ส่งตัว 5 คนถูกจับย่านรามฯ ลงปัตตานี หลังใช้กฎอัยการศึกควบคุมต่อ

ส่งตัว 5 คนที่ถูกกว่ากวาดจับจากย่านรามคำแหง ไปยังค่ายอิงคยุทธ จ.ปัตตานี หลังมีการขอใช้อำนาจกฎอัยการศึกควบคุมตัวต่อ – มูลนิธิผสานวัฒนธรรมแถลงให้ปล่อยอย่างไม่มีเงื่อนไข มิเช่นนั้นต้องแจ้งข้อกล่าวหาตามกระบวนการยุติธรรม

18 ต.ค. 2559  พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยืนยันว่ามีการส่งตัวผู้ถูกควบคุมตัว 5 คน จากการกวาดจับที่บริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหง ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี โดยการควบคุมตัวดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก  หลังจากที่มีการใช้อำนาจการควบคุมตัว 7 วัน ตามมาตรา 44 โดยครบกำหนดแล้ว (อ่านข่าวเพิ่มเติม) โดยการเคลื่อนย้ายด้วยรถตู้ เมื่อคืนวาน (17 ต.ค.) จากมณฑลทหารบกที่ 11 ไม่ทราบเวลาที่แน่ชัด แต่ผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมดถึงที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร เวลาประมาณ 15.30 น. ขณะนี้ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ประสานงานกับศูนย์ทนายความมุสลิมเพื่อดำเนินการด้านความช่วยเหลือทางกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้พรเพ็ญยังกล่าวว่า จากรายงานที่ตนทราบมาพบว่ายังมีผู้ถูกควบคุมตัวอีกหนึ่งคนยังอยู่ภายใน มทบ.11 ทราบเบื้องต้นว่าชื่อ นายปรีชา ยังไม่ทราบนามสกุล ขณะนี้ทางมูลนิธิกำลังประสานงานเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม

อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า สิ่งที่ตนกังวลคือเรื่องการควบคุมด้านความมั่นคงก็ต้องเป็นไปควบคู่กับการดูแลสิทธิความเป็นมนุษย์ กสม. เน้นย้ำคือสิทธิขั้นพื้นฐานของคน สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม สิทธิที่ญาติจะได้เยี่ยม ซึ่งกรณีนี้ กสม. ก็จะเข้าช่วยเหลือหากญาติของผู้ถูกคุมขังไม่ได้รับความเป็นธรรมในการเข้าเยี่ยม ซึ่งในการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ คสช. ก็เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ และก็ได้รับการยืนยันว่าหลังจากกระบวนการซักถามหากพบว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคง ก็จะมีการปล่อยตัว

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยทั้ง 5 คน โดยไม่มีเงื่อนไข หรือตั้งข้อหา-ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยทั้ง 5 คน โดยทันที เนื่องจากการควบคุมตัวต้องเป็นตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น หรือแม้จะอ้างตาม มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็ต้องมีการแจ้งสถานที่ควบคุมตัว หรืออนุญาตให้ทนายเข้าเยี่ยมตามหลักสิทธิมนุษยชน ขณะนี้ครบกำหนดการควบคุมตัวตามคำสั่ง คสช. 7 วันแล้ว จำเป็นต้องมีการปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมโดยทันที มิเช่นนั้นต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหาอย่างเป็นทางการและได้สิทธิครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติ และเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม

ทั้งนี้บางส่วนในแถลงการณ์ยังกล่าวว่า เหตุการณ์การจับกุมดังกล่าวยังสร้างความกังวลของญาติพี่น้องและประชาชนทั่วไปในจังหวัดชายแดนใต้ให้เกิดความหวาดกลัวว่าการปฏิบัติการแบบเหวี่ยงแหของเจ้าหน้าที่อาจสะท้อนถึงทัศนคติด้านลบและการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อประชาชนจากจังหวัดชายแดนใต้

เรียกร้องให้ปล่อยตัวบุคคล 5 คนจากการควบคุมตัวโดยพลการโดยทันที กรณีการตรวจค้นจับกุมประชาชนจากจังหวัดชายแดนใต้ในกรุงเทพแล้วส่งตัวไปควบคุมตัวต่อที่ปัตตานี

18 October, 2016 by voicefromthais

เผยแพร่วันที่ 18 ตุลาคม 2559

นับแต่วันที่ 10-15 ตุลาคม 2559 เจ้าหน้าที่สนธิกำลังพร้อมอาวุธสงครามได้เข้า ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม ควบคุมตัวจากห้องพักในบริเวณถนนรามคำแหง  โดยได้จับกุมบุคคลที่มีภูมิลำเนาจากจังหวัดชายแดนใต้ไปคุมขังในสถานที่ต่างๆ จำนวนทั้งสิ้นรวม 44 ราย เป็นหญิง 8 คน และชาย 36 คน โดยบางคนมีอายุเพียง 18 ปีเท่านั้น ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอ้างว่าเพื่อเป็นการทำลายแผนการก่อวินาศกรรมในโอกาสครบรอบการสลายการชุมนุมที่ตากใบ ตามนโยบายของรัฐบาลในการเฝ้าระวังภัยด้านความมั่นคง ตามที่ปรากฏภาพและข่าวเผยแพร่เป็นการทั่วไป โดยปรากฏว่ามีการปล่อยตัวกลุ่มบุคคลดังกล่าวไปแล้วจำนวนหนึ่งโดยไม่มีการแจ้งข้อหา  มีการดำเนินคดีข้อหาอื่นและถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพลเรือนจำนวนหนึ่ง  และมีบุคคล 5 คนถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำนครชัยศรี มทบ. 11 ตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ข้อมูลเบื้องต้นในกรณีดังกล่าวพบว่าบุคคลทั้ง 5 ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ที่สถานที่แห่งหนึ่งในบริเวณรามคำแหงเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2559 และต่อมาถูกตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาเกี่ยวข้องกับยาเสพติดประเภทกระท่อมและมีการส่งตัวไปควบคุมตามคำสั่ง 13/2559 ตามอำนาจของคสช.ที่เรือนจำชั่วคราวถนนแขวงนครชัยศรี ตั้งอยู่ในค่าย มทบ. 11 จังหวัดกรุงเทพตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2559 ซึ่งครบกำหนดการควบคุมตัว 7 วันตามคำสั่ง 13/2559 ในวันที่ 17 ตุลาคม แต่กลับพบว่าทางหน่วยงานความมั่นคงไม่ได้ปล่อยตัวบุคคลทั้ง 5 ดังกล่าว

ต่อมาในวันเดียวกันทางโฆษกคสช.ได้ออกมาแถลงยอมรับว่ายังคงมีประชาชนถูกควบคุมตัวบุคคลทั้ง 5 รายต่อไปแต่ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเป็นการใช้กฎหมายใด  และให้เหตุผลว่าการควบคุมตัวต่อนั้นเพื่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้ได้ทำงานภายใต้องค์ประกอบที่สมบูรณ์ก่อน  โดยภายหลังประมาณเวลา 18.30 น. ทางหน่วยงานความมั่นคงอนุญาตให้ญาติของผู้ถูกควบคุมตัวทั้งห้าคนเยี่ยมก่อนส่งตัวกลับไปควบคุมตัวต่อที่ค่ายอิงคยุทธบริหารจังหวัดปัตตานี โดยเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้รับทราบข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่ทหารได้ส่งตัวบุคคลทั้ง 5 คนเดินทางไปควบคุมตัวต่อที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานีโดยเดินทางไปทางรถในเวลากลางคืนของวันที่ 17 ตุลาคม 2559

จากเหตุการณ์การติดตามจับกุมและการควบคุมตัวดังกล่าวนั้นได้นำมาซึ่งความห่วงกังวลของญาติพี่น้องและประชาชนโดยทั่วไปโดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนใต้      เกิดความหวาดกลัวว่าการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในลักษณะเหวี่ยงแหดังกล่าวอาจเป็นการกระทำที่เกินสมควรกว่าเหตุ ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และอาจเป็นการสะท้อนถึงทัศนคติด้านลบและการเลือกปฏิบัติของเจ้าหนน้าที่ต่อประชาชนจากจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งมีรายงานข่าวด้วยว่าตลอดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 10-15 ตุลาคม 2559 ในการควบคุมตัวบุคคลทั้ง 44 คน นั้นเป็นไปโดยพลการ ทั้งหมดไม่มีข้อกล่าวหาใดๆ ไม่มีการแจ้งญาติและบุคคลเกี่ยวถึงสถานที่ควบคุมตัว อีกทั้งเมื่อมีญาติพี่น้องจำนวนหนึ่งเดินทางมาจากจังหวัดชายแดนใต้เพื่อขอเข้าเยี่ยมก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เยี่ยมในวาระแรก

การควบคุมตัวบุคคลย่อมเป็นไปได้โดยมีกฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น แม้ว่าทางราชการจะอ้างการตรวจค้นและจับกุมตัวบุคคลโดยอาศัยอำนาจพิเศษตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดยการควบคุมตัว 7 วันตามคำสั่ง 3/2558 และคำสั่ง 13/2559 ดังกล่าวยังคงต้องเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชนของผู้ถูกควบคุมตัวโดยจะต้องมีการแจ้งสถานที่ควบคุมตัว  การอนุญาตให้ญาติหรือทนายความเยี่ยม รวมทั้งหากมีการเจ็บป่วยหรือการร้องขอให้มีการรักษาพยาบาลควรได้รับการรักษาพยาบาลโดยแพทย์ที่เป็นอิสระโดยทันที  เมื่อครบกำหนดการควบคุมตัวครบกำหนดตามคำสั่งคสช. 7 วันแล้วจำต้องมีการปล่อยตัวบุคคลโดยทันทีมิเช่นนั้นก็ต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหาทางอาญาและนำตัวบุคคลเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย ทั้งนี้หากเป็นการควบคุมตัวตามกฎหมายอาญาบุคคลดังกล่าวต้องได้รับการแจ้งข้อหาและได้รับสิทธิผู้ต้องหาครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติ

การที่ทางเจ้าหน้าที่ ได้อ้างถึงการควบคุมตัวเพื่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้ทำงานภายใต้องค์ประกอบที่สมบูรณ์ก่อนนั้น นับเป็นการอ้างความจำเป็นที่เลื่อนลอยไม่เป็นไปตามหลักการของกฎหมายใดๆ อีกทั้งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงขอเรียกร้องว่า หากรัฐบาลและคสช. ยังคงควบคุมตัวปล่อยตัวบุคคลทั้ง 5 คนโดยทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข หากต้องการนำตัวบุคคลเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจะต้องดำเนินการอย่างเป็นธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา   หากทางกองทัพภาคที่ 4 ได้รับตัวบุคคลไว้ตามการส่งตัวของคสช.ขอให้ปล่อยตัวบุคคลทั้งห้าโดยทันที หากต้องการนำตัวบุคคลเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจะต้องดำเนินการอย่างเป็นธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

วันที่ 18 ตุลาคม 2559

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท