รำลึก 43 ปี 14 ตุลา 'เอนก' ชี้โลกเปลี่ยนอย่างคาดไม่ถึง จีนที่เคยเป็นศัตรูร้ายก็กลายเป็นมิตรที่สำคัญ

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา ช่วงเช้า ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 16 บริเวณแยกคอกวัว ถ.ราชดำเนินกลาง กรุงเทพฯ มีการจัดกิจกรรมวางหรีดและรำลึก 43 ปี เหตุการณ์ดังกล่าว มีรายงานด้วยว่าปีนี้มีผู้มาร่วมรำลึกจำนวนน้อย

ภาพการวางหรีดและร่วมรำลึก ที่มาาภาพจากคุณปุ้ยและมูลนิธิ14 ตุลา 

 

เอนก เหล่าธรรมทัศน์  "ตุลาคมสี่ทศวรรษ: โลกที่เปลี่ยนไปอย่างคาดไม่ถึง"

ขณะที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา เอนก เหล่าธรรมทัศน์ นักวิชาการและนักการเมือง อดีตหัวหน้าพรรคมหาชน ได้โพสต์บทความชื่อ "ตุลาคมสี่ทศวรรษ: โลกที่เปลี่ยนไปอย่างคาดไม่ถึง" ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'เอนก เหล่าธรรมทัศน์ Anek Laothamatas' โดยระบุว่า ช่วง ตุลาคม 2516-2519 เมืองไทยเปลี่ยนไปไม่น้อย แต่โลกยิ่งเปลี่ยนไปมากกว่าเสียอีก โดยเฉพาะขบวนนักศึกษาไทยชื่นชมว่าเป็นแบบอย่างของสังคมนิยม แต่สี่สิบปีถัดมากลับกลายเป็นแบบอย่างของการสร้างทุนนิยมที่เติบโตรวดเร็วมาก เศรษฐกิจจีนไม่ใช่สังคมนิยมอีกแล้ว แต่ก็ไม่ใช่เศรษฐกิจทุนนิยม เป็นลูกผสม ที่สำเร็จเพราะคิดผสมทำผสม คิดเองไม่ใช้ "สูตรสำเร็จ" ใดๆ อย่างที่เคยมีมาใช้มา
 เอนก เหล่าธรรมทัศน์
 
โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
 
สี่ทศวรรษหลัง ช่วง ตุลาคม 2516-2519 เมืองไทยเปลี่ยนไปไม่น้อย แต่โลกยิ่งเปลี่ยนไปมากกว่าเสียอีก
 
เมื่อเกิด 14 ตุลาคม 2516 นั้น โลกอยู่ในยุค "สงครามเย็น" แบ่งเป็น "สองขั้ว-สองค่าย" ไทยอยู่ในค่าย "เสรี" ของอเมริกา ซึ่งเผชิญหน้าขับเคี่ยวกับ ค่าย "คอมมิวนิสต์" ที่โซเวียตนำอยู่ ก่อนหน้านั้นปีเดียว คือในปี 2515 นั้นเอง สงครามเย็นก็มาถึง"จุดพลิกผัน" ที่ไม่มีใครคิดมาก่อน คือ นิกสันและคิสซิงเจอร์ไปเยือนจีน ข้ามค่ายไปคืนดีกับจีน ในขณะที่จีนก็ข้ามฝ่ายมาร่วมกับอเมริกา รวมพลังกันสู้กับโซเวียต อย่างไม่มีใครฝัน โซเวียต-จีน สองชาติมหาอำนาจคอมมิวนิสต์แตกกันเอง สู้กันเอง อย่างไม่น่าเชื่อ
 
แม้จีนจะข้ามมาต้านทานโซเวียต แต่สุดท้าย สงครามอินโดจีนก็จบลงด้วยความปราชัยของสหรัฐ สงครามอินโดจีนที่ไทยสนับสนุนสหรัฐอย่างแข็งขันจบลงด้วยชัยชนะอย่างไม่น่าเชื่อของขบวนการฝ่ายซ้ายใน เวียดนาม ลาว และกัมพูชา น่าทึ่งมาก สหรัฐอเมริกา มหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ของโลก ต้องมาปราชัย อย่างเด็ดขาด ทั้งในทางการทหารและการเมือง นับเป็นความพ่ายแพ้ "ครั้งแรก" ในประวัติศาสตร์ของเขา แพ้ให้ใคร ? แพ้ให้แก่เวียดนาม ลาว และเขมร ซึ่งล้วนแต่ยากจนและล้าหลังกว่ามาก
 
ในแง่หนึ่ง เป็นแง่สำคัญมากด้วย เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นั้น เกิดจากความกลัวอย่างจับใจของชนชั้นนำว่า ไทยอาจจะแตกเองจากภายใน พ่ายแพ้ต่อฝ่ายซ้าย ต่อคอมมิวนิสต์ และล้มลงแบบ"โดมิโน" ตัวต่อไป ตามหลังสามประเทศเพื่อนบ้านที่กล่าวมาแล้ว
 
หลัง 6 ตุลาคม 2519 เพียงสองปี โลกเราก็เปลี่ยนไปอย่าง "ไม่คาดฝัน" อีก ในทำนองเดียวกับที่จีนแตกหักกับโซเวียตมาก่อนแล้ว คอมมิวนิสต์ใกล้บ้านเราคือเวียดนามกับกัมพูชาก็กลายมารบกันเอง ความกลัวที่ว่าไทยจะเป็น "โดมิโน" ที่จะต้องล้มต่อไป พลันก็หายไป เมื่อได้เห็นแล้วว่าเวียดนามลาวกัมพูชาหาได้เป็นปึกแผ่น หาได้มีเอกภาพกันมาก เหมือนที่เราเคยคิด แม้จะมีอุดมการณ์สังคมนิยมร่วมกัน แต่ก็มีผลประโยชน์แห่งชาติแห่งรัฐที่แตกต่างกันจนนำไปสู่การแตกหักกันได้ไม่ยาก
เวียดนามบุกเข้ายึดพนมเปญอย่างรวดเร็วปานสายฟ้าแลบ ภายในต้นปี 2522 กำลังทหารอันเกรียงไกรที่รบจนอเมริกาต้องถอนทัพ และเพิ่งชนะศึกรวมประเทศได้หยกๆ ก็รุกประชิดติดชายแดนไทย-เขมร
 
ในภาวการณ์ระหว่างประเทศที่ดูช่าง "แปลกประหลาด" จนพลิกตำราหรือทฤษฎีตามแทบไม่ทันนั้น ไทยก็ดำเนินการต่างประเทศอย่างพริ้วไหวตามได้เช่นกัน ขณะนั้น เป็นที่ทราบกันแล้วว่าอเมริกา ซึ่งเพิ่ง"หนี"ออกจากอินโดจีนย่อมไม่มีวันหวนกลับมาช่วยไทยอย่างแน่นอน ไทยจีงจำต้องเสี่ยงและกล้าที่จะจับมือกับ"จีนแดง"ที่เคยเกลียดกลัวมานาน เพื่อตรึงกองกำลังเวียดนามให้หยุดอยู่ที่ชายแดนไทย-เขมรให้ได้
 
ทางการไทยในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็น นายกรัฐมนตรี พล.อ.อ. สิทธิ เศวตศิลา เป็น รมต.ต่างประเทศ และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ์ เป็นหัวคิดในทางยุทธศาสตร์ให้นั้น ยังต่อรองให้จีนเลิกสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท) อันมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ ผลักดันนักศึกษา ที่เข้าไปหลบภัยอยู่ในป่าหลังเกิดกรณี " 6 ตุลาคม 2519" ให้ขัดแย้งและต่อสู้กับแกนนำ พคท ที่เดินตามหลังจีนอย่างไม่มีเงื่อนไข ในที่สุดก็เกิดเหตุการณ์ "ป่าแตก" ซึ่งจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของ พคท และกองกำลังอาวุธของ พคท ทั้งหมดในเขตป่าเขา
 
หากไม่มี 6 ตุลา 19 คิดดูเถิด ก็จะไม่มีนักศึกษาจำนวนหมื่นหนีเข้าป่า พรรคคอมมิวนิสต์อาจจะไม่แพ้ ไม่แตก น่าจะยังอยู่ได้"สบาย" เพราะรัฐบาลเอง แม้จะปราบปรามพวกนี้อย่างหนักมาตั้งแต่ปี 2508 ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเอาชนะได้ ประวัติศาสตร์นั้นบ่อยครั้งมีอะไรใหญ่โตที่เกิดขึ้นโดยตัวแสดงไม่ตั้งใจ เช่นนี้แหละ
 
เวียดนามและเขมรเฮงซำริน-ฮุนเซ็นรบกับเขมรแดงอยู่ตามชายแดนไทย-กัมพูชานานทีเดียว และหากโซเวียตไม่ถอยออกจากอัฟกานิสถาน และค่ายโซเวียตในยุโรปตะวันออกไม่ล้มครืนลงในช่วงปี 1989-1991 แล้ว ก็ไม่แน่ว่าเวียดนามจะถอนทัพกลับประเทศหรือไม่
 
โลกเปลี่ยนไปอย่างที่ไม่มีใครทำนายถูก จู่ๆ ค่ายคอมมิวนิสต์ที่มีโซเวียตเป็นผู้นำก็ล้มลงเอง แตกจากภายในครับ ทฤษฎี "โดมิโน"ล้มตามๆ กัน ก็มาพิสูจน์ว่า "เป็นจริง" ในค่ายนี้เอง หาได้ล้มในค่าย "เสรี" ตามที่คนในค่ายนี้กลัวกันไม่ บรรดาคอมมิวนิสต์ยุโรปตะวันออก ต่างหากที่ล้มตามกัน ประเทศแล้วประเทศเล่า และในที่สุดโซเวียตหัวหน้าใหญ่ก็ล้มเอง
โลกหลังตุลาคม 16-19 นั้น น่าสังเกตมันเต็มไปด้วยความแปลกประหลาด ความน่าพิศวงงงงวย
 
หนึ่ง ค่ายใหญ่นำโดยโซเวียตล้มลงไปเอง 
 
สอง เวียดนามที่น่าสพรึงกลัว ถอยทัพออกจากเขมร กลับไปเอง 
 
สาม จีนแผ่นดินใหญ่ ชาติใหญ่ใกล้บ้าน จากที่เคยเป็น "ศัตรูร้าย" กลับกลายเป็นเพื่อนมิตรที่สำคัญ สำคัญไม่ด้อยไปกว่าอเมริกา 
 
สี่ การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในชนบทอย่างดุเดือดนองเลือดและกินเวลายาวนาน นำโดย พคท ในสี่ห้าสิบจังหวัด ปิดฉากลงไปเอง
 
แน่นอนคำว่า "เอง" ที่เอ่ยมาบ่อยๆนั้นไม่ได้ "เอง" ร้อยเปอร์เซนต์ แต่มันก็ "เอง"เอามากๆ มากกว่าที่ใครทั้งโลกจะเตรียมความคิดทัน
 
ด้วยโลกที่พลิกผันเช่นนี้ ที่สุด บรรดานักศึกษาจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ก็พากันกลับคืนเข้าสู่สังคมไทย หรือสังคมไทยก็รับพวกเขามากลมกลืนกับชนหมู่ใหญ่อีกครั้ง และชาวนาจำนวนมากอันเป็นกระดูกสันหลังของแท้ของพคท ที่เข้าป่าจับปืน บัดนี้วางปืน กลับลงมาสู่บ้านเรือนและไร่นา
 
"สงครามกลางเมือง" ที่กินเวลานานตั้งแต่ปี 2508-2525 จบลงด้วยดี น้อยนักที่จะมีสันติสุขเช่นนี้เกิดได้ในประเทศอื่น หลังจากสงครามอันขมขื่น กล่าวได้ไหมครับว่าศักยภาพที่จะปรองดองสมานฉันท์ของไทยนั้น "สูง" หลายคนหลายพวก ยังขมขื่นและเจ็บปวด แต่ส่วนใหญ่ "คนออกจากป่า" ได้กลับมาเป็นพลังสำคัญ ในด้านต่างๆ ในฝ่ายต่างๆ ในงานต่างๆ ของประเทศ ได้ดีทีเดียว
 
โลกหลังตุลาคม 16-19 ยังคลี่คลายไปอย่างคาดเดาล่วงหน้ายากต่อไปอีก จากปี 2534 ที่โซเวียตล่ม เราดูจะ "แน่ใจ" เป็นครั้งแรกว่าค่ายเสรีอันเป็นค่าย "ตะวันตก" นำโดยสหรัฐจะต้องครองโลกแต่ฝ่ายเดียวไปอีกนานแสนนานหรืออาจจะตลอดไป แต่ท่านครับ โลกยังแสดงความพิศดารพันลึกต่อไปอีก ความรู้สึก "แน่ใจ" ที่กล่าวมาเมื่อครู่ พลันหาย เมื่อ จีน และอีกหลายประเทศ จากโลก "ตะวันออก" อาทิ อินเดีย เกาหลีใต้ ประเทศรอบอ่าวเปอร์เซีย ตุรกี อิหร่าน แอฟริกาหลายประเทศ บราซิล อาร์เจนตินา และอาเซียนของเราเอง พุ่งทะยาน เติบโตขึ้นมาในทางเศรษฐกิจ อย่างต่อเนื่อง ต่อกันมาหลายทศวรรษ ในขณะท่ีโลก "ตะวันตก" อันรวมไปถึงญี่ปุ่นด้วย ก็หยุดชะงักทางเศรษฐกิจ แทบจะไม่โต หรือ โตช้าลงไปมาก ช่องว่าง หรือระยะห่างทางเศรษฐกิจระหว่าง "ตะวันตก" และ "ตะวันออก" ดูจะน้อยลงไปมาก
 
เมื่อสี่ทศวรรษที่แล้ว ในช่วง "ตุลาคม 2516 - 2519 " นั้น ประเทศไทย และประเทศที่เพิ่งได้เอกราชคืนมาจาก "ตะวันตก" รวมทั้งบรรดาฝรั่ง อดีตเมืองแม่ ล้วนไม่มีใครคิดว่าอีกเพียงสี่สิบปีต่อจากนั้นโลกเราจะเดินมาถึงยุคที่"ตะวันตก"กับ"ตะวันออก"เท่าเทียมกันมากขึ้นขนาดนี้ ขณะนี้ขนาดเศรษฐกิจของจีนเป็นอันดับสองของโลก บราซิลอันดับหก อินเดียอันดับเก้าหรือสิบ รายได้ต่อหัวของผู้คนในฮ่องกง หรือ สิงคโปร์ นั้นไม่น้อยกว่ารายได้ต่อหัวในสหราชอาณาจักร อดีต "เจ้าอาณานิคม" ของพวกเขาแล้ว นี่คือความสำเร็จ ในแง่หนึ่ง ของระบบทุนนิยมโลก ซึ่งขบวนนักศึกษาแห่ง "เดือนตุลาคม"ได้พยายามเปิดโปง วิเคราะห์ วิพากษ์ และ บั่นทอน อีกหล่ะครับ ในประวัติศาสตร์นั้น ความตั้งใจ ความทุ่มเท ในบางครั้ง กลับนำมาสู่ผลที่ไม่คาดคิด
 
จีน ซึ่งในช่วงหนึ่ง ขบวนนักศึกษาไทยชื่นชมว่าเป็นแบบอย่างของสังคมนิยม แต่สี่สิบปีถัดมากลับกลายเป็นแบบอย่างของการสร้างทุนนิยมที่เติบโตรวดเร็วมาก เศรษฐกิจจีนไม่ใช่สังคมนิยมอีกแล้ว แต่ก็ไม่ใช่เศรษฐกิจทุนนิยม เป็นลูกผสม ที่สำเร็จเพราะคิดผสมทำผสม คิดเองไม่ใช้ "สูตรสำเร็จ" ใดๆ อย่างที่เคยมีมาใช้มา และจีนปัจจุบันก็ ย้ำที่จะไม่เสนอว่า "สูตร" ของตนจะใช้สำเร็จทุกที่ ไม่คิดว่าสูตรของตนควรที่คนอื่นในโลกจะลอกไปใช้ได้ อย่างไม่ลืมหูลืมตา จีนนั้นโดยเนื้อแท้แล้วเป็นพวก "ปฏิบัตินิยม" ไม่ใช่พวก "ลัทธิคัมภีร์" อย่าง แน่นอน
 
ขบวนการเดือนตุลาคม 2516-2519 นั้น เต็มไปด้วยพลัง เปี่ยมด้วยความรักต่อบ้านเมือง และประชาชนผู้ทุกข์ทน มีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในแนวคิดและอุดมการณ์ ต่อต้านทหารและเผด็จการ ต่อต้านสหรัฐ สนับสนุนจีน และโลกที่สาม มีแนวโน้มจะเห็นไทยและโลกเกือบจะเหมือนเดิมตลอดไม่เปลี่ยน เปลี่ยนช้า ไม่เปลี่ยนไปตามทางที่ "ถูกต้อง" ตามที่ตนคิด จนถึงวันนี้ส่วนหนึ่งก็ยังมี "สูตรสำเร็จ" ในการมองไทยมองโลก แต่โลก"พิสูจน์" ให้เราเห็นแล้วว่าไม่มี "สูตรสำเร็จ" โลกไม่ได้หยุดนิ่ง หากเปลี่ยน เปลี่ยนเร็วมาก ไปในทางที่ไม่มี "สูตรสำเร็จ" ใดๆ จะคาดได้ ถ้าจะเปลี่ยนช้าก็คือไม่เป็นไปในทางที่เราคิดอยู่นั่นแหละ ช้าเหลือเกินที่จะเดินตามทางที่เราคิด
 
และนี่ก็คือบทเรียนที่ผมสรุปได้จากสี่ทศววรษของชีวิตตน ชีวิตของประเทศ และชีวิตของโลก ทุกวันนี้ผมเองไม่คิดจะเอา "ชนะ" อะไร ที่ชัดเจน ที่ "สำเร็จรูป" อีกแล้ว ได้ประจักษ์แล้วว่าโลกและประเทศมันเป็นของมันเช่นนั้นเอง มันเดินมันวิ่งไปอย่างนั้นเอง เราคิดเอาเองไม่ได้ ใช้ "สูตรสำเร็จ" ไม่ได้ แต่ความมุ่งมั่นปรารถนาดีและรักบ้านเมืองทุ่มเทให้ประชาชนนั้น อย่างชาวตุลาคม 16-19 นั้น คงยังรักษาเอาไว้ครับ อย่างมั่นคง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท