Skip to main content
sharethis

18 ต.ค. 2559 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลรายงานว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม  (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ  และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณารวมกับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. ....  โดยให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล  และนโยบายของรัฐบาล  และให้รับความเห็นของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐไปประกอบการพิจารณาด้วย   แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เว็บไซต์ทำเนียบฯ สรุปไว้ดังนี้

1. กำหนดให้รายได้ทุกประเภทที่เกิดจากการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ทั้งหมด ให้นำส่งเข้าบัญชีกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และให้ ส.ป.ก. มีอำนาจนำเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมาจ่ายเป็นค่าชดเชยที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ค่าตอบแทนที่ดินที่เกษตรกรได้รับกรรมสิทธิ์และใช้จ่ายอื่น ๆ  ได้ 

2.  แก้ไขที่มาของรายได้ที่ ส.ป.ก. ได้รับ ให้ครอบคลุมรายได้ทุกประเภทที่เกิดจากการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ 

3.  แก้ไขวาระของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกรเพิ่มจาก 2 ปี เป็น 4 ปี เพื่อให้การดำเนินงานของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด เป็นไปอย่างต่อเนื่อง

4.  ยกเลิกการห้ามจำหน่ายหรือก่อให้เกิดภาระติดพันใด ๆ ในที่ดิน

5.  เพิ่มให้ ส.ป.ก. มีอำนาจในการจัดซื้อที่ดินนอกเขตปฏิรูปที่ดินได้ โดยไม่ต้องประกาศเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อให้การจัดซื้อที่ดินมาจัดให้กับเกษตรกร  ผู้ไร้ที่ดินทำกินทำได้จำนวนมากและรวดเร็วยิ่งขึ้น 

6.  กำหนดให้มีการจำแนกการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ออกเป็น 3 เขตพื้นที่โดยให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมได้แก่ เขตพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเกษตร เขตพื้นที่ที่สงวนไว้เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันของชุมชน  เขตพื้นที่เพื่อการอื่น นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ และให้อำนาจคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการจำแนก และเปลี่ยนแปลงเขตการใช้ประโยชน์ในที่ดินสำหรับใช้ในการปฏิบัติการงาน  และให้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ได้ เพื่อให้กฎหมายมีความยืดหยุ่น

7. กำหนดวิธีการจัดที่ดินของรัฐโดยการจัดให้แก่เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01)  จนกว่า ส.ป.ก. ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ และเกษตรกรมีความพร้อมในด้านการเงินและมีความประสงค์จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน จึงจัดให้โดยการเช่าซื้อตามความจำนง  นอกจากนี้  ให้ ส.ป.ก. สามารถบริหารจัดการที่ดินที่ได้มาตามพระราชบัญัญัตินี้ทั้งหมด  โดยเรียกเก็บค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ในที่ดินเข้ากองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม  ตามหลักเกณฑ์  วิธีการ  และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

8.  ยกเลิกการแจ้งการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินต่อ ส.ป.ก. เพื่อลดภาระให้แก่ประชาชน

9. ปรับปรุงการยกเว้นค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้กับคู่สัญญาของ ส.ป.ก.โดยให้คู่สัญญาของ ส.ป.ก. ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ด้วย

10. กำหนดให้เจ้าของที่ดินสามารถโอนที่ดินให้ทายาทโดยธรรม  รวมทั้ง สามารถโอนให้แก่ ทบวง การเมือง องค์การของรัฐบาล หรือรัฐวิสาหกิจได้  เพื่อประโยชน์สาธารณะได้โดยไม่ต้องรอให้เสียชีวิตก่อน และยกเลิกการโอนให้สถาบันเกษตรกรนอกนั้นคงเดิม และกำหนดให้มีการควบคุมขนาดเนื้อที่การถือครองที่ดินในรุ่นทายาทผู้รับโอนหรือรับมรดก ในขนาดเนื้อที่ไม่เกินที่กำหนดไว้

11. กำหนดบทควบคุมการใช้ประโยชน์ในที่ดินทั้งก่อนและหลังได้รับกรรมสิทธิ์จากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ยกเลิกบทกำหนดโทษกรณีไม่แจ้งการครอบครองที่ดิน 

อนุมัติ ร่าง พ.ร.บ. สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... 

นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ ดังนี้ 1. อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป 2.  ให้ยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2549 เรื่อง การปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการเสนอร่างกฎหมาย และ 3. ให้ยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559 (เรื่อง การดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองและแผนการเสนอกฎหมายลำดับรอง และการเร่งรัดดำเนินการเสนอกฎหมาย หรือปรับปรุงกฎหมายสำคัญ) และให้ ยธ. เร่งรัดการเสนอแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง และกรอบระยะเวลาของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เว็บไซต์ทำเนียบฯ ได้สรุปไว้ดังนี้                

1. กำหนดให้จัดตั้ง “สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย” มีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐซึ่งไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น

2. กำหนดวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ในการดำเนินงานของสถาบันให้รองรับภารกิจที่ขยายออกไปทั้งด้านเนื้อหาวิชาการ และครอบคลุมให้สามารถดำเนินการได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมของไทยให้มีมาตรฐานระดับสากล

3. กำหนดให้คณะกรรมการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย ประธานกรรมการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ อัยการสูงสุด เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง จำนวน 6 คน

4. กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ในการควบคุมดูแลทั่วไปซึ่งกิจการและการดำเนินการของสถาบันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

5. กำหนดกรอบการดำเนินงานและบริหารจัดการให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคล่องตัว รองรับการปฏิบัติงานในลักษณะกึ่งหน่วยงานระหว่างประเทศได้ โดยมีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้กำกับดูแลในอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

6. กำหนดให้สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554 เป็นสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ถือว่าการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554 เสร็จสิ้นแล้ว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net