Skip to main content
sharethis

ในการประชุมไทยศึกษาในภูมิภาคอีสาน เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2559 ณ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล กล่าวสรุปในช่วงท้ายของงาน โดยได้สะท้อนสะท้อนวิธีคิดว่าด้วยการแสวงหาความรู้โดยเริ่มจากเกริ่นนำเรื่องความเป็นไทยของตนเองว่า “พ่อกับแม่ของผมเป็นคนจีนที่โตมาในสังคมไทยที่ไม่มีความผูกพันกับประเทศจีน เราโตมาในสังคมตามนิยามความเป็นไทยไม่มากนักเพราะคนชั้นล่างในยุคของผมเอื้อมไม่ถึง ภายในหนึ่งชั่วคนผมไปอยู่ในอีกประเทศหนึ่ง ลูกชายและลูกสาวของผมเกิดขึ้นมาในความเป็นไทยขนาดไหน หนึ่งเขาเป็นจีน พอโตมาเราก็ไม่ได้บังคับเขา เขาก็รู้ภาษาไทยเท่าที่เราพูดคุยกันในบ้าน แต่ในด้านหนึ่งเขาเป็นอเมริกา ในประมาณหนึ่งชั่วคนก่อนภาวะที่เราเป็นอยู่มีไม่มากนัก สุดท้ายเรามีกี่สัญชาติกี่วัฒนธรรมผมก็ไม่แน่ใจ รู้แต่ว่า ภาวะที่เราเป็นอยู่ขณะนี้เป็นเรื่องปกติของโลกสมัยใหม่ ไม่ใช่เรื่องประหลาด โลกมันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ประมาณปีที่แล้วผมพบอาจารย์ท่านหนึ่งที่ออสเตรเลีย Peter A. Jackson เขาศึกษาเรื่องเครื่องรางของขลัง พยายามศึกษาเรื่องโลกสมัยใหม่มีความเป็นศาสนาน้อยลง คือลดความศรัทธา (Disenchanted) ต่อมานักมานุษยวิทยาก็ศึกษาเรื่องนี้ พอมาดูเมืองไทยก็อาจจะมีสภาวะแบบนี้ ผมก็แย้งว่าเมืองไทยไม่เคย Disenchanted เพราะมัน Enchanted อยู่ตลอดเวลาเพียงแต่ว่าเปลี่ยนเรื่องราวอยู่ตลอดเวลา”

อาจารย์ตั้งคำถามต่อว่าทั้งหมดนี้เรามีความรู้ในระดับลึกเพื่ออะไร? โดยอธิบายต่อว่า “ผมสนใจว่าความรู้ที่ผมศึกษานี้ เช่นประวัติศาสตร์ เป็นความรู้ที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ในความหมายว่าในแง่การเป็นกลไกในการกำหนดนโยบายให้ประเทศเจริญก้าวหน้าไม่ค่อยได้ เพราะฉะนั้น สังคมไหนจะให้คุณค่าความรู้ในระดับนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละสังคม”

อาจารย์ได้สะท้อนว่า “โดยรวมความรู้มีสองสามแบบ สองสามจุดมุ่งหมาย ในแง่หนึ่งมีประโยชน์ในการสร้างมนุษยชาติให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะในแง่ทำให้สุขภาพดีขึ้น สุขสบายมากขึ้น มีเงินมากขึ้น มีเทคโนโลยีต่างๆ หรือความรู้เชิงนามธรรมจะมีประโยชน์ เช่น ในการกำหนดนโยบายได้ เช่น คนสองสัญชาติที่มีมากขึ้นทำอย่างไร คนข้ามชาติข้ามวัฒนธรรมที่มีมากขึ้นในโลกจนเป็นปกติจะทำอย่างไร ภาวะที่มีความเชื่อแตกต่างมากมาย ทั้งเชื่อได้เชื่อไม่ได้ เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร พวกนี้ต้องมีนโยบายซึ่งสังคมทุกรัฐทุกสังคมต้องจัดการ ความรู้พวกนี้ผมถือว่ามีประโยชน์ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เชิงประยุกต์มีประโยชน์ทั้งสิ้น ความรู้ทางสังคมศาสตร์ในเชิงนโยบายมีประโยชน์ทั้งสิ้น แล้วความรู้ทางวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ล่ะ? Pure Science, Pure Chemistry, Physic รู้ไปเพื่ออะไรที่ว่าโลกมันเกิด Big Bang เป็นต้น? หรือความรู้อีกขั้วหนึ่งเกี่ยวกับศิลปะ ประวัติศาสตร์ เราจะรู้ไปเพื่ออะไร?

"บางคนก็ตอบว่า เราพยายามรู้ให้มากที่สุด สักวันหนึ่งความรู้จะได้สมบูรณ์ บอกได้เลยว่ามันไม่จริง คนที่พูดแบบนี้เพราะเขายังไม่รู้เท่าไหร่ เพราะความรู้ไม่มีทางสมบูรณ์ เมื่อเราศึกษาความรู้ในอดีต เราก็ขยับไปอีกสองปีสามปี ความรู้ไม่มีทางสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นนอกจากความรู้ที่มีประโยชน์ แล้วเราจะมีความรู้ไปเพื่ออะไร?”

“รู้เพื่อต้องการให้คุณคิด”

อาจารย์อธิบายว่า “ความรู้ทั้งหลายที่เรามองว่าไม่มีประโยชน์ มันมีประโยชน์ตรงนี้ (ชี้ไปที่หัว) ความรู้มีไว้เพื่อให้เซลล์สมองโต ยิ่งสังคมไทย เซลล์สมองมันโตช้า เพราะเราถูกสอนให้เชื่อและทำตามที่คนบอก... ความรู้เหล่านี้มีไว้ให้คุณคิด แล้วคุณคิดว่าคุณจะเชื่อ เช่น เรื่องเครื่องราง หรือไม่เชื่อ ก็ตามใจคุณ ขอเพียงว่าคุณต้องคิด กรุณาอย่าเชื่อเพราะอาจารย์บอกว่ามันควรเชื่อ กรุณาไม่เชื่อเพราะอาจารย์บอกว่ามันไม่ควรเชื่อ ให้คิดด้วยตนเองว่าคุณต้องการเชื่อหรือไม่เชื่ออะไร เรียนรู้ให้มากขึ้นแล้วรู้จักคิดสองชั้นสามชั้น คิดสังเคราะห์สองทางสามทาง คุณอยากจะเชื่ออีกด้านก็แล้วแต่ คุณอาจจะเชื่อบวกสองบวกสามจากหลายทาง แล้วรู้จักคิดอย่างรวดเร็ว สมัยก่อนมนุษย์เคยวิ่ง 100 เมตร ภายในเวลา 11 วินาที ทุกวันนี้มนุษย์วิ่ง 100 เมตร ได้ภายในเวลาน้อยกว่า 10 วินาที แล้วทำไมมนุษย์ในปัจจุบันจะคิดซับซ้อนในเวลาอันรวดเร็วมากกว่ามนุษย์ในสมัยก่อนไม่ได้ ทำไมรุ่นอาจารย์ใช้เวลา 3 วินาทีในการวิเคราะห์จาก 3 แหล่ง แล้วรุ่นต่อไปจะคิดวิเคราะห์จาก 5 แหล่งไม่ได้ มันต้องได้

"สุดท้ายความรู้จะเติมเต็มโลกในนี้หรือไม่? มันไม่เต็ม โลกมันหมุนไปเรื่อยๆ เติมให้ตายก็ไม่เต็ม แต่ความรู้ทำให้ความสามารถของเราในการคิดดีขึ้น ซับซ้อนขึ้น

"เพื่ออะไร? เพื่อให้ได้ “ประชากรที่มีคุณภาพที่สุด” ไม่ใช่พลเมืองดีที่เชื่อฟังคนอื่น แต่เป็นประชากรที่รู้จักฟังหูไว้หูแล้วตัดสินใจด้วยตนเอง

"ไม่ใช่ว่าไม่ให้เชื่ออะไรสักอย่าง แน่นอนว่าสุดท้ายมนุษย์ต้องเชื่ออะไรสักอย่าง แต่ต้องรู้จักฟังหูไว้หู ทุกวันนี้เรามีข้อมูลมากมายแต่เราจะรู้จักใช้ข้อมูลอย่างไร เช่น อ่านไปหนึ่งย่อหน้าแล้วรู้ว่าจะต้องอ่านต่อไปไหม หรืออันนี้น่าสนใจควรอ่าน ซึ่งแต่ละคนจะมีการตัดสินใจ (Judgment) ในการใช้ข้อมูลที่ไม่เหมือนกัน เราเรียนรู้สิ่งที่หลายคนบอกว่าไม่มีประโยชน์เหล่านี้ สุดท้ายมันฝึกให้เรารู้จักคิดๆๆ ไปเรื่อยๆ การคิดไปเรื่อยๆ นอกจากจะไม่เป็นอัลไซเมอร์ตอนแก่แล้ว การคิดจะช่วยให้เรามีวิจารณญาณที่เร็วมากในการรับข้อมูล และจะช่วยในการตัดสินใจในชีวิตปกติว่า อันนี้เรื่องเล็ก อันนี้เรื่องสำคัญ อันนี้เรื่องไม่สำคัญ อันนี้เชื่อได้เชื่อไม่ได้ เป็นต้น

"การคิดจะช่วยให้มีวิจารณญาณในการรับข้อมูล สังคมที่ประชากรมีคุณภาพแบบนี้ คือสิ่งที่มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ต้องการ”

 

 


* ปิ่นวดี ศรีสุพรรณ เป็นอาจารย์สาขาสังคมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net