป้อมมหากาฬเขาสามารถมาทำเนียบหรือยูเอ็นได้ใกล้กว่ากรณีที่ตนลงมาจากดอย 

พฤ เสนอว่าระบบการศึกษาหรือระบบต่างๆ จะทำอย่างไรไม่ให้ทำลายมนุษย์ด้วยกันเอง ทางออกคือให้มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่เปิดโอกาสพูดคุยกัน

"ผมเชื่อว่าการรับฟังความคิดที่เท่ากัน อำนาจเท่ากัน การมีส่วนร่วม การพูดคุยที่ไม่มีใครเด็ดขาด สื่อไม่มีบริษัทควบคุมสื่อ มันจะทำให้พื้นที่นั้นๆ เกิดทางออก" พฤ กล่าว

เรืองรวี พิขัยกุล ตอนที่เข้าป่าถูกหาว่าเป็นนายทุนน้อย ซึ่งเป็นพวกที่มีจุดยืนไม่มั่นคง ถือเป็นข้อท้าทายที่คิดว่ามันก็จริง คือเราพร้อมที่จะเลิกเหนื่อย เลิกยาก เพื่อที่จะทำให้อะไรมันง่าย ดังนั้นมันต้องสัมผัสอยู่ตลอด วันใดที่คุณหลุดจากการสัมผัส คุณก็คงไม่คิดถึงใครอีกต่อไป แต่อย่างน้อยที่สุดสิ่งที่จะเป็นอนาคตของพวกเรามันต้องมีพื้นที่เหลือในความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มันไม่มีความเท่าเทียมกันในช่วงนี้ มันมีช่องทางใดบ้างที่คนที่มีอำนาจน้อยๆ มารวมกัน ต้องถึงวาระของปฏิบัติการแสวงหาจุดร่วมสวงนจุดต่างให้ได้จริงๆ มันคงจะมีทางออก ค่ายเล็กๆ ควรรวมกันเพื่อสู้กับค่ายใหญ่ มันถึงจะมีทางออก

ทวีป กรรมกรแต่ก่อนท่องคาถาว่า "กรรมกรทั้งผองคือพี่น้องกัน" แต่วันนี้ต้องมาท่องว่า "คนจนคนเสียเปรียบคือพี่น้องกัน" ตนเชื่อว่าคบเพลิงแห่งการต่อสู้จากคนรุ่นเก่าๆ ส่งต่อให้คนใหม่ เพราะคิดว่าทั้งคนเก่าและคนใหม่มีวิญญาณร่วมกัน จึงคิดว่าไฟมันจะไม่ดับมอดลง ในอนาคตตนคิดว่าสมัคคีคืพลัง ต่อไปไม่ใช่ 3 ประสานแล้ว แต่ทุกกลุ่มอาชีพต้องรวมพลังต่อสู้ ไม่เช่นนั้นจะไม่ทีอำนาจต่อรอง รวมทั้งขอให้อย่าลืมคนแก่เพราะคนแก่นั้นยังมีพลัง

สุนีย์ กล่าวสรุปในตอนท้ายด้วยว่า เราคงต้องมีการพัฒนารูปแบบการต่อสู้ที่มีความหลากหลายไป แต่สิ่งหนึ่งที่เราบอกว่าเราต้องการประชาธิปไตย และเป็นประชาธิปไตยที่เสียงคนเล็กคนน้อยต้องมีพื้นที่ ต้องมีพลัง ต้องมีโอกาสที่จะยืนและเติบโต เป็นประชาธิปไตยที่มากกว่าแค่มีนักการเมืองมีนักเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ ซึ่งจำเป็นด้วย แต่ไม่พอ ต้องให้เป็นเสียงของคนตัวเล็กตัวน้อยคอยตรวจสอบทุกกระบวนการ เพราะเราก็อยากเห็นการเลือกตั้ง เห็นประชาธิปไตยที่มีตัวแทนในระบบ แต่เราก็คือตัวแทนในกลุ่มของเราด้วยเพราะว่าเราจะต้องการตรวจสอบและถ่วงดุล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net