ศาลปกครองสูงสุดพิจารณานัดแรก คดีเพิกถอนใบอนุญาตโรงแป้งมันน้ำพอง หลังผ่านไป 3 ปี

ศาลสูงนัดพิจารณาครั้งแรก คดีเพิกถอนใบอนุญาตตั้งโรงงานแป้งมัน ตุลาการผู้แถลงคดี  ระบุกระบวนการรับฟังความคิดเห็นหรือการประชาคม เป็นเรื่องสำคัญ ด้านชาวบ้านแถลงต่อศาล การประชาคมไม่เคยมีอยู่จริง

11 ต.ค. 2559 นักข่าวพลเมืองTPBS รายงานว่า เวลา 9.00 น. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมห้วยเสือเต้นและโคกหินขาว อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ตัวแทนชาวบ้านผู้ฟ้องคดี และกลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) ม.ขอนแก่น เดินทางเข้าร่วมฟังการพิจารณาครั้งแรกของศาลปกครองสูงสุด ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีการอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแป้งมันสำปะหลังของบริษัทขอนแก่นสตาร์ช จำกัด ซึ่งอาจสร้างผลกระทบ อีกทั้งขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน 

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2556 ศาลปกครองจังหวัดขอนแก่น นัดฟังคำพิพากษาในคดี หมายเลขดำที่ ส.1/2555 หมายเลขแดงที่ ส.1/2556 ในคดีที่นายแสงจันทร์ ศรีปัดถาพร้อมพวกรวม 23 คน ฟ้องเทศบาลตำบลลำน้ำพอง จำเลยที่ 1 และอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม จำเลยที่ 2 โดยมีบริษัทขอนแก่นสตาร์ช จำกัด เป็นผู้ร้องสอด ใจความสรุปว่า ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังทะเบียนโรงงาน เลขที่ 3-9(2)-2/54 ขก ลงวันที่ 11 ก.พ.54 ที่อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมออกให้แก่นาย เทพฤทธิ์ ศรีปัญญา ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก 

ต่อมา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม จำเลยที่ 2 และบริษัทฯ ผู้ร้องสอดยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ศาลจึงได้นัดพิจารณาคดีในวันที่ 11 ต.ค. 2559 เวลา 09.00 น. ที่ศาลปกครองสูงสุด กรุงเทพฯ โดยตุลาการจะแถลงข้อเท็จจริงและเปิดโอกาสให้คู่ความแถลงด้วยวาจา

นายบุญช่วย โสสีทา ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมห้วยเสือเต้นและโคกหินขาว ผู้ฟ้องคดีที่ 2 แถลงด้วยวาจาต่อศาลปกครองสูงสุดว่า ในการทำประชาคมครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2554 ที่บ้านหนองหารจางนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริง และไม่มีการปิดประกาศให้ประชาชนในพื้นที่ทราบ ส่วนที่ตั้งโรงงานห่างจากชุมชนเพียง 600 เมตร โดยอยู่บนที่สูงกว่าชุมชนและแหล่งน้ำห้วยเสือเต้นซึ่งเป็นพื้นที่ชุมน้ำ ตาม มติ ครม.และอนุสัญญาแรมซาไซต์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า คำแถลงของตุลาการมีความเห็นว่ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นหรือการประชาคมนั้น เป็นส่วนสำคัญให้ประชาชนได้รับรู้ข้อเท็จจริง เป็นข้อบกพร่องสำคัญที่ทำให้ใบอนุญาติโรงงานไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งในตอนนี้ยังไม่ได้คำพิพากษา ความเห็นดังกล่าวเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของตุลาการซึ่งไม่เกี่ยวกับองค์คณะที่จะทำการพิพากษา โดยระหว่างนี้ให้รอการนัดฟังคำพิพากษาอีกครั้ง

ทั้งนี้ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหัวยเสือเต้นและโคกหินขาว อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เกิดขึ้นเนื่องจาก เมื่อปี 2535 ได้มีโครงการนิคมอุตสาหกรรมโคกหินขาวที่จะเข้ามาสร้างโรงงานในพื้นที่ แต่โครงการดังกล่าวได้เงียบหาย จนต่อมาในปี 2554 มีโรงแป้งมันเข้ามาตั้งใกล้ ๆ กับชุมชน ในพื้นที่ห้วยเสือเต้นซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเนื้อที่กว่า 8 พันไร่ ซึ่งมีความสำคัญกับชุมชน 

กรณีดังกล่าวทำให้ชาวบ้านหวั่นเกรงต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้งโรงงานแป้งมันอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพ ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศจากฝุ่นควัน และเห็นว่ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นของโรงงานฯ นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงหยิบยกประเด็นขึ้นฟ้องร้องต่อศาล เพื่อปกป้องสิทธิและสิ่งแวดล้อมของชุมชน

สำหรับโรงงานแป้งมัน บริษัทขอนแก่นสตาร์ช จำกัด ก่อสร้างบนเนื้อที่ 153 ไร่ บริเวณทางเข้าหมู่บ้านหนองหารจาง ต.น้ำพอง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ประกอบด้วยโรงแป้ง โรงไบโอแก๊สและโรงไฟฟ้าชีวมวล โรงแป้งมีกำลังการผลิต 200 ตันแป้ง เงินลงทุน 300 ล้านบาท มีนายเทพฤทธิ์ ศรีปัญญา เป็นผู้ยื่นขอใบอนุญาต และกรมโรงงานออกใบอนุญาตให้วันที่ 11 ก.พ. 2554 ต่อมาโอนใบอนุญาตให้บริษัท ขอนแก่นสตาร์ช จำกัด ในเดือนมี.ค. 2554

คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น มีดังนี้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท