คุกหญิง: เพราะพวกเธอคือ ‘ผู้หญิงไม่ดี’?

เยือนแดนหญิง ชีวิตที่อยู่อย่างแออัด เมื่อพวกเธอถูกกดทับจากความเชื่อ วัฒนธรรม และความรุนแรงเชิงโครงสร้างในสังคม แม้แต่คำพิพากษายังมองความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องปกติ บางรายยอมติดคุกแทนคนในครอบครัว นักวิชาการระบุเป็นวิธีคิดแบบยอมจำนน

ณ เรือนจำพิเศษพัทยา ผมเดินผ่านชั้นของการรักษาความปลอดภัยที่หมายถึงประตูเหล็กทึบๆ กับลูกกรงเหล็กสีเขียวเข้าไปทีละชั้นๆ เก็บของมีค่าและโทรศัพท์มือถือไว้ในล็อกเกอร์ของเจ้าหน้าที่ ก่อนจะก้าวผ่านประตูบานสุดท้ายที่กั้นระหว่างโลกนอกกำแพงกับโลกในกำแพงออกจากกัน

เรือนจำพิเศษพัทยา ข้อมูล ณ วันที่ 27 กรกฎาคม 2559 มีผู้ต้องขังทั้งสิ้น แบ่งเป็นชาย 3,794 คน และหญิง 653 คน ผู้ต้องขังหญิงถูกแยกออกไปอยู่ในแดนหญิงเล็กๆ ที่นี่ไม่มีเรือนจำสำหรับผู้ต้องขังหญิงโดยเฉพาะ พวกเธอทั้ง 653 คน ต้องอยู่อาศัยร่วมกันในพื้นที่ 2 ไร่ 3 งาน 41 ตารางวา ล้อมรอบด้วยกำแพงคอนกรีตสูงกับลวดหนามบนส่วนยอดของกำแพง

ตอนที่ผมเข้าไปพร้อมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) บริเวณทางเข้าแดนหญิง ผู้ต้องขังจำนวนหนึ่งกำลังฝึกหัดทำอาหาร ใกล้ๆ กันกำลังฝึกทำขนมปังและคุกกี้ ติดกันนั้นเป็นศูนย์สำหรับแม่ลูกอ่อนหรือผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์ ดูเหมือนสภาพของชีวิตในคุกจะไม่เลวร้ายเกินทน

ในงานศึกษาด้านมานุษยวิทยาของสายพิณ ศุพุทธมงคล เรื่อง ‘คุกกับคน อำนาจและการต่อต้านขัดขืน’ (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ปี 2545) ผู้ต้องขังหญิงในทัณฑสถานหญิงกลางพูดถึงความยุ่งยากลำบากลำบน ยามที่มีคนจากภายนอกเข้ามาเยี่ยมชม

นารี วันไหนจะมีแขกมาเยี่ยม จะรู้ทันที เพราะทางเรือนจำจะเกิดปรากฏการณ์ผักชีโรยหน้า ระดมคนมาขัดถนน ไม่รู้จะขัดไปทำไม เพราะไม่ได้สกปรกมากมายอะไร เดี๋ยวเข้ามาก็สกปรกอีก ผู้ต้องขังจะต้องรีบทำธุระส่วนตัวให้เสร็จแล้วจะถูกไล่ให้เข้าโรงงานให้เร็วที่สุด เหมือนมีไฟมาลนก้น เวลาส่วนตัวของพวกเราที่มีน้อยอยู่แล้วยิ่งมีน้อยไปอีก คนที่นี่เกลียดการเยี่ยมชม จะมาทำไมกันนักหนา ทำไมไม่มาอยู่เสียเลยล่ะ

เปรม แขกมาไม่ดี เพราะจะวุ่นวายมากเลยค่ะ บางทีมาเวลาที่เราต้องทานข้าวก็ไปทานข้าวไม่ได้ ต้องรอให้แขกออกก่อน พอแขกออกแล้วต้องรีบวิ่งไปเข้าคิวไปแย่งซื้อของ ได้อะไรมาก็ต้องรีบทาน แล้วกลับไปทำงาน ถ้าเขามาตรงตามเวลาที่กำหนดก็ดี แต่ส่วนมากจะมาไม่ตรงเวลา พอแขกมาเราจะออกจากโรงงานไม่ได้ แขกจะชมว่าที่นี่เรียบร้อย สะอาด ผู้ต้องขังก็นั่งกันเรียบร้อย จริงๆ แล้วเป็นผักชีโรยหย้า เราต้องโดนบังคับ ถ้าไม่เรียบร้อยก็จะโดนหัวหน้าว่าไม่ให้ความร่วมมือ พอแขกไปถ้าหัวหน้าถูกตำหนิ เขาก็จะมาด่าพวกเรา’

"และเคยมีเรื่องกัน ทุบตีกันเสมอๆ ก็ไม่ปรากฏว่านายฉิ่งได้เคยทำอันตรายแก่จำเลยถึงขนาดรุนแรงหรือมากมายอย่างใด ทั้งขณะนั้นภายในห้องก็มีบุตรสาวของจำเลยอยู่เป็นเพื่อนอยู่ด้วย จำเลยน่าจะทราบดีว่าแม้นายฉิ่งตามเข้าไปได้ ก็คงไม่เป็นอันตรายแก่จำเลยยิ่งไปกว่าที่เคยๆ กันมา"

เมื่อเดินต่อขึ้นไปบนชั้น 2 ของเรือนนอนที่ว่างเปล่า มองลงมาด้านล่างอีกทิศทางหนึ่ง ผมเห็นนักโทษหญิงกลุ่มใหญ่นั่งรออยู่ใต้อาคารห่างออกไปอีกด้านหนึ่งของแดนหญิง

...............

จะเรียกสถานที่ที่พวกเธอใช้พักนอนว่าห้องขังหรือคำที่เบาลงมาอย่างเรือนนอนก็ตาม ลูกกรงเหล็กสีเขียวก็ไม่ได้ดูเป็นมิตรมากขึ้น ด้านข้างประตูเรือนนอน มีปึกเอกสารแขวนติดกับซี่ลูกกรงเหล็ก บอกชื่อผู้ต้องขัง ข้อหา จำนวนโทษที่ต้องรับ และตำแหน่งที่นอนของผู้ต้องขังแต่ละคน สองฝั่งตามแนวยาวของห้องมีการต่อเติมเพื่อให้มีพื้นที่นอนมากขึ้น เรียกว่าเป็นเรือนนอนที่มีเตียงสองชั้น ทั้งบนพื้นของเรือนนอนและบนเตียงชั้นสองมีผ้าห่มสีน้ำเงินพับเรียบร้อยวางเรียงอย่างเป็นระเบียบกินพื้นที่ของเรือนนอนไปไม่น้อย หนึ่งผืนสำหรับผู้ต้องขังหนึ่งคน ผมกะขนาดกว้างยาวของห้องไม่ถูกจึงถามเจ้าหน้าที่เรือนจำ เธอตอบมาว่า 8 คูณ 6 เมตร กับอีกขนาดคือ 6 คูณ 4 เมตร โดยห้องขนาดแรกเป็นที่หลับที่นอนของผู้หญิง 80 คน และ 54 คนสำหรับห้องที่เล็กลงมา

ใช่, เป็นที่หลับที่นอนของผู้หญิง 80 คน และ 54 คนสำหรับห้องที่เล็กลงมา

ชาติชาย สุทธิกลม อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ปัจจุบันเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ บอกว่าการต่อเติมนี้ช่วยให้มีพื้นที่การนอนเพิ่มขึ้น

หน้าประตูเรือนนอนมีพัดลมขนาดใหญ่ตั้งอยู่ ผู้คุมเล่าว่าใช้เปิดตอนกลางคืนให้อากาศระบายและไล่ยุง ก่อนนี้เคยใช้มุ้งลวด แต่พบว่ามันสร้างปัญหาเรื่องความร้อนและหายใจไม่ออกมากกว่าจะช่วยป้องกันยุง

...............

กระทำผิดกฎหมาย ศาลพิพากษาจำคุก เป็นรูปแบบที่เข้าใจได้ทั่วไปที่ผลักให้คนคนหนึ่งเข้าคุก หรือคำอธิบายที่มีมิติความซับซ้อนเพิ่มขึ้น เช่น ความยากจน การถูกบีบคั้นจากสถานการณ์ต่างๆ เป็นต้น แต่นั่นก็อาจยังไปไม่ถึงปมเงื่อนที่อยู่ลึกกว่า โดยเฉพาะในกรณีของ ‘ผู้หญิง’

ยังมีวัฒนธรรม ความเชื่อ ค่านิยม ความคาดหวังของสังคมต่อตัวผู้หญิง ที่สร้างแรงกดทับต่อพวกเธอที่แฝงฝังอยู่ในสังคมไทย หนักหน่วงและมองเห็นได้ยากกว่า ยากชนิดที่ตัวผู้หญิงเองก็ไม่รู้ และยินยอมให้ถูกกระทำ บางทีความรุนแรงที่กระทำต่อผู้หญิงก็แฝงอยู่ในกฎหมายที่สะท้อนผ่านแนวทางคำพิพากษา สุดท้ายแล้วพวกเธอก็กลายเป็นเหยื่อของโครงสร้างนี้โดยไม่รู้ตัว

งานศึกษาเรื่อง ‘เพศวิถีในคำพิพากษา’ ของสมชาย ปรีชาศิลปะกุล ยกตัวอย่างคำพิพากษาที่สะท้อนความรุนแรงเชิงกายภาพและเชิงวัฒนธรรมที่ซุกซ่อนอยู่ในสังคมไทย กรณีสามีจะทำร้ายภรรยาด้วยไม้หลักแจว แล้วภรรยาหนีเข้าห้อง แต่ฝ่ายชายก็ยังตามเข้าไปจะทำร้ายอีก ฝ่ายหญิงจึงยิงปืนกลับไปหนึ่งนัดและทำให้ฝ่ายชายถึงแก่ความตาย คำพิพากษาฎีกาที่ 1320/2503 ระบุว่า

‘เห็นว่านายฉิ่งมิใช่ใครอื่น แท้จริงก็เป็นสามีของจำเลย (ภรรยา) อยู่กินทราบอัธยาศัยกันมาช้านานแล้ว และเคยมีเรื่องกัน ทุบตีกันเสมอๆ ก็ไม่ปรากฏว่านายฉิ่งได้เคยทำอันตรายแก่จำเลยถึงขนาดรุนแรงหรือมากมายอย่างใด ทั้งขณะนั้นภายในห้องก็มีบุตรสาวของจำเลยอยู่เป็นเพื่อนอยู่ด้วย จำเลยน่าจะทราบดีว่าแม้นายฉิ่งตามเข้าไปได้ ก็คงไม่เป็นอันตรายแก่จำเลยยิ่งไปกว่าที่เคยๆ กันมา จำเลยใช้วิธีป้องกันตัวโดยหมายเอาชีวิตนายฉิ่งเช่นนี้ ราวกับว่ามิใช่ภรรยานายฉิ่งและหนักไปมาก จึงต้องนับว่าเป็นการป้องกันตัวเกินสมควรแก่เหตุ’

หรืออีกกรณีหนึ่ง ในคำพิพากษาฎีกาที่ 8228/2543 ระบุว่า

‘ผู้ตาย (สามี) กับจำเลย (ภรรยา) อยู่กินฉันสามีภริยากันมาเป็นเวลานานเกือบ 30 ปี มีบุตรด้วยกัน 5 คน ย่อมมีความสัมพันธ์รักใคร่ผูกพันซึ่งกันและกัน แม้ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายจะมีปากเสียงทะเลาะกันบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดาระหว่างสามีภริยา เหตุที่จำเลยใช้เคียวฟันผู้ตายก็เนื่องจากถูกผู้ตายถีบและเตะซึ่งถือเป็นเหตุเล็กน้อย เนื่องจากผู้ตายกับจำเลยเคยทะเลาะและมีปากเสียงกันบ่อยครั้ง กรณีไม่ใช่เหตุร้ายแรงถึงขนาดที่จะต้องฆ่ากัน เห็นได้จากจำเลยฟันผู้ตายเพียงครั้งเดียว ไม่ได้ฟันผู้ตายซ้ำทั้งที่สามารถทำได้ และเมื่อได้พิจารณาบาดแผลของผู้ตายซึ่งมีความกว้างเพียง 1 เซนติเมตรลึกประมาณ 3 เซนติเมตร แล้วเห็นว่าค่อนข้างเล็กทั้งที่ลำคอเป็นอวัยวะที่อ่อนนุ่มแสดงว่าจำเลยฟันผู้ตายไม่แรงนัก การที่จำเลยใช้เคียวฟันออกไปก็เพื่อจะป้องกันไม่ให้ผู้ตายเข้ามาทำร้ายจำเลยอีกเท่านั้น... การกระทำของจำเลยจึงเป็นเพียงความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนาเท่านั้น

‘แม้ผู้ตายกับจำเลยจะเป็นสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ผู้ตายก็ไม่มีอำนาจโดยชอบธรรมที่จะเตะถีบทำร้ายร่างกายและข่มขู่จะฆ่าจำเลยได้โดยเฉพาเหตุคดีนี้ผู้ตายเป็นฝ่ายก่อขึ้นก่อน กรณีถือได้ว่าเป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะป้องกันตนเองได้ การที่จำเลยใช้เคียวฟันผู้ตายไป 1 ครั้ง ก็เพื่อจะยับยั้งมิให้ผู้ตายทำร้ายร่างกายจำเลยอีก เพราะภยันตรายอันเกิดจากการกระทำของผู้ตายยังไม่สิ้นสุดลง จึงเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากภยันตรายดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม ขณะเกิดเหตุผู้ตายเพียงแต่ถีบเตะจำเลยโดยไม่มีอาวุธอะไร ทั้งจำเลยได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย แม้จำเลยอ้างว่าผู้ตายขู่จะฆ่าจำเลยด้วยก็เป็นเรื่องข่มขู่กันระหว่างสามีภริยา ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องจริงจังอะไร จึงมิใช่ภยันตรายที่ร้ายแรงอย่างมาก การที่จำเลยใช้เคียวเป็นอาวุธฟันถูกที่ลำคอผู้ตายแม้จะไม่มีเจตนาฆ่าดังได้วินิจฉัยมา คงมีเจตนาเพียงทำร้ายเพื่อไม่ให้ผู้ตายเข้ามาทำร้ายจำเลยอีก ก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนาเพื่อป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ’

คำพิพากษาที่ยกมานี้สะท้อนความรุนแรงต่อผู้หญิงที่ฝังลึกอยู่ในสังคมไทย เพราะแม้แต่ศาลเองก็มีมุมมองว่า การที่สามีใช้ความรุนแรงต่อฝ่ายหญิงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่าง ‘ต่อเนื่อง’ ‘สม่ำเสมอ’ และ ‘ปกติธรรมดา’...

อยู่กินทราบอัธยาศัยกันมาช้านานแล้ว และเคยมีเรื่องกัน ทุบตีกันเสมอๆ ก็ไม่ปรากฏว่านายฉิ่งได้เคยทำอันตรายแก่จำเลยถึงขนาดรุนแรงหรือมากมายอย่างใด’ หรือ ‘แม้ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายจะมีปากเสียงทะเลาะกันบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดาระหว่างสามีภริยา เหตุที่จำเลยใช้เคียวฟันผู้ตายก็เนื่องจากถูกผู้ตายถีบและเตะซึ่งถือเป็นเหตุเล็กน้อย

สมชาย ยังตั้งข้อสังเกตไว้ในงานศึกษานี้อีกว่า การป้องกันตัวของฝ่ายหญิงพบว่า ต้องมีการใช้อาวุธเป็นเครื่องมือ นั่นก็เพราะโดยสรีระร่างกายของผู้หญิงเสียเปรียบฝ่ายชาย จึงยากที่จะป้องกันตัวได้ด้วยมือเปล่า แต่เมื่อมีการใช้อาวุธก็มีแนวโน้มว่าศาลจะตัดสินว่าเป็นการป้องกันตัวเกินสมควรแก่เหตุ เมื่อบวกกับทัศนะที่ว่าการใช้ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องปกติธรรมดาด้วยแล้ว การใช้อาวุธของฝ่ายหญิง ไม่ว่าจะทำให้ผู้เป็นสามีเสียชีวิตและบาดเจ็บ ก็ล้วนแต่เกินความสมควรแก่เหตุหรืออาจเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา

...............

บางเรื่องราวของแพร (นามสมมติ) ผู้ต้องขังในเรือนแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ เธอเล่าถึงชีวิตตัวเองก่อนจะถูกคุมขังว่า เธอเคยมีสามีที่มีความต้องการมีเพศสัมพันธ์กับเธอบ่อยครั้ง จนเธอทนไม่ไหว ยิ่งเมื่อเธอมีลูก มีงานที่ต้อรับผิดชอบ ความต้องการทางเพศของเธอก็ยิ่งลดลง ทำให้สามีของเธอไม่พอใจจึงนำเรื่องนี้ไปพูดกับแม่ของแพรและแม่ของเธอก็มาคุยกับเธอ ความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานทำให้แพรหลับลึกขนาดที่ถูกสามีตัวเองลักหลับก็ยังไม่รู้สึกตัว กระทั่งเธอตื่นและรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นขณะหลับ ความรู้สึกขยะแขยง ความหวาดระแวงในตัวสามีก็เกิดขึ้น เธอถูกสามีใช้ความรุนแรง ถูกให้เอามีดจี้ขอเพื่อให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย จนเธอต้องหนี หลังจากเธอมีสามีใหม่ เธอกลับต้องเผชิญกับเหตุการณ์ทำนองนี้อีก ก่อนที่เธอต้องโทษในคดียาเสพติด สามีของเธอมีอายุน้อยกว่าและเธอก็มีความสุขกว่า

“มีกรณีหนึ่งคือรับผิดชอบแทนลูกหรือหลาน อย่างยายคนหนึ่งถูกจับ แกก็คิดว่าไหนๆ ก็ถูกจับมาแล้ว แกก็เลยไม่ให้การใส่ร้ายหลานแก หรือว่ากรณีผู้หญิงม้งคนหนึ่งติดคุกแทนสามี เป็นชาวม้งที่ขายยาเสพติด เนื่องจากว่าผู้หญิงไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นตัวหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว เพราะฉะนั้นถ้าตัวเองรับผิดได้ก็จะรับแทน"

แต่นั่นต้องแลกมาด้วยการพิพากษาตัดสินจากสังคมว่าเธอเป็นผู้หญิงไม่ดี มักมากในกามารมณ์ ทิ้งลูกไปมีผัวเด็ก แม้แต่ญาติของเธอก็คิดเช่นนั้น โดยที่ไม่มีใครรับรู้ว่าอะไรคือแรงบีบคั้นชีวิตเธอให้ต้องเลือกหนทางนี้ เธอพูดว่า

“เรามองว่าตัวเองเป็นคนเลวมาตลอด ทำไมเลวได้ขนาดนี้”

เรื่องราวของแพท (นามสมมติ) ยิ่งชัดเจนขึ้น เธออยู่ในเรือนจำเดียวกันกับแพร เธอเล่าสั้นๆ ว่า สามีของเธอถูกจับในคดียาเสพติด ตัวเธอขณะนั้นไม่ได้อยู่ขบวนการแต่อย่างใด แต่ด้วยความรู้สึกที่ต้องการให้สามีและพ่อของลูกได้รับการประกันตัว ลูกพี่ของสามีเธอจึงให้เธอขนยาเพื่อนำเงินค่าจ้างไปใช้ประกันตัวสามีของเธอ ทว่า เรื่องนี้ลงเอยที่เธอถูกจับอีกคนหนึ่ง

“เราถูกสอนว่าเป็นผู้หญิง ต้องยอม” เป็นคำที่แพทเอ่ยออกมา

กฤตยา อาชวนิจกุล จากโครงการขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูประบบเรือนจำผู้ต้องขังหญิงและกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง สมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าเรื่องราวเส้นทางของผู้ต้องขังหญิงซึ่งสะท้อนภาพโครงสร้างที่กดทับผู้หญิงว่า

“มีกรณีหนึ่งคือรับผิดชอบแทนลูกหรือหลาน อย่างยายคนหนึ่งถูกจับ แกก็คิดว่าไหนๆ ก็ถูกจับมาแล้ว แกก็เลยไม่ให้การใส่ร้ายหลานแก หรือว่ากรณีผู้หญิงม้งคนหนึ่งติดคุกแทนสามี เป็นชาวม้งที่ขายยาเสพติด เนื่องจากว่าผู้หญิงไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นตัวหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว เพราะฉะนั้นถ้าตัวเองรับผิดได้ก็จะรับแทน

“ประเด็นที่สอง ผู้หญิงมองว่าความเป็นผู้หญิงอาจจะได้อนุโลม ได้การลดหย่อน หรือได้การปฏิบัติที่ดีกว่าในกระบวนการยุติธรรมต่างๆ ดิฉันเข้าใจว่าน่าจะเป็นสองแนวคิดนี้ ซึ่งมันเป็นวิธีคิดแบบยอมจำนนของวิธีคิดแบบผู้หญิงไทย เราไม่แน่ใจว่าสังคมอื่นเป็นอย่างนี้หรือไม่ เพราะเรามีคดีที่ผู้หญิงเลือกที่จะไม่ให้การ เพื่อกันลูกและผัวตัวเองออกไป แต่เราพบกรณีที่ผู้ชายถ้ามีข้อต่อรองก็พร้อมที่จะให้การเพื่อจะดึงเอาเมียของตัวเองมาติตะรางด้วย มันตรงกันข้ามกัน”

สถิติที่ไม่น่าชื่นชม ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสัดส่วนของผู้ต้องขังหญิงต่อผู้ต้องขังทั้งหมดและอัตราผู้ต้องขังหญิงต่อประชากรแสนคน มากที่สุดในโลก สิ่งนี้บีบคั้นให้ชีวิตพวกเธอ-คนผิด ผู้หญิงไม่ดี ผู้ร้าย หรือคำใดๆ ที่สังคมตีตรา ต้องอยู่อย่างยากลำบาก เนื่องจากสภาพแออัดและทางเรือนจำไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะดูแลพวกเธอ ให้อย่างน้อยได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานจำเป็นต่างๆ ที่มนุษย์-ที่แม้จะเป็นคนทำผิดกฎหมาย-พึงได้รับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท