Skip to main content
sharethis

'บอร์ดค่าจ้าง' จ่อเสนอครม.ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 4 กลุ่มจังหวัด ตั้งแต่ 'ไม่ขึ้น' ถึง 10 บ. ด้าน 'สมานฉันท์แรงงาน' ค้านมติบอร์ดค่าจ้าง ชี้ปรับขึ้นไม่สอดคล้องค่ากินค่าอยู่ วอนรัฐบาลทบทวน ก.แรงงานมั่นใจปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนี้สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาล

20 ต.ค. 2559 จากกรณีที่วานนี้ ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 19 ครั้งที่ 9/2559 ว่า คณะกรรมการค่าจ้างได้ประชุมพิจารณาการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2560 โดยใช้สูตรการคำนวณใหม่ ซึ่งเพิ่มปัจจัยชี้วัดทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมกว่า 10 รายการ โดยได้แบ่งค่าจ้างเป็น 4 กลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มที่ไม่ขึ้นเลย จนถึงขึ้น 10 บาท ซึ่งจะนำผลสรุปของคณะกรรมการค่าจ้างเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนจะประกาศบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2560 ต่อไป (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) นั้น

วันนี้ (20 ต.ค.59) มติชนออนไลน์ รายงานว่า ชาลี ลอยสูง รักษาการประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงผลการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ ของคณะกรรมการค่าจ้างว่า ทาง คสรท.และพี่น้องแรงงานต่างไม่พอใจ เพราะผลที่ออกมาทำให้เสียความรู้สึก เนื่องจาก 1.มีจังหวัดที่ไม่ได้ปรับค่าจ้าง หนำซ้ำจังหวัดที่ได้ปรับสูงสุดเพียง 10 บาท ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน และจังหวัดที่ไม่ปรับก็หนักไปอยู่ทางภาคใต้ ความจริงไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะภาคใต้มีความเป็นอยู่ลำบาก ไม่ควรไปกดค่าจ้าง ไม่เพิ่มเลย

“รัฐบาลบอกว่าจะพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และจะเอาเศรษฐกิจไปลงสามจังหวัดภาคใต้ แต่กลับไม่เพิ่มค่าแรงให้คนในจังหวัด แสดงว่าจะทำให้เป็นจังหวัดที่มีค่าแรงต่ำสุดหรือไม่อย่างไร  แบบนี้มองได้หลายมุม เราจึงสงสัยว่าทำไมไม่ปรับให้เท่ากันทั่วประเทศ หากจะปรับ 10 บาท ก็ควรทุกจังหวัดเท่ากันก็ยังดีกว่าปรับขึ้น 5 บาท 8 บาท 10 บาท ไม่เท่ากันแต่ละจังหวัดอีก ปรับแบบนี้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ค่าครองชีพ ค่ากินค่าอยู่ จะทำอะไรได้” ชาลี กล่าว

ชาลีกล่าวอีกว่า 2.น่าสังเกตว่ามีการพิจารณาหลักเกณฑ์ใหม่ 10 รายการระบุกว้างๆ แต่ไม่มีรายละเอียด ซึ่งหากเป็นไปได้ควรจะชี้แจงว่า จังหวัดที่ไม่ปรับได้คะแนนเท่าไร และเกณฑ์คืออะไร และแต่ละข้อใครเป็นผู้พิจารณา นักวิชาการคนไหน ไปเอาตัวไหนเป็นตัวตั้งในการพิจารณา ซึ่งเรื่องแบบนี้มีคนตั้งข้อสังเกตเยอะ คนก็มองเรื่องความยุติธรรมหรือไม่ 3.ในเมื่อใช้คณะอนุกรรมการจังหวัดเป็นเครื่องมือมาตั้งแต่ต้น และมีการเสนอก่อนหน้านั้นว่าควรปรับ 13 จังหวัดในอัตรา 4 บาทไปจนถึง 60 บาท แต่พอมาถึงขั้นคณะกรรมการค่าจ้างกลับไม่ได้เอาข้อเสนอจากคณะอนุกรรมการจังหวัดเลย แบบนี้จะมีไปทำไม

“อย่างกรณีปรับขึ้น 5 บาท หากคิดจริงๆ ผ่านมา 5 ปีเพิ่งจะมาปรับค่าจ้าง ดังนั้น เราคิดเฉลี่ยแล้วตกปีละ 1 บาทเอง  ถามว่าปรับเพิ่มปีละ 1 บาท ถูกต้องหรือไม่ เครือข่ายแรงงานจะมีการหารือกัน และจะทำหนังสือร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐบาลทบทวนเรื่องนี้ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อแรงงานทุกคน” ชาลี กล่าว

ก.แรงงานมั่นใจปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนี้สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาล

ด้าน สุทธิ สุโกศล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะรองโฆษกกระทรวงแรงงาน ยันว่า ขั้นตอนการพิจารณาการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2560 ทุกขั้นตอนภายใต้คณะกรรมการค่าจ้าง ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบด้านแล้ว ซึ่งข้อมูลทุกอย่างได้ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดแต่ละจังหวัด ที่มีผู้แทนทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างด้วยแล้ว รวมทั้งผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง สำหรับการพิจารณาครั้งนี้ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจไปกำหนดแนวทางเพื่อใช้สูตรการคำนวณใหม่ ซึ่งเพิ่มเติมตัวชี้วัดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะปัจจัยที่เกี่ยวข้อง อาทิ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในปัจจุบัน ดัชนีชี้วัดค่าครองชีพ อัตราค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อในปี 2558 - 2559 มาตรฐานค่าเฉลี่ยค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิตราคาสินค้าและบริการ ความสามารถในการประกอบธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ (จีดีพี) คำนวณจากปี 2553 - 2557 รวมทั้งคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ขณะเดียวกันได้ศึกษาค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศเพื่อนบ้านด้วย

ทั้งนี้ ขั้นตอนต่อไปกระทรวงแรงงานจะนำผลสรุปของคณะกรรมการค่าจ้างดังกล่าว เสนอ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จากนั้นรัฐมนตรีว่ากระทรวงแรงงานจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนจะออกประกาศให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2560 ต่อไป จึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2560 นี้สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาล รวมทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net